“บ้านทีดีหาใช่แค่มีสิ่งปลูกสร้างที่มั่นคง สะดวกสบาย แต่มันต้องมีบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความรัก ความผูกพัน ของคนในครอบครัว”
ถอยห่างจากกรุงเทพมหานครออกไปซักสองร้อยกิโลเมตร ในบ้านหลังหนึ่งในตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยก จังหวัดกาญจนบุรี มีครอบครัวครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ โดยสมาชิกในบ้านประกอบไปด้วย พ่อ ผู้เป็นนักเขียน กับ แม่ ที่เป็นผู้จัดการบ้าน และลูกอีกสามคน อาศัยอยู่ด้วยกัน
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับบ้านหลังนี้ก็คือ “บรรยากาศภายในบ้าน” ที่หลายสิ่งหลายอย่างช่างดูกลับหัวกลับหางจากความเชื่อปกติของสังคมที่ว่า “ชายต้องเป็นช้างเท้าหน้า” แต่ทว่า สำหรับครอบครัวนี้แล้ว แม่คือเสาหลักของครอบครัว โดยทุกเรื่องในบ้าน แม่จะคอยดูแลจัดการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนของลูก หรือแม้แต่งานช่างภายในบ้าน ถึงขนาด ลูกๆ มีภาพติดตา ที่เห็นผู้เป็นพ่อนั่งพิมพ์ดีดอยู่ ส่วนผู้เป็นแม่คือคนปีนขึ้นไปซ่อมหลังคาบ้านแทน
แต่ฝ่ายพ่อกลับมีบทบาทต้องคอยทำตัวเป็นน้ำเย็นลูบหลังให้ลูก ในยามที่ลูกรักถูกผู้จัดการประจำบ้านอบรมสั่งสอน หรือเวลาที่ลูกอยากได้ของบางอย่างแต่ฝ่ายแม่ไม่อนุญาต ลูกๆ ก็จะใช้วิธีการตีเนียนไปกับพ่อ เช่น การหิ้วรองเท้าเพื่อไปวิ่งกับพ่อในตอนเช้า แล้วสุดท้ายก็จะได้ของสมปรารถนา
นอกจากนี้ ผู้เป็นพ่อยังทำหน้าที่เป็น “เอนเตอร์เทนเนอร์” ให้ครอบครัวอีกด้วย อย่างเวลาเย็นๆ ค่ำๆ เมื่อคุณพ่อที่ชอบกินเหล้ารู้สึกกรึ่มๆ ได้ที่ คุณพ่อลูกสามก็จะสวมบทเป็นดาราตลกในทีวี อย่าง มิสเตอร์บีนบ้าง ชาลี แชปลินบ้าง แม้ครื่องแต่งกายจะมีเพียงผ้าข้าวม้าผืนเดียวเคียนเอวอยู่ ก็เพียงพอที่จะเรียกเสียงฮาจากลูกๆ และบางทีคุณแม่ที่ยืนทำกับข้าวอยู่ใกล้ๆ ก็ส่ายหัวพร้อมกับรอยยิ้มไปพร้อมกัน
น่าเสียดายที่ความสุขของครอบครัวมีอันต้องพลิกผัน เมื่อบุคคลสำคัญของครอบครัวอย่างแม่มาด่วนจากไปด้วยโรคร้าย ทำให้คนที่เหลือต้องปรับตัวกับการสูญเสียครั้งใหญ่
ลูกสาวคนเล็กของบ้านเล่าว่า ตอนที่คุณแม่เสีย พี่คนโตอายุได้ 23 ปี ส่วนพี่คนกลางอายุ 20 ปี และเธออายุแค่18 ปีเท่านั้นเอง โดยช่วงนั้นเป็นช่วงที่เธอกำลังจะเข้าเรียนเรียนมหาวิทยาลัย และการจากไปของแม่ทำให้ชีวิตของคนในครอบครัวยุ่งเหยิงไปหมด และต้องใช้เวลาสักพักในการปรับตัวและต้องรับผิดชอบดูแลตัวเอง
นอกจากการปรับตัวของคนที่บ้านแล้ว การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างจากการสูญเสียคุณแม่ก็คือ “บ้าน” เมื่อลูกเริ่มจะไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ฝ่ายพ่อก็ตัดสินใจย้ายมาอยู่ในบ้านอีกหลังที่ครอบครัวเรียกติดปากกันว่า “ไร่”
