ทันทีที่มีข่าวออกมาว่า กระทรวงวัฒนธรรม ทำคลอด พ.ร.บ. “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ออกมา นักวิชาการและสังคมออนไลน์ก็ได้ตั้งคำถามถึงที่มาและเหตุผลของการออกกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งให้อำนาจรัฐควบคุมกำกับการแสดงออกทางวัฒนธรรมในสังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
บทนำของร่าง พ.ร.บ.ฯ อธิบายว่า “อันสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก กระแสโลกาภิวัตน์ ความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีการนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้บางอย่าง ไปใช้ในทางที่ผิด หรือถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมอีกด้วย จึงจำเป็นต้องมีมาตรการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างเร่งด่วน” อ่านยังไงก็ไม่ชัดว่า อะไรคือเหตุผลที่ต้องใช้อำนาจรัฐเข้ากำกับการแสดงออกทางวัฒนธรรมในสังคม
ในสังคมสมัยใหม่ การใช้อำนาจย่อมต้องมีเหตุผล เหตุผลสำคัญมากในสังคมที่พัฒนาแล้ว เพราะประชาชนจะยอมรับการใช้อำนาจรัฐ ก็ต่อเมื่อรัฐกระทำในนามความประสงค์ของประชาชน เพื่อตอบสนองความต้องการที่สังคมปรารถนา เช่น ความกินดีอยู่ดีของประชาชน หรือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พื้นฐานทางปรัชญาของสังคมที่พัฒนาแล้ว เชื่อว่ามนุษย์ต่างจากสัตว์ เพราะมนุษย์คิดเป็น มนุษย์สามารถใช้เสรีภาพและเหตุผลในการตัดสินใจด้วยตนเอง ด้วยเหตุผลนี้เอง ข้ออ้างในการใช้อำนาจรัฐเพื่อควบคุมวัฒนธรรมของประชาชน ผ่านการออกกฎหมายฉบับนี้ เพราะเกรง “การนำไปใช้ในทางที่ผิด” หรือ “ความไม่เหมาะสม” จึงเป็นแค่ “การอ้างอำนาจ แต่ปราศจากเหตุผล” อาจจะมองได้ว่าเป็นการใช้อำนาจของสังคมยุคพรีโมเดิร์น (ระหว่างคริสต์ศตวรรษ 400s-1400s) ซึ่งเป็นยุคที่ผู้คนยังเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ สิ่งลี้ลับโชคชะตา บาปกรรม การพึ่งพิงผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า การทำตามหน้าที่ๆ ผู้ปกครองสั่ง การเสียสละตนเองเพื่อผู้นำ การจัดลำดับชั้นทางสังคม และอำนาจนิยม ดังนั้นการออกกฎหมายฉบับนี้ ในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่สังคมก้าวเข้าสู่สังคมหลังสมัยใหม่ จึงนับเป็นการใช้อำนาจที่ผิดยุคผิดสมัยเป็นอย่างยิ่ง
ว่าแต่กูรูทางวัฒนธรรม หรือคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็นใครกันหรือ จึงจะมาตัดสินว่าการแสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างไร ถือเป็นความผิด ที่จะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกลงโทษตามกฎหมาย คนเหล่านี้รู้จักวัฒนธรรมแค่ไหน คนเหล่านี้รู้จักกลุ่มคนที่เขาทำงานกับวัฒนธรรมแค่ไหน รู้จักวัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะการแสดงแต่ละแห่งแค่ไหน
กฎหมายวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เข้าข่ายกฎหมายของยุคพรีโมเดิร์น เพราะเป็นการสถาปนาอำนาจให้แก่กูรูทางวัฒนธรรม ผู้ที่จะถืออำนาจควบคุมการผลิต และการแสดงออกทางวัฒนธรรม ในเรื่องต่างๆ ดังนี้ (1) วัฒนธรรมทางภาษา และการสร้างสรรค์ทางภาษา รวมทั้งการแสดงออก โดยใช้ภาษาเป็นสื่อถ่ายทอด (2) ศิลปะการแสดงและการดนตรี (3) การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และประเพณีหรือเทศกาล (4) ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล (5) ผลงานซึ่งเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิม และ (6) วัฒนธรรมอื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง พูดได้ว่า กูรูวัฒนธรรมมีอำนาจล้นฟ้า และครอบจักรวาล
