Skip to main content

ควินติน สกินเนอร์ (ค.ศ. ๑๙๔๐ – ปัจจุบัน) เป็นนักวิชาการด้านประวัติความคิดการเมืองชาวอังกฤษสำคัญที่สุดคน หนึ่งในปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาวิชามนุษยศาสตร์ สังกัดวิทยาลัยควีนแมรี มหาวิทยาลัยลอนดอน เดิมทีเขาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเป็นผู้ก่อตั้งสำนักเคมบริดจ์ที่ทรงอิทธิพลด้านการศึกษาประวัติความคิด การเมืองร่วมกับนักวิชาการมีชื่อได้แก่ จอห์น ดันน์และเจ.จี.เอ. โพค็อก โดยสำนักนี้เน้นศึกษาประวัติความคิดการเมือง ตะวันตกเชื่อมโยงกับภาษาและโวหารการเมืองของบรรดานักคิดร่วมสมัย ภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์ที่แวดล้อม มันอยู่

เขาได้ให้สัมภาษณ์ริชาร์ด มาร์แชลแห่งรายการวิทยุ 3:AM เกี่ยวกับงานค้นคว้าประวัติความคิดเรื่องเสรีภาพและ เสรีนิยมของตะวันตกตลอดชีวิตของเขาโดยภาพรวม (แนวคิดมหาชนรัฐ, มาเคียเวลลี, ฮ๊อบส์, การปฏิรูปศาสนา, เชคสเปียร์, มิลตัน, ฯลฯ) และเว็บออนไลน์ openDemocracy ได้ขอให้สกินเนอร์เขียนตอบเพิ่มเติมในประเด็นอำนาจ บรรษัทเอกชนใหญ่และการเฝ้าสอดส่องติดตามประชาชนของรัฐในปัจจุบันว่าส่งผลกระทบต่อเสรีภาพอย่างไร แล้วนำออกเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ (http://www.opendemocracy.net/ourkingdom/quentin-skinner-richard-marshall/liberty-liberalism-and-surveillance-historic-overview) บทสัมภาษณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาน่าสนใจทางปรัชญาและการเมืองที่ชวนคิดทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ ผมจะทยอยแปล ลงในสเตตัสไปเป็นลำดับ:

 

คำถาม: คุณเป็นที่รู้จักในฐานะนักประวัติศาสตร์การเมืองชั้นนำโดยเฉพาะในเรื่องการก่อตัวของแนวคิดที่ล้อมรอบประเด็นเสรีภาพของมนุษย์  ความคิดสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่คุณเขียนไว้ได้แก่สิ่งที่คุณเรียกว่า “เสรีภาพนีโอโรมัน”  ความคิดนี้เริ่มขึ้นย้อน หลังไปในสมัยโรมโบราณซึ่งเสรีภาพถูกนำไปเปรียบตัดกับความเป็นทาสใช่ไหมครับ?  พอจะบอกเราได้ไหมครับว่า ลักษณะโดดเด่นเป็นเฉพาะของมันคืออะไรบ้าง?

 

ควินติน สกินเนอร์: วิสัยทัศน์ว่าด้วยเสรีภาพส่วนบุคคลที่ผมสนใจถูกถกแถลงไว้อย่างชัดเจนที่สุดใน กฎหมายโรมัน ฉบับย่อ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำไมผมอยากจะเรียกการแสดงออกในชั้นหลังของมันว่าเป็นตัวอย่างของเสรีภาพแบบ “นีโอโรมัน”  การจำแนกแยกแยะขั้นมูลฐานที่แสดงไว้ตอนต้นของกฎหมายโรมันฉบับย่อก็คือการจำแนกระหว่างเสรีชน (liber homo) กับทาส (servus)  กฎหมายต้องเริ่มด้วยการเปรียบต่างอันนี้ก็เพราะกฎหมายประยุกต์ใช้แต่กับบรรดา เสรีชนเท่านั้น  ไม่ใช้กับทาสทั้งหลาย  ดังนั้นคำถามสำคัญยิ่งข้อหนึ่งก็คืออะไรทำให้คนกลายเป็นทาส?  คำตอบที่ให้ไว้ใน ตัวบทกฎหมายก็คือทาสได้แก่คนที่ตกอยู่ใต้อำนาจมูลนาย (in potestate) โดยเปรียบต่างกับบางคนที่สามารถกระทำ การได้ด้วยตัวเอง (sui iuris)  เป็นเวลานานก่อนที่ข้อถกเถียงเหล่านี้จะถูกสรุปย่อไว้ในตัวบทกฎหมาย มันได้ถูกอธิบาย ขยายความอย่างพิสดารโดยนักศีลธรรมและประวัติศาสตร์โรมันจำนวนหนึ่ง ที่เด่นกว่าเพื่อนได้แก่ซัลลัสท์  ลิวี และ แทซิทัส  นักเขียนเหล่านี้สนใจคำถามที่กว้างกว่าว่าเวลาเราพูดว่าบุคคลหลาย ๆ คนหรือแม้กระทั่งประชาชนทั้งมวลหลาย ๆ กลุ่มก้อนถูกทำให้ดำรงชีพอยู่เยี่ยงทาสนั้นมันหมายถึงอะไร  คำตอบที่พวกเขาให้ก็คือว่าถ้าคุณตกอยู่ในสภาพต้อง ขึ้นต่อเจตจำนงตามอำเภอใจของใครอื่นสักคน ในลักษณะที่ว่าคุณได้แต่พึ่งพาอาศัยความประสงค์ดีของเขาเท่านั้นแล้ว ก็พอจะพูดได้ว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะข้าทาสไม่ว่าฐานะของคุณในสังคมจะถูกยกให้สูงส่งเพียงใดก็ตาม  ดังนั้นเองแทซิทัส จึงเอ่ยถึงภาวะข้าทาสของชนชั้นวุฒิสมาชิกทั้งหมดภายใต้จักรพรรดิทิเบริอุส ในฐานะที่พวกเขาล้วนแต่ต้องขึ้นต่อ อำเภอใจมรณะของพระองค์เท่านั้น

 

คำถาม: มันพัฒนาเป็นความคิดการเมืองที่น่าเกรงขามระหว่างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของอิตาลีใช่ไหมครับ?  มาเคียเวลลี (Niccolò Machiavelli, ค.ศ. ๑๔๖๙ - ๑๕๒๗) ได้รับอิทธิพลจากมันไม่ว่าจะในทางลบหรือบวกหรือเปล่า?