โดยบ้านใหม่ หรือ “ไร่” ที่ผู้เป็นพ่อย้ายมานั้น เป็นที่ดินที่เขาและภรรยาเคยซื้อไว้ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ท่าเสาใหม่ๆ แต่ปล่อยไว้เป็นเหมือนป่าไร่ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังอัดแน่นไปด้วยความรัก ความทรงจำของสองมีภรรยา ที่ร่วมกันเก็บหอมรอมริบเงินจากการเขียนหนังสือของผู้เป็นพ่อมาต่อเติมบ้านอยู่เสมอ เวลาที่หนังสือได้ตีพิมพ์แต่ละครั้ง บ้านจะถูกต่อเติม อย่างครั้งแรกก็ได้โครงบ้าน พออีกเล่มออกมาก็ค่อยได้พื้น ได้ผนัง แต่ทว่าบ้านหลังนี้มันก็ยังต่อเติมไม่เสร็จสมบูรณ์
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยเปลี่ยนก็คือ “กิจวัตรของผู้เป็นพ่อ” โดยลูกสาวคนเล็กเล่าเรื่องของพ่อต่อว่า ในแต่ละวันพ่อของเธอก็ยังคงตื่นแต่เช้าไปวิ่ง ถ้าวันไหนมีผักริมทางก็จะเก็บติดไม้ติดมือกลับมาบ้าน จากนั้นก็นั่งอ่านหนังสือพิมพ์พร้อมกับจิบไวน์ พอสายๆ ก็ต้มข้าวให้หมาแมวที่ถูกทิ้งไว้ข้างวัดใกล้ๆ บ้าน ซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสิบตัวและกลายเป็นมิตรสหายคนสำคัญของพ่อ
พอตกบ่ายก็จะเป็นเวลาทำงาน พ่อก็จะอ่านหนังสือบ้าง เขียนหนังสือบ้าง แต่บางวันก็จะแอบงีบ พอเย็นค่ำก็ทำกับข้าว ฟังเพลงและดื่มเหล้า ดื่มไวน์ เหมือนเดิม พอง่วงตรงไหนก็นอนตรงนั้น ถึงขนาดเคยไปนั่งดูดาวในสวนมืดๆคนเดียวแล้วก็นอนไปตรงนั้นเลย
แต่ในภาพที่ดูแสนสำราญของพ่อนั้น แท้จริงแล้วยังมีภาพอีกมุมหนึ่งที่เป็นนักเคลื่อวไหวผู้มีอุดมการณ์เหมือนกับหนังสือที่พ่อเขียนอย่าง "ด้วยรักแห่งอุดมการณ์" ที่สะท้อนภาพของชีวิตคนหนุ่มที่ทุ่มเทลงไปกับการเคลื่อนไหวการเมือง จนบ้านและครอบครัวนี้ถูกเคลือบไปด้วยอุดมการณ์และประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของพ่อ อีกทั้ง ผู้เป็นพ่อก็มักจะกระเตงลูกและภรรยาไปร่วมชุมนุมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง จนบางครั้งครอบครัวก็ต้องไปรอพ่อขึ้นร้องเพลงในม็อบ หรือปราศัยบนเวที จนภาพเหล่านี้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำภายในครอบครัว
อย่างไรก็ดี ผลงานของพ่อก็เป็นที่จดจำของสาธารณะอยู่เสมอ อาทิ บทเพลง “จากภูพานถึงลานโพธิ์” ที่ผู้เป็นพ่อแต่งจากประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดอย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่คนธรรมดาถูกไล่ฆ่าเพียงเพราะความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองจนต้องหลบหนีเข้าป่าไป
