Skip to main content

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ*

ในหนังสือเล่มสำคัญที่ชื่อว่า Parecon: Life After Capitalism[1] ผู้เขียนคือ ไมเคิล อัลเบิร์ต (Michael Albert) ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการต่อต้านโลกาภิวัตน์ของบรรษัท (Anti-Corporate Globalization) ของขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐานว่ามีความสำคัญอย่างมาก แต่สิ่งที่ขาดหายไปก็คือการขาดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ไม่ใช่ระบบทุนนิยม กล่าวอีกอย่างก็คือขบวนการฯไม่ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งไปไกลกว่าการพึ่งพิงระบบทุนนิยม การจัดการระบบเศรษฐกิจในที่นี้รวมความทั้งระบบเศรษฐกิจภายในประเทศและระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อัลเบิร์ต[2] ตั้งคำถามว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ขบวนการจะสร้าง “โลกาภิวัตน์ของความเป็นธรรม ไม่ใช่ความยากจน โลกาภิวัตน์ของความสมานฉันท์ ไม่ใช่ความโลภ โลกาภิวัตน์ของความหลากหลาย ไม่ใช่ความคล้อยตามๆกัน โลกาภิวัตน์ของประชาธิปไตย ไม่ใช่ความเป็นทาส โลกาภิวัตน์ของความยั่งยืน ไม่ใช่การบังคับโดยใช้กำลัง”

            ในทัศนะของเขา ระบบทุนนิยม ซึ่งเน้นการทำงานของตลาด และระบบสังคมนิยม (ที่ปรากฎในประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย) ซึ่งเน้นการวางแผนจากส่วนกลางคือรัฐ ล้วนแล้วแต่มีข้อจำกัดในตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจทั้งสองมีลักษณะที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับคุณค่าพื้นฐานของสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง อัลเบิร์ตชี้ว่าการเกิดขึ้นของขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐานได้ชักชวนให้เราคิดถึงคุณค่าทางสังคมอย่างน้อย 4 ประการที่เราต้องไปให้ถึง นั่นคือ ความเป็นธรรม (equity) ความสมานฉันท์ (solidarity) ความหลากหลาย (diversity) และการจัดการตนเอง (self-management) และในการที่จะบรรลุคุณค่าดังกล่าว อัลเบิร์ท ชี้ว่า ขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐานจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดเกี่ยวกับการจัดการระบบเศรษฐกิจหลังทุนนิยม ซึ่ง “หากเราปราศจากวิสัยทัศน์ในโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ และหากเราปราศจากข้อเสนอที่เป็นทางเลือกต่อระบบตลาดและบรรษัท ชัยชนะที่เราได้จะเป็นเพียงเรื่องชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น”[3]

            อัลเบิร์ตชี้ว่าในสภาวะที่ระบบทุนนิยมกลไกตลาดหรือระบบโลกาภิวัตน์ของบรรษัทกำลังครอบงำชีวิตของมนุษย์ทุกคนบนโลก ผ่านองค์กรทางการเมืองระหว่างประเทศจำนวนมาก เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และองค์การการค้าโลก ขบวนการฯต้องมีข้อเสนอในเชิงตัวแบบสถาบันที่จะเข้ามาแทนที่สถาบันของระบบทุนนิยม ยิ่งไปกว่านั้นการออกแบบสถาบันในระดับระหว่างประเทศก็ยังเป็นเรื่องไม่เพียงพอ นอกเสียจากขบวนการฯจะคิดถึงการจัดการระบบเศรษฐกิจในทุกระดับ ทั้งในระดับภายในประเทศและระดับระหว่างประเทศไปพร้อมๆกัน อัลเบิร์ทซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเวบไซต์ข่าวทางเลือกที่ชื่อว่า Znet (www.znet.org) ได้ทดลองเสนอตัวแบบของระบบเศรษฐกิจหลังทุนนิยมที่เขาเรียกว่า Parecon ซึ่งย่อมาจาก Participatory Economy หรือ “ระบบเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม” ขึ้นมาเพื่อชวนให้ผู้คนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนถกเถียงเกี่ยวกับชีวิตหลังทุนนิยม

            เริ่มแรกอัลเบิร์ทนิยามว่า “ระบบเศรษฐกิจ” (economy) หนึ่งๆประกอบด้วยปริมณฑลหลักๆ 3 ส่วนคือ หนึ่ง การผลิต (production) สอง การจัดสรรแจกจ่าย (allocation) และสาม การบริโภค (consumption) ซึ่งแต่ละปริมณฑลจะทำงานไปด้วยกันและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปได้[4] มากไปกว่านั้น ในแง่มุมเชิงสถาบัน อัลเบิร์ท ชี้ว่า ระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆจะประกอบไปด้วยสถาบันหลักจำนวน 5 สถาบันที่จะทำหน้าที่เติมเต็มปริมณฑลทั้ง 3 ในระบบเศรษฐกิจ นั่นคือ 1. ระบบกรรมสิทธิ์ (ownership) 2. สถาบันจัดสรรแจกจ่าย (allocation institutions) 3. ระบบการแบ่งงานกันทำ (division of labour) 4. ระบบการให้ค่าตอบแทน (remuneration) และ 5. สถาบันที่ทำหน้าที่ตัดสินใจ (decision-making) ซึ่งในการทดลองเสนอเกี่ยวกับ Parecon จะต้องครอบคลุมถึงคุณค่า 4 ประการ ปริมณฑลทั้ง 3 ของระบบเศรษฐกิจ และกลไกเชิงสถาบัน 5 สถาบันข้างต้น