 

ควินติน สกินเนอร์: ใช่ครับ วิสัยทัศน์เสรีภาพอันนี้แหละที่เป็นฐานรองรับการอภิปรายในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของ อิตาลีเรื่อง vivere libero ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญชนิดที่จำเป็นสำหรับการธำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตเสรี  ไม่ต้องสงสัยเลยว่า มาเคียเวลลีได้รับอิทธิพลจากความคิดเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง  คุณถามว่าอิทธิพลนี้เป็นไปในทางบวกหรือเปล่า  ถ้าคุณหมาย ความว่าเขาเห็นด้วยกับข้อวิเคราะห์แบบนีโอโรมันหรือไม่ ผมว่าเขาเน้นย้ำยอมรับสนับสนุนมันเลยทีเดียว

ข้อเขียนหลักของมาเคียเวลลีที่ขบคิดใคร่ครวญทรรศนะเรื่องเสรีภาพแบบนีโอโรมันจะพบได้ในงานเขียนชุด Discorsi (วาทกรรม) เรื่องต่าง ๆ ของเขาซึ่งเขียนเสร็จราว ค.ศ. ๑๕๒๐  งานเขียนชุด วาทกรรม เหล่านี้อยู่ในรูปบทวิจารณ์ประวัติ ศาสตร์กรุงโรมของลิวี ๑๐ เล่มแรก  ในประวัติศาสตร์กรุงโรม ๒ เล่มแรก ลิวีได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสภาพ ขาดไร้เสรีภาพที่โรมต้องทนรับภายใต้กษัตริย์องค์แรก ๆ ของตนกับ civitas libera หรือรัฐเสรีที่ประชาชนสามารถก่อตั้งขึ้น ได้โดยเลือกตั้งกงสุลเป็นผู้ปกครองแทนที่กษัตริย์สืบราชวงศ์หลังขับไล่ราชวงศ์ทาร์ควินออกไปได้  มาเคียเวลลียอมรับสนับ สนุนสมมุติฐานของลิวีอย่างเต็มที่ ๆ ว่าคำถามมูลฐานที่ต้องตั้งเมื่อคิดถึงเรื่องเสรีภาพทางการเมืองก็คือความแตกต่างเป็น เอกเทศระหว่างเสรีภาพกับความเป็นข้าทาส และเขายังเห็นด้วยอีกว่าอำนาจตามอำเภอใจที่กษัตริย์องค์แรก ๆ ของโรมใช้ นั้นทำให้ผู้คนพลเมืองดำรงชีวิตอยู่เยี่ยงทาส  เขาใช้คำว่า servitù เสมอเวลาพูดถึงว่าปัจเจกบุคคลหรือประชาชนทั้งมวลที่ ต้องดำรงชีวิตอยู่ภายใต้อำนาจดุลพินิจของผู้อื่นนั้นจะสูญเสียเสรีภาพไปอย่างไร ไม่ว่าอำนาจที่ว่านั้นจะอยู่ภายในสังคม การเมือง (ในรูปเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินหรือคณาธิปไตยที่ปกครองควบคุมโดยพลการ) หรือภายนอกก็ตาม (ในรูปอำนาจของ เจ้าอาณานิคม)

 

คำถาม: แล้วมัน (แนวคิดเสรีภาพแบบนีโอโรมัน) มีอิทธิพลต่อการพัฒนาของสิทธิที่จะประท้วง,ต่อต้านและกบฏที่ออกมา จากพวกนิกายลูเทอรัน (ตีความคริสต์ศาสนาตามมาร์ติน ลูเทอร์ บาทหลวงนักปฏิรูปชาวเยอรมัน ค.ศ. ๑๔๘๓ – ๑๕๔๖), กาลแวงนิสต์ (ตีความคริสต์ศาสนาตามจอห์น กาลแวง บาทหลวงนักปฏิรูปชาวฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๕๐๙ – ๑๕๖๔) และกลุ่ม ศาสนาอื่น ๆ ของสมัยนั้นไหมครับ?

ควินติน สกินเนอร์: สิทธิในการต่อต้านซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงการต่อสู้ปฏิรูปคริสต์ศาสนา (นำโดยมาร์ติน ลูเธอร์และ จอห์น กาลแวงในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖) นั้นส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนแนวคิดคลาสสิก แต่ด้านหลักแล้วก็อิงคติบทกฎหมาย โรมันที่ว่า vim vi licet repellere กล่าวคือการต่อต้านการใช้กำลังที่อยุติธรรมด้วยกำลังย่อมชอบด้วยกฎหมายเสมอ  ข้อเปรียบต่างระหว่างเสรีภาพกับความเป็นข้าทาสย่อมสำคัญสำหรับนักคิดชั้นนำแห่งการปฏิรูปคริสต์ศาสนาอย่าง แน่นอน รวมทั้งสำหรับลูเทอร์และกาลแวงด้วย  แต่ด้านหลักแล้วนี่ก็เป็นเพราะพวกเขาเชื่อเรื่องชะตาลิขิตของพระผู้เป็น เจ้า และปฏิเสธความคิดเรื่องเสรีภาพของมนุษย์ในนามข้ออ้างว่าเราล้วนตกเป็นทาสของบาปและจะได้รับการปลดปล่อย ให้เป็นไทก็แต่โดยพระกรุณาธิคุณอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

 

คำถาม: แล้วความคิดเสรีภาพแบบนีโอโมันพัฒนาขึ้นอย่างไรในอังกฤษ?  มันใช่ความคิดเกี่ยวกับโรมประเภทที่เชคสเปียร์ (วิลเลียม เชคสเปียร์, เอกอัครมหากวีและนักแต่งบทละครชาวอังกฤษ ค.ศ. ๑๕๖๔ - ๑๖๑๖) น่าจะรับรู้และนำเสนอหรือ เปล่า?

ควินติน สกินเนอร์: เชคสเปียร์พูดเอาไว้มากทีเดียวในบรรดาละครเกี่ยวกับโรมของเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง จูเลียส ซีซาร์ เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่ว่าถ้าหากสังคมการเมืองหนึ่งตกอยู่ภายใต้เจตจำนงของบุคคลคนเดียว มันก็จะกลายเป็นทาส เหมือนดังที่บุคคลทั้งหลายกลายเป็นทาสหากต้องขึ้นต่อมูลนาย  เมื่อบรูตุสกล่าวแถลงกับชนชั้นล่างของโรมในองค์ที่ ๓ ของละคร จูเลียส ซีซาร์ นั้น เขาให้เหตุผลความชอบธรรมที่ต้องลอบสังหารซีซาร์ว่ามรณกรรมของซีซาร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อ ธำรงกรุงโรมไว้ให้เสรีต่อไปและป้องกันไม่ให้พลเมืองของโรมกลายเป็นทาส

 

คำถาม: แนวคิดเสรีภาพแบบนีโอโรมันโดดเด่นขึ้นมาระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษแห่งคริสต์ทศวรรษที่ ๑๖๔๐ ใช่ไหมครับ?  มิลตัน (จอห์น มิลตัน, กวีเอก นักปราชญ์และข้าราชการชาวอังกฤษในสมัยการปกครองของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ผู้นำในการปฏิวัติโค่นระบอบกษัตริย์และสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง, ค.ศ. ๑๖๐๐ - ๑๖๔๙) พัฒนา ความคิดของเขาล้อมรอบแนวคิดการเมืองที่ต่อต้านระบบทาสมิใช่หรือครับ?

