Skip to main content

 

อันธิฌา แสงชัย
Anticha Sangchai

 

ก่อนที่พวกเราจะเปิดตัวกลุ่ม “เพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ” (For Democracy and Sexual Diversity) มีคำถามสองข้อที่ดิฉันอยากจะตอบให้ได้และมั่นใจว่าตัวเองรู้คำตอบ คำถามข้อแรก ทำไมสังคมประชาธิปไตยจะต้องรับรองความหลากหลายทางเพศ? คำถามข้อที่สอง ทำไมคนหลากหลายทางเพศจึงควรยืนเคียงข้างหลักการประชาธิปไตย? แต่เมื่อได้เริ่มต้นเขียนบทความนี้ กลับพบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถตอบคำถามอย่างหมดจดสมบูรณ์ได้โดยง่ายเลย มิพักจะตั้งคำถามถึงอาการลับลวงพรางของประชาธิปไตยแบบไทยๆที่ดำเนินอยู่อันเป็นคำถามที่ยากยิ่งกว่า

ในสังคมไทยทุกวันนี้ เรามักพบว่ามีผู้นิยมหลักการเสรีประชาธิปไตยแต่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ มีความสนใจใคร่รู้และดูเปิดกว้างในความคิดทางการเมืองทว่ากลับล้าหลังและคับแคบในแนวคิดเรื่องเพศวิถี บ่อยครั้งที่ขั้วต่างทางการเมืองมุ่งใช้อัตลักษณ์ทางเพศมาโจมตีกัน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอะไร? ครั้งหนึ่ง ประวิตร โรจนพฤกษ์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวไว้ว่า

“อาการกลัวคนรักเพศเดียวกันได้ถูกผู้มีบทบาทสำคัญจากทั้งสองสีใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในหลายโอกาส ชวนให้สงสัยว่าพวกเขาเหล่านั้นมีความเป็นประชาธิปไตยและยอมรับในความแตกต่างหลากหลายจริงหรือไม่...เป็นที่รู้กันดีว่าในเว็บไซต์หลายแห่ง สมาชิกกลุ่มเสื้อแดงบางคนมักโจมตีนายพลสูงวัยผู้เกษียณอายุราชการแล้วว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยเรียกเขาว่า “เกย์แก่” หรือ “ขันทีเฒ่า” ที่น่าขันคือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของพวกเขาอย่างพันธมิตรฯ ก็แทบจะไม่ต่างกัน พวกเขาใช้ความเกลียดกลัวและการดูถูกคนรักเพศเดียวกันเป็นเครื่องมือทางการเมือง...สองกลุ่มนี้อาจอ้างว่าพวกเขาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ท่าทีของพวกเขาต่อประเด็นเรื่องเพศกลับเป็นเผด็จการและคุกคามต่อสังคมที่มีความหลากหลายและเป็นประชาธิปไตย พวกเขาควรพึงตระหนักว่าพวกเขากำลังทำให้ตัวเองกลายเป็นตัวตลก เพราะไม่มีสังคมใดสามารถเรียกตนเองว่าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ หากยังเลือกปฏิบัติและปิดปากคนที่มีความเห็นและอัตลักษณ์ที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นคนรักเพศเดียวกันหรือไม่ก็ตาม” [1]

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นักการเมืองผู้หนึ่งใช้วาจาล้อเลียนอัตลักษณ์ทางเพศของนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม (เรียกผู้ชายด้วยคำสรรพนาม ‘เจ๊’ ที่ใช้เรียกผู้หญิง)[2]  ย้อนกลับไปยังพบว่ามีกรณีที่รุนแรงกว่า เมื่อกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ล้มงานเชียงใหม่เกย์ไพร์ด ครั้งที่ 2 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 [3] เป็นต้น