            1. ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนรวม (common property) อัลเบิร์ตได้เดินตามคำอธิบายพื้นฐานเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจของ คาร์ล มาร์กซ์และฟรีดรีช เองเกลส์ ที่เสนอว่าสถาบันหลักพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม (Capitalist Mode of Production) ก็คือ ระบบกรรมสิทธิ์เอกชน (private property) ที่กำหนดว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (means of production) หรือชนชั้นนายทุนเอกชนจะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในสังคมในการควบคุมการผลิต รวมถึงจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์หรือกำไรจากการผลิตสินค้า โดยที่ชนชั้นที่ไร้ปัจจัยการผลิต หรือชนชั้นกรรมกรจะมีสถานะเป็นผู้รับค่าแรง (wage labour) เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิต มาร์กซ์และเองเกลส์ชี้อย่างชัดเจนว่าความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมกรเช่นนี้เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม เต็มไปด้วยการกดขี่ ขูดรีด และครอบงำ โดยชนชั้นกรรมกรจะกลายเป็นผู้ที่ไร้อำนาจและแปลกแยกออกจากสังคมและความเป็นมนุษย์ในที่สุด ดังนั้น ในการปลดแอกมนุษย์ออกจากความสัมพันธ์ที่แปลกแยกและไร้อำนาจจะต้องนำไปสู่การสร้างสังคมใหม่ที่ไม่ใช่ทุนนิยมและเป็นสังคมที่ปราศจากระบอบกรรมสิทธิ์แบบเอกชน ซึ่งเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำทั้งปวงในสังคม นั่นคือความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนรวม (common property) เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่

            มากไปกว่านั้น ข้อเสนอของ อัลเบิร์ตยังวางอยู่บนการวิพากษ์ตัวแบบทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (socialism) ที่ใช้ระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐ (state property) ซึ่งปรากฏอยู่ในประเทศที่มีระบบการปกครองแบบสังคมนิยม เช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก จีน คิวบา และเวียดนาม ก่อนการสิ้นสุดของสงครามเย็นด้วย โดยชี้ให้เห็นว่าระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐ ซึ่งให้รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหมด โดยมีชนชั้นข้าราชการเป็นผู้คอยสั่งการ ตัดสินใจ ควบคุมการผลิต รวมถึงได้รับค่าตอบแทนหรือส่วนแบ่งในการผลิตมากกว่าประชาชนทั่วไป ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเช่นนี้จึงเป็นรูปแบบของระบบเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกับ Parecon ซึ่งมุ่งเน้นระบบกรรมสิทธิ์แบบส่วนรวมและการสร้างประชาธิปไตยจากล่างสู่บน (ดู ตารางเปรียบเทียบลักษณะเชิงสถาบันของระบบเศรษฐกิจ)

            Parecon จึงไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจทีมีระบบกรรมสิทธิ์พื้นฐานเป็นทั้งระบบกรรมสิทธิ์เอกชนแบบทุนนิยม และก็มิใช่ระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐแบบสังคมนิยม แต่วางอยู่บนระบบกรรมสิทธิ์แบบส่วนรวมที่ทุกคนในสังคมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ข้อเสนอของอัลเบิร์ทจึงโน้มเอียงไปในทิศทางของการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสังคมให้เป็นระบบคอมมิวนิสต์ซึ่งปราศจากการแบ่งแยกชนชั้น (class differentiation)

            2. สภาผู้ผลิตและสภาผู้บริโภค (Worker and Consumer Councils)[5]: หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ของชนชั้นกรรมกร เราจะพบว่าในขณะที่ชนชั้นกรรมกรลุกขึ้นยึดอำนาจจากชนชั้นนายทุน เช่น การยึดเมืองปารีสจากชนชั้นนายทุนของชนชั้นกรรมกรหรือที่เรียกว่าเหตุการณ์คอมมูนปารีส หรือแม้แต่การยึดโรงงานขนมปังที่ปิดกิจการไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ค.ศ.2007 กรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานได้พยายามออกแบบสถาบันทางเศรษฐกิจแบบใหม่เพื่อแทนที่รูปแบบการผลิตแบบเดิมที่มีชนชั้นนายทุนเป็นผู้ควบคุมการผลิต การตั้ง “สภาผู้ผลิต” (worker council) ก็เป็นทางเลือกแบบหนึ่ง ที่วางอยู่บนฐานที่คนงานทุกคนที่ทำงานจะมีอำนาจเท่ากัน ไม่มีใครมีอำนาจมากกว่าใคร การตัดสินใจในทุกๆอย่างเกี่ยวกับการผลิตจะขึ้นกับที่ประชุมของสภาผู้ผลิต ที่คนงานแต่ละคนเป็นสมาชิกและสามารถมีส่วนในการตัดสินใจได้ในทุกๆเรื่อง ตั้งแต่กระบวนการแบ่งงานกันทำ การให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการ และการกำหนดขั้นตอนกระบวนการผลิต เช่นเดียวกัน “สภาผู้บริโภค” (consumer council) มีหน้าที่สำคัญในการเป็นตัวแทนผู้บริโภค (ซึ่งในด้านกลับพวกเขาก็คือคนงานด้วย) ว่าสิ่งใดเหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคโดยรวม ทั้งในแง่ประเภทของผลผลิต รูปแบบ และราคา รวมทั้งสภาผู้ผลิตและสภาผู้บริโภคยังทำหน้าที่สำคัญในการเชื่อมต่อความต้องการของสมาชิกเข้าด้วยกัน รวมถึงทำหน้าที่เชื่อมต่อกระบวนการผลิต การแจกจ่าย และการบริโภคเข้าด้วยกันด้วย ดังนั้นสภาในระบบ Parecon จึงหมายถึง “กระบวนการและขั้นตอนการตัดสินใจ และช่องทางของการสื่อสารที่สมาชิกแต่ละคนจะมีระดับมากน้อยของอำนาจในการตัดสินใจในแต่ละประเด็นขึ้นกับระดับมากน้อยของการที่ผลการตัดสินใจดังกล่าวจะส่งผลต่อพวกเขา”[6]