ผู้เขียนออกจะสงสัยว่า กูรูวัฒนธรรมที่จะมีการจัดตั้งขึ้น จะใช้หลักการอะไรในการพิจารณาว่า เป็นการกระทำที่ “การละเมิดวัฒนธรรมที่ดีงาม” หรือไม่ แค่นี้ก็สร้างข้อถกเถียงในสังคมได้อย่างอเนกอนันต์ ยังไม่นับคำถามที่จะตามมาอีก เช่น “ดีงามตามสายตาของใคร” “ดีงามสำหรับใคร” “ดีงามในเงื่อนไขสังคมแบบไหน” “ดีงามเวลาใด”
ในขณะที่สังคมไม่รู้ว่าจะได้อะไรจากกฎหมายฉบับนี้ สังคมกลับจะต้องเสียเวลา ขัดแย้ง และอาจมีคดีความ ที่เกิดจากการกล่าวหาเกิดขึ้นอีกมากมาย สุดท้ายก็ยากจะชี้ว่า “การกระทำทางวัฒนธรรมใดผิดหรือถูก” เพราะวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เฉพาะกลุ่ม เป็นสิ่งที่ใคร หรือกลุ่มใดสร้าง ก็จะเข้าใจได้ดีกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางที่คนนอก อย่างกูรูทางวัฒนธรรม จะไปตัดสินคุณค่าวัฒนธรรมของคนกลุ่มอื่น
ยิ่งไปกว่านั้น การที่กฎหมายฉบับนี้กำลังแบ่งแยกทางวัฒนธรรม และจัดลำดับชั้นคุณค่าทางวัฒนธรรม โดยประกาศว่า “จะประกาศมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เป็นระดับชาติ ระดับท้องถิ่น หรือระดับบุคคล รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ก็เท่ากับกำลังยกให้วัฒนธรรมหนึ่ง อยู่เหนือวัฒนธรรมอื่น ซึ่งเป็นประเด็นที่เปราะบาง แต่กลับไม่เคยมีการประชาพิจารณ์สาธารณะในเรื่องนี้ คนเสนอกฎหมายยุคพรีโมเดิร์น คงไม่เข้าใจสิ่งนักมานุษยวิทยาเคยกล่าวไว้เรื่อง Cultural relativism หรือไม่มีวัฒนธรรมใด อยู่เหนือวัฒนธรรมอื่น เพราะเป็นการยากที่จะเอาวัฒนธรรมที่แตกต่างมาเปรียบเทียบกัน การยกให้วัฒนธรรมหนึ่ง อยู่เหนือวัฒนธรรมอื่น มักสะท้อนอคติของคนนอกที่เป็นผู้ตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นอคติทางชนชั้น เชื้อชาติ และชาติพันธุ์
กรณีตัวอย่างในสังคมตะวันตก ซึ่งเคยเกิดปัญหาจากการแบ่งแยกทางวัฒนธรรม ออกเป็น “วัฒนธรรมชาวบ้าน” (street culture) กับ “วัฒนธรรมชั้นสูง” (high culture) นับเป็นสิ่งผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ ที่ผู้ผลักดันกฎหมายพรีโมเดิร์นฉบับนี้ควรจะถือเอาเป็นบทเรียน ในขณะที่วัฒนธรรมชาวบ้าน ถูกเรียกวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่อยู่ตามตรอกข้างถนน เป็นคำเรียกวัฒนธรรมของคนที่ถูกมองว่าต่ำต้อย วัฒนธรรมดังกล่าวจึงไม่ได้รับการยอมรับ ในขณะที่วัฒนธรรมของชนชั้นนำกลับได้รับการยกย่องเชิดชู และถูกบอกว่าเป็นวัฒนธรรมที่แท้จริง ที่สมควรเก็บรักษาให้เป็นมรดกของคนรุ่นหลัง การแบ่งแยกทางวัฒนธรรม บ่อยครั้งมันไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของชีวิตผู้คนในสังคม มันแค่ตอกย้ำอคติทางชนชั้นในสังคม เนื่องจากชนชั้นนำเป็นผู้กำหนดความหมายวัฒนธรรม จึงมีอคติต่อวัฒนธรรมของชนชั้นล่าง แต่การแบ่งแยกทางวัฒนธรรมเช่นนี้ กลับสร้างความแตกแยก และการดูแคลนอย่างร้าวลึกในสังคม
ถ้านึกไม่ออกว่าการแบ่งแยกทางวัฒนธรรมจะสร้างปัญหายังไง ก็ขอให้นึกถึงกรณีละครใน-ละครนอก ในขณะที่ละครในเคร่งครัดกับขนบจารีตในการแสดงออก จำกัดจำนวนเรื่องที่จะนำมาแสดง ตีกรอบแวดวงของผู้เล่นและผู้ดู และไม่ยอมให้มีการปรับแต่ง ละครในจึงเป็นที่นิยมในแวดวงแคบๆ เฉพาะชนชั้นนำเท่านั้น ส่วนละครนอก ซึ่งเป็นละครที่ชาวบ้านเล่นและดู กลับยอมให้มีการเล่นเรื่องที่ไม่จำกัด ใครๆ ก็สามารถเล่นแบบไม่หวงห้าม ยอมให้มีการต่อเติมเสริมแต่งเรื่อง ยอมให้มีการด้น ใส่มุขตลก การใช้ถ้อยคำที่ถูกใจผู้ดู ละครนอกจึงมีชีวิตชีวา กลายเป็นที่นิยมอย่างมาก จนละครในเองต้องปรับตัวเพื่อให้เป็นที่นิยมมากขึ้น กรณีโขน เป็นวัฒนธรรมในราชสำนัก เช่น ตอน นางลอย เดิมมีขนบการแสดงที่ยึดหลักจารีตประเพณีเคร่งคัด ก็ไม่แพร่หลาย แต่ต่อมาเปิดรับความทันสมัยและวัฒนธรรมหลากหลายเข้ามาผสมผสาน เช่นใช้เลเซอร์ มัลติมีเดีย มาผสมผสาน ก็ได้รับความนิยม
ปัญหาการแบ่งแยกทางวัฒนธรรมที่แฝงอคติทางชนชั้น ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ คือการมองวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิต (way of life) ที่เป็นผลมาจากการต่อสู้เรียกร้องของคนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ในการเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคในทุกมิติของสังคม รวมถึงการยอมรับความเสมอภาคทางวัฒนธรรมด้วย การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ทำให้เกิดชนชั้นกรรมาชีพ วัฒนธรรมเอเชีย วัฒนธรรมข้างถนน และวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยในสังคม ทำให้เกิดการยอมรับความแตกต่างของวิถีการดำรงชีวิตของผู้คน และความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคม ทำให้เห็นว่าสังคมทุกแห่งประกอบขึ้นจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย
และไม่ใช่แค่วัฒนธรรมต่างๆ ดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมเท่านั้น ยังมีการยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่า แต่ละวัฒนธรรมไม่ได้มีเอกลักษณ์ตายตัว หรือดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่วัฒนธรรมมีการหยิบยืมกันไปมา แล้วนำมาดัดแปลงให้กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มย่อยในแต่ละภูมิภาค เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่ผูกติดกับชีวิตทางสังคม และเพราะเหตุนี้เอง วัฒนธรรมจึงไม่ได้เป็นสิ่งหยุดนิ่งตายตัว
ดังนั้นแนวคิดของกระทรวงวัฒนธรรมที่ต้องการขึ้นทะเบียน “เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย” จึงละเลยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า วัฒนธรรมไทยแท้ ไม่มี มีแต่วัฒนธรรมไทยที่ไม่แท้ เพราะเรารับอิทธิพล หยิบยืม และดัดแปลงเอามาจากวัฒนธรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นขอม มอญ อิสลาม อินเดีย พม่า จีน ฝรั่ง ฯลฯ ดังนั้นถ้าหากยังดึงดันจะอ้างสิทธิเหนือวัฒนธรรมไทย ก็จงเตรียมพร้อมรับมือกับการประท้วง และการทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้านและอื่นๆ ที่คงไม่ยอมให้ไทยอ้างสิทธิเหนือวัฒนธรรมที่เราใช้ร่วมกับคนอื่น ขอให้ดูกรณีความขัดแย้งบาดหมางร้าวลึก ระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซีย ที่ต่างก็อ้างสิทธิเหนือวัฒนธรรมที่ใช้ร่วมกัน เช่น กริช หนังตะลุง ผ้าบาติก ดนตรีพื้นบ้าน ฯลฯ