ในทางตรงข้าม เราอาจพบเห็นข้อเรียกร้องจากอีกฟากหนึ่ง เช่นความเห็นท้ายบทความ “ประเทศไทยต้องไม่ยอมให้มี ‘ใบอนุญาตฆ่า’ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ของไพศาล ลิขิตปรีชากุล ในเว็บไซต์ประชาไทซึ่งเสนอให้นายกรัฐมนตรีขณะนั้น (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) แสดงบทบาทในฐานะตัวแทนประเทศไทยออกเสียงสนับสนุนในการลงมติสหประชาชาติเกี่ยวกับความคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ใช้นามแฝงว่า “ปราบดา” ได้เข้ามาแสดงความเห็นว่า “ไม่เคยมี LGBTI เคยถูกสังหารในประเทศไทยอยู่แล้ว...แต่รัฐบาลปล่อยให้มีการสังหารหมู่ (สนับสนุน-สั่งการการสังหารหมู่กลางกรุง) แต่ถ้าจำไม่ผิดเข้าใจว่ากลุ่ม LGBTI ก็เงียบเป็นเป่าสาก ไม่มีใครออกมาประณามเลย” [4] หรืออีกคนที่เผ็ดร้อนยิ่งกว่า “ตอนที่เสื้อแดงถูกฆ่าที่แยกราชประสงค์ พวกเกย์ กะเทย ไปมุดหัวที่ไหนไม่ทราบครับ”

บทความ “ตู้สีแดง” ของไพศาล ลิขิตปรีชากุล [5] สะท้อนทั้งความสอดคล้องและความไม่ลงรอยบางอย่างระหว่างชาวสีรุ้ง และ ชาวสีแดงหรือชาวสีต่างๆ ซึ่งสร้างทั้งความรู้สึกร่วมและความอึดอัดคับข้องใจอย่างมากให้แก่ผู้ที่อยู่ระหว่างหรือท่ามกลางร่างหว่างสี ก่อนและหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553 สังคมไทยมีความขัดแย้งรุนแรงเกี่ยวกับแนวคิดทางการเมือง ในช่วงเวลาเช่นนั้นหลายคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “การออกจากตู้” เปิดเผยตัวเองต่อสังคมว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน ที่ต้องอาศัยความกล้าหาญและความเข้มแข็งทางจิตใจมหาศาล ยังง่ายกว่าการบอกใครต่อใครว่า “เห็นด้วย” หรือ “เป็น” คนเสื้อแดง ไพศาลกล่าวว่า “เพื่อนของผมคนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเรดส์เบี้ยน (เรด+เลสเบี้ยน) บอกว่าตอนนี้การเปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนรักเพศเดียวกันนั้นง่ายกว่าการ “ออกจากตู้” มาบอกใครๆ ว่าตนเองเป็นคนเสื้อแดงเสียอีก สถานการณ์นั้นย่ำแย่ถึงขนาดที่ว่าเธอถูกโจมตีและดูถูกแม้แต่กระทั่งในเว็บบอร์ด LGBT ที่เธอสร้างขึ้นมากับมือ”

บรรยากาศเหล่านี้ยังลุกลามไปถึงขบวนการความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยเองที่เหล่านักกิจกรรมมีความเห็นต่าง สำหรับดิฉันความเห็นต่างไม่ใช่ปัญหา หากการถูกเซ็นเซอร์ไม่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสีแดง หรือการเบี่ยงประเด็นการทำงานรณรงค์ต่างๆเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศให้ออกห่างจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสุดชีวิต ราวกับมันเป็นของสกปรก หรือการปิดกั้นห้ามพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าการเมืองในองค์กรความหลากหลายทางเพศแทบจะทุกองค์กร เหล่านี้ต่างหากที่เป็นปัญหา เนื่องจากเรามองไม่เห็นเลยหรือว่าการเมืองเกี่ยวข้องและส่งผลอยู่ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เรื่องความหลากหลายทางเพศที่นักกิจกรรมเองกำลังพยายามทำงานรณรงค์อยู่

ดูจากสภาพการณ์ดังกล่าว คำถามทั้งสองข้อของดิฉันในข้างต้น จึงจำต้องใช้เวลาอีกมากในการใคร่ครวญ ต้องใช้เรี่ยวแรงอีกมากในการโต้แย้งถกเถียง ต้องรับฟังความคิดที่แตกต่างหลากหลายของผู้คน ใช้พละกำลังอีกมากในการสื่อสาร และท้ายที่สุด มันก็กลายเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ซึ่งเรากำลังพยายามสร้างให้เกิดขึ้นแห่งนี้