            ข้อเสนอเกี่ยวกับขั้นตอนหรือรูปแบบการตัดสินใจใน Parecon ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่ภายใต้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คือ ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบการตัดสินใจแบบ “กระบวนการแสวงหาฉันทามติ” ที่ต้องให้สมาชิกทุกคนเห็นพ้องต้องกันในท้ายที่สุด แต่ “การตัดสินใจของสถาสามารถอยู่ในรูปของเสียงส่วนใหญ่ สามในสี่ สองในสาม ฉันทามติ หรือรูปแบบอื่นที่คิดขึ้นมาได้ก็ได้ เราสามารถใช้รูปแบบที่แตกต่างกันสำหรับการตัดสินใจในประเด็นหรือในวาระที่แตกต่างกันได้”[7] ข้อเสนอของอัลเบิร์ทจึงไม่ใช่การยึดถือข้อเสนอของเดวิด เกรเบอร์ และนักคิดสายอนาธิปัตย์ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการแสวงหาฉันทามติ แต่เสนอว่าเราจำเป็นต้องมีความหลากหลายในรูปแบบการตัดสินใจ ขึ้นกับว่าในประเด็นดังกล่าวควรจะมีรูปแบบการตัดสินใจเช่นไร ซึ่งไม่มีรูปแบบใดที่ถูกต้องตลอดกาลมาตั้งแต่ต้น[8]

            3. การจ่ายค่าตอบแทนโดยขึ้นกับแรงงานที่ใช้และความเสียสละ (Remuneration for Effort and Sacrifice) ในระบบทุนนิยมและระบบสังคมนิยม การคิดคำนวณค่าตอบแทนขึ้นกับปัจจัย 3 อย่างคือ 1. ความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (property) หมายความว่าผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือปัจจัยการผลิตจะได้ส่วนแบ่งจากการผลิตส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไป นั่นคือชนชั้นนายทุนในระบบทุนนิยมและชนชั้นข้าราชการในระบบสังคมนิยม 2. อำนาจที่ถือครอง (power) ซึ่งหมายถึงในสังคมที่ชนชั้นนายทุนเป็นชนชั้นปกครอง ชนชั้นนายทุนรวมถึงรัฐแบบทุนนิยมจะเป็นผู้ถือครองอำนาจในการตัดสินใจเรื่องอัตรา ระบบสวัสดิการทางสังคม รวมถึงนโยบายทางเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ ส่วนในระบบสังคมนิยม รัฐหรือผู้นำพรรคสังคมนิยมเป็นผู้ผูกขาดอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารจัดการสังคมในทุกๆด้าน โดยส่วนแบ่งที่ได้รับจะขึ้นกับชนชั้นหรืออำนาจที่ชนชั้นนั้นๆถือครองอยู่ และ 3. ผลผลิตที่ผลิตได้ (output) หมายความว่าผู้ที่มีทักษะความรู้ หรือแม้แต่ความสามารถในการผลิตในปริมาณที่มากกว่าหรือมีคุณค่ามากกว่าในเวลาที่เท่ากันจะเป็นผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งหรือค่าตอบแทนมากกว่าผู้ที่มีทักษะความรู้ เครื่องจักรเครื่องมือ และความสามารถต่ำกว่า ค่าตอบแทนในลักษณะจึงขึ้นกับปริมาณและคุณภาพของผลผลิตเป็นหลัก[9] ปัจจัยข้อที่สามนี้เองมีผลอย่างสำคัญในการกำหนดรูปแบบการแบ่งงานกันทำของระบบทุนนิยมระหว่างแรงงานฝีมือ/ไร้ฝีมือ แรงงานคอปกขาว/ปกน้ำเงิน แรงงานเชิงสัญญะ/เชิงวัตถุ หรือแม้แต่แรงงานภายในชาติ/แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น อันจะมีผลต่ออย่างสำคัญต่อการกำหนดค่าตอบแทนในท้ายที่สุด

            อัลเบิร์ตชี้ว่าการนำเอาปัจจัยทั้งสามประการข้างต้นมาใช้ในการกำหนดค่าตอบแทนนั้นไม่ยุติธรรมและเป็นไปเพื่อรักษาโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เท่าเทียม เขาเสนอว่า Parecon จะใช้การจ่ายค่าตอบแทนโดยขึ้นกับแรงงานที่ใช้และความเสียสละ หรือ Remuneration by Effort and Sacrifice ซึ่งใช้ปัจจัย 3 ประการในการกำหนดค่าตอบแทน คือ 1. ระยะเวลาในการทำงาน (duration) คือหากเวลาการทำงานของใครยาวนานกว่าบุคคลอื่น ค่าตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการทำงาน แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบแล้ว บุคคลหนึ่งอาจจะสามารถผลิตผลผลิตได้มากกว่าอีกคนหนึ่งในเวลาที่เท่าๆกันก็ตาม 2. ความเข้มข้นของการทำงาน (intensity of work) ที่หมายถึงงานที่ต้องใช้ความทุ่มเทซึ่งนำมาสู่ความตึงเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจมากกว่าในระยะเวลาที่เท่ากันก็สมควรได้รับค่าตอบแทนที่มากกว่า เช่น การทำงานกับเครื่องจักรที่ต่อเนื่อง โดยไม่ได้หยุดพักหรือไม่สามารถหยุดพักระหว่างทำงานได้ เป็นต้น และ 3. ประเภทของงานว่าใช้ความเสียสละ (sacrifice) มากน้อยแค่ไหน เช่น งานที่มีอันตรายหรือความเสี่ยงต่อชีวิตสูง หรืองานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งสกปรก เช่น งานเก็บขยะ กวาดถนน หรือล้างห้องน้ำ จะต้องได้รับค่าตอบแทนที่สูง เพราะถือว่าเป็นงานที่ใช้ความเสียสละของผู้ผลิต