ควินติน สกินเนอร์: ใช่ครับ จอห์น มิลตันนำเสนอทรรศนะแบบนีโอโรมันล้วน ๆ เกี่ยวกับเสรีภาพและรัฐเสรีทั้งหลายใน ข้อเขียนหลักเกี่ยวกับการเมืองทั้งสองชิ้นของเขาที่ตีพิมพ์หลังการสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง  ในงานเรื่อง การครอง ราชย์ครองตำแหน่งของท้าวพระยามหากษัตริย์ (ค.ศ. ๑๖๔๙) เขาเถียงว่าเว้นเสียแต่ว่าประชาชนจะสามารถปกครองตน เองได้แล้ว พวกเขาก็จะต้องอยู่เยี่ยงทาสร่ำไป เนื่องจากพวกเขาจะต้องอยู่ภายใต้เจตจำนงของผู้อื่น  ในช่วงจวนจะฟื้นฟู ระบอบกษัตริย์ เขาก็ตีพิมพ์งานเรื่อง วิธีการพร้อมทำได้และง่ายดายในการสถาปนาจักรภพเสรี (ค.ศ. ๑๖๖๐) ซึ่งเขาเสนอ ว่าระบอบกษัตริย์เป็นรูปแบบการปกครองที่เอาคนลงเป็นทาส  ข้อถกเถียงของเขาคือขึ้นชื่อว่ากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งอำนาจ พิเศษเสมอ และอำนาจเยี่ยงนั้นย่อมเป็นอำนาจดุลพินิจโดยนิยาม  แต่การดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ดุลพินิจของคนอื่นนั้นก็คือ ความหมายของการอยู่อย่างทาสนั่นเอง  ดังนั้นในงานเขียนทั้งสองชิ้นเขาจึงเรียกร้องผลักดันให้ประชาชนรักษาอำนาจไว้ ในมือตัวเองในฐานที่เป็นวิถีทางเดียวที่จะธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพทางการเมืองของตน

 

คำถาม: ฮ๊อบส์ (โธมัส ฮ๊อบส์, นักปรัชญาการเมืองเสรีนิยมสมัยใหม่ชาวอังกฤษผู้สร้างทฤษฎีสัญญาประชาคมสนับสนุน ให้ความชอบธรรมแก่องค์อธิปัตย์แห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. ๑๕๘๘ - ๑๖๗๙) คัดค้านทรรศนะเรื่องเสรีภาพ แบบมหาชนรัฐโรมันมิใช่หรือครับ?  เขานำเสนอทรรศนะเรื่องเสรีภาพแบบใดที่แตกต่างออกไป?  เขากำลังอ้างอิง ธรรมเนียมเสรีภาพที่ผิดแผกแปลกต่างออกไปมาใช้ หรือว่าเขากำลังพัฒนาความคิดของตนขึ้นมาผ่านวิวาทะ ในทำนอง ด้นมันขึ้นมาใหม่จากข้อถกเถียงอะไรก็ตามแต่ที่เถียงชนะในตอนนั้น?

ควินติน สกินเนอร์: ฮ๊อบส์เปลี่ยนใจเรื่องธรรมชาติของเสรีภาพทางการเมือง  เมื่อเขาเผยแพร่อรรถกถาการเมืองเล่มแรก ของเราเรื่อง เชื้อมูลของกฎหมาย ในปี ค.ศ. ๑๖๔๐ เขายังยอมรับทรรศนะคลาสสิกว่าปัจเจกบุคคลย่อมไม่เสรีหากพวกเขา ขึ้นต่อเจตจำนงของผู้อื่น  อย่างไรก็ตามเขาเถียงว่าเพื่อค้ำประกันสันติภาพและป้องกันไม่ให้หวนกลับไปสู่ภาวะธรรมชาติ ซึ่งเขาถือว่าเท่ากับภาวะสงครามนั้นอีก มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องก่อตั้งรูปแบบสิทธิอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณาญาสิทธิ์ ซึ่งเราสยบยอมขึ้นมา  แต่เขาเห็นด้วยว่าถ้าคุณสยบยอมต่อเจตจำนงขององค์อธิปัตย์แบบนั้นแล้ว ก็เท่ากับว่าคุณยอม สละเสรีภาพอันประกอบไปด้วยการไม่สยบยอมและไม่ขึ้นต่อใด ๆ ในแบบนั้น  ในขั้นนี้คำตอบของเขาคือถ้าสิ่งที่คุณ    ต้องการคือสันติภาพแล้ว คุณก็ต้องยอมสละเสรีภาพ  แต่ครั้งเขาพิมพ์งานการเมืองชิ้นถัดไปของเขาเรื่อง De cive ในปี ค.ศ. ๑๖๔๒ เขาก็เปลี่ยนใจไปแล้ว  ตอนนี้เขาเถียงใหม่ว่าในการสถาปนาอำนาจอธิปไตยขึ้นนั้น เราไม่จำต้องสละเสรี- ภาพของเรา และเขาชี้แจงประเด็นนี้โดยเถียงว่าทุกคนล้วนแต่เข้าใจลักษณะที่แท้ของเสรีภาพส่วนบุคคลผิดทั้งสิ้น  มา คราวนี้เขายืนยันว่าเสรีภาพส่วนบุคคลหาได้อยู่ตรงเป็นอิสระจากเจตจำนงของผู้อื่นไม่ แต่อยู่ตรงไม่ถูกขัดขวางมิให้ กระทำการอย่างที่เราต้องการแค่นั้นเอง  เสรีภาพไม่ใช่การไม่ต้องขึ้นต่อใคร มันเป็นแค่การไม่มีอุปสรรคภายนอกมากีด ขวางการเคลื่อนไหวเท่านั้นแหละ  ทรรศนะที่ว่านี้หยั่งยึดอยู่ในความเชื่อพื้นฐานของฮ๊อบส์ที่ว่าไม่มีอะไรจริงในโลกนี้นอก จากวัตถุที่เคลื่อนที่  ด้วยภววิทยาดังกล่าว เขาจึงยึดมั่นถือมั่นทรรศนะที่ว่านัยเดียวที่เราจะเข้าใจความคิดเรื่องเสรีภาพ ของมนุษย์ได้ก็คือการคิดว่ามันเป็นเสรีภาพของสิ่งต่าง ๆ ที่จะเคลื่อนไหวนั่นเอง  ตามนัยนี้ คุณจึงไม่เสรีถ้าหากการเคลื่อน ไหวของคุณถูกสกัดขัดขวางโดยสิ่งกีดขวางภายนอก แต่คุณเสรีถ้าหากคุณสามารถเคลื่อนไหวได้โดยไม่ถูกขัดขวาง

 

คำถาม: ถ้างั้นฮ๊อบส์ก็คิดว่าผู้คนยังเสรีต่อให้อยู่ภายใต้กฎหมายที่บังคับขับไสที่สุดก็ตามน่ะซีครับ  เขาเถียงแบบนั้นได้ อย่างไรในเมื่อดูผิวเผินแล้วมันฟังไม่น่าเชื่อถือเท่าไหร่เลย?

