หากจะพูดถึงนักแสดงมากความสามารถ หากจะขาดชื่อ ทราย-อินทิรา เจริญปุระ ไปก็คงต้องเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด เพราะนอกจากเธอจะเคยเป็นนักร้อง เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงแล้ว เธอยังเคยทำหน้าที่เป็นพิธีกรรายการต่างๆ ควบคู่ไปกับการเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ และสำนักข่าว The Matter ด้วยเช่นกัน
ด้วยกระแสการงานที่รุ่งโรจน์ถึงปานนั้น ใครเลยจะรู้ว่า ในหน้าฉากที่ควรจะเจิดจรัสไปด้วยแสง แท้จริงแล้ว ฉากและชีวิตของทรายนั้น ช่างดูอ้างว้าง และยากลำบากไม่ต่างจากการเดินอยู่ท่ามกลางทะเลทรายแต่เพียงลำพัง ด้วยมรสุมชีวิตที่ถาโถมเข้าใส่ไม่หยุดยั้ง เป็นเรื่องยากสำหรับคนคนหนึ่งที่จะหยัดยืน
แต่ท่ามกลางวังวนแห่งปัญหา เราอดสงสัยไม่ได้ว่า เธอรับมือต่อสิ่งที่เขามาอย่างไร อะไรที่เป็นตัวช่วยให้เธอประคับประคองหัวใจ ความคิด และสติ เอาไว้ได้ และเราไม่ลังเลใจแม้แต่น้อยที่จะถาม โดยหวังว่าคำตอบในครั้งนี้จะพลิกบทบาทชีวิตของใครหลายคนให้ทุกข์น้อยลง
ฉากชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
สำหรับคนที่เคยติดตามชีวิตของ ‘ทราย’ คงพอจะรู้มาบ้างว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่า เธอคิดอยากจบชีวิตของตัวเองพร้อมกับคุณแม่ เพื่อจะทำให้คนรอบตัวเธอมีความสุข เนื่องจากอาการป่วยของคุณแม่กลายเป็นเรื่องยากต่อการรับมือ และในฐานะลูกสาวคนโตที่เป็นหัวใจของบ้าน มันค่อนข้างเป็นบททดสอบที่เรียกร้องพลังกายพลังใจของเธออย่างแสนสาหัส
“คุณแม่ทรายป่วยมานานแล้ว ป่วยมาตั้งแต่ทรายเด็กๆ เราก็จะรู้ว่าเงื่อนไขของแม่ไม่เหมือนกับแม่คนอื่นๆ คือเราก็จะรู้ตั้งแต่ ป.2-ป.3 ว่าแม่เป็นซึมเศร้า ตอนที่แม่ไปหาหมอ เขาก็บอกเรานะ ว่าเขาป่วย จะมีบางวันที่เขาไม่ฟังค์ชั่น เช่น ให้เราหัดเซ็นลายเซ็นของเขา เพื่อที่เราจะได้ส่งการบ้านครูได้เลย ในบางวันที่เขาไม่ไหว”
“ตอนนั้น เราแค่รู้สึกว่าแม่ไม่สบาย พ่อก็บอกว่า แม่เขาไม่สบาย แต่ตอนนั้นมันก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเป็นโรคซึมเศร้า เราแค่รู้ว่าแม่เราไม่เหมือนกับแม่คนอื่น”
ทรายค่อยๆ เล่าความทรงจำของเธอต่อแม่ในวัยเด็ก ว่าแม่ของเธอค่อนข้างมีลักษณะพิเศษมาตั้งแต่เธอยังเด็ก แต่นั้นก็ยังไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเธอมาก จนกระทั้งต้องมาเผชิญหน้ากับจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อคุณแม่ล้มป่วยด้วยโรค ‘สมองเสื่อม’
