Skip to main content


เมื่อเร็วๆ นี้ การปราศรัยบนเวทีชุมนุม กปปส. โดย ผศ. ดร.จักษ์ พันธุ์ชูเพชร อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นการพูดจาส่อเสียด สองแง่สองง่ามต่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ในเวลาต่อมา บนเวทีเดียวกัน ผศ.นพ.ประเสริฐ วศินานุกร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวปราศรัยในลักษณะส่อเสียด สองแง่สองง่าม หยาบคาย และเหยียดเพศหญิงอย่างโจ่งแจ้ง หลังจากคลิปวิดีโอการปราศรัยถูกเผยแพร่ออกไปเกิดปฏิกิริยาจากสังคมใน 2 แบบ แบบแรก ประชาชนผู้ชื่นชอบการปราศรัย เช่น ผู้สนับสนุน กปปส. บุคลากรทางด้านสาธารณสุข ฯลฯ ยกย่องยบุคคลทั้งสองเป็น “ฮีโร่” ของพวกเขา เพราะสามารถดูถูกความเป็นมนุษย์และเหยียดเพศหญิงของ “อีปูมึง” ได้อย่างเจ็บแสบ สะใจ (โปรดดูตัวอย่างในเพจ fb ของชมรมแพทย์ชนบท เป็นตัวอย่าง) ส่วนประชาชนผู้ไม่ชื่นชอบการปราศรัยในลักษณะเช่นนี้ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน มองว่าเป็นการพูดจาที่ไม่เหมาะสมในสื่อสาธารณะ

ในฐานะผู้หญิงและมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ผู้เขียนรู้สึกตกใจที่สังคมไทยได้ก้าวมาไกลถึงกับยอมรับการพูดจาเหยียดเพศแม่อย่างสนุกปากในพื้นที่สาธารณะ บางคนอาจมองว่านี่เป็นเพียงการดิสเครดิตศัตรูทางการเมืองธรรมดา แต่หากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชาย เราก็คงไม่ได้เห็นการหยิบเอาเรื่องการเหยียดหยามเพศหญิงมาโจมตีทางการเมือง ดังกรณีนายกยิ่งลักษณ์เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงปมเขื่องเรื่องเพศ ในสังคมที่ให้คุณค่าแก่เพศชายเป็นใหญ่ ซึ่งมักจะมองผู้หญิงว่าด้อยกว่าเพศชาย ใน 2 ด้าน คือ

ด้านแรก การมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ (sex object) สังคมชายเป็นใหญ่มองว่าร่างกายของผู้หญิงมีไว้เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศ การใช้ถ้อยคำที่สื่อความหมายที่มองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ เช่น การพูดว่าจะ “ล่อเพื่อชาติ” การพูดว่าจะสร้าง “เหรียญยิ่งลักษณ์แก้ผ้า” “ถ้ายิ่งลักษณ์ถูกทำให้ท้อง” “อาสาจะทำรีแพร์ให้ฟรี” “เป็นนางแบบปฏิทิน” เป็นการดูถูกความเป็นเพศหญิง โดยการพูดถึงร่างกายของผู้หญิงว่าเป็นเพียงร่างที่เปลือยเปล่า (naked body) ที่มีไว้เพื่อตอบสนองอารมณ์ใคร่ของเพศชาย พูดอีกอย่างหนึ่ง ร่างกายของนายกรัฐมนตรีหญิงเป็นวัตถุที่ถูกจ้องมองและถูกพูดถึงในฐานะวัตถุทางเพศ จึงเป็นร่างกายของ “หญิงคนชั่ว” ซึ่งเป็นการเหยียดเพศหญิงในระดับเดียวกับที่สังคมไทยมักจะกล่าวเหยียดหยามหญิงที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศ หญิงหลายผัว หญิงที่มีไว้เพื่อปลดเปลื้องอารมณ์ของนักรบเพศชายยามสงคราม (comfort women)

