Skip to main content
คืนวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ในฐานะของนายกรัฐมนตรีแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเรื่องประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาที่กล่าวย้อนกลับไปยังวันเดียวกันนี้เมื่อ 235 ปีก่อนเป็นวันสถาปนาราชวงศ์จักรี เริ่มต้นรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วันเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน รัชกาลที่ 10 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวารกูร ซึ่งวันเดียวกันนี้เมื่อไม่มี่ชั่วโมงที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวารกูรได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นับเป็นฉบับที่ 20 ในประวัติศาสตร์การเมือง 85 ปีของไทย อาจเป็นข่าวเก่าไปแล้วเมื่อหยิบยกเอาเรื่องรัฐธรรมนูญมาพูดอีกครั้ง แต่เนื้อหาของสิ่งที่อยากบอกไม่ใช่ประเด็นกฎหมายที่งุนงงชวนเวียนหัว แต่เป็นเรื่องของบันทึกของการประวัติศาสตร์ 85 ปี กี่ครั้งที่ไม่มีการเลือกตั้ง ในรัฐบาลใด และยาวนานกี่ปี เปรียบเสมือนบันทึกสั้นๆ ที่ใครมีอินเทอร์เน็ตก็รู้ได้ แต่อย่างที่บอกเปรียบเสมือนบันทึก ตลอดประวัติศาสตร์การเมือง 85 ปีของไทย ย้อนกลับไป คือปีของการอภิวัฒน์ระบอบปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก่อนจะตามโรดแมปของท่านผู้นำไปยังการเลือกตั้งที่แม้แต่ตัวท่านเองก็ยังไม่อาจรับปากได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะท่านทราบเพียงวันเริ่มต้นนับหนึ่งของเหตุการณ์แรกคือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คงเป็นการดีที่จะกลับไปทบทวนรัฐธรรมนูญที่มีประกาศใช้มาก่อนหน้านี้ทั้ง 19 ฉบับ จากรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 รัฐธรรมนูญซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มคณะที่เชื่อว่าอำนาจการปกครองนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามประเทศก่อนการเปลี่ยนชื่อ มีทั้งหมด 39 มาตรา จัดวางโครงสร้างอำนาจออกเป็น 4 ส่วน คือ อำนาจของกษัตริย์ อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร อำนาจของคณะกรรมการราษฎร และ อำนาจศาล โดยนับตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้ไปจนกว่าจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตได้สอบไล่ระดับประถมศึกษาเกินกว่าครึ่ง แต่ไม่เกิน 10 ปี จึงจะมีสมาชิกสภาผู้แทนที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเอง โดยในระยะเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าจะมีการจัดประเทศให้เรียบร้อย ให้ “คณะราษฎร” จัดตั้ง “ผู้แทนราษฎรชั่วคราว” 70 นาย เป็นสมาชิกสภา และให้ราษฎรทำการเลือกผู้แทนจังหวัดที่มีจำนวนประชากร 100,000 คน เลือกผู้แทนได้ 1 คน หากเกินกว่านั้นให้เลือกเพิ่มได้อีก 1 ทั้งนี้ ให้ผู้แทนราษฎรชั่วคราวทั้ง 70 คนเป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2” แล้วให้ผู้แทนจากการเลือกของราษฎรเป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1” หากทว่าในวันที่ 28 มิถุนายน เวลา 14:00 นาฬิกา ได้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อตั้ง “คณะอนุกรรมการ” จำนวน 7 คนเพื่อทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก่อนจะแล้วเสร็จในอีก 6 เดือนต่อมา แล้วจึงประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 โดยไม่มีการเลือกตั้งโดยราษฎรเพื่อให้ได้ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1” แต่อย่างใด อายุรัฐธรรมนูญ 5 เดือน 13 วัน ไม่มีการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ปี พ.ศ.2475 มี 68 มาตรา เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการประกาศและบังคับใช้รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 13 ปี 4 เดือน 29 วัน โดยมีการแก้ไข 3 ครั้ง คือ 1) แก้ไขเพื่อทำการเปลี่ยนชื่อจาก “สยาม” เป็น “ไทย” เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2482 ตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งมีพลตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นนายกรัฐมนตรี 2) แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของบทเฉพาะกาล ซึ่งนำเสนอโดยขุนบุรัสการกิตติคดี (เหมือน บุรัสการ) ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อยืดระยะเวลาของบทเฉพาะที่ให้การคงอยู่ของสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 จากการแต่งตั้งที่จะต้องสิ้นสุดลงในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2485 ออกไปอีก 10 ปี 3) แก้ไขในส่วนว่าด้วยการขยายระยะเวลาในตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกไปอีกคราวละ 2 ปี อายุรัฐธรรมนูญ 13 ปี 5 เดือน มีการเลือกตั้ง 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 การเลือกตั้งทางอ้อม วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ครั้งที่ 2 การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2480 ครั้งที่ 3 การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 ครั้งที่ 4 การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต วันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 มี 96 มาตรา ประกาศและบังคับใช้ วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ถูกยกเลิกวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 โดยการรัฐประการภายใต้การนำของ พลโทผิน ชุณหะวัณ สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญนี้คือมีการกำหนดให้มีพฤติสภา หรือวุฒิสภาในปัจจุบันเป็นครั้งแรก อายุรัฐธรรมนูญ 1 ปี 5 เดือน 30 วัน มีการเลือกตั้ง 1 ครั้ง แบบแบ่งเขต วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2489 