 

ควินติน สกินเนอร์: ข้อถกเถียงของฮ๊อบส์เกี่ยวกับกฎหมายและเสรีภาพ ซึ่งเขาพัฒนาคลี่คลายมันออกไปอย่างสมบูรณ์ที่ สุดในบทที่ ๒๑ ของ เลอเวียธัน ชื่อ “ว่าด้วยเสรีภาพของคนในบังคับ” นั้นพึ่งพิงทรรศนะของเขาว่ากฎหมายทำงานอย่างไร  เขายืนกรานซึ่งแน่นอนว่าฟังขึ้นว่าเหตุผลหลักที่ทำไมผู้คนเชื่อฟังทำตามกฎหมายก็เพราะพวกเขาหวาดวิตกผลลัพธ์ที่จะ เกิดขึ้นหากขัดขืนมากกว่า  แต่ก็อย่างที่เขาเถียงตอนนี้แหละครับว่าความกลัวหาได้พรากเสรีภาพไปไม่  ตามนิยามใหม่ ของฮ๊อบส์นั้น เสรีภาพถูกพรากไปได้ก็แต่โดยสิ่งกีดขวางทางกายภาพภายนอกต่อการเคลื่อนไหวเท่านั้น  แต่ความกลัวไม่ ใช่สิ่งกีดขวางภายนอกนี่นา  ตรงกันข้าม ความกลัวเป็นแรงขับดันในใจและเป็นแรงขับดันที่โดยทั่วไปมักผลักดันให้เรา เชื่อฟังทำตามด้วย  ฉะนั้นเขาจึงยืนยันว่าเมื่อเราเชื่อฟังทำตามกฎหมาย เราทำโดยเสรีเสมอนั่นแหละ และเราก็เสรีที่จะ ขัดขืนเสมอด้วย  ผมเห็นด้วยว่าหะแรกข้อถกเถียงนี้ฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไหร่ แต่หากคุณหวนระลึกว่าฮ๊อบส์นิยามเสรีภาพ ของมนุษย์อย่างไรแล้ว คุณก็พอจะเห็นได้ว่าอย่างน้อยมันก็คงเส้นคงวาโดยตลอดทีเดียว

 

คำถาม: ทำไมฮ๊อบส์ถึงคัดค้านแนวคิดโรมันขนาดนั้น?  ใช่ไหมว่าเขาต้องการสันติภาพไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไร หรือว่า เขาไม่ชอบพวกสมาชิกรัฐสภาโดยส่วนตัว?

 

ควินติน สกินเนอร์: เราก็ได้แต่คาดเดาล่ะนะครับ แต่ผมมีภาพประทับใจว่าฮ๊อบส์กังวลว่าจะมีการตั้งข้อเรียกร้องในนาม ของเสรีภาพกันเตลิดเปิดเปิงไปไกลถึงขนาดไหนหากแม้นทฤษฎีแบบนีโอโรมันไม่ถูกใครท้าทาย  ทฤษฎีนีโอโรมันมีนัยสืบ เนื่องที่สำคัญและชัดเจนยิ่งว่าคุณอาจจะไม่เสรีก็ได้ต่อให้ไม่มีภัยคุกคามที่จะบังคับขับไสอันใดอยู่เลยก็ตาม  ทั้งนี้ก็เพราะ หากคุณดำรงชีวิตอยู่โดยพึ่งพาความประสงค์ดีของคนอื่นแล้ว แน่นอนเลยว่าคุณจะเซ็นเซ่อร์ตัวเองโดยหวังว่าจะได้ไม่หา เรื่องเดือดร้อนใส่ตัว  แต่นี่จะส่งผลจำกัดเสรีภาพของคุณเอง  อย่างไรก็ตามการจำกัดเสรีภาพที่ว่านี้เกิดจากสถานะของ คุณในความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นเท่านั้นเอง หาได้จำเป็นจะต้องเกิดจากการกระทำบังคับขับไสใด ๆ ของเขาไม่  ฉะนั้น เพื่อประกันเสรีภาพของคุณให้มั่นคง สิ่งที่จะต้องช่วงชิงให้ได้มาก็คือเสรีภาพของคุณจากการพึ่งพาขึ้นต่อใด ๆ ทำนองนั้น  แต่นั่นมันเป็นการเรียกร้องสูงมากจากรัฐ และดูเหมือนฮ๊อบส์จะรู้สึกว่านั่นเป็นการเรียกร้องเกินเลยไป  ผมคิดว่าอีกเหตุ ผลหนึ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกันที่ทำให้ฮ๊อบส์เป็นปฏิปักษ์กับแนวคิดนีโอโรมันได้แก่ความปรารถนาอย่างแรงกล้าของเขาที่จะ  พิสูจน์ความถูกต้องของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวนกระแสพวกนิยมสาธารณรัฐในยุคของเขา  ดังที่เราได้เห็นมา แล้วว่าในมือของนักเขียนอย่างมิลตันนั้น ระบอบกษัตริย์ถูกตราหน้าว่าเป็นแหล่งที่มาของการตกเป็นทาสอย่างมิอาจ หลีกเลี่ยงได้  ฮ๊อบส์อยากปกป้องระบอบกษัตริย์ในฐานรูปแบบการปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเขาจึงต้องปัด ปฏิเสธทรรศนะที่ก่อนนี้เขาเคยสมาทานที่ว่าการพึ่งพาขึ้นต่อโดยตัวมันเองพรากเสรีภาพไป

 

คำถาม: กระนั้นแล้วหลังช่วงนี้ เกิดอะไรขึ้นกับเสรีภาพสองชนิดนั้นหรือครับ? ผมคะเนถูกใช่ไหมว่าล็อค (จอห์น ล็อค, นักปรัชญาการเมืองเสรีนิยมคลาสสิกชาวอังกฤษและนักคิดยุครู้แจ้งที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่ง ทฤษฎีสัญญาประชาคม ของเขาส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อแนวคิดมหาชนรัฐคลาสสิกและการเมืองเสรีนิยม ค.ศ. ๑๖๓๒ - ๑๗๐๔) มอง เรื่องเสรีภาพค่อนไปทางฮ๊อบส์มากหน่อยและรุสโซ (จัง-จ๊าค รุสโซ นักปรัชญาการเมืองประชาธิปไตยชาวนครเจนีวา แนว คิดการเมืองของเขามีอิทธิพลสูงต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสและสังคมการเมืองสมัยใหม่ ค.ศ. ๑๗๑๒ - ๑๗๗๘) คิดเห็นออกไป ทางโรมันมากกว่า?