            การจ่ายค่าตอบแทนโดยขึ้นกับแรงงานที่ใช้และความเสียสละจึงมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้งในแง่ของทักษะ ความรู้ ความสามารถ ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม และอำนาจทางการเมืองของบุคคลต่างๆในสังคม โดยเกลี่ยค่าตอบแทนให้แก่คนในสังคมในระดับที่ไม่แตกต่างกันมาก โดยกำหนดค่าตอบแทนผ่านระยะเวลาการทำงาน ความเข้มข้นของงาน และความเสียสละในการทำงานของผู้คนมากำหนดค่าตอบแทนเป็นสำคัญ การใช้ปัจจัยข้างต้นนี้จะช่วยกีดกันคนหรือชนชั้นทางสังคมที่หลีกเลี่ยงการทำงานหรือทำงานน้อยกว่าบุคคลอื่น แต่กลับได้ค่าตอบแทนสูงกว่าคนอื่น ดังที่ปรากฏทั้งในระบบทุนนิยมและระบบสังคมนิยมที่คนส่วนน้อยที่ทำงานน้อยกว่ากลับได้ส่วนแบ่งค่าตอบแทนมากกว่าคนส่วนใหญ่ที่ทำงานหนัก

            มากไปกว่านั้น เราจำเป็นต้องคำนึงถึงบุคคลที่ด้อยสมรรถภาพทั้งทางกายและสมอง เช่น คนพิการหรือคนที่มีสภาพจิตใจไม่ปกติ ซึ่งคนเหล่านี้ต้องได้รับค่าตอบแทนเช่นคนปกติ หรือตามระดับที่เหมาะสม เพราะพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในสังคมที่สังคมต้องดูแล เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ “ความสมานฉันท์” จึงเป็นคุณค่าหนึ่งที่มีความสำคัญมากใน Parecon ที่สมาชิกทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าๆกัน โดยไม่กีดกันหรือลดทอนบุคคลอื่นๆที่มีศักยภาพ อำนาจ และทรัพย์สินที่ไม่เท่ากันออกไป

            4. ระบบการแบ่งงานกันทำแบบสมดุล (Balanced Job Complexes) ในระบบทุนนิยมและระบบสังคมนิยม โครงสร้างการผลิตวางอยู่บนระบบการแบ่งงานกันทำตามโครงสร้างของบรรษัท (corporate division of labour) นั้นให้อำนาจแก่ผู้บริหารและคนที่ทำงานอยู่ในระดับสูงที่ควบคุมการทำงานเพียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของคนทำงานในสถานที่ทำงานทั้งหมดเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเกือบทั้งหมดในกระบวนการผลิต การแบ่งแยกคนร้อยละ 20 ออกจากคนที่เหลือร้อยละ 80 เกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับค่าตอบแทนที่คนสองกลุ่มนี้ได้รับ งานบางประเภทถูกยกย่องให้เป็นงานที่มีคุณค่าและได้ค่าตอบแทนสูง ในขณะที่งานส่วนใหญ่ถูกมองว่ามีมูลค่าต่ำและควรได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า หรือไม่ควรได้รับค่าตอบแทน ส่งผลให้ในขณะที่คนส่วนใหญ่ได้ค่าตอบแทนต่ำมากแม้ว่าจะทำงานในเวลาเท่าๆกัน แต่คนlส่วนน้อยในกระบวนการผลิตกลับได้ค่าตอบแทนมากกว่าหลายเท่า (ในหลายบริษัท ผู้บริหารระดับสูงได้ค่าตอบแทนต่อเดือนมากกว่าที่คนงานระดับล่างคนหนึ่งได้รับรวมๆกันหลายสิบปี) ยิ่งไปกว่านั้นการแบ่งงานกันทำตามบรรษัทยังมีส่วนอย่างมากในการลดทอนคุณค่าหลายประการของความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่ลดทอนความสมานฉันท์และความเป็นธรรมโดยการแบ่งแยกผู้คนออกจากกันด้วยการแข่งขันกันและค่าตอบแทน ลดทอนความหลากหลายเพราะทำให้มนุษย์หนึ่งคนถูกบังคับให้ทำงานประเภทเดียวตลอดชีวิต และลดทอนอำนาจในการจัดการตนเองเป็นการผูกขาดอำนาจอยู่ที่คนเพียงส่วนน้อยในกระบวนการผลิต ในขณะที่คนส่วนใหญ่ทำได้เพียงรับคำสั่ง ระบบการแบ่งานกันทำที่ลดทอนคุณค่าพื้นฐานเช่นนี้เองที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถใช้ศักยภาพของตนเองในการทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะเป้าหมายของการผลิตและการทำงานไม่ใช่การผลิตสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดต่อสังคมและตนเอง แต่เป็นการผลิตเพื่อสร้างกำไรให้แก่บรรษัท

