Skip to main content

ผมอ่านข้อเสนอที่นายกแพทยสภาและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแถลงล่าสุดแล้ว http://www.posttoday.com/สังคม/สาธารณสุข/277289/นายกแพทยสภาแถลงจี้ยิ่งลักษณ์ลาออก มีความเห็นว่ามัน "ไม่เป็นกลาง" ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้:

 

๑) ผู้ไปออกเสียงเลือกตั้งทั้ง ๒๐.๔ ล้านคน ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกพรรคใด เลือกส.ส.เขตคนไหน, หรือ vote no, หรือทำบัตรเสีย การที่พวกเขาอุตส่าห์ออกจากบ้านไปคูหาเลือกตั้ง แสดงบัตรประจำตัวเป็นหลักฐาน ลงนาม และกาบัตร/ทำบัตรเสีย ทั้ง ๆ ที่ถูกห้ามปราม ด่าประณาม ข่มขู่ คุกคาม กระทั่งยิงทำร้ายด้วยอาวุธสงครามจากม็อบกปปส. มันแสดงว่าพวกเขาเลือกเอา, เข้าข้าง, สนับสนุน, เข้าร่วม "การเลือกตั้ง" อันเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่ขาดเสียมิได้ในวิถีทางและกระบวนการประชาธิปไตย

การที่ท่านนายกแพทยสภาตีความว่าเฉพาะผู้ที่ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง ๑๔ ล้านคนในการเลือกตั้งเท่านั้นที่สนับสนุนการเลือกตั้งในกระบวนการประชาธิปไตย เป็นการตีความที่ผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนจากข้อเท็จจริงอย่างไม่น่าเชื่อและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นการตีความเอนเอียงเข้าข้างการโฆษณาชวนเชื่อของกปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ผู้บอยคอตการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นกลางโจ๋งครึ่มยิ่ง

 

๒) การที่นายกแพทยสภามาเรียกร้องหานายกฯ "คนกลาง" นอกและเหนือรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตย แสดงว่าท่านปฏิเสธวิธีการได้มาซึ่งผู้กุมอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตยปกติ แสดงว่าท่านไม่เป็นกลางต่อรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตย และเลือกข้างตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตย โดยไม่ตระหนักว่าอำนาจอันไม่ชอบธรรม ไม่ได้มาจากวิถีทางประชาธิปไตยและฉันทมติของเสียงส่วนใหญ่ ย่อมไม่สามารถปฏิรูปอันใดได้ยั่งยืน สุดท้ายก็จะถูกฝ่ายตรงข้ามปฏิเสธ นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในบ้านเมืองไม่สิ้นสุด ดังการปฏิรูปที่ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยรัฐบาลจากการรัฐประหารของคณะปฏิรุปฯ (คปค.) และรัฐบาลจากการแทรกแซงหนุนหลังของทหารนับแต่ปี ๒๕๔๙ มาเป็นตัวอย่าง

 

๓) รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์จักต้องรับผิดชอบทั้งทางการเมืองและกฎหมายกับผลลัพธ์ของนโยบายจำนำข้าวอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ประเทศของเรามีขื่อมีแป ไม่ใช่ระบบศาลเตี้ย ที่รวมม็อบมาลงโทษคนที่ถือว่าผิดอย่างอนาธิปไตย การกระทำเช่นนั้้นสะท้อนว่าท่านไม่เคารพความเป็นกลางของระบบยุติธรรมและดุลพินิจของผู้เลือกตั้ง ไม่เชื่อว่าพวกเขาคิดเองเป็น ตัดสินเองเป็น ลงโทษรัฐบาลคอร์รัปชั่นด้วยกฎหมายและโหวตทางการเมืองของตัวเองเป็น ในบรรดาวิธีการได้มาซึ่งความยุติธรรมทั้งหลายแหล่นั้น ศาลเตี้ยและม็อบอนาธิปไตยไม่เคยยังความยุติธรรมให้แก่ใครได้สำเร็จเลย มีแต่ถมทับความอยุติธรรมลงไปบนความอยุติธรรม พอกพูนปํญหาซ้ำซ้อนไม่สิ้นสุด

 