“โรคซึมเศร้าเราถือว่าธรรมดา จนเขาป่วยมีอาการสมองเสื่อม ด้วยความที่คุยกันทุกวันอยู่แล้ว ถึงไม่ได้คุยสนิทจุกจิก แต่พอวันหนึ่งที่เขาโทรมา แล้วมันเริ่มประหลาด แบบวันนี้มันไม่ใช่แม่เราอ่ะ ปกติแม่เราไม่เคยพูดอะไรอย่างนี้ เราก็เลยรู้สึกว่า เฮ้ย... ไม่ใช่แล้ว”
“แรกๆ ที่ไปหาหมอพร้อมกันกับคุณแม่ คุณหมอก็ถามเลยว่า ใครจะเป็นคนดูแลมือหนึ่ง มีมือหนึ่งแล้วมีมือสองไหม มีคนผลัดหรือเปล่า มีตัวช่วยอะไรใดๆ บ้าง ทรายก็บอกไม่มี คือแม่ไม่เอาใครเลย มีแต่เราล้วนๆ คุณหมอก็ยังพูดเลยว่า ‘คุณทรายก็ยังต้องทำงานนะ’ เราก็ ‘ค่ะ’ ”
“คือหมอเล่าให้ฟังว่า โดยสถิติเนี่ย (เน้นเสียง) คนที่ดูแลก็มีแนวโน้มจะเป็นซึมเศร้าด้วย เพราะความเครียด หรือด้วยอะไรต่างๆ แล้วการดูแลคุณแม่คุณทรายนี่คือ เข้าข่ายชนิดที่เราติ๊กๆ ความน่าจะป่วยได้ทุกข้อเลย คือมันมีแนวโน้มจะเป็นมาก หมอก็แนะนำว่าถ้าผลัดมือ แปะมือกับคนอื่นเพื่อเปลี่ยนกันดูแลได้ ก็ควรจะทำ”
“ตอนนั้นเราก็ไม่หรอก ด้วยความคิดที่ ‘ดี’ ของเรา เราก็เชื่อว่า เราคงจะผ่านไปได้ ถ้าเรามองว่ามันเป็นเรื่องสนุก มันก็ต้องสนุกสิ (หัวเราะ) คือตอนแรกๆ เราคิดแบบนี้ พยายามรับมือกับเรื่องราวนี้ด้วยการมองมันเป็นเรื่องตลก เฮ้ย... ขำๆ น่ารัก คนแก่ทำตัวแบบนี้ แต่แล้วสุดท้ายมันเริ่มกินตัวเอง”
จากความคิดจะทำให้เป็นเรื่องสนุกในตอนเริ่มแรก แต่พอนานๆ ไป ทรายก็เริ่มค้นพบว่า วิธีการนี้มันไม่เพียงพอต่อการรับมือกับปัญหา และเมื่ออาการคุณแม่เริ่มหนักข้อขึ้น มันกลับยิ่งส่งผลให้เกิดแผลทางความรู้สึกลึกขึ้นทุกทีๆ
“อาการของแม่ทรายทำให้เขาเรียกร้องความสนใจมากๆ มีตรรกะเพี้ยนๆ เช่น ทรายบอกแม่ว่า แม่อย่าขับรถเลย เดี๋ยวขับรถชน ถ้าออกไปมันอันตราย ก็กลายเป็นเขาคิดว่า เพราะเราเป็นดารา ถ้าเขาขับรถไปชนเราจะเสียชื่อ หรือเวลาถ่ายละครอยู่ แม่โทรมาแล้วไม่ได้รับ พอรับสายเขาก็จะพูดว่า นี่ฉันกำลังจะฆ่าตัวตาย แล้วเขาก็วางสายติดต่อไม่ได้ สุดท้ายเราเลยต้องขอลากองเพื่อกลับมาบ้าน แต่พอรู้ว่าเขาไม่เป็นอะไร มันรู้สึกแบบ แม่ทำแบบนี้ทำไม แล้วเขาก็บอกว่า ถ้าไม่พูดอย่างนี้ก็ไม่มา คือทรายรู้สึกว่า นี่ทรายไม่ได้ออกเที่ยวไง คือมันกลายเป็นเราไม่รู้จะรับมือกับเรื่องแบบนี้ยังไง”
“สุดท้ายคือทรายก็ป่วย (ด้วยโรคซึมเศร้า) มีวันหนึ่งตอนขับรถพาแม่ไปหาหมอ แล้วก็คิดว่า หรือกูขับรถลงทางด่วน ทะลุแมร่งลงไปเลย ตายไปเลยทั้งคู่เนี้ย แล้วน้องก็จะได้มีความสุข ดีมั้ย”