            นับตั้งแต่งานชิ้นสำคัญที่ชื่อว่า The Wealth of Nation ของอดัม สมิทชี้ว่าระบบการแบ่งงานกันทำเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญมากในฐานะที่เป็นพื้นฐานในการกำหนดและแบ่งแยกความแตกต่างของผู้คนในสังคม ต่อมา คาร์ล มาร์กซ์และเฟรดริค เองเกลส์ ก็ชี้ว่า การแบ่งงานกันทำยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดความแตกต่างทางชนชั้นในสังคม รวมถึงอำนาจในการตัดสินใจของคนในสังคมให้แตกต่างกันออกไปด้วย อัลเบิร์ตเสนอว่าใน Parecon จึงจำเป็นต้องมีระบบการแบ่งงานกันทำที่แตกต่างออกไปจากการแบ่งงานกันทำตามโครงสร้างของบรรษัท โดยระบบการแบ่งงานกันทำที่เป็นประชาธิปไตยและวางอยู่บนคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์คือ ระบบการแบ่งงานกันทำแบบสมดุล (Balanced Job Complex)       

            ระบบการแบ่งงานกันทำแบบสมดุลหมายถึง “แต่ละงานต้องประกอบไปด้วยการผสมผสานหลายภารกิจและหลายความรับผิดชอบ ซึ่งคุณภาพชีวิตในภาพรวมของผู้คนจะต้องเทียบเคียงกันได้” คือผลของงานที่ทำจะไม่ทำให้ผู้คนมีความแตกต่างทั้งในเชิงอำนาจและค่าตอบแทน แต่ผลของงานจะเป็นไปเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานของแต่ละบุคคลให้สามารถพัฒนาไปได้มากที่สุด “ใน Parecon จะไม่มีงานในโรงงานที่ให้ใครบางคนทำงานเฉพาะงานควบคุมสั่งการ แต่คนอื่นทำเฉพาะงานระดับปฏิบัติการ ผู้คนในโรงงานจะร่วมกันทำหลากหลายภารกิจทั้งๆที่เป็นภารกิจที่สร้างอำนาจและภารกิจพื้นๆอย่างสมดุลกัน” [10]

            ดังนั้น “ใน Parecon จะไม่มีใครที่ทำงานเฉพาะอย่างเดียว เช่น หมอผ่าตัด ในขณะที่คนบางคนทำเฉพาะการทำความสะอาดเตียงคนไข้ แต่คนที่ทำผ่าตัดก็ต้องช่วยทำความสะอาดโรงพยาบาลและงานอื่นๆที่ผลรวมทั้งหมดของงานที่ทำประกอบไปด้วยเงื่อนไขและความรับผิดชอบที่เป็นธรรมด้วย” กล่าวโดยสรุปแล้ว คนๆหนึ่งจะทำงานที่หลากหลายและผสมผสาน ไม่ใช่การทำงานประเภทเดียวอย่างเดียวตลอดชีวิต การแบ่งงานกันทำในลักษณะนี้จะทำให้ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผูกขาดว่างานใดมีคุณค่าหรือมีความสำคัญ หรือแม้แต่ผูกขาดการตัดสินใจทั้งหมดไว้ได้ ซึ่งความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นก็จะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งหน่วยการผลิต การแบ่งงานกันทำใน Parecon จึง”ไม่ได้สร้างให้คนส่วนน้อยในหมู่พวกเรามาเป็นคนสั่งการหรือคนปกครอง และทำให้คนส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้รับคำสั่ง แต่มันสร้างให้พวกเราทุกคนมีส่วนร่วมกันอย่างเท่าๆกันในการผลิต การบริโภค และการแจกจ่ายที่พวกเราจัดการกันเอง งานของเราจึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้เราทุกคนมีส่วนอย่างสำคัญในการจัดการตนเองทั้งในแง่ชีวิตและการจัดการสถาบันทางสังคมที่เราอาศัยอยู่”[11]

            การแบ่งงานกันทำแบบสมดุลเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการมีสถาบันทางเศรษฐกิจจำนวนหนึ่ง เช่น สภาผู้ผลิตและสภาผู้บริโภค กระบวนการตัดสินใจร่วมแบบจัดการตนเอง การกำหนดค่าตอบแทนโดยขึ้นกับแรงงานที่ใช้และความเสียสละ ปัญหาที่ตามมาก็คือ เราจะจัดสรรแจกจ่ายผลผลิตให้แก่คนต่างๆในสังคมอย่างไร ใน Parecon ใช้รัฐหรือตลาดในการวางแผนการจัดการระบบเศรษฐกิจทั้งหมด

            และ 5. การวางแผนแบบมีส่วนร่วม (Participatory Planning) อัลเบิร์ตชี้ว่าในระบบทุนนิยม กลไกที่สำคัญที่สุดของการตัดสินใจและจัดสรรส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจอยู่ในมือของ ตลาด หรือกลไกตลาด (market) ซึ่งมีคุณสมบัติพื้นฐานก็คือการทำให้ผู้ซื้อต้องซื้อสินค้าที่ถูกที่สุด และผู้ขายต้องขายสินค้าให้ได้ในราคาที่แพงที่สุด โดยที่แต่ละคนจะต้องหาประโยชน์จากคนอื่นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในนามของความก้าวหน้าส่วนบุคคลและการเอาตัวรอดในระบบตลาด”[12] และการทำให้ทุกอย่างถูกจัดสรรแจกจ่ายผ่านระบบตลาดก็หมายความว่า การทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างต้องถูกเปลี่ยนเป็นสินค้า (commodification) เพื่อจะสามารถนำมาซื้อขายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลัทธิเสรีนิยมใหม่ สิ่งใดที่เคยเป็นของรัฐและของส่วนรวมต้องถูกเปลี่ยนให้เป็นของเอกชนหรือเป็นสินค้าในตลาดได้ (เรียกว่าการแปรรูปเป็นเอกชน หรือ privatization) เมื่อนำหลักการเช่นนี้มาใช้กับการจ้างงาน เราจะพบว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดประการหนึ่งของนายทุนก็คือการซื้อแรงงานในราคาที่ถูกที่สุด เพื่อนำแรงงานดังกล่าวไปผลิตสินค้าให้ได้กำไรเยอะที่สุด กำไรจึงมีแนวโน้มจะแปรผกผันกับค่าแรงที่นายทุนต้องจ่าย ยิ่งนายทุนแข่งขันกันมากเท่าไร แนวโน้มที่นายทุนจะแข่งกันกดค่าแรงให้ต่ำลงก็สูงขึ้นเท่านั้น เพื่อทำให้สามารถคงอัตรากำไรไว้ได้[13]