ข้อเขียนที่น่าสนใจคือบทวิเคราะห์ของ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ที่เขียนไว้ในเว็บบล็อกส่วนตัว หัวข้อ “รัฐ กับ การหยุดเลือกปฏิบัติเพราะความหลากหลายทางเพศ” ซึ่งสามารถตีแผ่ประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองและกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศได้อย่างเฉียบคม

“คนไทยจำนวนไม่น้อยชื่นชอบและยึดมั่นกับแนวคิดเก๋ ๆ อย่างประชาธิปไตย (แบบเสรีนิยม) มองโลกและพูดจาด้วยหลักการและภาษาของเสรีนิยมอย่าง สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียม คนที่เชื่ออะไรประมาณนี้ร่วมกันผลักดันรัฐให้รับรอง เคารพ และเสริมสร้างเสรีภาพของพลเมืองและความเท่าเทียมอย่างแข็งขัน คนไทยหลายกลุ่มคาดหวังให้รัฐทำหน้าที่รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะกติกาและศีลธรรมอันดีงาม คนที่เรียกร้องประมาณนี้อยากเห็นรัฐกำกับดูแลให้ทุกคนทำตามกรอบกติกาทั้งหลายทั้งปวงอย่างเข้มงวด อย่าปล่อยให้พลเมืองทำตามความพอใจในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องส่วนตัว คนเกิดสภาพไร้ระเบียบวุ่นวาย

ความคาดหวังทั้ง 2 นี้ดูเหมือนขัดแย้งกัน แต่ไม่น่าเชื่อว่าบางคนคาดหวังทั้ง 2 อย่างคือ อยากเห็นประชาธิปไตยทางการเมือง แต่อยากให้รัฐประชาธิปไตยที่ตนอยากเห็นรักษาความเป็นระเบียบของสังคมการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องความประพฤติและวิถีชีวิตส่วนตัวของพลเมืองอย่างเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี
คงเพราะอย่างนี้การเรียกร้องประชาธิปไตยในฐานะระบบการเมืองและการจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองของหลาย ๆ คนจึงจำกัดอยู่เพียงเรื่องสิทธิทางการเมือง อย่างการเลือกตั้งและการด่าทอรัฐบาล แต่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นสิทธิเสรีภาพในเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ ดูเหมือนสิทธิเสรีภาพจะถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น ในเรื่องส่วนตัวทุกคนควรประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรม การกระทำและความสัมพันธ์ของคนในเรื่องส่วนตัวถูกประเมินความถูกต้องเหมาะสมจากมาตรฐานทางศีลธรรมของสังคมมากกว่าความพึงพอใจของคน

คำถามก็คือสังคมไทยจะรับเสรีภาพเพียงบางเรื่องหรือมุมแคบ ๆ เท่านั้น หรือจะรับทุกแง่มุมของเสรีภาพ รวมทั้งหลาย ๆ มุมที่เราไม่ชอบ? คนที่เรียกร้องให้คนอื่นรับรู้และเข้าใจทุกข์ของฉัน เรียกร้องการมีที่ยืนอยู่ในสังคม แต่ไม่ยอมเห็นหรือฟังคนอื่น จะทำให้ความเป็นประชาธิปไตยที่หลายคนสู้ตายเพื่อให้ได้มาหน้าตาเป็นอย่างไร?” [6]

ขณะเดียวกันก็ควรตั้งคำถามกลับไปที่คนหลากหลายทางเพศเองเช่นกันว่า “ประชาธิปไตย” ในความคิดของพวกเขาคืออะไร เป็นประชาธิปไตยแบบที่...ถ้าคุณมีพื้นที่ปลอดภัย มีสิทธิโอกาสตามที่คุณอยากจะได้ ไม่ว่าพื้นที่ สิทธิและโอกาสเหล่านั้นจะถูกมอบให้หรือได้มาจากฐานอำนาจแบบใด มันก็เพียงพอแล้วใช่ไหม? ชอบธรรมหรือไม่เพียงใดก็ไม่สำคัญ?

2.
ดิฉันเห็นว่าสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลูกศรย้อนสองทาง ทางหนึ่ง คนทั่วไปแม้กระทั่งคนที่มีหน้าที่ “สร้างความรู้” ในสังคมไทยเอง ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศ (sexual diversity) ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งตีโจทย์ไม่แตกและเป็นผู้ทำลายความหลากหลายในสังคมเสียเอง อีกทางหนึ่ง คนที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนไม่น้อยที่ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการประชาธิปไตยและสิทธิในฐานะพลเมืองของตัวเอง บางคนวางเฉย หรือแม้แต่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงในเหตุการณ์สลายการชุมนุม

รัฐไทย (อันที่จริงแทบทุกรัฐทั่วโลก) ทำอะไรกับบ้างองค์ความรู้เรื่องเพศ? หลายท่านอาจคิดว่าในโลกนี้มีเพียงสองเพศ คือ ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ เท่านั้น ความคิดเช่นนี้มิได้เป็นองค์ความรู้ที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง มันมีที่มาที่ไป และสามารถย้อนกลับไปพิจารณาได้นานนับศตวรรษ การควบคุม ‘เพศ’ กลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังยิ่งสำหรับควบคุมความประพฤติและรูปแบบโครงสร้างของประชากร ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “‘นายใน’ ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" ของ ชานันท์ ยอดหงส์ ซึ่งศึกษาพัฒนาการและรูปแบบของ “นายใน” ในสมัยรัชกาลที่ 6 กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ด้วยการปลูกฝังสำนึกตามพระราชนิยมซึ่งรวมไปถึงวัฒนธรรมแบบอังกฤษให้กับสมาชิกชายหนุ่มในสังคมชายล้วน นำไปสู่การกำหนดลักษณะของ “ความเป็นชาย” และนิยาม ผู้หญิง, “ความเป็นหญิง” และพื้นที่ที่มีผู้หญิง ให้เป็นสิ่งที่ไม่เพียงตรงข้ามกับผู้ชาย, “ความเป็นชาย” และพื้นที่ชายล้วน ยังมีคุณสมบัติที่เป็นภัย ที่ไม่ควรเข้าใกล้ เหมือนยาเสพติดและการพนัน [7]

ในบทความ “เกย์ และการถูกทำให้หายไปจากการเมือง” คำ ผกา วิเคราะห์ไว้ว่า “เมื่อรัฐสมัยใหม่ตั้งอยู่บนฐานสำคัญในความสัมพันธ์ของ หญิง-ชาย, พ่อ-แม่-ลูก มันจึงเป็นรัฐที่ไม่มีโฮโมเซ็กช่วล ไม่เพียงแต่ไม่มี การเป็นโฮโมเซ็กช่วลยังบั่นทอนกำลังของรัฐ อย่างน้อยที่สุด ความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ก่อให้เกิดการเพิ่มของจำนวนประชากร จึงปริวิตกว่าหากเป็นเกย์กันเยอะ คงสิ้นชาติ หรือถูกกลืนชาติเข้าสักวัน”[8]

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างน่าสนใจจำนวนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ‘อำนาจ’ ‘รัฐ’ และ ‘การเมือง’ สามารถเข้าไปจัดการกับความเข้าใจในเรื่องเพศของคนทั่วไปในสังคมอย่างไร ประกอบกับความรู้เรื่องเพศภาวะหรืออัตลักษณ์ทางเพศ (Gender) เพศวิถี (Sexuality) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายทางเพศ (Sexual diversity) ถือว่ายังใหม่มากสำหรับวงวิชาการไทย มาถึง พ.ศ. นี้ ยังมีการสอนวิชาสุขศึกษาในโรงเรียนว่าการรักเพศเดียวกันเป็นอาการเบี่ยงเบนทางเพศ นักศึกษาฝึกสอนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกปฏิเสธการฝึกสอนจากโรงเรียนบางแห่ง แม้แต่ราชบัณฑิตยสภา ยังนิยามศัพท์ lesbian ว่า “หญิงรักร่วมเพศ” ทั้งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์จากหญิงกลุ่มนี้มาเป็นเวลานานนับทศวรรษแล้วถึงความอึดอัดคับข้องใจที่จะถูกเรียกขานด้วยคำเช่นนี้ นักวิชาการด้านเพศวิถีศึกษาหลายคนยอมรับว่าคำนี้สื่อนัยถึงการ “ร่วมเพศ” และควรเปลี่ยนไปใช้คำที่เป็นกลางมากกว่าอย่าง “หญิงรักหญิง” แต่เสียงเล็กๆย่อมไม่อาจสั่นคลอนเสียงนำในการ “สร้าง” และ “พูด” สิ่งที่เรียกว่าความรู้ได้โดยง่าย การต่อสู้จากกลุ่มอำนาจรองเพื่อพยายามช่วงชิงพื้นที่ความรู้เพื่ออธิบายตัวเองจึงดำเนินมายาวนานในสังคมไทย สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้างตลอดมา [9]

