Skip to main content

Kasian Tejapira(23 มิ.ย.56)

นายกฯ เทย์ยิบ เออร์โดกาน นักการเมืองประชาธิปไตยผู้ไต่เต้าขึ้นมาจากการเมืองท้องถิ่นในนครอีสตันบูล ต่อต้านอำนาจทหาร ถูกแบนทางการเมืองและจับติดคุก ๑๐ เดือนเพราะท่องบทกวีในที่ชุมนุม ตั้งพรรค AK (พรรคยุติธรรมและการพัฒนา) ในคุก และชนะเลือกตั้งต่อกัน ๓ ครั้งในปี ค.ศ. ๒๐๐๒, ๒๐๐๗, ๒๐๑๑ ได้เป็นนายกฯต่อกันถึง ๑๐ ปี กลายมาเป็น

--> ผู้นำอำนาจนิยมที่รมประชาชนของตัวเองด้วยแก๊สน้ำตา เพื่อจะได้สร้างชอปปิ้ง มอลล์ขึ้นมาบนสวนสาธารณะ Gezi สีเขียวผืนสุดท้าย ณ จตุรัส Taksim กลางเมืองอีสตันบูล

การชุมนุมของมวลชนคนหนุ่มสาว (ม็อบสารพัดสีไร้ผู้นำชัดเจน มีทั้งนักอนุรักษ์ธรรมชาติ, มุสลิมเอียงซ้าย, แฟนฟุตบอล, ศิลปินนักสร้างสรรค์ ฯลฯ) ซึ่งยิ่งถูกตำรวจปราบ ยิ่งแผ่ขยายลุกลามไปหลายเมืองของตุรกี มุ่งปกป้อง “ต้นไม้กับประชาธิปไตย” และยกระดับการเรียกร้องจากให้ยกเลิกแผนรื้อสวนสาธารณะ Gezi ทิ้งเพื่อทำชอบปิ้ง มอลล์และศูนย์ที่พักอาศัย ไปเป็นให้นายกฯเออร์โดกานลาออกเพราะท่าทีอำนาจนิยมและเอาหลักศาสนามาบังคับใช้ทางโลกของเขา

ความจริงเออร์โอกานก็เป็นนักสู้คนหนึ่ง มาจากครอบครัวกรรมาชีพยากไร้ในอีสตันบูล ถูกกดขี่ข่มขู่ดูแคลนจากพวกชนชั้นนำเคมาลิสต์เก่ารวมทั้งทหาร เขาจึงกัดฟันสู้แบบก้าวร้าวกัดไม่ปล่อย ไม่มีถอย ไม่เลิกรา ท่วงทำนองการเมืองเป็นแบบประชานิยมอิงสามัญชนและหลักอิสลาม เสนอภาพตัวเองเป็นนักประชาธิปไตยหัวอนุรักษนิยม ต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตยใต้การควบคุม แต่เปิดประเทศทางเศรษฐกิจเข้าหายุโรป แนวนโยบายที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จช่วงชิงชัยชนะทางการเมืองในการเลือกตั้งมาได้ตลอดทศวรรษ คือ ๑) โละล้างอำนาจแทรกแซงการเมืองของทหาร และ ๒) พาประเทศปฏิรูปเศรษฐกิจ (เช่น privatization ขนานใหญ่ในแนวเสรีนิยมใหม่) เปิดเชื่อมเข้ากับสหภาพยุโรปทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง (สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ประชาธิปไตย) ผลคือเศรษฐกิจเติบโตและเผด็จการทหารเสื่อมถอยหมดพลังลง

ในที่สุดเขาทำลายการผูกขาดอำนาจการเมืองของชนชั้นนำเคมาลิสต์เก่าลงได้ และผลักดันทหารออกจากวงการเมืองกลับเข้าสู่กรมกอง (ล่าสุดบรรดานายพันและนายทหารที่วางแผนแทรกแซงการเมือง/ก่อรัฐประหารทั้งหลายถูกรัฐบาลจับกุมดำเนินคดีติดคุกกันส่วนใหญ่) สองปีหลังนี้ ไม่มีภัยคุกคามทางการเมืองจากกองทัพอีกต่อไป เหลือแต่รัฐบาลประชาธิปไตยกุมอำนาจเสียงข้างมากเด็ดขาดของนายกฯเออร์โดกานแห่งพรรค AK กับสังคมการเมืองและประชาสังคมตุรกีโล้น ๆ