            ส่วนในระบบสังคมนิยม อำนาจในการวางแผนตัดสินใจเศรษฐกิจทั้งหมดอยู่ในมือของรัฐ/ส่วนกลาง (state/central planning) ที่มอบอำนาจให้แก่รัฐบาลในท้องที่เป็นผู้วางแผนตัดสินใจ การวางแผนโดยรัฐเช่นนี้ “ก็คล้ายกับการตัดสินใจโดยตลาด คือ ทำให้ชนชั้นที่ควบคุมกระบวนการผลิตปกครองเหนือคนทำงานซึ่งถูกทำให้ต้องขึ้นต่อผลประโยชน์ของชาติและผลประโยชน์ของแต่ละสถานที่ทำงาน”[14] การวางแผนโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐมีแนวโน้มจะเป็นเผด็จการ เพราะมันไม่ได้ให้อำนาจแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ “ยกอำนาจให้แก่นักวางแผนจากส่วนกลางและกลุ่มนายหน้าของรัฐสามารถใช้อำนาจในแต่ละสถานที่ทำงาน”[15]

            สำหรับอัลเบิร์ต การวางแผนโดยใช้กลไกตลาดและการวางแผนโดยใช้รัฐนั้นมีคุณสมบัติคล้ายกันคือ มันได้แย่งอำนาจในการกำหนดชีวิตของตนเองและสถาบันทางสังคมที่เกี่ยวข้องไปจากมือของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระบบทุนนิยมได้เปลี่ยนสิ่งที่เป็น “ส่วนรวม” ให้กลายเป็น “เอกชน/ส่วนตัว” ส่วนในระบบสังคมนิยมได้เปลี่ยน “ส่วนรวม” ให้กลายเป็น “รัฐ/สาธารณะ” ซึ่งทั้งความเป็นเอกชน/ส่วนตัว และรัฐ/สาธารณะล้วนแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับการสร้าง Parecon ในที่นี้ อัลเบิร์ตเสนอว่า Parecon ต้องมีรูปแบบการวางแผนแบบมีส่วนร่วม หรือ Participatory Planning ที่ “สภาผู้ผลิตและสภาผู้บริโภคร่วมกันเสนอรูปแบบการทำงาน/การผลิต และเสนอว่าต้องการบริโภคสินค้าที่มีลักษณะอย่างไร”[16] ที่จะเป็นไปได้มากที่สุดทั้งในแง่การเข้าถึง การใช้ทรัพยากร และความรู้ใหม่ๆอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับสังคมโดยรวม

           “สภาผู้ผลิตและสภาผู้บริโภคทำหน้าที่ร่วมกันในการต่อรองและวางแผนทั้งในด้านต้นทุนและผลผลิตที่ได้รับสำหรับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค” สภาเหล่านี้จะใช้การสื่อสารเพื่อแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันทั้งในส่วนของราคาสินค้าและความชอบของผู้บริโภค โดยเปิดให้ทุกคนสามารถแสดงความต้องการและสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคได้อย่างอิสระ ซึ่งทั้ง “บรรดาผู้ผลิตและบรรดาผู้บริโภคจะรับรู้ความคิดเห็นหรือความต้องการของบุคคลและกลุ่มบุคคลต่างๆได้ผ่านการทำงานร่วมกันของสภาที่พวกเขาเป็นสมาชิกอยู่ ในแต่ละระดับของการพูดคุย ความต้องการ/ความชื่นชอบของบรรดาคนต่างๆก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไป ผ่านการคำนึงว่าเราจำเป็นต้องสร้างจุดสมดุลระหว่างรูปแบบการทำงานและการบริโภคของปัจเจกบุคคลกับความต้องการโดยรวมของสังคม ตัวแสดงแต่ละตัวจะมีเป้าหมายเพื่อทำให้แต่ละบุคคลและแต่ละกลุ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนา แต่ละคนจะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองโดยไม่แย้งกับสิ่งที่สังคมทั่วไปจะมีได้รับ” [17]

            อาจมีข้อโต้แย้งว่า หากไร้การแข่งขันในตลาด ผู้คนจะมีแรงจูงใจในการผลิตหรือไม่ อัลเบิร์ตชี้ว่าแรงจูงใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก “การเจรจาต่อรอง [ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค] จะเกิดขึ้นในแต่ละรอบของการวางแผน ผู้เข้าร่วมทุกคนจะให้ความสนใจกับศักยภาพของการผลิตที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด เพราะทุกๆคนจะได้รับส่วนแบ่งที่เท่ากันและเพิ่มมากขึ้นหากผลผลิตของทั้งสังคมโดยรวมเพิ่มขึ้น”[18] ส่งผลให้แต่ละคนจะมีส่วนในการคิดและออกแบบงานที่ดีที่สุดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง ซึ่งก็หมายถึงคุณภาพชีวิตของคนอื่นด้วย โดยในการยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการออกแบบการทำงานก็จะทำผ่านรูปแบบการแบ่งงานกันทำแบบสมดุล ที่แต่ละคนจะได้รับภาระหน้าที่ผสมผสานและไม่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับที่สมาชิกทุกคนจะได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกัน

            ต่อคำถามที่ว่า การวางแผนแบบมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดความหลากหลายซึ่งเป็นคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ได้อย่างไร อัลเบิร์ตชี้ว่าการวางแผนการผลิตเป็นสิ่งที่ต้องคิดใหม่ หาจุดบอด ปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลา ให้สอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายของผู้คน เช่นเดียวกัน ในการกำหนดว่าใครจะทำงานอะไรก็ขึ้นกับความชื่นชอบและความสามารถซึ่งแต่ละคนมีแตกต่างกันไป เพียงแต่สิ่งที่ทำให้ Parecon ต่างออกไปจากระบบทุนนิยมและระบบสังคมนิยมก็คือ ใน Parecon สมาชิกทุกคนของสังคมมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการกำหนดทั้งการผลิตและการบริโภค ไม่ใช่การโอนอำนาจให้แก่ตลาดและรัฐในการสั่งการจาก “บนลงล่าง” แต่เป็นการกำหนดองคาพยพทั้งหมดของสังคมร่วมกันจาก “ล่างสู่บน”

            อย่างไรก็ดีข้อเสนอเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจทางเลือกของอัลเบิร์ตเป็นเพียงข้อเสนอหนึ่งท่ามกลางข้อถกเถียงและข้อเสนอของขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐานในรอบหลายปีที่ผ่านมา ยังมีข้อเสนออีกเป็นจำนวนมาก เช่นที่คัลลินิคอส[19] เสนอว่าโครงการพัฒนาในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมทุนนิยมไปสู่สังคมหลังทุนนิยมน่าจะเริ่มต้นโดยการยกเลิกหนี้ให้แก่ประเทศโลกที่สามโดยทันที การออกนโยบายการเก็บภาษีในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศเพื่อดึงทรัพยาการ/ส่วนเกินจากประเทศร่ำรวย การสร้างกลไกและมาตรการในการควบคุมการไหลเวียนของทุน การสร้างเกณฑ์รายได้พื้นฐานที่เป็นสากล (universal basic income) เพื่อให้พลเมืองโลกได้เข้าถึงรายได้พื้นฐานที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิต มาตรการลดชั่วโมงการทำงาน การปกป้องกิจการสาธารณะและยึดคืนกิจการสาธารณะที่ถูกแปรรูปให้เป็นเอกชนแล้ว การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อกระจายความมั่งคั่งให้แก่สังคม การยกเลิกการกีดกันการย้ายถิ่นข้ามชาติ และขยายสิทธิของความเป็นพลเมือง โครงการรื้อฟื้นสภาวะสิ่งแวดล้อม การลดขนาดและอำนาจของธุรกิจการทหาร และการปกป้องสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

            กล่าวโดยสรุปแล้ว ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการสังคมหลังทุนนิยมข้างต้นนี้ถือเป็นเป้าหมายหลักและเป็นผลผลิตโดยตรงของการเติบโตของขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐาน ที่พยายามเสนอทางเลือกใหม่ในการพัฒนาท่ามกลางซากปรักหักพังของโลกสังคมนิยมในทศวรรษ 1990 ที่นักคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายเสรีนิยมต่างประกาศว่า “เราไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลือแล้วนอกจากระบบทุนนิยมกลไกตลาดและระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม” แม้ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะยังไม่บรรลุ แต่คุณูปการที่สำคัญที่สุดที่ขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐานได้สร้างไว้ก็คือ ความหวังที่ว่า “โลกใบใหม่เป็นไปได้” ซึ่งเป็นคำขวัญของขบวนการสมัชชาสังคมโลกนับตั้งแต่ ค.ศ.2001 เป็นต้นมา



[1] Michael Albert. Parecon: Life After Capitalism. London and New York: Verso, 2003.

[2] Ibid., p.2.

[3] Ibid., p.8.

[4] Ibid., p.20.

[5] Michael Albert. Realizing Hope: Life Beyond Capitalism. London and New York: Zed Books, 2006.

[6] Ibid., pp.9-10.

[7] Ibid., p.10.

[8] Ibid., p.9.

[9] Ibid., p.10.

[10] Ibid., p.13.

[11] Loc.cit.

[12] Ibid., p.14.

[13] ลองดูงานวิเคราะห์สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจที่เรียกว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ในสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ.2007 ได้จากงานของ John Bellamy Foster and Fred Magdoff. The Great Financial Crisis: Causes and Consequences. New York: Monthly Review Press, 2009.

[14] Michael Albert. op.cit., p.16.

[15] Ibid., p.15.

[16] Ibid., p.17.

[17] Loc.cit.

[18] Ibid., p.18.

[19] Callinicos. op.cit., pp.132-39.