“คือคิดออกมั้ย มันแย่ มันกดดันมากขนาดไหน ทั้งที่ทรายต้องไปกองถ่าย ต้องตั้งสมาธิกับงาน แล้วแม่ก็โทรมาว่ารักเขาไหมอะไรแบบเนี้ย หรือบางทีทรายไม่ได้รับมันถ่ายอยู่ เขาก็จะแบบ แกเกลียดฉัน เฮ้ย… คือโดนแบบนี้ทุกวันๆ มันทำให้คนเป็นบ้าได้จริงๆ นะ คือมันไม่รู้วิธีรับมือเลย”
“ที่นี้พอป่วยมันก็ต้องมีกติกากันบ้าง ไม่ใช่ว่าขับรถออกไปชนใครแล้วอ้างว่าป่วยอย่างนี้ไม่ได้ แต่พอตั้งกติกา แม่ก็ปฏิเสธอทุกอย่าง บอกว่า แกเป็นลูก แกต้องทำตามฉันเท่านั้น ซึ่งเราก็แบบ เฮ้ย… มันไม่ใช่ ถึงจุดหนึ่งบทบาทมันต้องสลับ ถ้าเป็นโรคอย่างอื่นมันก็ยังพอตามใจกันได้ เช่น เป็นเบาหวาน มันก็ยังแอบให้กินทุเรียนได้สักชิ้น แต่อันนี้มันไม่ได้เว้ย มันไม่ดีทั้งกับแม่และคนรอบข้างเลย”
ทรายค่อยๆ ระเบิดความรู้สึกอัดอัดของเธอออกมา จนแทบไม่ต่างจากเขื่อนที่กักเก็บน้ำแห่งความรู้สึกมหาศาล พอได้ปลดปล่อยมันก็แทบล้นทะลักออกมา จากการฟังในระยะเวลาไม่นาน เราก็เริ่มมองเห็นเค้าลางบาดแผลของเธอได้ชัดขึ้น แม้ไม่เข้าใจลึกซึ้ง แต่ก็พอจะนึกภาพออกว่า ชีวิตที่เหมือนถูกสั่งให้ต้องแอคชั่นอยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีผู้กำกับมาคอยสั่งคัต เป็นบททดสอบที่กัดกินพลังชีวิตขนาดไหน
คาดหวังให้น้อยลง ความสุขจะมากขึ้น
เมื่อได้ฟังเรื่องราวของปัญหาที่เธอต้องแบกไว้ ประกอบกับเธอก็ต้องใช้พลังชีวิตให้เต็มที่ทั้งในจอและนอกจอ มันทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วอะไรที่ทำให้ ‘ทราย’ ใช้ประคับประคองชีวิตของตัวเอง เพราะการใช้ชีวิตกับคุณแม่ที่ป่วยและใช้เหตุผลพูดคุยด้วยไม่ได้คงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน
แต่ทว่า วลีเดียวสั้นๆ ที่เธอบอกกับเรามาก็คือ ‘คาดหวังให้น้อยลง’ ซึ่งวิธีคิดนี้ เธอบอกว่า เธอตกผลึกภายหลังการได้พูดคุยกับ ‘ดร.ประมวล เพ็งจันทร์’ อาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา ผ่านรายการโทรทัศน์
“ตอนแรกอาจารย์เสนอให้ลองสื่อสารด้วยหัวใจ เราเข้าใจว่าต้องโอบอุ้มเขาไว้ด้วยความรัก ใกล้ชิดเขา ให้มากขึ้น เพราะคุณแม่คุยด้วยตรรกะเหตุผลไม่ได้ เราเลยลองใช้วิธีชวนแม่ดูละคร เพราะช่วงนั้นละครของทรายกำลังฉายพอดี แล้วพอดูเสร็จก็ถามแม่ว่าเป็นไงบ้าง แม่ก็บอกไม่เห็นสนุกเลย แกก็ไม่สวย เล่นละครก็แย่ เราก็อ้าว แม่ไม่ชอบหรอ แม่ก็แบบไม่ชอบ ตอนนั้น เราก็ช็อค บอกแม่ว่า เออๆ ไม่มีอะไรและ แม่ไปนอนเถอะ” ทรายหัวเราะแห้งๆ กับวิธีการเริ่มแรกที่เธอนำมาลองใช้แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั้งเธอลองเปลี่ยนวิธีการใหม่ด้วยการอยู่แบบลดความคาดหวังลง
