15 สิงหาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยการแต่งตั้งดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ที่ิเพิ่งประกาศใช้
จากรายชื่อของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่ได้รับการแต่งตั้ง เห็นว่า หลายคนเคยทำงานในสภาปฏิรูปมาแล้วถึงสองสมัย หลายคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ คสช. มาก่อน นอกจากนี้ กรรมการบางคนยังมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนเป็นเครื่องการันตี
จึงน่าสนใจว่าคณะทำงานชุดนี้ ท้ายที่สุดจะนำประเทศไปสู่การปฏิรูป หรือเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อใช้ควบคุมการทำงานของรัฐบาลชุดถัดไป
คสช. นำทัพ อดีต สปช.-สปท. และข้าราชการ ปฏิรูปประเทศ
จากรายชื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ปรากฎว่า มีบุคคลที่คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่จำนวนมิใช่น้อย เป็น อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรููปประเทศ(สปท.) อยู่ถึง 46 คน คิดเป็นร้อยละ 38 ของกรรมการทั้งหมด ทุกคนล้วนนั่งควบตำแหน่งในสภาปฏิรูปมาแล้วถึงสองสมัย และก็ยังได้ไปต่ออีกเป็นคำรบที่สาม
นอกจากจะตั้ง 'คนหน้าเก่า' มาวางแผนปฏิรูป 'ครั้งใหม่' แล้ว กลุ่มคนที่มีสัดส่วนมากเป็นอันดับที่สอง ก็คือ กลุ่ม 'ข้าราชการและอดีตข้าราชการ' โดยคนกลุ่มนี้มีถึง 40 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ถัดมาเป็นตัวแทนจากนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน คิดเป็นร้อยละ 18 และที่เหลือเป็นตัวแทนจากเอกชน 7 คน นักการเมือง 3 คน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6 3 และ 2 ตามลำดับ
แต่ไฮไลท์ของการแต่งตั้ง กลับอยู่ที่เก้าอี้ของประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน เนื่องจากผู้ที่ได้รับตำแหน่งประธานจะมีลักษณะร่วมกันอยู่สองแบบ แบบแรกคือ เป็นบุคคลซึ่งเคยรับตำแหน่งจากรัฐบาลนี้มาก่อน อย่างเช่น พรชัย รุจิประภา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) มาก่อน และแบบที่สอง คือ เป็นข้าราชการประจำที่ยังต้องรับคำสั่งโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี อย่างเช่น กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย
เห็นได้ว่า สายสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละคณะกับ คสช. ค่อนข้างไม่ธรรมดา อาจจะกล่าวได้ว่า มิใช่คนอื่นคนไกล หากแต่เป็นคนที่ คสช. 'ไว้ใจ' และเคยทำงานร่วมกันมาก่อน
ย้อนประวัติผลงานการปฏิรูปที่ผ่านมา หลายคณะผลงานไม่เป็นที่นิยม
นอกจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดนี้จะหน้าซ้ำ ผลงานของกรรมการบางคนก็เป็นที่ประจักษ์ ถึงขนาดภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกันเลยทีเดียว
เริ่มจาก 'คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข' ซึ่งมี 'นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์' อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอดีตผู้รักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นหนึ่งในกรรมการ โดย "หมอณรงค์" เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกรณี เมื่อครั้ง พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. มาตรวจเยี่ยมการทำงานและได้ให้ความเห็นเชิงสั่งการว่า เห็นด้วยกับการที่ประชาชนจะมีส่วน "ร่วมจ่าย" เมื่อรับบริการสาธารณสุข โดยที่ปลัดและรักษาการรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขผู้นี้ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านจากทั้งบรรดาแพทย์และประชาชนจำนวนมากว่า กระทรวงสาธารณสุขกำลังจะล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ ล้ม "บัตรทอง"
นอกจากนี้ หนึ่งในกรรมการปฏิรูปชุดเดียวกัน อย่าง 'ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา' ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ออกมาสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างชัดเจน โดยเคยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับสัดส่วนคณะกรรมการบอร์ดสปสช. เพราะได้คนไม่รู้จริงมาทำงาน จึงควรให้คนรู้ดีที่สุด คือ กระทรวงสาธารณสุข ทำงาน ทั้งที่หัวใจของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ การสร้างระบบถ่วงดุลระหว่างประชาชนผู้รับบริการกับกระทรวงสาธารณสุขผู้ให้บริการ
ถัดมาคือ 'คณะกรรมการปฏิรูปด้านพลังงาน' ที่มี พรชัย รุจิประภา เป็นประธาน โดย พรชัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีในรัฐบาลคสช. มาก่อน อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งอดีตปลัดกระทรวงพลังงานมาก่อนด้วยเช่นกัน