ควินติน สกินเนอร์: ทรรศนะของฮ๊อบส์ไม่ได้เป็นที่ยอมรับนับถือในวาทกรรมการเมืองภาษาอังกฤษโดยทันทีทันใด หรอกนะครับ  ตรงกันข้าม มีอะไรในทำนองปฏิกิริยาต่อต้านมันด้วยซ้ำ  ล็อคยังคงยืนกรานต่อไปว่าอำนาจตามอำเภอใจ พรากเสรีภาพไป  อันที่จริงคำกล่าวอ้างนี้เป็นฐานข้อถกเถียงหลักที่เขาใช้พัฒนาทรรศนะเกี่ยวกับสิทธิในการต่อต้าน ระบอบทรราชย์ของเขาขึ้นมาทีเดียว  กว่าคำกล่าวอ้างของฮ๊อบส์ที่เป็นคู่แข่งว่าเสรีภาพไม่ได้อยู่ที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่อยู่ ที่ไม่มีอะไรกีดขวางต่างหากนั้น จะกลายมาเป็นความเชื่อสามัญที่ยอมรับกันทั่วไปในทฤษฎีการเมืองอังกฤษ ก็เมื่อลัทธิ ประโยชน์นิยมคลาสสิกรุ่งเรืองขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ แล้ว  ฮูม (เดวิด ฮูม, นักปรัชญา ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และนักเขียนความเรียงชาวสก๊อต มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวยุครู้แจ้งของสก๊อตและปรัชญาตะวันตกโดยทั่วไป เป็นที่รู้จักในฐานะตัวแทนปรัชญาประสบการณ์นิยมและกังขาคติ, ค.ศ. ๑๗๑๑ - ๑๗๗๖) ได้เย้ยหยันแนวคิดที่ว่าการ พึ่งพาโดยตัวมันเองพรากเสรีภาพไปเอาไว้ในความเรียงของเขาหลายชิ้น และพอถึงกรณีเบนแธมและพาเลย์ตอนปลาย คริสต์ศตวรรษนั้น (เจเรมี เบนแธม, นักปรัชญา นิติศาสตร์และนักปฏิรูปสังคมชาวอังกฤษ ถือเป็นผู้ก่อตั้งลัทธิประโยชน์ นิยมสมัยใหม่ ค.ศ. ๑๗๔๘ - ๑๘๓๒; วิลเลียม พาเลย์, นักปรัชญาประโยชน์นิยมและนักเทววิทยาคริสเตียนชาวอังกฤษ ค.ศ. ๑๗๔๓ - ๑๘๐๕) คุณก็จะพบถ้อยแถลงแสดงทรรศนะอย่างชัดแจ้งว่าเราเสรีตราบที่ไม่มีใครก้าวก่ายแทรกแซง การใช้กำลังอำนาจด้านต่าง ๆ ของเรา  โดยเปรียบต่างกัน รุสโซกลับเป็นนักเขียนชั้นนำที่ยังคงยืนกรานทรรศนะเรื่อง เสรีภาพแบบโรมันต่อไปอย่างที่คุณว่าจริง ๆ สำหรับรุสโซแล้ว คุณไม่มีวันจะอ้างได้ว่าเสรีถ้าหากคุณขึ้นต่อเจตจำนงของ คนอื่นไม่ว่าใคร  รุสโซหมกมุ่นอยู่กับความสำคัญของการรักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระของเราและหลีกเลี่ยงการสยบสมยอม ซึ่งเขาเห็นอยู่รายรอบตัวเต็มไปหมด

 

คำถาม: แล้วมาร์กซ (คาร์ล มาร์กซ ปัญญาชนปฏิวัติชาวเยอรมันเชื้อสายยิวผู้ร่วมกับเฟดเดอริค เองเกลส์ก่อตั้งลัทธิและ ขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ค.ศ. ๑๘๑๘ - ๑๘๘๓) จะตระหนักถึงความแตกต่างเป็นเอกเทศระหว่างเสรีภาพแบบโรมัน กับเสรีภาพแบบฮ๊อบส์ไหมครับ? ตกลงแล้วเขาเข้าข้างหรือน่าจะเข้าข้างฮ๊อบส์หรือแนวคิดแบบโรมันกันแน่?

ควินติน สกินเนอร์: นี่เป็นคำถามที่น่าจะถูกสอบสวนค้นคว้ายิ่งกว่าที่เคยทำกันมาอีกเป็นอันมาก  ผมเองรู้สึกตื่นใจที่ มาร์กซใช้ศัพท์แสงการเมืองนีโอโรมันในแบบของเขาเองมากขนาดนั้น  เขาพูดถึงทาสรับจ้างและเผด็จการของชนชั้น กรรมาชีพ  เขายืนกรานว่าถ้าคุณมีแค่เสรีภาพที่จะขายแรงงานของคุณละก็ คุณก็ไม่เสรีเลยแม้แต่น้อย  เขาตราหน้า ทุนนิยมว่าเป็นรูปแบบความเป็นข้าทาสอย่างหนึ่ง  ทั้งหลายทั้งปวงนี้อ่านแล้วก็รู้เลยว่าเป็นการยึดมั่นถือมั่นคติ ศีลธรรมแบบนีโอโรมัน

 

คำถาม: ดูเหมือนความแตกต่างเป็นเอกเทศระหว่างความคิดเรื่องเสรีภาพสองแนวนี้จะสำคัญยิ่งและอาจช่วยอธิบายได้ ว่าทำไมแนวคิดมหาชนรัฐจึงดูจะปรองดองรองรับทรรศนะการเมืองได้กว้างขวางมากมายขนาดนั้น จากอำนาจนิยมสุด โต่งในนามของเสรีภาพไปจนถึงลัทธิรวมหมู่หรือเปล่าครับ?  อาการตาบอดทางประวัติศาสตร์ของเราเป็นตัวกีดขวางความ สามารถที่เราจะเข้าใจกระแสแนวคิดหลายหลากมากมายที่พาดผ่านตัดกันไปมาในสถานการณ์ร่วมสมัยของเราใช่ไหม?  ผมเดาว่าประเด็นตรงนี้ได้แก่เรื่องบทบาทของประวัติศาสตร์และการมีมุมมองเชิงประวัติศาสตร์น่ะครับ