ส่วนการที่กฎหมายคุ้มครองวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ไม่ยอมให้ดัดแปลงวัฒนธรรม หรือตัดแต่งต่อเติมวัฒนธรรม นอกเหนือจากที่รัฐเป็นผู้กำหนด เท่ากับว่า รัฐกำลังดึงวัฒนธรรมออกจากวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน แล้วทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งที่แยกห่างจากชีวิตทางสังคม การตัดขาดวัฒนธรรมออกจากบริบทที่วัฒนธรรมนั้นๆ ถูกสร้างขึ้นมา มีแต่จะทำให้วัฒนธรรมนั้นไร้ชีวิต วัฒนธรรมที่ไม่ได้ถูกใช้ในชีวิตประจำวัน ขาดการดัดแปลง แต่งเติม ขาดนวตกรรมใหม่ ในที่สุดจะกลายเป็น “วัฒนธรรมแช่แข็ง” (Frozen culture) สังคมโลกคงตื่นเต้นไม่น้อย ที่จะได้เห็น Frozen culture ในฐานะจุดขายใหม่ของวัฒนธรรม Unseen Thailand
และหากจะคิดว่า การแช่แข็งวัฒนธรรม จะทำให้วัฒนธรรมไทยคงความเป็นเอกลักษณ์ เป็นอมตะ ไม่ถูกดัดแปลง ท้าทายหรือคุกคามจากวัฒนธรรมอื่นๆ ก็คงเป็นความเข้าใจผิดถนัด เพราะไม่นานหลังจากมีข่าวการออกกฎหมายฉบับนี้ออกมา ก็มีผู้ประดิษฐ์ภาพล้อเลียน “วัฒนธรรมแช่แข็ง” และนำมาเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ภาพดังกล่าวเป็นภาพแทนกล่องอาหารแช่แข็ง บนฝากล่องติดฉลาก “วัฒนธรรมแช่แข็ง” พร้อมภาพประกอบเป็นรูปนางละครกำลังรำ เบื้องหลังมีฉากเจดีย์วัดอรุณ และมีคำบรรยายเขียนไว้บนฝากล่องว่า “วัฒนธรรมแช่แข็ง ห้ามดัดแปลง แตะต้องไม่ได้เด็ดขาด ภาพวัฒนธรรมเพื่อการโฆษณา”
ด้านล่างกล่องวัฒนธรรมแช่แข็ง เขียนว่า “ส่วนประกอบโดยประมาณ ชาตินิยม 50% อนุรักษ์นิยม 50% แต่งสี แต่งกลิ่น ดัดจริต ใส่สารกันบูด” ข้อความด้านล่างลงไปอีกเขียนว่า “การนำมาใช้อย่างถูกวิธี ห้ามดัดแปลง ห้ามคิดต่าง ห้ามถาม ห้ามสงสัย เก็บไว้บนหิ้งเท่านั้น ผลิตภัณฑ์เฉพาะประเทศไทย ผลิตโดยกระทรวงวัฒนธรรม” ส่วนมุมบนด้านขวา เขียนข้อความว่า “โปรดแช่แข็งที่อุณหภูมิ -18 ถึง -24 C” นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คนไทยส่วนหนึ่งรู้สึกอย่างไรกับการออกกฎหมายแช่แข็งวัฒนธรรมไทย
หากยังไม่เชื่อว่า การออกกฎหมายแช่แข็งวัฒนธรรม จะสร้างความขัดแย้ง จะมีอายุสั้น ผู้เขียนขอแนะนำให้ดูตัวอย่างการกักขังวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เอาไว้ในเขตกักกันทางวัฒนธรรม เช่น กรณีชนเผ่าอินเดียนแดงในอเมริกา หรืออะบอริจินในออสเตรเลีย ก็ล้วนจบลงด้วยความเสื่อมถอยทางวัฒนธรรมและการดำรงเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ (โปรดดูตัวอย่างใน ชีวสิทธิ์ บุญยเกียรติ วัฒนธรรมกับประชาธิปไตย: การเรียกร้องความเท่าเทียมทางวัฒนธรรมของอเมริกันอินเดียน) หากยังนึกไม่ออกอีก กระทรวงวัฒนธรรมก็น่าจะไปดูงานในพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ในบ้านเราเอง เช่น กลุ่มมันนิ กลุ่มมอแกน ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าที่เร่ร่อนหากินกับการทำประมงชายฝั่ง หรือกลุ่มมลาบลี ที่หากินอยู่แถบภูเขาสูงของจังหวัดน่าน กลุ่มชาติพันธ์เหล่านี้ถูกกักขังทางเขตแดนและแช่แข็งวัฒนธรรม สุดท้ายก็ไม่พ้นนำไปสู่โศกนาฏกรรม (โปรดอ่านเพิ่มใน ศักดิ์รินทร์ ณ น่าน 2555 มาบลีบนเส้นทางการพัฒนา)
การแช่แข็งทางวัฒนธรรม ได้สร้าง Unseen Thailand ที่แม้แต่ ททท. ก็ไม่อยากโฆษณาให้นักท่องเที่ยวเห็น
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Joey Senchanthichai(มีเนื้อหารุนแรง)
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=452948391485691&set=a.107415962705604.14368.100003116016746&type=1&theater