Skip to main content

ทุกชีวิตล้วนมีศักดิ์ศรีและคุณค่าเท่าเทียมกัน

มันเป็นคำพูดงดงามที่ลอยลมมาจากสังคมอุดมคติ...ที่ไหนสักแห่งที่ไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้


ลืมตาตื่น แล้วก้าวเดินออกนอกประตูให้ความจริงพุ่งชน ถ้าไม่พยายามหลอกตัวเองจนเกินงาม-ทุกชีวิตล้วนมีราคาไม่เท่ากัน

โหดร้าย แต่เป็นจริง

(ผมกำลังพูดถึงในกรณีของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’ เท่านั้น ยังไม่ต้องนับรวมถึงหมู หมา กา ไก่ แมลงวัน ต้นชบา หรือมะขาม ‘คน’ ยังไม่พร้อมที่จะให้คุณค่าของสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นเท่าเทียมกับตน)


ผมเลี่ยงไม่ใช้คำว่า ‘คุณค่า’ หรือ ‘ศักดิ์ศรี’ เพราะผมเชื่อว่าทุกคนมีอยู่เท่ากัน แต่หากเป็นคำว่า ‘ราคา’ -คำที่ใช้ตีคุณค่าของบางสิ่งออกมาเป็นรูปตัวเลข-ผมก็พอจะยืนยันได้ว่าไม่เท่ากัน


การได้เป็นนกลอยลมไปเห็น-ฟัง-เขียนตามแห่งหนต่างๆ ทำให้ผมเชื่อเช่นนั้น และเมื่อแต่ละชีวิตมี ‘ราคา’ ไม่เท่ากัน การให้ ‘ศักดิ์ศรี’ และ ‘คุณค่า’ ต่อชีวิตผู้คนจึงพลอยบิดเบี้ยวและไม่เท่ากันตามไปด้วย


เมื่อพูดคำว่า ‘ราคา’ ก็ชวนให้นึกเกี่ยวโยงกับคำว่า ‘ทุนนิยม’ ซึ่งหลายคนเชื่อว่ามันคือคำตอบสุดท้ายสำหรับโลก


วิธีการอย่างหนึ่งของทุนนิยมคือการพยายามคำนวณทุกสิ่งทุกอย่างในโลกให้ออกมาเป็นราคา เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการวัดคุณค่าสิ่งต่างๆ ไว้สำหรับการแลกเปลี่ยน ซื้อ-ขาย ซึ่งผมก็เห็นว่ามันง่ายและสะดวกจริงๆ

แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่กลไกแบบทุนนิยมทำงานอย่างไม่ค่อยน่ารัก


เรารู้ๆ กันอยู่ว่าไม่มีทางที่เราจะอนุญาตให้ใช้วิธีการตีราคากับทุกองค์ประกอบในชีวิตของเรา

...ถ้าใช้เงินหวังซื้อมิตรภาพ คุณอาจได้เพื่อนแก้เหงา แต่ไม่ใช่มิตรภาพ

ฯลฯ


แค่เฉพาะเรื่องการตีราคาระหว่างคนกับคนอย่างเรื่องมิตรภาพก็น่าปวดหัวแล้ว แต่ถ้าวิธีคำนวณราคาถูกนำมาใช้กับเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นไปเสียทุกเรื่อง

ผมว่าเราคงอยู่กันลำบาก


ผมมีเรื่องเล่าจากบุคคล 2 ท่านที่จะแสดงให้เห็นวิธีการของรัฐในการคำนวณราคาชีวิตด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์แบบเพียวๆ ไม่มีสิ่งแปลกปลอมเจือปน ซึ่งผมพบว่ามันเป็นวิธีการที่มักง่ายและหยาบคายเอามากๆ ต่อชีวิตที่มีเลือดเนื้อ จิตวิญญาณ และศรัทธา

และจะทำให้เราอยู่กันลำบาก…


นา

ผมได้พบกับอาจารย์สุนี ไชยรส หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขณะที่เดินกันอยู่กลางแดดโหดจนเลือดแทบเหือด อาจารย์สุนีได้กรุณาเล่าให้ผมฟังถึงกรณีหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งเข้าไปดำเนินโครงการขุดลอกและขยายแม่น้ำ (เรื่องเส้นสนกลใน การตุกติก ปิดบังชาวบ้าน มีอยู่แล้ว แต่ไม่ขอเอ่ยถึง) ไม่รู้ว่าขุด-ขยายกันท่าไหนถึงทำให้ที่นา ที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่ติดลำน้ำสูญหายไปเป็นไร่ๆ