ควินติน สกินเนอร์: ตัวผมเองไม่ผูกโยงทฤษฎีนีโอโรมันต่าง ๆ เข้ากับสิ่งที่คุณเรียกว่าลัทธิอำนาจนิยมในนามของเสรีภาพ หรอกนะครับ  ในสายตาผมแล้ว โดยทั่วไปดูเหมือนลัทธิอำนาจนิยมแบบนั้นจะบังเกิดขึ้นจากฐานคติที่ว่ามีเป้าหมาย ปลายทางที่แท้จริงบางอย่างสำหรับมนุษยชาติ และเสรีภาพก็ประกอบไปด้วยการเดินตามเป้าหมายปลายทางที่ว่านั้น  ตัว อย่างหนึ่งคงได้แก่ความเชื่อแบบอริสโตเติ้ล (นักปรัชญาและสัพพัญญูชาวกรีก ศิษย์คนหนึ่งของเพลโตและครูของพระเจ้า อเล็กซานเดอร์มหาราช หนึ่งในสามผู้ก่อตั้งปรัชญาตะวันตกร่วมกับโสเครติสและเพลโต ๓๘๔ - ๓๒๒ ปีก่อนคริสต์กาล) ที่ ว่าเสรีภาพของเราจะประจักษ์เป็นจริงได้ดีที่สุดโดยการรับใช้ชุมชน  อีกตัวอย่างน่าจะได้แก่ความเชื่อแบบคริสต์ศาสนาที่ เป็นคู่แข่งกันที่ว่าเราบรรลุเสรีภาพที่แท้ (“เสรีภาพแบบคริสเตียน”) ได้ก็แต่โดยการรับใช้พระเจ้าเท่านั้น  ข้อถกเถียงที่เป็น ปฏิทรรศน์เหล่านี้ซึ่งเชื่อมโยงเสรีภาพเข้ากับการรับใช้แตกต่างจากแก่นอุดมคตินีโอโรมันที่ว่าเสรีภาพอยู่ตรงเป็นอิสระจากเจตจำนงตามอำเภอใจของผู้อื่น  ไม่จำเป็นที่ความปรารถนาที่จะเป็นอิสระจากอำนาจดุลพินิจดังกล่าวจะต้องเป็นผลของ ความเชื่อที่ว่าเราสมควรดำเนินการใช้อิสรภาพของเราไปทำการในลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งอย่างใด  ทฤษฎีนีโอโรมันไม่ สนใจที่จะบอกคุณว่าคุณควรใช้เสรีภาพของคุณอย่างไร  มันแค่ต้องการให้คุณสมาทานทรรศนะเฉพาะเจาะจงบางอย่าง ว่าควรเข้าใจเสรีภาพเช่นใดเท่านั้น 

 

ผมเห็นด้วยกับคุณอย่างยิ่งเมื่อคุณพูดเรื่องอาการตาบอดทางประวัติศาสตร์ของเราทุกวันนี้  ผมคิดว่าเราได้ปิดกั้นตัวเรา เองจากการเข้าใจประวัติศาสตร์ของเราตั้งมากมายโดยมองไม่เห็นว่าจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เองแนวทรรศนะเรื่องเสรี ภาพเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปในลักษณะที่เดี๋ยวนี้เราไม่คุ้นชินหรือแม้แต่ยากที่จะเข้าใจ  เรามักคิดถึงเสรีภาพว่าโดยแก่นแท้ แล้วมันเป็นเรื่องภาคแสดงของการกระทำต่าง ๆ  ทว่าธรรมเนียมแต่ก่อนกลับถือว่าโดยแก่นแท้แล้วเสรีภาพเป็นชื่อเรียก ฐานภาพอย่างหนึ่ง อันได้แก่ฐานภาพของบุคคลเสรีที่เปรียบต่างจากทาส

 

ผมขอปิดท้ายโดยคิดตามกระแสความคิดสุดท้ายของคุณดู  ผมเชื่อว่ามีความหมายนัยอย่างหนึ่งอยู่แน่ ๆ ที่เราไม่เข้าใจ ลักษณะบางประการของสถานการณ์ร่วมสมัยของเราเนื่องจากเราไม่ได้ยึดกุมวิธีคิดเรื่องเสรีภาพแบบนีโอโรมัน  สำหรับ นักคิดนีโอโรมันแล้ว สถานการณ์หลายอย่างซึ่งในสังคมตลาดถือว่าเสรีหรือแม้กระทั่งเป็นแม่บทกระบวนทัศน์ของความ เป็นเสรี จะดูเหมือนตัวอย่างของการตกเป็นข้าทาสในสายตาของพวกเขา  ชะตากรรมของแรงงานที่ไม่ได้รวมตัวกันเป็น สหภาพ ของบรรดาผู้ดำรงชีวิตในสภาพต้องพึ่งพาคนอื่นทางเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ต้องอยู่อย่างพึ่งพา คู่ชีวิตที่ชอบใช้ความรุนแรง รวมทั้งของพลเมืองทั้งหมดโดยรวมซึ่งสมัชชาผู้แทนของตนได้สูญเสียอำนาจไปให้กับฝ่าย บริหารนั้น ทั้งหลายทั้งปวงนี้จะดูเหมือนตัวอย่างของการถูกทำให้ต้องอยู่อย่างข้าทาสในสายตาของนักทฤษฎีนีโอโรมัน

 

คำถาม: ในบรรดาสิ่งที่คุณขึ้นบัญชีว่าเป็นภัยคุกคามเสรีภาพนั้น มีทั้งสภาพพึ่งพาทางเศรษฐกิจของแรงงานซึ่งไม่ได้จัดตั้ง เป็นสหภาพ, บทบาทของความรุนแรงแบบทรราชย์ในครอบครัว, และอาการที่รัฐสภาตกเป็นเบี้ยล่างอำนาจบริหารที่ไม่ได้ มาจากการเลือกตั้ง แต่คุณไม่ยักเอ่ยถึงอำนาจบรรษัทที่รุ่งเรืองขึ้นมาด้วย  คุณเห็นว่าตลาดเสรีจำเป็นอย่างยิ่งต่อเสรีภาพ ในความหมายเต็มสมบูรณ์ที่คุณป่าวร้องสนับสนุนอย่างนั้นหรือ?

ควินติน สกินเนอร์: ในสายตาผม อำนาจของบรรษัททั้งหลายดูจะสามารถคุกคามเสรีภาพอย่างร้ายแรงโดยเฉพาะอย่าง ยิ่งโดยผ่านสมรรถนะของบรรษัทเหล่านี้ในการกดดันรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐกำลังพัฒนา  สมมุติว่าบรรษัทแห่งหนึ่ง อยากลงทุนในประเทศหนึ่งแต่พบว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือกฎระเบียบเรื่องแรงงานของประเทศนั้นเรียกร้องสูงเกินไป จนไม่สะดวก  มันง่ายมากที่บรรษัทดังกล่าวจะกดดันรัฐบาลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีรัฐกำลังพัฒนาทั้งหลาย ให้ยกเว้นบรรษัทตัวเองจากกฎระเบียบเหล่านี้  ไม่ต้องถึงขั้นออกปากคุกคามว่าจะไม่ลงทุนหากไม่ได้อภิสิทธิ์พิเศษเหล่านี้ หรอก  แค่รัฐบาลตระหนักว่าอาจเสียการลงทุนไปได้เว้นแต่ยอมให้อภิสิทธิ์พิเศษเหล่านี้ก็เพียงพอจะทำให้รัฐบาลยอม ตามแล้ว  พูดอีกอย่างก็คือรัฐบาลตกอยู่ใต้พันธะผูกมัดกะเกณฑ์ให้ต้องประพฤติตัวแบบสยบยอมในลักษณะที่อาจไม่ เป็นประชาธิปไตยอีกด้วยในเมื่อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งบรรดาผู้แทนประชาชนได้แสดงความเห็นชอบไว้อาจต้องถูกเพิกเฉย ละเลยไป  นี่ไม่ได้เป็นปัญหาแต่กับกรณีอำนาจของบรรษัทข้ามชาติในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐกำลังพัฒนาเท่านั้น  ลอง นึกถึงการยกเว้นภาษีต่าง ๆ ที่บรรดาบรรษัทข้ามชาติได้รับในประเทศนี้สิ (อังกฤษ) รวมทั้งการเปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่ามีการ ปล่อยให้บางบรรษัทยังกับไม่ต้องจ่ายภาษีบรรษัทเลยก็ได้ด้วยซ้ำ