๔) การจำแนกหลักกฎหมายออกจากหลักจริยธรรมหรือศีลธรรมอย่างตื้น ๆ และตายตัวสะท้อนความไม่เข้าใจเนื้อแท้ของความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกฎหมาย, ศีลธรรม, และการเมืองอันเป็นประเด็นพื้นฐานของปรัชญาการเมืองสมัยใหม่แบบประชาธิปไตย ขณะที่กฎหมายเป็นหลักร่วมยึดถือกันของสังคมที่สังคมจัดร่างสร้างขึ้นด้วยกระบวนการการเมืองสาธารณะ ศีลธรรมนั้นเป็นหลักยึดถือของกลุ่มฝ่ายศาสนิกต่าง ๆ ที่นับวันหลากหลายแตกต่างออกไปเป็นพหูพจน์อย่างไม่มีทางบังคับย่นย่อให้เหลือเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวได้ เพราะเหตุนี้ สังคมสมัยใหม่ที่เป็นพหุสังคม ยอมรับความหลากหลายทางแนวคิดศีลธรรม จึงใช้กฎหมายเป็นหลักเกณฑ์แก้ไขความแตกต่างขัดแย้างทางแนวคิดและผลประโยชน์ ด้วยความเข้าใจว่า "การเมืองคือการใช้กฎหมายไปบรรลุเป้าหมายทางศีลธรรม" (politics as the legal realization of moral ends) การตัดกฎหมายออกไป แล้วอ้างศีลธรรมมาแทนที่ ก็คือการเอาศีลธรรมของฝ่ายตนเป็นใหญ่ ถือว่าตนเองถูก เป็นศูนย์กลางโลก แล้วบังคับยัดเยียดด้วย "อำนาจเป็นธรรม" ให้ฝ่ายอื่นต้องยอมรับ อันรังแต่จะนำไปสู่การกดขี่ ความขัดแย้งและรุนแรงต่อไปข้างหน้า (เช่นที่เกิดขึ้นในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ของนปช.เมื่อปี ๒๕๕๒, ๒๕๕๓ เป็นต้น)

 

หว้งว่าผู้รักความเป็นกลางอย่างท่านนายกแพทยสภาและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกท่านจะใช้ดุลพินิจใคร่ครวญไตร่ตรองข้อเรียกร้องเหล่านี้ใหม่ว่ามัน "เป็นกลาง" ในทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์จริงหรือไม่?

 

ด้วยความนับถือ

เกษียร เตชะพีระ

ศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กีรตยาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๕๕

 

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก Kasian Tejapira เมื่อวันที่ 11 ก.พ.57 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
"ในฐานะผู้เคยทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ผมใคร่บอกว่าเราต้องหาทางเจือผสมการปฏิวัติด้วยความไม่รุนแรงให้มากที่สุด เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะว่าบรรดาไพร่ทาสราษฎรสามัญชนโดยทั่วไปนั้นหาได้มีอาวุธสงครามในมือเหมือนกลไกรัฐภายใต้การบังคับควบคุมของชนชั้นปกครองไม่.."    
เกษียร เตชะพีระ
กระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ จึงก่อผลสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำทางโภคทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดหนุนเกื้อกูล, พลังประชาธิปไตยบนฐานอำนาจเสียงข้างมากของคนที่ขาดด้อยโภคทรัพย์ต้องหาทางคะคานถ่วงดุลอำนาจทุนมหาศาลของคนมั่งมีโภคทรัพย์เสียงข้างน้อยไว้ มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายในทางเป็นจริงไปในที่สุด
เกษียร เตชะพีระ
เฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่ขายในประเทศร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่นและอเมริกา กลับมียอดแซงหน้าในประเทศตลาดเกิดใหม่ จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตรายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดอีกต่อไป หากกลับเป็นไทย (ที่ ๖๐%!) และอินโดนีเซีย (ที่ ๓๕%) ในรอบปีที่ผ่านมา
เกษียร เตชะพีระ
ก้องกังวานสะท้านฟ้ามหาสมุทร ด้วยคลั่งแค้นแสนสุดประกาศกล้า เป็นแสนเสียงล้านเสียงมหาประชา สยบขวัญสั่นอุราเผด็จการ...
เกษียร เตชะพีระ
"ประชานิยม" "คนชั้นกลางนิยม" "คนรวยนิยม" "อำมาตย์นิยม" "ประชาธิปัตย์นิยม" "ม.๑๑๒ นิยม" "ราชบัณฑิตนิยม" "ยิ่งลักษณ์นิยม" "ทักษิณนิยม" "พันธมิตรนิยม" "นิติราษฎร์นิยม" "นิด้านิยม"