และก็อย่างที่เคยเป็นมา ชาวบ้านตาสีตาสาที่ไหนจะกล้าส่งเสียง สิ่งที่ทำได้คือหุบปาก อยู่เฉยๆ ทำมาหากินต่อไป และรอรับกรรมใหม่ๆ ในวันข้างหน้า


เรื่องคงจบแบบโศกนาฏกรรมซ้ำซากถ้าคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่รู้เรื่องนี้ จึงเป็นหน้าที่ของอาจารย์สุนีที่ต้องลงพื้นที่ไปดู ไปฟัง ไปเก็บข้อมูล และช่วยชาวบ้านหาทางออก


ลงเอยด้วยการฟ้องศาลปกครอง

ศาลปกครองประจำจังหวัดมีคำตัดสินออกมาว่า หน่วยงานรัฐแห่งนั้นต้องจ่ายค่าเวนคืนให้กับชาวบ้านที่เสียหายตามราคาประเมินของกรมที่ดิน


เรื่องคงจบแบบสุขนาฏกรรม (ซึ่งก็มีไม่บ่อย) ถ้าหน่วยงานรัฐจะไม่อุทธรณ์ เจ้านายเขารู้สึกว่าราคาประเมินของกรมที่ดินนั้นแพงเกินไป จึงต้องขอต่อราคาลงบ้าง


อย่าได้คิดว่าราคาประเมินของกรมที่ดินจะมีมูลค่าสูงส่งเป็นแสน เป็นล้าน ราคาที่ทำกินของชาวบ้านมีค่าเพียงตารางวาละร้อยกว่าบาทเท่านั้น


แต่หน่วยงานรัฐก็ยังต้องการต่อให้ถูกลง


อาจารย์สุนีเล่าต่ออีกเล็กน้อยว่ากรมที่ดินมีวิธีการคำนวณว่าที่ดินตรงไหนที่เป็นพื้นที่นาจะมีราคาถูกกว่าที่ดินในเมืองหรือที่ดินติดถนน


ใช่, มันเป็นวิธีคำนวณแบบเศรษฐศาสตร์เพียวๆ ที่นาก็คือที่ดินอย่างหนึ่ง ไม่มีอะไรมากกว่านั้น เมื่อมีแต่ที่นากับทางสัญจรของวัว-ควาย ห่างไกลระบบสาธารณูปโภค ราคาที่ตั้งขึ้นย่อมสมเหตุสมผล แต่ด็อกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์ของกรมที่ดินอาจจะลืมหรือไม่เคยนึกเลยว่า สำหรับชาวนาแล้ว ที่นาเป็นมากกว่าดินกับก้อนกรวด


ที่นาคือชีวิต คือที่ทำมาหากิน คือมรดกตกทอดจากรุ่นปู่ย่าที่ส่งต่อมาและจะต้องส่งผ่านไปยังลูกหลาน คือที่ฝังรกราก คือแหล่งภูมิปัญญาวัฒนธรรม มีผี มีแม่โพสพ มีเจ้าที่เจ้าทาง ฯลฯ


แต่วิธีการคำนวณของหน่วยงานรัฐกลับไม่เคยพูดถึงสิ่งนามธรรมเหล่านี้ รัฐขาดแคลนจินตนาการอย่างสาหัสจึงมองไม่เห็นแม่โพสพกำลังสีซอและร้องเพลงให้ต้นข้าวฟังอย่างอ่อนโยน เมื่อมองไม่เห็นจึงไม่รู้ว่าแม่โพสพก็กำลังสีซอ (โดยไม่ร้องเพลง) ให้รัฐฟังด้วย


ขอโทษ ที่นานะครับ ไม่ใช่กระดาษชำระในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ถูกคิดราคามาเสร็จสรรพจากโรงงาน

เมื่อกระบวนการบิดเบี้ยวมาตั้งแต่ต้น จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ชาวนาจะได้รับการชดเชยที่เหมาะควรและเป็นธรรมจากรัฐ