 

คำถาม: การเปิดโปงเมื่อเร็ว ๆ นี้ทำให้เห็นชัดว่าหน่วยงานข่าวกรองของรัฐที่เชื่อมผนึกกับบรรษัทชำนาญเฉพาะทางกำลัง พยายามเข้ามา “เป็นนายเหนืออินเทอร์เน็ต” หรือได้เข้ามาเป็นเรียบร้อยแล้วอย่างแน่นอน  อีกทั้งได้จัดทำแผนที่และ บันทึกเมตาดาต้าของเราทั้งหมด (Metadata หรือ “อภิข้อมูล” หมายถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกจัดโครงสร้างมาแล้ว ซึ่ง พรรณนา, อธิบาย, ระบุตำแหน่งที่ตั้งหรืออื่น ๆ ที่ทำให้สามารถเรียกคืน, ใช้ หรือจัดการแหล่งข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น จึง มักเรียก Metadata ว่า “ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูล” หรือ “ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร”) แกะรอยความสัมพันธ์อิเล็ก- ทรอนิกส์, การค้นเว็บ, สนทนาผ่านสไกป์, และการส่งข้อความทุกชิ้นทุกอันที่เราทำ  ปรากฏว่าปฏิกิริยาสนองตอบต่อเรื่อง นี้โดยทั่วไปจากสื่อมวลชนอังกฤษทุกฝ่ายทุกแขนงตั้งแต่บีบีซี หนังสือพิมพ์เดลีเทเลกราฟ ไปจนถึงสิ่งพิมพ์ในเครือของ เมอร์ดอค (หมายถึง คีธ รูเพิร์ต เมอร์ดอค เจ้าพ่อสื่อมวลชนอเมริกันเชื้อสายออสเตรเลีย เป็นผู้ก่อตั้ง ประธานและหัวหน้า เจ้าหน้าที่ บริหารของบริษัท News Corp และ 21st Century Fox ซึ่งรวมกันแล้วนับเป็นเครือธุรกิจสื่อมวลชนใหญ่ที่สุด อันดับสองของโลก) ก็คือ “คุณจะคาดหวังให้เป็นอื่นไปได้อย่างไร? ทุกคนก็ทำกันอย่างนี้ทั้งนั้น ว่าแต่คุณน่ะมีอะไรจะซุก ซ่อนรึ?” ข้อถกเถียงของคุณจะกระทบกับประเด็นปัญหาการเฝ้าสอดส่องติดตามนี้อย่างไรบ้างครับ?

ควินติน สกินเนอร์: ความคิดที่ว่าไอ้การเฝ้าสอดส่องติดตามนี่มันไม่เป็นปัญหาอะไรหรอกตราบเท่าที่คุณไม่มีอะไรจะซุก ซ่อนน่ะมันก็เพียงแต่ชี้ให้เห็นความหลงพึงพอใจในตนเองของทรรศนะเรื่องเสรีภาพแบบเสรีนิยมเมื่อนำไปเปรียบตัดกับ ทรรศนะแบบมหาชนรัฐนั่นเอง  พวกเสรีนิยมคิดว่าคุณเสรีตราบเท่าที่คุณไม่ถูกบังคับขับไส  แน่ล่ะว่าพวกมหาชนรัฐเห็น ด้วยว่าถ้าหากคุณถูกบังคับขับไสละก็ คุณย่อมไม่เสรี  แต่สำหรับพวกมหาชนรัฐแล้ว เสรีภาพไม่ได้อยู่ตรงแค่เสรีจากการ ถูกบังคับขับไสในแง่ที่เกี่ยวกับการกระทำบางอย่างเท่านั้น หากอยู่ตรงเสรีจากความเป็นไปได้ของการถูกบังคับขับไสในแง่ ที่เกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวมากกว่า

 

เมื่อวิลเลียม เฮก (รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษคนปัจจุบัน) บอกสภาสามัญว่าไม่มีใครต้องกลัวอะไรตราบเท่าที่พวกเขา ไม่ได้ทำอะไรผิดนั้น เขากำลังหลงประเด็นสำคัญขั้นอุกฤษฏ์เกี่ยวกับเสรีภาพเลยทีเดียว  เพื่อจะอยู่อย่างเสรี ไม่เพียงแต่ เราไม่ต้องกลัวว่าจะถูกแทรกแซงเท่านั้น แต่เราพึงไม่ต้องกลัวว่าจะสามารถเกิดการแทรกแซงขึ้นได้ด้วย  แต่ความมั่นใจ ประการหลังนี้แหละที่ไม่มีใครสามารถให้ได้ถ้าหากการกระทำของเราตกอยู่ใต้การเฝ้าสอดส่องติดตาม  ตราบเท่าที่มีการ เฝ้าสอดส่องติดตามอยู่ เสรีภาพในการกระทำของเราก็สามารถถูกจำกัดได้เสมอถ้าเกิดใครบางคนเลือกที่จะจำกัดมัน  ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาอาจไม่เลือกที่จะจำกัดเราเช่นนั้นก็หาได้ทำให้เราไม่เสรีน้อยลงแต่ประการใดไม่ ทั้งนี้เพราะเราไม่ได้ ปลอดพ้นจากการเฝ้าสอดส่องติดตามและความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้มันเล่นงานเรา  จนกว่าเราปลอดพ้นจากความเป็น ไปได้ที่สิทธิของเราจะถูกล่วงล้ำดังกล่าวนี้เท่านั้น เราถึงจะเสรี  และเสรีภาพที่ว่านี้จะได้รับการค้ำประกันก็ต่อเมื่อปราศจาก การเฝ้าสอดส่องติดตามเท่านั้น

ผมคิดว่ามันสำคัญที่ข้อเท็จจริงแค่ว่ามีการเฝ้าสอดส่องติดตามเพียงเท่านั้นก็พรากเสรีภาพไปจากเราแล้ว  ในสายตาผม ที่ผ่านมาดูเหมือนปฏิกิริยาตอบโต้ของบรรดาผู้วิตกกังวลเรื่องการเฝ้าสอดส่องติดตามจะถูกผูกออกมาว่าเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวท่าเดียวมากเกินไป  มันจริงแท้แน่นอนล่ะครับว่าความเป็นส่วนตัวของผมถูกละเมิดถ้าใครบางคนอ่านอีเมล์ของผมโดยผมไม่รู้  แต่ประเด็นของผมคือเสรีภาพของผมก็กำลังถูกล่วงละเมิดไปด้วย และมันถูกล่วง ละเมิดไม่เพียงด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าใครบางคนกำลังอ่านอีเมล์ของผมเท่านั้น หากยังด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าใครบางคนมีอำนาจ ที่จะเปิดอีเมล์ของผมออกอ่านหากพวกเขาเลือกที่จะทำเช่นนั้นด้วย  เราจำต้องยืนกรานว่าสิ่งนี้โดยตัวมันเองก็พรากเอา เสรีภาพไปจากเราแล้วเพราะมันทอดทิ้งให้ชะตากรรมของเราขึ้นอยู่กับความเมตตาของอำนาจตามอำเภอใจ  มันเปล่า ประโยชน์ที่พวกที่ถือครองอำนาจนี้จะมาสัญยิงสัญญาว่าพวกเขาไม่จำเป็นจะต้องใช้อำนาจนี้ก็ได้ หรือจะใช้อำนาจนี้เพื่อ ประโยชน์สุขส่วนรวมเท่านั้น  สิ่งที่รุกล้ำก้าวร้าวต่อเสรีภาพก็คือการดำรงคงอยู่ของอำนาจตามอำเภอใจในลักษณะนี้ต่างหาก

