Skip to main content

Kasian Tejapira(16/02/56)

ความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ กองทัพแก้ไม่ได้ เพราะโดยเนื้อแท้มันไม่ใช่ปัญหาการทหาร แต่เป็นปัญหาการเมือง ในที่สุดการแก้ปัญหาความขัดแย้งชายแดนภาคใต้นี้ต้องทำโดยรัฐบาล

ทว่าถึงแม้กองทัพจะแก้ปัญหาความขัดแย้งชายแดนภาคใต้เองโดยลำพังไม่ได้ แต่กองทัพก็มีอำนาจ/อิทธิพลในทางเป็นจริงที่จะวีโต้ทางแก้ทางการเมืองซึ่งรัฐบาลเสนอ หากกองทัพยอมรับทางแก้นั้นไม่ได้ ในที่สุดแล้วการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้สำหรับรัฐบาลจึงมีลักษณะเป็นการแสวงหาหรือสร้างฉันทมติขึ้น (consensus-finding or -making) ในระหว่างกลุ่มฝ่ายและสถาบันอำนาจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสำคัญกับเรื่องนี้

ในทำนองเดียวกัน งานหาทางแก้ปัญหาหรือทางออกให้กับความขัดแย้งทางการเมืองใหญ่ ๆ สำคัญ ๆ ในรัฐบาลชุดนี้ก็มีลักษณะแบบเดียวกัน คือรัฐบาลจำกัดการริเริ่มของตนอยู่ในกรอบการแสวงหา/สร้างฉันทมติกับกลุ่มฝ่ายและสถาบันอำนาจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้เสียกับเรื่องนั้น ๆ เพื่อลดความเสี่ยง และจนกว่าบรรลุได้ซึ่งฉันทมติของกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ เหล่านั้นรวมทั้งสาธารณชนอย่างท่วมท้นล้นหลามในปัญหาหนึ่ง ๆ รัฐบาลจึงจะเริ่มขยับตัว...นิดหนึ่ง

ในสถานการณ์ขัดแย้งช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจ (power shift) ที่ดุลกำลังฝ่ายต่าง ๆ ก้ำกึ่งตรึงถ่วงกัน การเดินงานการเมืองอย่างรอจังหวะเวลาและยึดหยั่งตามฉันทมติอันท่วมท้นล้นหลามของสังคมเป็นที่ตั้ง, เกราะปกป้องและฐานรองรับแต่ละจังหวะก้าวที่ย่างไป ก็นับว่าสุขุมรัดกุมรอบคอบดี แต่ปัญหาอยู่ตรงฉันทมติที่แสวงหานั้นครอบคลุมกว้างไกลถึงไหน? หากเอาฉันทมติดังกล่าวไปขึ้นอยู่กับกรอบเกณฑ์ที่กำหนดโดยฝ่ายอนุรักษนิยมหรือปฏิกิริยาสุดโต่งเป็นที่ตั้งแล้ว ก็คงยากที่จะขยับเคลื่อนอะไรได้หรือสุดท้ายก็ไม่ต้องขยับเคลื่อนอะไร ในนามหรือข้ออ้างว่า "ไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งในสังคม" ลองคิดดูเถิดว่า....

หากรัฐบาลจะนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองตามที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและสุเทพ เทือกสุบรรณวางเกณฑ์กำหนด

หากรัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ คุณวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ชี้นำกำกับ

หากรัฐบาลจะปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ตามที่หมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ตีกรอบจำกัด

หากรัฐบาลจะแก้ไขข้อพิพาทชายแดนกับกัมพูชาตามที่กลุ่มพลังชาตินิยมสุดโต่งยืนกรานกดดัน

และหากรัฐบาลจะปฏิรูปการเมืองเชิงรุกในชายแดนภาคใต้ตามที่ปีกเหยี่ยวของฝ่ายความมั่นคงซึ่งยึดมั่นรัฐเดี่ยวรวมศูนย์อำนาจและเอาแต่มิติทางการทหารในการแก้ปัญหาอย่างตายตัวสุดโต่งขีดเส้นล้อมวงไว้แล้ว

เรายังจะต้องพูดอะไรถึงการปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลกันอีกเล่า? มิสู้ประกาศเลิกปฏิรูปการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้นจนกว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯมิดมิดีกว่าหรือ?

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
"ในฐานะผู้เคยทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ผมใคร่บอกว่าเราต้องหาทางเจือผสมการปฏิวัติด้วยความไม่รุนแรงให้มากที่สุด เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะว่าบรรดาไพร่ทาสราษฎรสามัญชนโดยทั่วไปนั้นหาได้มีอาวุธสงครามในมือเหมือนกลไกรัฐภายใต้การบังคับควบคุมของชนชั้นปกครองไม่.."    
เกษียร เตชะพีระ
กระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ จึงก่อผลสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำทางโภคทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดหนุนเกื้อกูล, พลังประชาธิปไตยบนฐานอำนาจเสียงข้างมากของคนที่ขาดด้อยโภคทรัพย์ต้องหาทางคะคานถ่วงดุลอำนาจทุนมหาศาลของคนมั่งมีโภคทรัพย์เสียงข้างน้อยไว้ มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายในทางเป็นจริงไปในที่สุด
เกษียร เตชะพีระ
เฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่ขายในประเทศร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่นและอเมริกา กลับมียอดแซงหน้าในประเทศตลาดเกิดใหม่ จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตรายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดอีกต่อไป หากกลับเป็นไทย (ที่ ๖๐%!) และอินโดนีเซีย (ที่ ๓๕%) ในรอบปีที่ผ่านมา
เกษียร เตชะพีระ
ก้องกังวานสะท้านฟ้ามหาสมุทร ด้วยคลั่งแค้นแสนสุดประกาศกล้า เป็นแสนเสียงล้านเสียงมหาประชา สยบขวัญสั่นอุราเผด็จการ...
เกษียร เตชะพีระ
"ประชานิยม" "คนชั้นกลางนิยม" "คนรวยนิยม" "อำมาตย์นิยม" "ประชาธิปัตย์นิยม" "ม.๑๑๒ นิยม" "ราชบัณฑิตนิยม" "ยิ่งลักษณ์นิยม" "ทักษิณนิยม" "พันธมิตรนิยม" "นิติราษฎร์นิยม" "นิด้านิยม"