วัด

ผมได้พบกับพี่หาญณรงค์ เยาวเลิศ หนึ่งในสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะที่เดินกันอยู่กลางแดดโหดจนเลือดแทบเหือด พี่หาญณรงค์ได้กรุณาเล่าเรื่องเขื่อนให้ฟังว่าทุกครั้งที่มีการสร้างเขื่อน การคอรัปชั่นมักมีเป็นเรื่องปกติด้วยกลวิธีสารพัดสารเพ แต่เรื่องคอรัปชั่นไม่ใช่ประเด็นครับ เรื่องที่ผมฟังแล้วรู้สึกสะดุดคือเรื่องของวัดแห่งหนึ่งที่จะต้องกลายเป็นเมืองบาดาลเพราะเขื่อน


เช่นเคย หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่เยียวยาผลกระทบที่เกิดกับชาวบ้านก็ช่างมีวิธีการแสนบรรเจิด

เจ้านายท่านจัดหาผู้รับเหมาให้มาประเมินราคาวัดแห่งนั้น


ใครๆ ก็บอกว่าศาสนาพุทธกำลังตกต่ำ แต่อย่างน้อยๆ วัดนี้ก็มีราคาสูงถึง 20 ล้านบาท

เมื่อได้ราคาเป็นที่เรียบร้อย หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบก็จัดการให้ผู้รับเหมารื้อถอนวัดออกไป ลองนึกภาพชาวบ้านกำลังมองวัดที่ตอนเป็นเด็กเขาอาจเคยวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ผนังอุโบสถพังครืนเหมือนสวรรค์ล่ม ใบเสมานอนชะตาขาดอยู่กลางลานวัด หมาวัดอาจจะเห่าหอนเป็นเครื่องหมายคำถาม และศรัทธาของชาวบ้านค่อยๆ ถูกกระเทาะเป็นเศษเล็กเศษน้อยเหมือนเศษอิฐเศษปูน


เจ้านายใจดีมอบเงินให้ผู้รับเหมา 20 ล้านบาทสำหรับการสร้างวัดใหม่ บนที่ดินผืนใหม่ ผมไม่รู้ว่าวัดใหม่หน้าตาเป็นยังไง หมดจดงดงามกว่าวัดเดิมหรือเปล่า เพราะพี่หาญณรงค์ไม่ได้เล่าให้ฟัง แต่กลับบอกว่า--


ชาวบ้านไม่ยอมเข้าวัด

เรื่องง่ายๆ ที่เจ้านายไม่รู้ก็คือสำหรับชาวบ้านแล้ว วัดแห่งใหม่ไม่ใช่วัดของพวกเขา ชาวบ้านบอกว่าวัดนี้เป็นวัดของทางราชการ ไม่ใช่วัดของชาวบ้าน


ผมสงสัยว่า ‘วัดของชาวบ้าน’ หน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ต้องเอ่ยถาม พี่หาญณรงค์เล่าต่อเนื่อง

วัดของชาวบ้านต้องเป็นวัดที่มีชื่อปู่ ชื่อย่า ชื่อพ่อ ชื่อแม่ ฝังติดอยู่ตามกำแพงวัด ตามโต๊ะหินอ่อน ตามศาลา ตามประตูโบสถ์ ตามตู้หนังสือพระไตรปิฎก ฯลฯ


คำพูดที่เฆี่ยนโบยหัวใจผมที่สุดที่พี่หาญณรงค์พูด--

มีวัดที่ไหนที่สร้างขึ้นด้วยผู้รับเหมา วัดมันสร้างขึ้นด้วยศรัทธา”


แต่รัฐก็ไม่มีจินตนาการมากพอจะคิดว่าวัดไม่ใช่การก่อตัวของกำแพงสี่ด้าน หลังคา หรือเสา วัดไม่ใช่สิ่งก่อสร้างโดดๆ ที่จะหยิบไปกองไว้ตรงไหนได้ตามใจ ถ้าวัดไม่มีสายใยศรัทธาของชุมชนคอยเกาะเกี่ยวเกื้อหนุน หลวงพ่อ หลวงพี่ในวัดก็อยู่ลำบาก


รัฐมีเงิน จะสร้างกี่วัดก็สร้างได้ แต่สร้างศรัทธาไม่ได้

คุณมีเงิน จะหาเพื่อนกี่คนก็ได้ แต่หามิตรภาพที่แท้จริงคงลำบาก


ใช่หรือไม่ว่า โลกของรัฐกับโลกของชาวบ้านมีกฎกติกาคนละชุดในการวัดคุณค่าสิ่งต่างๆ ราคาในแต่ละโลกจึงไม่เท่ากัน และที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะรัฐพยายามยัดเยียดกฎกติกาของตนให้ชาวบ้านต้องปฏิบัติตาม โดยไม่มีเยื่อใยไถ่ถามสักนิดว่าอีกฝ่ายจะเห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่


อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่เชื่อว่าเราจะสามารถสร้างมาตรฐานชุดเดียวในการตีราคาค่างวดได้ โลกนี้แสนซับซ้อน มีมาตรฐานความเชื่อเป็นล้านชุดของผู้คน 60 กว่าล้านกระจัดกระจายอยู่ทุกหย่อม


เพียงแต่ว่ามาตรฐานบางชุดมีเรี่ยวแรงมากกว่าจึงกำชัยชนะทุกครั้งในสนามการต่อรอง คงต้องหาวิธีการให้มาตรฐานต่างๆ มีพลังอำนาจต่อรอง คัดง้าง ขัดขืนได้มากขึ้น มาตรฐานการตีราคาแบบรัฐไทยจะได้ทำตัวน่ารักกว่านี้


ในแสงจางๆ ของสนธยา อภิอัครโคตรมหาเศรษฐีคนหนึ่งยืนอยู่ริมทะเลกำลังต่อรองกับพระเจ้าเพื่อขอซื้อทะเล

พระเจ้าตอบตกลงชายคนนั้นอย่างว่าง่าย

ถ้าเจ้าสามารถนำเงินมาถมทะเลได้จนเต็ม ทะเลก็จะตกเป็นของเจ้า”

อภิอัครโคตรมหาเศรษฐีทำได้ตามข้อเสนอของพระเจ้า แต่เขาพบว่าเมื่อเขาใช้เงินถมทะเลจนเต็มเสียแล้ว ก็ไม่มีทะเลใดเหลือให้เขาครอบครอง


ผมสงสัยว่าเรื่องเล่ามหาเศรษฐีผู้อยากซื้อทะเลจะไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ผมเขียนมา

แต่ช่างเถอะ

...โลกของเรา ‘ราคา’ ไม่เท่ากัน


บล็อกของ นกพเนจร

นกพเนจร
ทุกชีวิตล้วนมีศักดิ์ศรีและคุณค่าเท่าเทียมกัน มันเป็นคำพูดงดงามที่ลอยลมมาจากสังคมอุดมคติ...ที่ไหนสักแห่งที่ไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้ ลืมตาตื่น แล้วก้าวเดินออกนอกประตูให้ความจริงพุ่งชน ถ้าไม่พยายามหลอกตัวเองจนเกินงาม-ทุกชีวิตล้วนมีราคาไม่เท่ากัน โหดร้าย แต่เป็นจริง (ผมกำลังพูดถึงในกรณีของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’ เท่านั้น ยังไม่ต้องนับรวมถึงหมู หมา กา ไก่ แมลงวัน ต้นชบา หรือมะขาม ‘คน’ ยังไม่พร้อมที่จะให้คุณค่าของสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นเท่าเทียมกับตน) ผมเลี่ยงไม่ใช้คำว่า ‘คุณค่า’ หรือ ‘ศักดิ์ศรี’ เพราะผมเชื่อว่าทุกคนมีอยู่เท่ากัน แต่หากเป็นคำว่า ‘ราคา’ -…
นกพเนจร
1 ผมพอจะเดาออกว่าอารมณ์แรกๆ ที่ผุดขึ้นเมื่อเห็นหัวเรื่องข้างบนคืออะไร ตามรูปมวยต้องเรียกว่าปลดการ์ดให้สอยคางกันง่ายดาย ซึ่งอันที่จริงผมก็รู้ชะตากรรมตัวเองดีว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง ถ้าเขียนแบบนี้ในพื้นที่แบบนี้ บางคนอาจรู้สึกรุนแรงถึงขั้นมองผมว่าเป็น ‘ศัตรู’ ของเขา ของประชาชน และของประชาธิปไตย แต่เชื่อเถอะครับว่าผมไม่ได้คิดจะตั้งตัวเป็นศัตรูกับใครทั้งสิ้น ที่สำคัญคือผมไม่ได้กำลังจะพูดเรื่องการเมือง ออกตัวไว้ก่อนว่าผมไม่ใช่พวกซาดิสต์ แต่ถ้าใครเกิดรู้สึกทนไม่ได้ ก่นด่า หรือมองผมเป็นศัตรู ...นั่นอาจเป็นเครื่องยืนยันที่ดีต่อเรื่องราวที่ผมพบเจอและทำให้ผมงงๆ กับคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ‘…