 

*หมายเหตุ : เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสมาชิกกลุ่มประกายไฟ โดยบทความนี้มีการนำเสนอที่อื่นมาก่อนหน้านี้แล้ว

บล็อกของ ประกายไฟ

ประกายไฟ
รายการประกายTalk โดย DJ Bus กับ ป้าอุ๊ ภรรยาอากง SMS (23-05-2012) แขกรับเชิญ ป้าอุ๊ ภรรยา ของ อากง SMS หรือ นายอำพล ทีสามีเป็นผู้ต้องขังคดี ม.112 และเสียชีวิตในคุกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
ประกายไฟ
รายการประกาย Talk โดย DJ Bus กับ สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) 16-05-2012 แขกรับเชิญ สมบัติ บุญงามอนงค์ (ชื่อเล่น: หนูหริ่ง, หรือนามแฝงที่ใช้ในอินเตอร์เน็ท: บ.ก.ลายจุด) แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง พิธีกรร่วมรายการ: DJ.Bus @KonthaiUK ประเด็น การปั่นกระแส"แพงทั้งแผ่นดิน"กับการกดชีวิตอากงให้ถูก
ประกายไฟ
รายการประกาย Talk โดย DJ Bus "วันกรรมกรสากล" 02-05-2012 แขกรับเชิญ คุณ พัชนี คำหนัก ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย  
ประกายไฟ
เสวนาหัวข้อ "วิวัฒนาการรัฐทุนนิยมไทย" วิทยากร เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ณัฐพล ใจจริง. อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา เก่งกิจ กิติเรียงลาภ กลุ่มประกายไฟ ดำเนินรายการโดย วีรนันท์ ฮวดศรี กลุ่มประกายไฟ
ประกายไฟ
เสวนาหัวข้อ “New Social Media กับการเคลื่อนไหวทางเมืองไทย” วิทยากร อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต เทวฤทธิ์ มณีฉาย กลุ่มประกายไฟ ดำเนินรายการโดย ปาลิดา ประการะโพธิ์ กลุ่มประกายไฟ ( วันเสาร์ที่ 28 ม.ค.55)   
ประกายไฟ
วันเสาร์ที่ 28 ม.ค.55 มาร์กซิสม์ 101 A ว่าด้วยทฤษฎีมาร์กซิสม์ เบื้องต้น บรรยาย เพื่อให้ความรู้พื้นฐาน มาร์กซิสต์   วิทยากร พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการ ณัชชา ตินตานนท์ กลุ่มประกายไฟ  
ประกายไฟ
  บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ประเทศสหรัฐอเมริกา เสียงดนตรีแห่งทาสผิวดำได้ถือกำเนิดขึ้นในตอนปลายศตวรรษที่ 19 พร้อมๆกับสถานภาพของคนผิวดำซึ่งมีสถานะ เป็นเพียงเป้าหมายของการทำให้ผู้อื่นเป็นปัจเจกชน เนื่องจากการเป็นเสรีชนและเสรีภาพในอเมริกานั้นต้องเป็นปัจเจกชนที่มีทรัพย์สินส่วนตัวและต้องเป็นพลเมืองผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง  แต่ในความเป็นจริงทาสผิวดำเป็นเพียงทรัพย์สินของนายทาส เป็นเครื่องมือของการผลิต ซึ่งส่งผลให้นายทาสเป็นปัจเจกชน คนผิวดำ จึงไม่มีศักยภาพที่จะสร้างหรือทำให้เสรีภาพแบบอเมริกันเป็นคุณสมบัติของตนเอง แม้ว่าคนผิวดำจะมีส่วนร่วมในการปฏิวัติอเมริกา…
ประกายไฟ
  "แม้แต่นายทาสยังต้องหาเลี้ยงทาส แต่ในระบบทุนนิยม ลูกจ้างต้องเป็นผู้หาเลี้ยงนายจ้าง" ทิพรดา ตากดำรงศ์กุลท่ามกลางข้อเสนอที่มากมาย ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมือง ความล้มเหลวของระบบตัวแทน อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งวุ่นวายของการเมืองไทย เมื่อคิดถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่คอยอยู่ข้างหน้าแล้ว ข้อเสนอเกี่ยวกับต้นตอปัญหา วิธีการแก้ ผุดออกมาเป็นดอกเห็ด เป็นเรื่องของประสบการณ์ของผู้ที่อ้างตนว่าเข้าใจในปัญหาอย่างลึกซึ้ง หรือนักวิชาการต่างๆที่พยายามอธิบายด้วยนามธรรมที่ไร้ความหมาย หรือะไรที่ดูซับซ้อน บทความชิ้นนี้จึงมุ่งชี้ชวนใหเห็นว่า…
ประกายไฟ
แถลงการณ์"การเมืองใหม่ต้องเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ระบบลูกขุนลดงบประมาณทหาร และสร้างรัฐสวัสดิการ"ณ  อนุสรณ์สถาน ญาติวีรชน 14 ตุลาวันอาทิตย์ที่  28 กันยายน 2551 ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เสนอ "การเมืองใหม่" โดยอ้างว่าเป็นผู้จุดประกายการปฏิรูปการเมืองผ่าทางตัน "การเมืองแบบเก่า" ที่เต็มไปด้วยนักการเมืองซื้อเสียง การคอร์รัปชั่นกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็น "เจ้าภาพ" เพื่อการสร้างประชาธิปไตย เพราะการเคลื่อนไหวและเป้าหมายของกลุ่มพันธมิตรฯที่ผ่านมาล้วนลดบทบาทและไม่เชื่อมั่นในอำนาจและความคิดของประชาชนคนธรรมดา…
ประกายไฟ
  แถลงการณ์ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มพันธมิตรนิสิตนักศึกษาต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้1 กันยายน 2551จากเหตุการณ์การชุมนุมยืดเยื้อและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างรัฐบาลพรรคพลังประชาชน และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอันเป็นความขัดแย้งทางการเมืองของฝ่ายชนชั้นนายทุน มิใช่การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของชนชั้นล่างอย่างแท้จริง กลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มพันธมิตรนิสิตนักศึกษาที่ลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้มีความคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อสังคม ดังต่อไปนี้1. เราคัดค้านการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ…