เกริ่นนำ (อะไร และ ทำไม)
บทความดังกล่าวเขียนในช่วง 2551 คงยังจำได้ที่ประเด็นเรื่องการรับบริจาคเลือดจากกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ถูกนิยามว่าเป็นเลือดที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเด็นดังกล่าวจึงต้องหยิบยกมาเล่ากันอีกครั้งหนึ่ง เหมือนเหล้าเก่าเล่าใหม่ ประเด็นคือ ในสังคมคงยังเข้าใจว่าคนรักเพศเดียวกันนั้นยังเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ รักแล้วเลิก เลิกแล้วฆ่า หรืออื่นๆ และประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนี้ที่สังคมปิตาไลย (ชื่อฟังยากผู้ชายยิ่งใหญ่) เพราะทุกคนในโลกนี้ต่างมีสิทธิของตัวเองทั้งสิ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่เสมอ สิทธิที่เขาเหล่านั้นเป็นคนเลือกให้เกิด (บทความนี้เคยเผยแพร่มาครั้งหนึ่งแล้วที่ ประปาไท และไทยเอ็นจีโอ) แต่ลองเอากลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเปิดมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนหรือความเป็นคนที่ตัวเป็นๆที่ท่านเห็นอยู่ในสังคม หรือ กระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หรือ ปี 51 จวบจน 53 การมองคนเป็นกลุ่มๆอยู่หรือไม่ในสังคม หากยังมองอยู่คนทำงานที่ทำงานด้านดังกล่าวต้องมาทบทวนการทำงานเรื่องสุขภาพทางเพศและเอดส์ หรือ คนทำงานเรื่องเพศ สิทธิ ความเท่าเทียม ร่วมกันที่ผ่านมาว่า การทำงานที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนอย่างไร หรือทำที่ปลายเหตุลืมนึกไปว่าที่แท้แล้วแก้ไขปัญหาที่รากดีกว่าหรือไม่ "แต่คงต้องค้นหาว่าที่รากเป็นแบบไหนและแก้อย่างไร" เพราะแก้อะไรทั้งหมดแก้ไขได้แต่ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน เป็นต้น
เขาเล่าให้ฟังว่า "รักเพศเดียวกันแล้วเป็นกลุ่มเสี่ยง"
ไม่รับเลือด "ตุ๊ตเกย์" เสียเวลาคัดแยกเชื้อเอชไอวี
(หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันจันทร์ 31 มีนาคม 2551)
พบเลือดกลุ่มเกย์ติดเอดส์ ยันไม่รับบริจาคเลือดจากกลุ่มรักร่วมเพศ เผยทุกวันนี้ยังต้องคัดทิ้งเลือดบริจาคที่ติดเชื้อเอชไอวี
(หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันจันทร์ 31 มีนาคม 2551)
กระแสข่าวที่ออกมาอย่างต่อเนื่องในหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับ คนรักเพศเดียวกัน หรือ รวมๆว่าอะไรก็ตามแต่นั้น ท้ายสุดข่าวที่ออกมาเป็นกระแสข่าวที่ออกมาในหลายแง่หลายมุม ทั้งในเรื่องของกรณี "การตัดอัณฑะ" หรือ "เรื่องการรับบริจาคเลือดของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM)" แล้วตัวเราหรือสังคมนั้นจะเลือกการรับรู้อะไร กับกรณีสังคมดังกล่าวที่เป็นสิ่งที่ต้องมองร่วมกันอย่างมีเหตุและผล ในบทความนี้ก็เช่นกันจะเปิดประเด็นขึ้นอาจเป็นประเด็นที่แตกต่างจากสื่อกระแสหลัก เช่นโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ โดยจะยกกรณีศึกษา "เรื่องการไม่รับบริจาคโลหิตของคนรักเพศเดียวกัน" ประกอบการเขียน
กลุ่มเสี่ยง หรือ พฤติกรรมเสี่ยง กันแน่ ?
เอดส์ ณ ขณะนี้ไม่ได้เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่ว่าสิ่งนั้นคือปัญหาของทุกคน โดยมิติที่ว่านั้นก็มิได้มีเฉพาะในเรื่องของการเยียวยาเพียงอย่างเดียว แต่มีมิติของเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมมาเป็นตัวกำหนดด้วย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่เราต้องร่วมกันคิดและสร้างความเข้าใจในประเด็นที่ถูกต้องไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่ถกเถียงกันมากควรรีบสร้างความเข้าใจคำว่า "กลุ่มเสี่ยง" หรือ คำว่า "พฤติกรรมเสี่ยง" สองคำนี้ดูเผินๆนั้นเหมือนคล้ายแต่ความจริงต่างกันโดยสิ้นเชิง กลุ่มเสี่ยง เป็นนิยามหรือความหมายที่ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งว่าเป็นกลุ่มที่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวี หรือ ตรวจแล้วมีความชุกของอัตราการระบาดมากที่สุด ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงนั้น เป็นพฤติกรรมที่มีเพศสัมพันธ์โดยการไม่ป้องกัน การใช้เข็มที่ไม่สะอาด เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมเสี่ยง
ดังนั้นหากมองในประเด็นดังกล่าว คงมิได้มองกลุ่มใดเป็นกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น เพราะทุกคนสามารถได้รับเชื้อเอชไอวี เข้าสู่ร่างกายได้หากไม่ป้องกัน ด้วยเพราะบุคคลไหนก็ตาม ไม่ว่าจะอาชีพไหน กลุ่มไหน หรือเป็นใคร ต่างก็มีพฤติกรรมเสี่ยงได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เรื่องกลุ่มเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่น่าต้องทำความเข้าใจใหม่ และไม่สร้างตราบาปให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ว่าเป็นผู้แพร่เชื้อเอชไอวี หากแต่ว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกคน จากกรณีสภากาชาดไม่รับเลือดของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่เราและทุกคนในสังคมต้องสร้างความเข้าใจใหม่และหาทางออกร่วมกัน
แบบสอบถามที่ยังคาใจ ?
สภากาชาดในการบริจาคโลหิตมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยที่ต้องการได้รับการบริการเลือดจาก ขอชื่อชมในการดำเนินงานที่ผ่านมาในการรักษาคุณภาพ และเรื่องระบบการคัดกรองโลหิตที่มีประสิทธิภาพมาก ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจหนึ่งของพวกเราผู้รับบริการ ทั้งนี้ในการบริจาคต้องมีการกรอกใบสมัครในการบริจาคโลหิตกรณีบริจาคครั้งแรก ซึ่งเป็นคำถามที่ดีมาก เพราะทำให้ผู้บริจาคนั้นได้ตระหนักถึงตนเอง แต่ทั้งนี้เมื่ออ่านดูยังมีข้อหนึ่งที่ยังเป็นประเด็นที่น่าคิดและหาทางร่วมกันคือ "ท่านหรือคู่ของท่านเคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน" เป็นคำถามข้อที่ 12 ในแบบสอบถาม (แต่คำถามข้อนั้น ก็มิได้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าจะได้ข้อมูลที่เป็นจริง เพราะประเด็นคือ เรื่อง การตอบว่าเคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ หรือจะกลายเป็นเรื่องดังที่บางท่านกล่าวฟังดูอาจรุนแรง เลือดที่ดีต้องเป็นเลือดที่มาจาก ชายและหญิง น่าคิดมากว่าคืออะไร)
ทั้งนี้จากภาคประชาสังคม เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ที่เข้าร่วมพูดคุยกับทางสภากาชาดนั้น (วันที่ 4 เมษายน 2550) ได้หารือแนวทางร่วมกัน โดยสภากาชาดได้ตัดข้อ 12 ออกไปและหาแนวทางในการให้ความรู้เรื่องพฤติกรรมเสี่ยงในข้อ 11 โดยจะมีการแตกหัวข้อและรายละเอียดมากขึ้น ทั้งนี้การให้ข้อมูลควรเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเรื่องการให้ความรู้เรื่องการป้องกัน และเรื่องพฤติกรรม หากยังเป็นเรื่องในประเด็นการแบ่งแยกกลุ่มอีก คงเป็นเหมือนเดิมแบบสอบถามที่วัดค่าออกมาเป็นเพียงเลือดบริสุทธ์นั้นมาจากกลุ่มใด
เปิดพรมแดนใหม่ สร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์เชิงระบบ
แนวทางที่เกิดขึ้นคงเป็นประเด็นที่เราต้องสร้างความเข้าใจเรื่อง พฤติกรรมเสี่ยงและการป้องกันให้มากขึ้น โดยตั้งประเด็นหรือธงเพื่อให้เห็นภาพร่วมกันในการสร้างความรู้ความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคม ในการมองการเรียนรู้เรื่องดังกล่าว ผ่านกรณีที่เกิดเรื่องการรับบริจาคเลือดว่าเรื่องดังกล่าวว่าเป็นเพียง "กลุ่มเสี่ยงสูงสุด" (Most at risk population) คือ
- การส่งเสริมความเข้าใจประเด็นที่อ่อนไหว ผ่านการรณรงค์ สื่อสาร ในระดับต่างๆ ว่า "ควรมองเรื่องเอดส์นั้นเป็นปัญหาทุกคนและมีหลายมิติ ดังนั้นเรื่องเอดส์จึงมิใช่ของกลุ่มใด หรือมองใครเป็นผู้แพร่เชื้อทำให้เกิดกระบวนการตีตรา(stigma) สร้างความเข้าใจผิดกับสังคม เกิดการกีดกันและการละเมิดสิทธิขึ้น ควรมองเชิงระบบเป็นเรื่องพฤติกรรมเสี่ยง และศึกษาดูว่ารากของพฤติกรรมเสี่ยงนั้นเป็นแบบไหนและสร้างความเข้าใจผ่านกลไกต่างๆ ทั้งคณะกรรมการเอดส์ชาติ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ภาคประชาสังคม และอื่นๆ ที่ร่วมดำเนินการเพื่อให้เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวและเข้าใจร่วมกัน" - การให้ความรู้เรื่องอุปกรณ์ป้องกัน และการจัดบริการทั้งการดูแล รักษา ที่เกี่ยวเนื่องอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพราะสิ่งเหล่านี้เองจะเป็นกระบวนการให้คนได้ตระหนักรวมถึงพฤติกรรมตนเอง และการใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ประเด็นเหล่านี้เองควรส่งเสริมสร้างกระบวนการเรื่องความเข้าใจใหม่ หรือการหันเข้ามาใส่ใจประเด็นการทำงานเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นเป็นระบบมากขึ้น |
ความเหมือนที่แตกต่าง ของ เลือด ?
ประเด็นสุดท้ายที่จะนำเสนอ ซึ่งตรงหัวข้อก็คือ ความเหมือนที่แตกต่างของเลือด อาจเป็นการมองไม่อยู่บนฐานวิทยาศาสตร์มากนัก แต่มองบนฐานกระบวนการมนุษย์กรณีเรื่องการบริจาคเลือด "ในโลกนี้เรื่องพฤติกรรมเสี่ยงทุกคนสามารถประสบพบเจอได้ เพราะพฤติกรรมเสี่ยงนั้นมันไม่ได้จำกัดว่าคุณเองเป็นเพศอะไร เป็นเพศหญิง เป็นเพศชาย เป็นชายรักชาย หญิงรักหญิง หรืออื่นๆ มันขึ้นอยู่ที่กระบวนการเรื่องการป้องกันว่าคุณป้องกันหรือไม่ เพราะเลือดที่คุณจะบริจาคนั้นผู้รับบริจาคเลือดจากคุณก็หวังว่าจะช่วยเหลือเขาได้" ท้ายสุดในการสรุปประเด็นคงไม่นำเอาความคิดของผู้เขียนไปตัดสินเรื่องความผิดหรือถูก หากแต่อยากเพิ่มประเด็นการมองผ่านกรณีดังกล่าวมากขึ้น
คงต้องมาตอบประเด็นนี้ต่อไปว่าสังคมได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง สำหรับผู้เขียนเห็นประเด็นดังเสนอไปข้างต้น และแนวนโยบายที่เกาะกุมการทำงานด้านเอดส์อยู่ 2 ตัว คือ ABC อีกตัวคงเป็น CNN แต่จะอยู่ฐานแนวคิดนโยบายอะไรก็ตามแต่ คงต้องมองว่าเอดส์เป็นเรื่องของทุกคนไม่ใช่ของใคร