ร่างกายของหญิงคนชั่วมักจะถูกเน้นย้ำในเรื่องความดึงดูดทางเพศ แต่คุณค่าทางความคิดจิตใจหรือความสามารถของเธอไม่ได้รับเกียรติยกย่อง เมื่อวาทกรรมหญิงคนชั่วได้สร้างตราประทับให้กับผู้หญิงบางประเภท ย่อมปูทางให้แก่ผู้ชายที่จะสามารถปฏิบัติต่อเธอราวกับเป็นวัตถุ ผู้ชายมองว่าเซ็กส์ของเธอเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา แต่ก็ไร้ค่า เป็นเพียงสินค้า อีกทั้งผู้ชายไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการระบายความใคร่ของเขากับหญิงคนชั่วแม้แต่น้อย หญิงคนชั่วมักได้รับการกล่าวถึงอย่างดูแคลนในสังคมไทย เป็นหญิงที่ผู้ชายจำนวนหนึ่งมักชอบพูดถึงอย่างสัพยอก พูดแบบหมาหยอกไก่ พูดสองแง่สองง่าม พูดเพื่อลวนลามและฉวยโอกาส ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงความเหนือกว่าของเพศชาย ทั้งในด้านการเข้าครอบครองหรือกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของเธอ และการควบคุมเพศวิถีของผู้หญิง รวมถึงการเป็นผู้ตัดสินคุณค่าของเพศสัมพันธ์ที่มีต่อผู้หญิงด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง การมองผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าชาย มักจะมาพร้อมกับการตีตราว่าผู้หญิงมีลักษณะด้อยตามธรรมชาติ เช่น การพูดถึงสรีระร่างกายของผู้หญิงว่ามีลักษณะอ่อนแอ บอบบาง ไม่แข็งแรง และอาจกระทบกระเทือนง่าย การพูดว่าผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้มีภาวะอารมณ์อ่อนไหวและแปรปรวน สังคมชายเป็นใหญ่ได้หยิบเอาความแตกต่างทางสรีระระหว่างเพศชายและหญิงมาขับเน้นให้เข้มข้น โดยเปรียบเทียบสรีระของเพศหญิงว่ามีลักษณะด้อย เป็นเพศที่อ่อนแอ บางกรณีได้ก้าวล่วงไปไกลถึงกับตัดสินว่าผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำ เพราะเพศหญิงถูกสร้างมาตามธรรมชาติให้ไร้เหตุผลและไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล

ดังนั้นการใช้ถ้อยคำที่สื่อความหมายเรื่องเพศ เช่น “ประจำเดือน” “การตั้งท้อง” “การคลอดลูก” ที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับนายกรัฐมนตรีเพศหญิง ในบริบทที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง จึงเป็นการจงใจสร้างความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอโดยธรรมชาติ ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงที่เป็นนายกรัฐมนตรี คนไทยมีคติความเชื่อว่าประจำเดือนเป็นสิ่งสกปรก เป็นอันตราย ส่วนการตั้งท้องและคลอดลูกก็เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการทำงานและภาวะผู้นำ การกล่าวเน้นย้ำลักษณะทางธรรมชาติของเพศหญิงเพื่อมุ่งลดทอนคุณค่าของเธอ จึงเป็นการตอกย้ำบทบาทของผู้หญิงในฐานะ “เมีย” และ “แม่” เป็นการสื่อความหมายว่าผู้หญิงควรจะอยู่ในบ้านมากกว่า พูดอีกอย่างคือผู้หญิงไม่ควรมีบทบาทเป็นผู้นำในพื้นที่สาธารณะ ผู้หญิงที่ดีควรทำหน้าที่ช้างเท้าหลังคอยดูแลลูกผัว ไม่ควรมาแข่งบุญแข่งบารมีกับผู้ชายในโลกทางการเมือง ในมุมมองนี้ การมีชัยชนะเหนือผู้ชายในทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่สังคมชายเป็นใหญ่ยอมรับไม่ได้ และต่อให้ผู้หญิงคนหนึ่งได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้นำ เธอก็ไม่มีวันที่จะได้รับการยอมรับจากคนที่ถือคติชายเป็นใหญ่ว่า เธอสามารถเป็นผู้นำ