“คือสิ่งที่ได้จากอาจารย์จริงๆ คือ ‘คาดหวังน้อยลง’ คือวิธีการนี้ดีกว่าวิธีการปฏิบัติใดๆ พอลองแบบไม่หวังอะไรแล้ว ไม่เป็นไร คือแม่ได้แค่นี้ก็แค่นี้ ไม่ตั้งคำถามต่อ อะไรทำได้ทำ อะไรทำไม่ได้ จบ”
“คือทรายรู้ว่ามันเป็นวิธีที่แห้งแล้ง แต่มันเป็นวิธีที่ถนอมใจกันที่สุดแล้ว โดยที่ไม่ต้องมาตะโกนใส่กัน คือมันก็เป็นการสื่อสารกันด้วยหัวใจรูปแบบหนึ่ง ถ้าถามว่าวิธีการนี้ทำให้อยู่กับแม่ง่ายขึ้นมั้ย ก็คงไม่ เพียงแต่สงบขึ้น เพราะไม่ต้องฝืนตัวเอง”
“แล้วพอไม่คาดหวังเราใช้ชีวิตกับมนุษย์คนอื่นง่ายขึ้นมาก (เน้นเสียง) คือการเลิกคาดหวังเรื่องความสัมพันธ์ มิตรภาพ มันไม่ใช่แบบไม่มีเยื้อใยนะ เพียงแต่เรารู้สึกกับคนให้น้อยลงดีกว่า อย่าไปอินกับมันมาก เหมือนปล่อยวาง ทรายว่ามันง่าย สบาย คือแต่ก่อน ไม่ได้ฉันต้องเปิดโทรศัพท์ตลอดเผื่อมีใครโทรมา ตอนหลังก็แบบ เฮ้ย กูจะนอน ปิดแบบแอร์เพลนโหมดอ่ะ เรื่องทุกอย่างรอได้”
“เรื่องตลกก็คือ คนรอบตัวเราปฏิบัติกับเราเหมือนเดิมทุกอย่างเหมือนเดิม และดูเหมือนความรู้สึกมันเบาขึ้นด้วยซ้ำ พอไปกองถ่ายก็สนุกเหมือนเดิม ชีวิตก็แฮปปี้เหมือนเดิม ไม่ต้องอยู่กับความคาดหวังแบบผิดๆ ถูกๆ มึนๆ งงๆ ถ้ามันตัดเรื่องนี้ออกไปได้ ‘เชี้ย! แมร่งโคตรง่ายเลยเนอะ’”
“แม้แต่กับแฟน ก็แบบ อือๆ แค่มีมึงอยู่ก็โอเคแล้ว ไม่ได้รู้สึกว่า เออ ทำไมต้องนี่นั่นนู่น คือทรายไม่ได้ต้องการขนาดนั้นอีกแล้ว พอไม่ได้คาดหวังแล้วได้อะไรมา มันก็จะแบบ ‘โอ้โห ดีจุง’ หรือแค่แบบ เออ แม่พูดรู้เรื่องก็รู้สึกดีแล้ว ไม่ต้องมากังวลว่า นี่เขาจะเอาอะไรอีกไหม หรือแค่แม่โทรมาแล้วเรียบเรียงประโยคได้ คือแบบ โอ้ เก่ง ดี ชอบ แฮปปี้”
ความกตัญญูคือความรับผิดชอบ
นอกจากลดคาดหวัง สิ่งหนึ่งที่เธอนำมาปรับใช้กับชีวิตของตัวเองก็คือ การเรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริง มองโลกผ่านความเป็นจริง ลดความโรแมนติก ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อความรู้สึกของเธอตลอดมา
“สังคมไทยจริงจังกับความกตัญญูมากมหาศาล เราโตมาในสังคมที่ห้ามแม้แต่จะรู้สึกไม่ดีกับพ่อแม่ เพราะมันเลวร้ายมาก ดังนั้น การต้องมารื้อความรู้สึกแบบนี้ใหม่เลยเป็นเรื่องยาก บางครั้งเราก็ต้องพยายามลืมไปบ้าง เราก็ต้องเคารพตัวเองบ้าง เราก็ต้องรักตัวเองบ้าง แล้วก็ปล่อยวาง ทำความเข้าใจว่า พ่อแม่ก็คนธรรมดาทำผิดได้”