อีกท่าทีหนึ่งที่น่าสนใจ ปรากฏในบทความ “ฝ่ายซ้ายต้องสร้างแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหว GLBT” ของภาวิณี รัตนดารา เธอกล่าวว่า "ประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ถูกละเลยในภาคประชาชนไทยมานานแล้ว คนรุ่นใหม่ในขบวนการภาคประชาชนที่เปิดกว้าง หรืออาจจะเป็นเกย์กะเทยทอมดี้เอง คงไม่พอใจที่จะประนี ประนอมกับสังคมจารีตคับแคบนี้อีกต่อไป หน้าที่ของฝ่ายซ้าย คือการสนับสนุนการต่อสู้ของขบวนการ GLBTอย่างเต็มที่ ต้องเข้าถึงการเมืองทางเพศ และต้องสนับสนุนสิทธิสตรี สิทธิเกย์ กะเทย ทอม ดี้ รวมถึงสิทธิของผู้ให้บริการทางเพศ และที่สำคัญเราต้องเปิดศึกทางความคิดกับแนวจารีตนิยมที่ควบคุมสังคมไทย ในขณะ เดียวกันเราต้องเชื่อมโยงปัญหาของคนรักเพศเดียวกันเข้ากับปัญหาชาวมุสลิมในภาคใต้ ปัญหากรรมาชีพในโรงงาน ปัญหาเกษตรกรยากจน หรือปัญหาคนชนเผ่า ประชาชนส่วนใหญ่ถูกระบบทุนนิยมกดขี่ ถ้าครอบงำ หากเรามองแบบองค์รวมไม่แยกส่วน ร่วมกันสู้ในทุกเรื่องทุกด้าน เราจะสร้างโลกใบใหม่ได้”  [10] แม้ว่าท่าทีของภาวิณีจะมิได้กล่าวอ้างถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยโดยตรง แต่การที่เธอมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงปัญหาของคนรักเพศเดียวกันเข้ากับปัญหาชาวมุสลิมในภาคใต้ ปัญหากรรมาชีพในโรงงาน ปัญหาเกษตรกรยากจน หรือปัญหาคนชนเผ่า นับว่าเป็นทิศทางที่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักเคลื่อนไหวทางสังคม

4.
คนหลากหลายทางเพศไม่มีความสนใจในประเด็นทางการเมืองหรือไม่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยเลยหรือ? ดิฉันว่าไม่จริง ในสังคมออนไลน์มีคนหลากหลายทางเพศกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเพื่อสร้างพื้นที่ในการพูดคุยเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง กลุ่มนี้มีชื่อว่า ญรญ. ชรช. กะเทย ทอมดี้ เพื่อประชาธิปไตย (Thai LGBTIQs for Democracy) เกิดขึ้นจากนักกิจกรรมหลากหลายทางเพศกลุ่มหนึ่งนำโดย ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ และ ไพศาล ลิขิตปรีชากุล ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ราว 135 คน แต่คนที่แวะเวียนเข้ามาพูดคุยโดยมากก็มีท่าทีเปิดกว้างต่อการถกเถียงเรื่องการเมืองอยู่แล้ว สำหรับคนเห็นต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีปัญหาและคำถามกับคำว่า “ประชาธิปไตย” ก็มักไม่มาปรากฏตัวในกลุ่มนี้เหมือนเดิม