สถานการณ์ยิ่งถูกทำให้เลวร้ายลงอีกมากเมื่อคุณรู้ดังที่พวกเราทุกคนรู้แล้วตอนนี้ว่าเอาเข้าจริงเราถูกเฝ้าสอดส่องติดตาม  มาบัดนี้มีอันตรายที่ว่าเราอาจเริ่มเซ็นเซ่อร์ตัวเองเบื้องหน้าข้อเท็จจริงที่รับรู้กันว่าเราอาจกำลังถูกเพ่งเล็งตรวจตราโดยพลัง ที่ทรงอำนาจและอาจกลายเป็นอริกับเราได้  ปัญหาไม่ใช่เรารู้ว่าจะเกิดบางอย่างขึ้นกับเราถ้าเราพูดบางสิ่งบางอย่างออก ไป  ปัญหาอยู่ตรงเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราแน่ต่างหาก  บางทีอาจไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยก็ได้  แต่เราไม่รู้ไงและฉะนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้อย่างยิ่งเลยว่าเราจะหุบปากหรือเซ็นเซ่อร์ตัวเอง  แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพ แม้กระทั่งในบรรทัดฐานแบบเสรีนิยมเอง  พวกเสรีนิยมกับพวกมหาชนรัฐน่าจะเห็นพ้องต้องกันได้แน่ ๆ ว่าถ้าหากโครงสร้างอำนาจเป็นไปในลักษณะที่ผมรู้สึกถูกผูกมัดเหนี่ยวรั้งให้ต้องจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของผมเองแล้วละก็ เสรีภาพของผมย่อมถูกบ่อนทำลายลงในระดับที่ว่านั้น

แน่นอนอาจมีการคัดค้านว่าเสรีภาพเป็นแค่คุณค่าอย่างหนึ่งเท่านั้น และบางทีก็อาจจะต้องยอมลดทอนเสรีภาพลงเพื่อเห็น แก่คุณค่าที่ถือว่าเหนือกว่าอย่างอื่น ๆ อาทิเช่นความมั่นคงปลอดภัย  คำตอบหนึ่งที่บอกได้ก็คือบางทีขณะนี้เราอาจจะยิน ยอมพร้อมใจเกินไปที่จะปล่อยให้คำถามเรื่องความมั่นคงปลอดภัยมีน้ำหนักเหนือกว่าคำถามเรื่องเสรีภาพ  แต่ต่อให้ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ว่านั้น ในสายตาผม สถานการณ์อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ดูเหมือนไม่อาจปล่อยให้เกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตย  เอาเป็นว่าเราเห็นตรงกันว่ามันเป็นพันธะหน้าที่ประการหนึ่งของรัฐอย่างไม่ต้องสงสัยที่จะต้องธำรงรักษา ความมั่นคง  เอาเป็นว่าเรายอมอ่อนข้อให้ด้วยว่านี่อาจเรียกร้องต้องการการเฝ้าสอดส่องติดตามในบางระดับ  แต่ถ้าอำนาจต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากความจำเป็นดังกล่าวข้างต้นจะถูกเอาไปใช้อย่างเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็จะต้องกำหนด ข้อจำกัดเหนี่ยวรั้งหลายอย่างหลายประการไว้คอยกำกับอำนาจที่ว่านั้นซึ่งตอนนี้ไม่มีอยู่สักข้อเลย  ตัวอย่างเช่นผู้คนควร ต้องรู้ล่วงหน้าอย่างชัดเจนแม่นยำว่ากิจกรรมใดบ้างถูกเฝ้าสอดส่องติดตามและเพราะเหตุใด  และมีโทษทัณฑ์ประการใดบ้างที่อาจก่อให้เกิดขึ้นได้  และการเฝ้าสอดส่องติดตามนั้นควรต้องมอบให้เป็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งต้อง ตอบรับต่อรัฐสภา ไม่ใช่ต่อฝ่ายบริหารเท่านั้นซึ่งบ่อยครั้งเราไม่มีเหตุอันควรที่จะไว้ใจเอาเสียเลย

 

(บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก "Kasian Tejapira" ตั้งแต่วันที่ 1 - 10 ต.ค.ที่ผ่านมา)

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
"ในฐานะผู้เคยทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ผมใคร่บอกว่าเราต้องหาทางเจือผสมการปฏิวัติด้วยความไม่รุนแรงให้มากที่สุด เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะว่าบรรดาไพร่ทาสราษฎรสามัญชนโดยทั่วไปนั้นหาได้มีอาวุธสงครามในมือเหมือนกลไกรัฐภายใต้การบังคับควบคุมของชนชั้นปกครองไม่.."    
เกษียร เตชะพีระ
กระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ จึงก่อผลสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำทางโภคทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดหนุนเกื้อกูล, พลังประชาธิปไตยบนฐานอำนาจเสียงข้างมากของคนที่ขาดด้อยโภคทรัพย์ต้องหาทางคะคานถ่วงดุลอำนาจทุนมหาศาลของคนมั่งมีโภคทรัพย์เสียงข้างน้อยไว้ มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายในทางเป็นจริงไปในที่สุด
เกษียร เตชะพีระ
เฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่ขายในประเทศร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่นและอเมริกา กลับมียอดแซงหน้าในประเทศตลาดเกิดใหม่ จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตรายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดอีกต่อไป หากกลับเป็นไทย (ที่ ๖๐%!) และอินโดนีเซีย (ที่ ๓๕%) ในรอบปีที่ผ่านมา
เกษียร เตชะพีระ
ก้องกังวานสะท้านฟ้ามหาสมุทร ด้วยคลั่งแค้นแสนสุดประกาศกล้า เป็นแสนเสียงล้านเสียงมหาประชา สยบขวัญสั่นอุราเผด็จการ...
เกษียร เตชะพีระ
"ประชานิยม" "คนชั้นกลางนิยม" "คนรวยนิยม" "อำมาตย์นิยม" "ประชาธิปัตย์นิยม" "ม.๑๑๒ นิยม" "ราชบัณฑิตนิยม" "ยิ่งลักษณ์นิยม" "ทักษิณนิยม" "พันธมิตรนิยม" "นิติราษฎร์นิยม" "นิด้านิยม"