“แต่ก่อน ความกตัญญูสำหรับเรามันหมายถึงทุกอย่าง ทุกบาท ทุกสตางค์ เพราะสังคมก็จะยกตัวอย่างว่า ถ้าลูกจะตายแม่ให้ลูกได้ทุกอย่าง ตับ ไต ให้ได้ แต่ตอนนี้เราไม่ได้มองมันอย่างโรแมนติกขนาดนั้น ถามว่า สมมติถ้าคุณแม่ทรายป่วย ต้องใช้ไตสักข้าง ทรายตัดให้ได้มั้ย ทรายตัดให้ได้ ไม่ได้ซีเรียสอะไร เพียงแต่ ถ้าหมอบอกว่า ถ้าทรายตัดแล้วทรายจะทำงานไม่ได้ แบบนี้ทรายยังต้องตัดอยู่มั้ย แล้วเราก็นอนอดตายไปด้วยกัน”
“คือความโรแมนติกมันไม่ได้พูดถึงด้านตรงกันข้าม โตมาถึงได้ค้นพบว่า มันไม่ได้สนุกเลย เราไม่ได้รวยแบบเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันที่จะนอนแนบกับแม่ได้ทุกวันๆ เราก็ต้องทำมาหากิน”
“สำหรับทราย แก่นความกตัญญูจริงๆ คือความรับผิดชอบ เหมือนพ่อแม่ผู้ชายผู้หญิงมีลูก การเลี้ยงลูกคือความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเติมเต็มด้วยความรักมากน้อยแค่ไหน หรือจะคาดหวังให้เขาโตขึ้นมาเลี้ยงดูเราอย่างไร แต่คุณก็ต้องรับผิดชอบด้วยการเลี้ยงดูเขาให้โตขึ้นมา ให้การศึกษา ให้เสื้อผ้า ให้อาหาร ดังนั้น ความกตัญญูในแบบของเรา ก็คือ การให้ในสิ่งที่เราพอจะทำได้กลับคืนไปสู่เขา ไม่ให้แย่กว่าศักยภาพที่เราทำได้”
เราทุกคนล้วนต้องการ ‘พื้นที่ปลอดภัย’
นอกจากการลดความโรแมนติก การมองโลกบนฐานของความเป็นจริง และลดความหวังลงบ้าง ทรายมองว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตของเธอพอมีความหวังในชีวิตอยู่ก็คือ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ พื้นที่ที่ปลอดจากการตัดสิน พื้นที่ที่ยินดีจะรับฟัง เปิดกว้างต่อความคิดที่แตกต่าง
เธอเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ที่เธอต้องไปออกรายการโทรทัศน์เพื่อปรึกษาหารือเรื่องการใช้ชีวิตกับคุณแม่กับอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ กูรู้ด้านปรัชญา ซึ่งตอนนั้นเธอต้องรวบรวมความกล้าหาญอย่างมาก เธอมีหลายอย่างที่อยากจะบอกและถามแม้รู้ดีว่าบางคำถามมันอาจจะส่งผลกระทบในทางลบต่อตัวเธอ
“ก่อนไปออกรายการ ทรายตัดสินใจอยู่นาน กังวลว่า เราควรจะพูดแค่ไหน เพราะตอนนั้นมันโดดเดี่ยวมาก คิดอยู่ตลอดว่า เฮ้ย.. กูโกรธแม่ตัวเองได้เปล่าวะ คือมันไม่กล้าถามใคร พอไปถามใครที่พ่อแม่เขาเป็นปกติ เขาก็จะสั่งสอนเราว่า แก… ไปโกรธเขาทำไม สุดท้ายก็กลายเป็นไม่กล้าที่จะพูดปัญหาของตัวเอง”
“แต่พอไปออกรายการ มันมีความกล้าหาญบางอย่างที่เราได้รับมาจากอาจารย์ เรารู้สึกว่ามีคนคนหนึ่งที่ตั้งใจฟังเราโดยไม่ตัดสินเรา คืออาจารย์อาจจะบอกวิธีอะไรใดๆ มาก็ตาม แต่เขาไม่ได้ตั้งแง่ว่า แบบมึงผิด ในขณะที่บางคนแค่อยากจะเล่า ก็รู้สึกแบบ กูไม่รอดแน่ๆ เลย”