5.
สังคมที่พร้อมจะคุยกันเรื่องความหลากหลายทางเพศ มักเป็นสังคมที่อยู่ในบริบทของความเป็นประชาธิปไตย ยอมรับความแตกต่าง ความหลากหลาย และความเท่าเทียมกันของมนุษย์เป็นฐานเดิม
ความหลากหลายเป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ขณะเดียวกันความเป็นประชาธิปไตยก็ส่งผลโดยตรงกับพื้นที่ของความหลากหลาย สิทธิและความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์ ดิฉันเห็นว่าการยอมรับในสิทธิและความเท่าเทียมระหว่างเพศหรือการยอมรับในความหลากหลายทางเพศ ความอดกลั้นต่อสิ่งที่แตกต่างท้าทาย เป็นมาตรวัดที่ชัดเจนอันหนึ่งของความเข้มแข็งของประชาธิปไตย และสภาพการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าสังคมไทยอ่อนแอถึงเพียงไหน

พวกเรานักกิจกรรมหลากหลายทางเพศกลุ่มเล็กๆจึงหวังจะเปิดพื้นที่ถกเถียงเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ในเบื้องต้นผู้เขียนบทความของกลุ่มฯ ประกอบด้วย ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่, ไพศาล ลิขิตปรีชากุล, สุพีชา เบาทิพย์, เจษฎา แต้สมบัติ, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง, ก้าวหน้า เสาวกุล ดาราณี ทองศิริ และ อันธิฌา แสงชัย ในอนาคตเชื่อว่าจะมีนักเขียน-นักอ่านท่านอื่นให้ความสนใจสื่อสารผ่านงานเขียนร่วมกับเราแม้บางท่านอาจจะไม่ได้เป็นชนกลุ่มน้อยทางเพศ เพราะสิทธิความหลากหลายทางเพศคือสิทธิมนุษยชน และการยอมรับความหลากหลายทางเพศ เป็นมาตรวัดหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย

ขอเชื้อเชิญให้ติดตามบทความของกลุ่มและร่วมสนทนาไปพร้อมกับพวกเราค่ะ.

 

 

เชิงอรรถ

[1]  ประวิตร โรจนพฤกษ์. “นักประชาธิปไตยต้องปกป้องความหลากหลายทางเพศ ความเกลียดและดูถูกเกย์ของเสื้อแดงและเหลือง” [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=407762

[2]  ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่. “อาการโฮโมโฟเบียในรัฐสภาไทย” [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336049579&grpid=03&catid=03&fb_source=message

[3] พงศ์ธร จันทร์เลื่อน. “โศกนาฏกรรมทางสังคม ว่าด้วยความรุนแรง และการละเมิดสิทธิ กรณี เชียงใหม่เกย์ไพร์ด ครั้งที่ 2” [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา: http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=1114

[4] ไพศาล ลิขิตปรีชากุล. “ประเทศไทยต้องไม่ยอมให้มี ‘ใบอนุญาตฆ่า’ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา: http://prachatai.com/journal/2010/12/32446

[5] ไพศาล ลิขิตปรีชากุล. “ตู้สีแดง” [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา: http://prachatai.com/journal/2010/08/30543

[6] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. “รัฐ กับ การหยุดเลือกปฏิบัติเพราะความหลากหลายทางเพศ” [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา: http://chalidaporn.blogspot.com/2010/11/blog-post.html

[7] ชานันท์ ยอดหงส์. “นายใน ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสตรีศึกษา, วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2555, หน้า 261

[8] คำ ผกา. “เกย์ และการถูกทำให้หายไปจากการเมือง”. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1432/25-31 มกราคม 2551

[9] เปิดข้อเท็จ-จริง กระแสร้อน! นิสิตฝึกสอนสาวประเภทสอง ถูกโรงเรียนชายล้วนชื่อดังส่งตัวกลับ. มติชนออนไลน์ [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1338444822&grpid=03&catid=03

[10] ภาวิณี รัตนดารา. “ฝ่ายซ้ายต้องสร้างแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหว GLBT” [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา: http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=1530 สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2555



 

บล็อกของ LGBT&Democracy (CDSR)

LGBT&Democracy (CDSR)
ก่อนที่พวกเราจะเปิดตัวกลุ่ม “เพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ” มีคำถามสองข้อที่ดิฉันอยากจะตอบให้ได้และมั่นใจว่าตัวเองรู้คำตอบ คำถามข้อแรก ทำไมสังคมประชาธิปไตยจะต้องรับรองความหลากหลายทางเพศ? คำถามข้อที่สอง ทำไมคนหลากหลายทางเพศจึงควรยืนเคียงข้างหลักการประชาธิปไตย?