อันที่จริงแล้ว นายกยิ่งลักษณ์มีอัตลักษณ์หลายอย่างซ้อนอยู่ในตัวเธอ เช่น การเป็นนายกรัฐมนตรี การเป็นลูกสาว การเป็นน้องสาว การเป็นผู้หญิง การเป็นเมียและแม่ แต่ผู้ชายที่มีความคิดแบบชายเป็นใหญ่กลับเลือกที่จะหยิบเรื่องความเป็นเพศหญิงมาตอกย้ำเพื่อเน้นความเป็นเพศที่อ่อนแอ และเพื่อปฏิเสธสถานะของเธอที่เป็นผู้นำ ในขณะเดียวกัน การเลือกหยิบใช้วาทกรรม “หญิงคนชั่ว” และการมองเธอเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ก็มุ่งลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเธอลง การกล่าวโจมตีนายกยิ่งลักษณ์โดยใช้วาทกรรมหญิงชั่ว ไม่เพียงสร้างมลทินให้กับเธอโดยไม่จำเป็นต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่กลับใช้ได้ผลในสังคมไทยซึ่งมีคติความเชื่อในเรื่องการสร้างความแตกต่างระหว่างเพศหญิงอย่างแยกขาด เป็นผู้หญิงคนดีและเป็นผู้หญิงคนชั่วที่ได้รับการปฏิบัติจากสังคมแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ดังนั้นการใช้วาทกรรมหญิงคนชั่วกับนายกรัฐมนตรีเพศหญิง ก็คือการทำให้เธอกลายเป็นวัตถุทางเพศที่ผู้ชายอาจล่วงละเมิดต่อเธอทั้งทางวาจา การกระทำ และศีลธรรมได้โดยที่สังคมไม่ตั้งคำถาม ในขณะเดียวกัน แม้ว่าในความเป็นจริงนายกรัฐมนตรีหญิงจะมีสถานะเป็นเมียและแม่ ซึ่งเป็นคุณลักษณะของผู้หญิงดีที่สังคมคาดหวัง แต่คุณค่าด้านนี้ของเธอกลับไม่ได้รับการยกย่องเชิดชู ทั้งยังถูกเอามาทำให้กลายเป็นอื่น เพื่อทำให้ผู้ที่โจมตีเธออยู่ในสถานะที่เหนือกว่าทุกด้าน

อาการแสดงปมเขื่องเรื่องเพศของม็อบ กปปส. นี้ ที่จริงมีความสัมพันธ์กับปมการเมืองอย่างใกล้ชิด ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ของ กปปส. คือ ชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ซึ่งเคยผูกขาดการได้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย กล่าวอีกนัยหนึ่งพวกเขาคือผู้ได้รับอภิสิทธิ์ทางสังคมมาโดยตลอด แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายปีมานี้ ได้ให้ประโยชน์กับคนกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น พวกเขาจึงสูญเสียทั้งผลประโยชน์ และถูกท้าทายอำนาจ ดังนั้นอาการหวั่นวิตก ไม่แน่ใจต่ออนาคตที่จะเกิดขึ้น ทำให้ “ปมเขื่อง” แสดงตัวออกมาเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ ทั้งทางการกระทำที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นอันธพาลป่วนเมือง และการใช้วาจาส่อเสียดเหยียดเพศ ก้าวร้าว เอาแต่ใจ ไร้เหตุผล ในขณะที่ผู้ฟังการปราศรัยที่คอยสะใจก็กลายเป็นฝูงชนที่ไร้สติและไร้รสนิยมมากขึ้นทุกที 

ปมเขื่องทางการเมืองได้ประสานสอดคล้องกับปมเขื่องเรื่องเพศ เราจึงได้เห็นการใช้ประเด็นเรื่องเพศมาโจมตีตัวนายกรัฐมนตรีหญิง กล่าวส่อเสียดเหยียดหยามเธอในเรื่องส่วนตัว แทนที่จะวิจารณ์เธอในบทบาทการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเรื่องสาธารณะ การกระทำเช่นนี้ไม่เพียงสะท้อนความเขลาของสังคมที่ยังไร้วุฒิภาวะ แต่ยังแสดงให้เห็นการเมืองที่สกปรกที่ควรจะพ้นไปแล้ว ในสังคมที่มองว่าตัวเองศิวิไลซ์ การหยิบเรื่องเพศมาโจมตีคู่แข่งทางการเมืองเช่นนี้ควรถูกประณาม ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม เพราะการที่สังคมยอมรับการใช้วาทกรรมเหยียดเพศเป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง เท่ากับสังคมกำลังสร้างมาตรฐานทางศีลธรรมแบบใหม่ และกำลังตัดสินคุณค่าความเป็นมนุษย์ของชายหญิงไม่เท่าเทียมกัน

 

บล็อกของ เนตรดาว เถาถวิล

เนตรดาว เถาถวิล
ทันทีที่มีข่าวออกมาว่า กระทรวงวัฒนธรรม ทำคลอด พ.ร.บ. “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ออกมา นักวิชาการและสังคมออนไลน์ก็ได้ตั้งคำถามถึงที่มาและเหตุผลของการออกกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งให้อำนาจรัฐควบคุมกำกับการแสดงออกทางวัฒนธรรมในสังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
เนตรดาว เถาถวิล
ละครดาวเกี้ยวเดือน จึงไม่ใช่ปฏิบัติการตามล่าสเปิร์ม ของผู้หญิงที่คิดต่างทำต่าง แต่กลับกลายเป็นเรื่องราวของผู้หญิงธรรรมดาๆ ที่แสวงหารักโรแมนติค และยอมแลกความเป็นตัวของตัวเองแทบทุกด้าน เพื่อสร้างครอบครัวอุดมคติตามขนบจารีตของสังคม