แต่ใครเลยจะคิดว่า ครอบครัวนี้จะต้องสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อผู้เป็นพ่อที่เคยหนีตายสมัย 6 ตุลาฯ ในวันนั้น มาจนวันนี้ก็ยังต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศอีครั้ง เพราะความเห็นที่แตกต่างเหมือนอย่างเคย
ลูกสาวคนเล็กพูดความรู้สึกถึงพ่อของเธอว่า พ่อคงจะเหงาและคิดถึงบ้านเมื่อต้องอยู่คนเดียวในต่างแดน เพราะปกติพ่อเป็นคนที่ติดบ้านมาก ถึงขนาดว่า ต่อให้ทำธุระที่กรุงเทพฯ เสร็จ ดึกแค่ไหนก็จะขับรถ 3 ชั่วโมงกลับบ้าน แม้ว่าวันถัดไปจะมีธุระที่กรุงเทพฯอีกก็ตาม และเหตุผลสำคัญที่ทำให้พ่อผูกผันกับบ้านหลังนี้ก็เพราะ พ่อทำงานอยู่บ้านตลอด ชีวิตอยู่ที่บ้าน ครอบครัวอยู่ที่บ้าน ต่อให้ไม่มีใครอยู่แล้วก็ยังมีความรักความทรงจำอยู่
เมื่อคนที่รักมากที่สุดจากไปถึงสองคน บ้านทั้งสองหลังของครอบครัวนี้ก็ดูเงียบเหงาลงไปถนัดตา มีเพียงลูกชายคนโตจะคอยแวะเวียนกลับไปดูบ้านบ้าง แต่บรรยากาศแบบเดิมๆ ก็ไม่หลงหลืออยู่แล้ว ส่วนหมาแมวที่ก่อนหน้านี้เคยมีอยู่จำนวนมากก็เริ่มจะห่างหายเพราะไม่มีคนคอยให้อาหารพวกอีกมันต่อไป
น่าเสียดาย ที่คุณพ่อลูกสามที่ชื่อ “วัฒน์ วรรยางกูร” คนนี้ ยังกลับบ้านไม่ได้ เพราะยามนี้บ้านเกิดเมืองนอนของเขายังมีพื้นที่หัวใจไม่กว้างพอรองรับความแตกต่าง ซึ่งเราคงได้แต่หวังว่า วันหนึ่งคงกลับบ้านได้เหมือนดั่งในหนังสือนิยาย “ฉากและชีวิต” ที่เขาเคยเขียนไว้เองว่า
“กระแสชีวิตพัดพาเราไปถึงไหนต่อไหน ในวันหนึ่งมันจะพัดพาเรากลับบ้านถ้ายังมีคนที่รักรออยู่”
///////////////////////////////////////////////////
*หมายเหตุ: งานเขียนดังกล่าวเป็นต้นฉบับก่อนเผยแพร่ในนิตยสาร Mad About เล่มที่ 2 เพื่อนึกถึงบุคคลสำคัญในวงการวรรณกรรมอย่าง วัฒน์ วรรยางกูร ที่มีเหตุต้องลี้ภัยทางการเมืองตั้งแต่ คสช. เข้ายึดอำนาจ
บล็อกของ มนุษย์โรแมนติก
มนุษย์โรแมนติก
แม้จะมีดราม่าเข้ามารายวันแต่ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่สังคมไม่ควรพลาดก็คือ "การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ซึ่งน่ากลัวมากว่ามันจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เละ! และดูเหมือนจะมีเฉพาะกลุ่มคนรักหลักประสุขภาพและองค์กรใกล้ชิดเท่านั้นที่ไหวตั
มนุษย์โรแมนติก
ข้ออ้างสำคัญของรัฐในการควบคุมสื่อคือการกล่าวหาว่า "สื่อมีเสรีภาพมากเกินไปและไร้ความรับผิดชอบ" ซึ่งบทความนี้ไม่ใช่แค่การโต้แย้งอย่างตรงไปตรงมาต่อข้อกล่าวหาข้างต้น แต่ยังชวนให้ผู้มีอำนาจคิดว่า เราไม่ได้อับจนหนทางถึงขนาดต้องมีกฎหมายควบคุมสื่อ