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หรือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม มี 98 มาตรา ประกาศใช้หนึ่งวันหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ยกเลิกเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2492 วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2492 อายุรัฐธรรมนูญ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน มีการเลือกตั้ง 1 ครั้ง แบบรวมเขต วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2491 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 ประกาศใช้วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2492 มี 188 มาตรา ยกเลิกในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 จากการรัฐประหารตัวเองของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อายุรัฐธรรมนูญ 2 ปี 8 เดือน 6 วัน มีการเลือกตั้ง 1 ครั้ง แบบรวมเขต วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2490 อนึ่ง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495 มีการเลือกตั้งแบบรวมเขตอีกครั้งก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2495 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 มี 123 มาตรา เป็นรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 ฉบับแก้ไขปี พ.ศ.2483 กลับมาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดให้ข้าราชการประจำสามารถเป็นนักการเมืองและรัฐมนตรีได้ อีกทั้งยังให้มี สส. 2 ประเภท คือจากการเลือกตั้ง และการแต่งตั้ง ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 โดยประกาศคณะปฏิวัติ ภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อายุรัฐธรรมนูญ 6 ปี 7 เดือน 12 วัน มีการเลือกตั้ง 2 ครั้ง แบบรวมเขตทั้งสองครั้ง คือ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 และในวันที่ 15 ธันวาคม ปีเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 มี 20 มาตรา ประกาศใช้วันที่ 28 มกราคม โดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีมาตราทั้งสิ้น 20 มาตรา มาตราที่สำคัญที่สุดคือมาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีทั้งในด้านการบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อายุรัฐธรรมนูญ 9 ปี 4 เดือน 23 วัน ไม่มีการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 รัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้เวลาร่างอย่างยาวนานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 เพื่อใช้แทนธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร โดยมีนายทวี บุณยเกตุ เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีทั้ง 183 มาตรา ประกาศใช้วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2511 ก่อนจะสิ้นสุดลงด้วยการปฏิวัติตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 อายุรัฐธรรมนูญ 3 ปี 4 เดือน 28 วัน มีการเลือกตั้ง 1 ครั้ง วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 ภายหลังการปฏิวัติยึดอำนาจตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร โดยมีมาตราเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ.2502 อีก 3 มาตรา เป็น 23 มาตรา และยังคงนำมาตรา 17 กลับมาใช้เพื่อเพิ่มอำนาจนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม ยกเลิกจากเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 อายุรัฐธรรมนูญ 1 ปี 9 เดือน 22 วัน ไม่มีการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2517 เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 มี 238 มาตรา ประกาศใช้วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2517 โดยมีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การยกเลิกไม่ให้ข้าราชประจำดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรี ยกเลิกจากเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 อายุรัฐธรรมนูญ 2 ปี มีการเลือกตั้ง 2 ครั้ง แบบรวมเขต เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 และในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2519 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ปี พ.ศ.2519 เกิดขึ้นจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตามประกาศในพระบรมราชโองการว่า “...หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้นำความกราบบังคมทูลว่า โดยที่มีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้กระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ และเศรษฐกิจของประเทศ และในที่สุดได้เกิดการจลาจลวุ่นวายอย่างร้ายแรงขึ้นในบ้านเมือง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ซึ่งจะนำภัยพิบัติและความพินาศมาสู่ชาติบ้านเมืองในที่สุด คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงได้เข้ายึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นผลสำเร็จเมื่อเวลา 18:00 นาฬิกาของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และโดยที่ประชาชนทั้งมวลได้แสดงอย่างแจ้งประจักษ์และเชื่อมั่นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นระบอบการปกครองที่ดี และเหมาะสมสำหรับประเทศไทย...” มี 29 มาตรา อายุรัฐธรรมนูญ 11 เดือน 28 วัน ไม่มีการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง เมื่อพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ ทำการรัฐประหารรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 แล้วทำการประกาศธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 ก่อนในอีกสองวันถัดมา พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี มี 32 มาตรา อายุรัฐธรรมนูญ 1 ปี 1 เดือน 13 วัน ไม่มีการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2521 มี 206 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2521 โดยมีพลอากาศเอก หะริน หงสกุล ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ รัฐธรรมนูญฉบับนี้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 ตามประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ โดยมีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ อายุรัฐธรรมนูญ 12 ปี 2 เดือน 1 วัน มีการเลือกตั้ง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522 ครั้งที่ 2 วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2526 ครั้งที่ 3 วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2531 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ถูกนำกลับมาใช้ในปี 2534 โดยลดมาตราลงจากเดิม 39 มาตรา ให้เหลือ 33 มาตรา ประกาศใช้วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2534 โดยมีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีมาตราทั้งสิ้น 33 มาตรา ยกเลิกเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย วันที่ 9 ธันวาคม ปีเดียวกัน อายุรัฐธรรมนูญ 8 เดือน 8 วัน ไม่มีการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2534 หรือ รัฐธรรมนูญฉบับ รสช. มีนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มี 223 มาตรา ถูกยกเลิกเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540 อายุรัฐธรรมนูญ 5 ปี 10 เดือน 2 วัน มีการเลือกตั้ง 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 ครั้งที่ 2 วันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2535 ครั้งที่ 3 วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2538 ครั้งที่ 4 วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ.2540 หรือ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เนื่องจากมีการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเจตนารมณ์ 3 ประการ คือ 1) ขายสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของพลเมือง 2) เพิ่มการตรวจสอบอำนาจรัฐโดยประชาชน เพื่อให้เกิดความสุจริตและโปร่งใส 3) ทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ มี 336 มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 หลังคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้การนำของพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน ทำการรัฐประหาร อายุรัฐธรรมนูญ 8 ปี 1 เดือน 9 วัน มีการเลือกตั้ง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 ครั้งที่ 2 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 ครั้งที่ 3 วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2549 (ฉบับชั่วคราว) มีหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มี 39 มาตรา สิ้นสุดเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2550 วันที่ 24 สิงหาคม อายุรัฐธรรมนูญ 11 เดือน 5 วัน มีการเลือกตั้ง 1 ครั้ง วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 แต่ได้รับการตัดสินให้เป็นโมฆะจากกรณีพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กให้ลงรับสมัครเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ.2550 มี 309 มาตราประกาศใช้วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2550 ถูกแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง คือในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2554 ทั้งสองครั้ง สิ้นสุดเมื่อมีการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อายุรัฐธรรมนูญ 6 ปี 7 เดือน 29 วัน มีการเลือกตั้ง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 ครั้งที่ 2 วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ครั้งที่ 3 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) มี 48 มาตรา สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ที่มาตรา 44 ซึ่งให้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เหนืออำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ คล้ายคลึงกับมาตรา 17 ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะที่ในมาตรา 48 ให้นิรโทษกรรมความผิดของทหารทั้งในอดีตและอนาคต และให้สิทธิคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการออกคำสั่งใดๆ เพื่อการปฏิรูปหรือความมั่นคง และคำสั่งเหล่านั้นถือว่าชอบด้วยกฎหมาย จากวันประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน ยังคงไม่มีการเลือกตั้ง สรุป 85 ปีในระบอบปกครองตามที่ท่านผู้นำได้กล่าวมา มีรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ที่มีการเลือกตั้ง รวมระยะเวลา 71 ปี มีรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ที่ไม่มีการเลือกตั้ง รวมระยะเวลา 14 ปี เรารอได้.

บล็อกของ nithi.n

nithi.n
คืนวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ในฐานะของนายกรัฐมนตรีแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเรื่องประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาที่กล่าวย้อนกลับไปยังวันเดียวกันนี้เมื่อ 235 ปีก่อนเป็นวันสถาปนาราชวงศ์จักรี เริ่มต้นรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
nithi.n
ในนาทีที่แม่ล้มลง แม่รู้ตัวว่าเจ้าอาการที่แม่หวาดกลัวนั้นกลับมาแล้ว และครั้งนี้แม่หวั่นใจว่าแม่จะไม่แข็งแรงพอที่จะต่อสู้ แม่นอนตะแคงมองดูแสงไฟจากรถราบนท้องถนนวิ่งผ่าน มองท่อนขาที่เดินผ่านไปอย่างรวดเร็วของผู้คนที่ไม่มีหยุดแล้วก้มลงถาม แม่รู้สึกเจ็บปวด ในหัวใจแม่เหมือนถูกบีบคั้นจากมือที่มองไม่เห็น แม่