Skip to main content

เมื่อต้องถอดบทเรียนหรือตกผลึกการลงมติ #แก้รัฐธรรมนูญ #ตัดอำนาจสว ผมอาจจะตกผลึกช้าหน่อยแบบควันหลง แต่ก็ฉุกคิดขึ้นมาตอนมีคนถามว่า คิดยังไงกับการลงมติแก้รัฐธรรมนูญรอบล่าสุด

พูดตรงๆ ว่า ผมรู้สึกไม่ได้เซอร์ไพร์สกับผลลัพธ์ แต่ยอมรับว่า คาดการณ์ความหน้าด้านของเขาต่ำไปหน่อย คือ ผมคิดว่า พวกเขา (ส.ว.) จะ “เหลี่ยมจัด” กว่านี้ เพราะถ้าดูจากสถานการณ์ความไม่พอใจต่อรัฐบาล ไม่มีประโยชน์อันใดที่ ส.ว.ที่มาจากคสช. จะลงมติคว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญ และหนทาง “ประนีประนอม” ที่สุด คือ รับๆ ไปก่อน แล้วไปดองในชั้นกรรมาธิการ ให้มันหมดอายุของสภา หรือ ยุบสภาไปก่อน แต่ผลคือ พวกเขาไม่ได้สนใจความโกรธแค้นของประชาชน และหักหน้า ฉีกหน้า โชว์ความหนาของใบหน้ากันอย่างไม่เอียงอาย ด้วยการคว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญกันตั้งแต่วาระหนึ่ง

สิ่งที่ผมคิดว่า น่าสนใจการลงมติแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ มีอยู่สองเรื่อง

เรื่องแรกคือ เหตุผลที่ ส.ว. ใช้ในการลงมติคว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้ง อ้างเรื่องผลการออกเสียงประชามติ ปี 59 ทั้งเรื่องเข้ามาเพื่อการปฏิรูปแค่ชั่วคราว เข้ามาถ่วงดุลอำนาจ ส.ส. ที่เป็นพวกซื้อสิทธิขายเสียง แต่รอบนี้ ถ้าเราฟังการอภิปรายของ ส.ว. จะพบว่า พวกเขาต่างเน้นย้ำถึงเรื่อง “ท่าที” ในการอภิปรายว่า มีการเสียดสี ด้อยค่า ดูถูกเหยียดหยาม และเรียกร้องให้บรรดาผู้ที่ต้องการ ส.ว. ช่วยตัดอำนาจ(ที่ไม่ชอบธรรม)ของตัวเองด้วยการ “วิงวอน” ร้องขอ ซึ่งเป็นการอภิปรายที่ไม่ได้อยู่บนหลัก “เหตุผลและข้อเท็จจริง” เลยแม้แต่น้อย

ที่ผ่านมา ไอลอว์และคนอื่นๆ พยายามตอบโต้ประเด็นที่ ส.ว.กล่าวอ้าง (น่าจะครบทุกประเด็นแล้ว) ได้แก่

แต่ในการอภิปรายในวันที่ 6 และ 7 กันยายน 2565 ไม่มี ส.ว. ท่านใด ที่พอจะอภิปรายได้สมน้ำสมเนื้อกับที่ภาคประชาชน พรรคการเมือง พยายามโต้ตอบ มันจึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เรามีวุฒิสภา ที่ไม่มีคุณวุฒิเพียงพอในการทำหน้าที่เลย
 
เรื่องที่สอง คือ การลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับของพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลัง(ประชาชาติไทย) และพรรคเล็ก เนื่องจากการลงมติเช่นนี้ สำหรับผมถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่น่ารังเกียจและไร้ศักดิ์ศรี เพราะพรรคเหล่านี้มี ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ถึงจะปัดเศษมาอะไรมาก็ตาม แต่คุณมาจากการเลือกตั้งที่เป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย แต่คุณกลับยอมให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งและคัดเลือกจากคนเพียงหยิบมือในประเทศ มาขี่คอเลือกนายกฯ ให้ประชาชน ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นความเสื่อมถอยอย่างยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตย
 
แต่อย่างไรก็ดี ปรากฎการณ์ที่พรรคพลังประชารัฐไม่ยอมตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ มันก็สะท้อนให้เห็นว่า คสช. หรือ กลุ่ม “สาม ป.” อยากอยู่ยาว การที่ต้องรักษาอำนาจดังกล่าวให้ครบตามกำหนด 5 ปี ก็เพราะว่า มีความหวังที่จะให้ ส.ว.ชุดดังกล่าว เลือกนายกฯ ได้อีกครั้ง หลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดกลางเดือนพฤษภาคม 2565
 
นอกจากนี้ ยังอาจจะตีความได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นๆ เท่าไรแล้ว แต่ยังอยากกลับมาด้วยเสียง ส.ว. หรือ แม้แต่ตัว พล.อ.ประวิตร เอง ก็เริ่มไม่มั่นใจว่า ถึงแก้ระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบแล้ว ก็อาจจะไม่ได้รับชัยชนะจากสนามการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย จึงต้องมี ส.ว. ไว้เป็นไพ่ตาย ใช้เป็นอำนาจต่อรองในการหาพรรคร่วมรัฐบาลเหมือนครั้งที่ผ่านมา
 
เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้ ผมไม่ได้แปลกใจที่ใครจะรู้สึกท้อ รู้เหนื่อย รู้สึกสิ้นหวัง อยากกลับไปใช้ชีวิตของตัวเอง เอาตัวรอดจากสถานการณ์เฉพาะหน้า เพราะมันสิ้นหวัง ดูเหมือนทำอะไรก็ไม่ได้ ซึ่งผมเข้าใจมากๆ แต่อยากชี้ชวนว่า การเมืองแห่งความสิ้นหวัง คือ เนื้อนาดินอันอุดมสมบูรณ์ที่จะทำให้พวกฝ่ายอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม หรือ เผด็จการ เติบโต
 
ช่วงปีสองปีหลังมานี้ ผมคิดอยู่เสมอว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้การเมืองไทยมันถดถอย และคำตอบหนึ่งที่ผมมองเห็นคือ “อาการเบื่อการเมือง”
 
ยกตัวอย่างจุดเริ่มต้นของการรัฐประหารในปี 2557 แน่นอนล่ะ มันคือ การจัดสรรปรุงแต่งของคนที่อยากทำการรัฐประหาร การทำงานกันเป็นแกงค์ แต่ที่การรัฐประหารมันราบรื่นได้ เพราะ ประชาชนเอง ก็ไม่ได้สนใจเรื่องนี้มากพอ
 
ผมคิดว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากทำความเข้าใจสงครามสีเสื้อ ผมคิดว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจทำไมเราถึงควรแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการเลือกตั้ง หรือ กติกาประชาธิปไตย ดังนั้น คนจำนวนหนึ่งจึงเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า การรัฐประหาร คือ การเข้ามาหยุดความขัดแย้ง ทั้งที่เรามีวิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ แต่เพราะเราเบื่อหน่ายเกินไป เลยมีความเชื่อผิดๆ กันว่า “การรัฐประหารคือทางลัด” และที่สำคัญ มันไม่ใช่แค่ทางอ้อม แต่มันคือ ทางตัน และเราต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการเดินออกมา เหมือนที่เราพยายามทำกันอยู่ตั้งแต่การลงประชามติ การเลือกตั้ง และการแก้รัฐธรรมนูญ
 
หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่ผมมักจะถูกถามคือ “เอายังไงกันต่อ” ซึ่งเราก็อาจจะพอเห็นร่างๆ แล้วว่า เบื้องต้นที่สุด ถ้าเราต้องการจะขัดขวางการสืบทอดอำนาจของคสช. ขั้นต่ำสุด เลือกตั้งรอบหน้า ฝ่ายประชาธิปไตย ต้องได้ที่นั่งไม่น้อยกว่า 270 ที่นั่ง เพราะถ้าฝ่ายคสช. ตั้งรัฐบาลได้ ก็มีสิทธิถูกเอาออกได้ด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้น นี่คือ การดักทางไม่ให้ คสช. กลับมา แต่เป้าที่สูงขึ้นกว่านั้น คือ การต้องได้ที่นั่งไม่น้อยกว่า 376 เสียง หรือ เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา เพื่อตัดอำนาจต่อรองทางการเมืองของ ส.ว. ไม่ให้เข้ามาแทรกแซงการเลือกนายกฯ ได้อีก ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ สิ่งนี้คือโจทย์เบื้องต้น และเราล้วนมีบทเรียนมาแล้วว่า พรรคไหนที่สมยอมกับคสช. ไปตั้งรัฐบาล จนได้ พล.อ.ประยุทธ์ มาบริหารอย่างล้มเหลวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
 
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ผมอยากเริ่มต้นจากภารกิจเล็กๆ ซึ่งพี่เป๋า หัวหน้าของผมเป็นคนชวนคิดไว้ว่า เราต้อง “เพิ่มบทสนทนาทางการเมือง” อย่าทำให้การเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ อย่าให้คนรู้สึกไม่ว่าการเมืองจะเป็นยังไง ชีวิตเราก็เหมือนเดิม เราต้องอย่าให้อาการเบื่อการเมือง หรือ อาการหวาดกลัวการสนทนาในเรื่องการเมือง มาเป็นปัจจัยหนุนฝ่ายคสช. เราต้องเดินออกจากสภาวะการเมืองแห่งความสิ้นหวัง เพราะถ้าสิ้นหวังจริงๆ แล้ว เราในฐานะเจ้าของอำนาจ ก็ได้สละอำนาจนั้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 
ถ้าให้ผมยกตัวอย่างสุดท้ายว่าเราควรจะเริ่มที่จุดไหนดี ผมขอเริ่มจากปัญหาที่ใกล้ที่สุด อย่างเรื่อง น้ำท่วม จริงอยู่ว่า ไม่ว่าผู้ว่าฯ คนไหน รัฐบาลชุดไหน กทม. ก็น้ำท่วม แต่ถ้าเราได้ตามข่าวช่วงวันสองวันมานี้ เราจะพบว่า มันมีข้อมูลเรื่องท่อระบายที่ไม่ได้รับการขุดลอกมากว่า 10 ปี ซึ่งสิ่งนี้ บอกกับผมว่า ภายใต้การเมือง “คนดี” อย่างสมัยหม่อมสุขุมพันธ์ มาจนถึงการเมืองระบบแต่งตั้งที่ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการเลือกตั้ง อย่างยุคอัศวิน ขวัญเมือง คนพวกนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ควรทำอย่างดีที่สุดเลย เพราะไม่มีประชาชนมากดดันอะไร ดังนั้น ถ้าเราช่างแมร่งไปเรื่อยๆ เราก็ต้องอยู่กับปัญหาหมักหมมที่เราไม่ได้เก็บกวาดมันเสียที
 
อย่าปล่อยให้ประเทศเดินไปทางนี้เลยนะครับ

บล็อกของ มนุษย์โรแมนติก

มนุษย์โรแมนติก
แม้จะมีดราม่าเข้ามารายวันแต่ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่สังคมไม่ควรพลาดก็คือ "การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ซึ่งน่ากลัวมากว่ามันจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เละ! และดูเหมือนจะมีเฉพาะกลุ่มคนรักหลักประสุขภาพและองค์กรใกล้ชิดเท่านั้นที่ไหวตั
มนุษย์โรแมนติก
ข้ออ้างสำคัญของรัฐในการควบคุมสื่อคือการกล่าวหาว่า "สื่อมีเสรีภาพมากเกินไปและไร้ความรับผิดชอบ" ซึ่งบทความนี้ไม่ใช่แค่การโต้แย้งอย่างตรงไปตรงมาต่อข้อกล่าวหาข้างต้น แต่ยังชวนให้ผู้มีอำนาจคิดว่า เราไม่ได้อับจนหนทางถึงขนาดต้องมีกฎหมายควบคุมสื่อ