“คืออาจารย์เป็นผู้ใหญ่ จนเรารู้สึก ถ้ามีคนแบบนี้เยอะๆ ก็คงจะดี มีคนรับฟังเราได้ ทำให้ตัวเรารู้สึกว่า สิ่งที่เราคิดมันไม่ได้เลวร้าย ผิดศีลธรรม หรือรู้สึกเหมือนกับโดนหินปาอย่างที่เรารู้สึกมาตลอด คือมันเป็นพื้นที่ปลอดภัย การมีพื้นที่ของการไม่ด่วนตัดสินใจเป็นเรื่องดี มันควรจะมีพื้นที่สำหรับการตั้งคำถามบ้าง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่คิดเหมือนกัน"
"ผู้ใหญ่ทุกคนก็มีนิสัยของตัวเอง เด็กทุกคนก็มีนิสัยของตัวเอง พ่อแม่ลูกไม่ได้เลือกกัน เราไม่ได้เลือกพ่อแม่ พ่อแม่ก็ไม่ได้เลือกเรา แต่เราต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ การเอาวิธีคิดแบบโรแมนติไซส์ไปจับว่า ครอบครัวต้องหวานชื่น มุ้งมิ้งอะไรอย่างเนี้ย เราว่ามันเครียด แล้วมันก็ไม่ใช่ว่าต้องเกลียดกัน แต่มันควรจะมีพื้นที่ที่พูดได้บ้างว่า เราอึดอัด”
“แล้วทางทีมงานวันนั้นดูแลเราดีมาก แบบโทรมาบอกว่าเออ เข้าใจปัญหาของเรา คือแค่รู้สึกมีคนเข้าใจก็รู้สึกดีแล้ว แค่มีคนบอกว่า ‘เฮ้ย เราก็เป็น’ เราก็รู้สึกดีแล้ว เพียงแค่รู้สึกว่า เออ เขาแมร่งไม่ตัดสินกูวะ มันรู้สึกดี”
“หลังจากไปออกรายการวันนั้น มันทำให้เราเห็นเลยอีกว่ายัง มีคนที่เจอปัญหาคล้ายๆ กับเรา มันทำให้เรารู้สึกไม่โดดเดี่ยว แม้สิ่งที่อาจารย์พูดเราอาจไม่ได้เอาไปใช้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าคนอื่นนำไปใช้ได้ เราก็รู้สึกดีใจกับเขาจริงๆ”
/////////////////////
หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์ดังกล่าว สัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2017
บล็อกของ มนุษย์โรแมนติก
มนุษย์โรแมนติก
แม้จะมีดราม่าเข้ามารายวันแต่ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่สังคมไม่ควรพลาดก็คือ "การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ซึ่งน่ากลัวมากว่ามันจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เละ! และดูเหมือนจะมีเฉพาะกลุ่มคนรักหลักประสุขภาพและองค์กรใกล้ชิดเท่านั้นที่ไหวตั
มนุษย์โรแมนติก
ข้ออ้างสำคัญของรัฐในการควบคุมสื่อคือการกล่าวหาว่า "สื่อมีเสรีภาพมากเกินไปและไร้ความรับผิดชอบ" ซึ่งบทความนี้ไม่ใช่แค่การโต้แย้งอย่างตรงไปตรงมาต่อข้อกล่าวหาข้างต้น แต่ยังชวนให้ผู้มีอำนาจคิดว่า เราไม่ได้อับจนหนทางถึงขนาดต้องมีกฎหมายควบคุมสื่อ