แต่แล้วเออร์โดกานก็เริ่มแสดงท่าทีท่วงทำนองโอหังเหลิงเริงอำนาจ ในหลายแง่ไม่ต่างจากชนชั้นนำเก่าที่เขาเขี่ยทิ้งไป เช่น เรียกผู้ประท้วงเป็น “นักปล้น” บ้าง “ผู้ก่อการร้าย” บ้าง ถอยไม่ได้ ขอโทษไม่เป็น บ้าก่อสร้าง วางแผนจะสร้างสุเหร่าใหญ่ที่สุดในประเทศตุรกีขึ้นบนเนินเขาเหนือกรุงอีสตันบูลแล้วตั้งชื่อสุเหร่าตามชื่อตน อาจใช้กลเม็ดแบบปูตินสลับตัวเองไปเป็นประธานาธิบดีชั่วคราวก่อนวกกลับมาเป็นนายกฯบริหารประเทศอีกหนเพื่อให้พ้นขีดจำกัดเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯต่อกันเกิน ๓ สมัย ทุกครั้งที่เขาดำเนินนโยบายหรือมาตรการผิดพลาด เช่น สั่งทหารโจมตีทิ้งระเบิดผิดเป้า จนทำให้ชาวบ้านในละแวกบ้านแถบชายแดนซีเรียตายหมู่ ๕๑ คน, และอีกครั้งก็ทำให้ขบวนนักค้าของเถื่อนชาวเคอร์ดตายหมู่ไป ๓๔ คน แต่ทุกครั้งไม่มีคำขอโทษจากนายกฯ ไม่มีเจ้าหน้าที่ถูกลงโทษ มีแต่ลูกไม้เบี่ยงเบนความสนใจ เช่น นายกฯเออร์โดกานรีบชูเรื่องห้ามผู้หญิงทำแท้งขึ้นมา, หรือชูเรื่องห้ามผู้ใหญ่ซื้อขายเหล้าหลัง ๔ ทุ่มขึ้นมาโดยอิงหลักศาสนาอิสลาม เป็นต้น ล่าสุด ถึงแก่เล่นแรง โดยเออร์โดกานเปรยว่า “ทำไมขี้เมา ๒ คนเขียนกฎหมายได้ แต่ผมจะทำบ้างกลับไม่ได้ ทั้งที่ดูจากหลักศาสนาของเรา?” ทั้งนี้ “ขี้เมา ๒ คน” ที่ว่ามีนัยแฝงถึง เคมาล ปาชา อตาเตอร์ก ผู้ก่อตั้งรัฐชาติตุรกีสมัยใหม่ขึ้นกับนายกฯ ของเขาซึ่งร่วมกันออกกฎหมายยกเลิกการห้ามขายเหล้าที่อิงหลักศาสนาอิสลามในสมัยก่อน

แล้วลัทธิ Kemalism (ยึดหลักความเชื่อของ เคมาล ปาชา อตาเตอร์ก ผู้สร้างรัฐชาตินิยมตุรกีที่ถือโลกวิสัยและเป็นประชาธิปไตย ไม่บังคับใช้หลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด ฯลฯ) ยังมีพลังอยู่หรือไม่?

- คำตอบคือเสื่อมถอยและเปลี่ยนไปมากแล้ว ไม่มีใครเชื่อจริง คนเลิกเชื่อหลายด้านหลายประการของลัทธิการเมืองนี้ไปแล้วในปัจจุบัน แต่กระนั้นในแง่วัฒนธรรม Kemalism ยังมีพลังอยู่ ทำให้การท้าทายลองของตีวัวกระทบคราดของเออร์โดกาน สร้างความไม่พอใจพอสมควร

วิกฤตนี้จะจบอย่างไร?

๑) เออร์โดกานกล่าวคำขอโทษต่อประชาชนที่ใช้กำลังปราบปรามเกินกว่าเหตุ ยอมยกเลิกแผนการที่จะรื้อถอนสวนสาธารณะ Gezi ทิ้งเพื่อทำเป็นชอปปิ้ง มอลล์และศูนย์ที่พักอาศัย

๒) ดื้อรั้นเดินหน้าต่อ ระดมม็อบฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลโดยเฉพาะในหัวเมืองชนบทมาชุมนุมแสดงพลังบ้าง (จัดแล้ว ๒ ครั้งที่เมืองอีสตันบูลและอังการา) รัฐบาลข่มขู่ว่าจะส่งทหารออกมาปราบม็อบเป็นต้น ทว่าความเสี่ยงคือความแตกแยกในพรรค AK เองที่เริ่มปริออกให้เห็น เช่น ประธานาธิบดีแสดงท่าทีประนีประนอมต่อม็อบต่างจากนายกฯเออร์โดกาน อดีต รมว.วัฒนธรรมเรียกร้องให้นายกฯยกเลิกแผนรื้อสวนสาธารณะ Gezi เสีย

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
"ในฐานะผู้เคยทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ผมใคร่บอกว่าเราต้องหาทางเจือผสมการปฏิวัติด้วยความไม่รุนแรงให้มากที่สุด เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะว่าบรรดาไพร่ทาสราษฎรสามัญชนโดยทั่วไปนั้นหาได้มีอาวุธสงครามในมือเหมือนกลไกรัฐภายใต้การบังคับควบคุมของชนชั้นปกครองไม่.."    
เกษียร เตชะพีระ
กระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ จึงก่อผลสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำทางโภคทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดหนุนเกื้อกูล, พลังประชาธิปไตยบนฐานอำนาจเสียงข้างมากของคนที่ขาดด้อยโภคทรัพย์ต้องหาทางคะคานถ่วงดุลอำนาจทุนมหาศาลของคนมั่งมีโภคทรัพย์เสียงข้างน้อยไว้ มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายในทางเป็นจริงไปในที่สุด
เกษียร เตชะพีระ
เฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่ขายในประเทศร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่นและอเมริกา กลับมียอดแซงหน้าในประเทศตลาดเกิดใหม่ จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตรายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดอีกต่อไป หากกลับเป็นไทย (ที่ ๖๐%!) และอินโดนีเซีย (ที่ ๓๕%) ในรอบปีที่ผ่านมา
เกษียร เตชะพีระ
ก้องกังวานสะท้านฟ้ามหาสมุทร ด้วยคลั่งแค้นแสนสุดประกาศกล้า เป็นแสนเสียงล้านเสียงมหาประชา สยบขวัญสั่นอุราเผด็จการ...
เกษียร เตชะพีระ
"ประชานิยม" "คนชั้นกลางนิยม" "คนรวยนิยม" "อำมาตย์นิยม" "ประชาธิปัตย์นิยม" "ม.๑๑๒ นิยม" "ราชบัณฑิตนิยม" "ยิ่งลักษณ์นิยม" "ทักษิณนิยม" "พันธมิตรนิยม" "นิติราษฎร์นิยม" "นิด้านิยม"