Skip to main content
วันพรุ่งนี้ (22 ธันวาคม 2561) จะครบรอบการจำคุก 2 ปี ของ 'ไผ่ ดาวดิน' บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ต้องรับปริญญาที่หน้าศาลทหารพร้อมกับชุดนนักโทษในเรือนจำ
 
ประกอบกับช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มาตรา 112 กลับมาทำงานอีกครั้ง อย่างที่มันไม่เคยถูกใช้จาก 'ฝ่ายพลเรือน' แบบนี้มาสักพักใหญ่ ซึ่งทำให้ผมอยากเขียนอะไรถึงมาตรา 112 บ้าง 
 
หลายคนอาจจะรู้จัก 'มาตรา 112' ดี บางคนอาจจะรู้จักแบบผ่านๆ และหลายคนอาจไม่รู้จักเลย
 
มาตรา 112 คือ มาตรา 112 ในประมวลกฎหมายความอาญา ที่บัญญัติว่า
 
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
 
ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 กว่าปี กฎหมายดังกล่าวถูกเรียกในชื่อย่อๆ ว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกฎหมายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ถูกนำมาใช้จำกัดการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง
 
หรือ พูดง่ายๆ ว่า กฎหมายดังกล่าวกลายเป็น 'เครื่องมือทางการเมือง' ในรูปแบบหนึ่ง
 
การตอบว่า ทำไมมาตรา 112 ถึงเป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็เนื่องจาก ตัวบทกฎหมายมีปัญหา เช่น การบัญญัติการกระทำความผิด อย่าง คำว่า “ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย” ซึ่งเป็นคำที่อาจตีความได้กว้าง ครอบคลุมการกระทำ หรือการแสดงความคิดเห็นได้หลายแบบ 
 
ดังนั้น ในทางปฏิบัติ มาตรา 112 จึงถูกตีความและนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อดำเนินคดีและลงโทษการแสดงความคิดเห็นอย่างไม่มีขอบเขต ยกตัวอย่างเช่น การดำเนินคดีกับ ส.ศิวลักษณ์ จากการแสดงความคิดเห็นถึงพระนเรศวร ซึ่งเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่นอกเหนือไปจากตัวบทบัญญัติของกฎหมายเสียด้วยซ้ำ
 
นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดโทษขั้นต่ำไว้สูงถึง 3 ปี เทียบเท่าความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา รวมไปถึง กฎหมายยังถูกบัญญัติอยู่ในลักษณะ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ทำให้บุคคลทั่วไปทุกคนสามารถเป็นผู้กล่าวโทษ และเป็นเหตุผลในการไม่ให้สิทธิในการประกันตัว หรือพิจารณาอย่างเปิดเผย
 
หลายครั้ง พบว่า มาตรา 112 ถูกนำมาใช้เพื่อฟ้องกลั่นแกล้งกัน หรือถูกนำมาใช้ฟ้องเพื่อเพราะสองฝ่ายมีเหตุขัดแย้งกัน หรือใช้การฟ้องเพื่อใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองซึ่งกันและกัน ในข้อหา 'ล้มเจ้า' หรือฟ้องเพื่อจำกัดการแสดงออกในเชิงการวิเคราะห์หรือวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์บ้านเมือง
 
เมื่อกฎหมายตีความได้กว้าง ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน ประกอบกับมีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหาเกือบทั้งหมดไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว หรือถูกตัดเงื่อนไขและความพร้อมในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 รับสารภาพโดยแทบไม่ได้ต่อสู้เรื่องเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดแต่อย่างใด
 
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา สถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 จะ 'ดูดี' ขึ้น ในแง่ของการฟ้องร้องคดีจำเป็นจะต้องไปผ่านอัยการสูงสุดก่อน หรือ การที่บางครั้งจำเลยรับสารภาพก็มีการยกฟ้อง หรือ ลงโทษโดยไม่ใช้มาตรา 112 มาลงโทษเป็นความผิด
 
แต่เหตุการณ์ล่าสุดที่มีประชาชนนำ มาตรา 112 มาใช้ฟ้องจากการวิพากษ์วิจารณ์ 'เสื้อผ้า' ที่ออกแบบโดยเชื้อพระวงศ์ ก็สะท้อนให้เห็นว่า มาตรา 112 ยังถูกนำมาใช้ได้อยู่และยังเป็นแบบผิดฝาผิดตัว เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวไม่ได้คุ้มครองเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ และการวิจารณ์เสื้อผ้าก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานศิลปะ 
 
ดังนั้น เนื้อแท้ของกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรค์ต่อการแสดงความเห็นแทบจะทุกอย่าง ถ้าใครจะอ้างว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวดีขึ้น ก็ขอให้พึ่งระลึกว่า เราอยู่ในสถานการณ์ที่ปืนจ่อหัว เพียงแต่ยังไม่มีคนลั่นไกต่างหาก

บล็อกของ มนุษย์โรแมนติก

มนุษย์โรแมนติก
แม้จะมีดราม่าเข้ามารายวันแต่ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่สังคมไม่ควรพลาดก็คือ "การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ซึ่งน่ากลัวมากว่ามันจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เละ! และดูเหมือนจะมีเฉพาะกลุ่มคนรักหลักประสุขภาพและองค์กรใกล้ชิดเท่านั้นที่ไหวตั
มนุษย์โรแมนติก
ข้ออ้างสำคัญของรัฐในการควบคุมสื่อคือการกล่าวหาว่า "สื่อมีเสรีภาพมากเกินไปและไร้ความรับผิดชอบ" ซึ่งบทความนี้ไม่ใช่แค่การโต้แย้งอย่างตรงไปตรงมาต่อข้อกล่าวหาข้างต้น แต่ยังชวนให้ผู้มีอำนาจคิดว่า เราไม่ได้อับจนหนทางถึงขนาดต้องมีกฎหมายควบคุมสื่อ