แต่ทว่า พรชัย เคยถูกคัดค้านจากกลุ่มสภาธรรมาภิบาลและสภาปฏิรูปพลังงานไทย ภายหลัง บอร์ด ปตท. แต่งตั้งพรชัย เป็นกรรมการ ปตท. ชุดใหม่ เพราะ พรชัย มีส่วนให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. โอนบริษัท ผลิตไฟฟ้าระยอง ให้แก่บริษัท ผลิตไฟฟ้า หรือเอ็กโก ในปัจจุบัน ในสมัยที่เป็นประธานบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
มิใช่แค่นั้น หนึ่งในคนที่ภาคประชาชนกลุ่มเดียวกันออกมาคัดค้านก็คือ 'ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์' อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เนื่องจาก ปิยสวัสดิ์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ได้อนุญาตเปิดสัมปทานรอบที่ 20 รวม 30 แปลง เป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และมากกว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้สัมปทานเพียง 19 แปลง ซึ่ง 'ปิยสวัสดิ์' ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานด้วยเช่นกัน
อีกคนหนึ่ง คือ 'มนูญ ศิริวรรณ' ที่ถูก 'ประสิทธิ์ชัย หนูนวล' แกนนำเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นผู้มีความคิดเป็นภัยต่อโลกด้วยการเชียร์ให้เกิดการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นเหตุแห่งการทำลายสุขภาพ และระบบนิเวศที่สำคัญของโลก
ชุดสุดท้ายที่อยากกล่าวถึง ก็คงไม่พ้น 'คณะกรรมการปฏิรูปด้านสื่อฯ' เนื่องจากกรรมการปฏิรูปหลายคนในคณะนี้เคยเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อฯ มาก่อน ซึ่งในตอนที่เป็น สปท. กรรมการบางคนก็เคยยกมือเห็นชอบกฎหมาย 'ร่างพ.ร.บ.ตีทะเบียนสื่อ' หรือ ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ ร.อ.ประยุทธ เสาวคนธ์ กับ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เปิดทางให้อำนาจรัฐแทรกแซงการรายงานข่าวของสื่อ และมีเจตนาในการปิดปากสื่อก็ตาม
จับตาร่างแผนการปฏิรูปประเทศคุมเกมส์รัฐบาลหลังเลือกตั้ง
ตลอดสามปีของอุตสาหกรรมการปฏิรูประเทศที่ผ่านมา การปฏิรูปเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากข้อเสนอการปฏิรูปขาดความเป็นรูปธรรมและขาดการนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง
แต่ทว่า พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นจุดกำเนินของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเหล่านี้ ก็กลับให้อำนาจหน้าที่ไม่แตกต่างไปจากสภาปฏิรูปชุดก่อนๆ นั่นก็คือ การทำ 'ข้อเสนอ' การปฏิรูปเช่นเดียวกัน โดยกฎหมายกำหนด.shที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจะต้องมาประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นจึงจัดทำร่างแผนการปฎิรูปประเทศให้เสร็จ และต้องเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
โดยตัวร่างแผนการปฏิรูปประเทศนั้น จะถูกใช้เป็นแผนแม่บทในการทำงานของหน่วยงานรัฐ ซึ่ง ครม. มีหน้าที่กำกับดูแลและสนับสุนให้หน่วยงานดำเนินการ ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศมีหน้าที่ให้คำแนะนำหรือความเห็นแก่หน่วยงานที่ไม่ดำเนินการตามแผนปฏิรูป หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้รายงานไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป และรัฐธรรมนูญ 2560 ยังกำหนดให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. มีหน้าที่และอํานาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอีกด้วย
เท่ากับว่า 'ปลายทาง' การทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปชุดนี้ ก็คือ การทำแผนแม่บทเพื่อให้ คสช. ควบคุมทิศทางการบริหารประเทศในภายภาคหน้านั้นเอง
*หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ไอลอว์ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2560
บล็อกของ มนุษย์โรแมนติก
มนุษย์โรแมนติก
แม้จะมีดราม่าเข้ามารายวันแต่ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่สังคมไม่ควรพลาดก็คือ "การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ซึ่งน่ากลัวมากว่ามันจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เละ! และดูเหมือนจะมีเฉพาะกลุ่มคนรักหลักประสุขภาพและองค์กรใกล้ชิดเท่านั้นที่ไหวตั
มนุษย์โรแมนติก
ข้ออ้างสำคัญของรัฐในการควบคุมสื่อคือการกล่าวหาว่า "สื่อมีเสรีภาพมากเกินไปและไร้ความรับผิดชอบ" ซึ่งบทความนี้ไม่ใช่แค่การโต้แย้งอย่างตรงไปตรงมาต่อข้อกล่าวหาข้างต้น แต่ยังชวนให้ผู้มีอำนาจคิดว่า เราไม่ได้อับจนหนทางถึงขนาดต้องมีกฎหมายควบคุมสื่อ