1
ผมพอจะเดาออกว่าอารมณ์แรกๆ ที่ผุดขึ้นเมื่อเห็นหัวเรื่องข้างบนคืออะไร
ตามรูปมวยต้องเรียกว่าปลดการ์ดให้สอยคางกันง่ายดาย ซึ่งอันที่จริงผมก็รู้ชะตากรรมตัวเองดีว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง ถ้าเขียนแบบนี้ในพื้นที่แบบนี้
บางคนอาจรู้สึกรุนแรงถึงขั้นมองผมว่าเป็น ‘ศัตรู’ ของเขา ของประชาชน และของประชาธิปไตย
แต่เชื่อเถอะครับว่าผมไม่ได้คิดจะตั้งตัวเป็นศัตรูกับใครทั้งสิ้น ที่สำคัญคือผมไม่ได้กำลังจะพูดเรื่องการเมือง
ออกตัวไว้ก่อนว่าผมไม่ใช่พวกซาดิสต์ แต่ถ้าใครเกิดรู้สึกทนไม่ได้ ก่นด่า หรือมองผมเป็นศัตรู ...นั่นอาจเป็นเครื่องยืนยันที่ดีต่อเรื่องราวที่ผมพบเจอและทำให้ผมงงๆ กับคำว่า ‘ประชาธิปไตย’
‘ประชาธิปไตย’ บอกตามตรงครับว่าไม่อยากเอ่ยคำใหญ่คำโตนี้เท่าไหร่ มันเกินสติปัญญาคนจบ ม.6 อย่างผมที่จะทำความเข้าใจ จึงควรปล่อยเป็นหน้าที่ของปัญญาชนผู้มีความรู้มากมายมหาศาลให้คอยดูแลคำคำนี้จะดีกว่า
2
ความจริงที่น่าเศร้าก็คือผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะไร้จุดยืน จุดที่ทำให้ผมยืนอยู่ได้มีแค่ฝ่าเท้าของตัวเองที่ทำให้ผมไม่หกคะมำ ดังนั้น ผมจึงค่อนข้างนับถือคนที่มีจุดยืน และรักษา ฟูมฟักจุดยืนด้วยความศรัทธา หล่อเลี้ยงจนเติบโตและแข็งแกร่ง กระทั่งสามารถยืนยันตัวเองต่อโลกได้โดยไม่ต้องก้มหน้าอายใคร ไม่กวัดแกว่งไปตามแรงกวัดไกวของเงิน อำนาจ และชื่อเสียงเกียรติยศ
หากมีอยู่ไม่น้อยที่มนุษย์มักใช้จุดยืน ...อาจไม่ถึงกับฆ่าแกง แต่ก็ทิ้งความเจ็บปวดไว้ภายใน อาจไม่ถึงกับหลั่งเลือด แต่ก็ทิ้งรอยน้ำตาไว้บนแก้ม ...ของคนอื่น
คงเหมือนกับที่คำพระท่านพูด อะไรที่เรายึดถือมันมากๆ ก็มักทำให้สายตาเราพร่ามัว หลายคนจึงไม่รู้ว่าจะรักษาจุดยืนของตนอย่างไร โดยยังคงรักษาความต่าง ความเชื่อ และทะนุถนอมหัวใจของอีกฝ่าย...
3
ความจริงที่น่าเศร้าก็คือผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะไร้จิตสำนึกทางการเมือง ดังนั้น รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงไม่ได้กระทบกับต่อมประชาธิปไตยข้างในตัวมากนัก แต่สิ่งที่เกิดตามหลังมาต่างหากที่กระแทกต่อมไร้ท่อในตัวผมหลายต่อม
ผมพอจะรู้บ้างว่าการทำรัฐประหารเป็นสิ่งอันตรายอย่างร้ายแรงต่อระบอบการปกครอง ที่เรียกว่าประชาธิปไตย เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นมา นักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน และประชาชนอีกเยอะแยะจึงออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกันสุดลิ่มทิ่มประตู อย่างไรก็ตาม กลับยังมีคนอีกไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ...และแล้วต่างฝ่ายก็ต่างงัดตำราทุกเล่ม ทฤษฎีทุกบท และตรรกะความรู้อันน่าตื่นตาตะลึงใจ เพื่อสร้างฐานอันแน่นหนามั่นคงให้ตัวเองยืนอยู่ได้
มันเป็นความรื่นเริงมากสำหรับคนเรียนน้อยอย่างผมที่ได้รับรู้วิวาทะของทั้งสอง ฝ่าย ช่วยให้สมองนวลเนียนไร้รอยหยักได้ออกกำลังกาย ซึ่งภายหลังตรวจสอบพบว่าผมมีรอยหยักเพิ่มขึ้นจริงๆ
กระทั่งค่ำคืนหนึ่ง... หลังจากรัฐประหารผ่านไปไม่นาน
ขณะที่ผมกำลังจิบน้ำชาไป อ่านหนังสือไป ด้วยความเพลิดเพลินและน่าหมั่นไส้ น้องสาวที่รู้จักคนหนึ่งก็โทรศัพท์มาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ เธอเป็นคนที่มีจิตสำนึกทางการเมืองสูงกว่าผมหลายกิโล ความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองจึงไหลหลั่งออกมาจนผมเกือบไม่มีอากาศ หายใจ
บทสนทนาเดินทางมาถึงช่วงหนึ่ง เธอเล่าว่าเธอนั่งล้อมวงอยู่กับพี่ๆ ที่มีจิตสำนึกทางการเมืองเหลือเฟือเช่นกัน ถกกันถึงการรัฐประหารที่เกิดขึ้น ผมจำไม่ได้ว่าเธอมีความเห็นอย่างไร แต่ที่จำได้แน่ๆ คือเธอไม่ได้รู้สึกไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร (อาจจะเฉยๆ หรือเห็นด้วยก็ได้ ผมนึกไม่ออก)
เกิดอะไรขึ้นตามมา?
เธอถูกทุกคนในวงมองด้วยสายตาที่ทำให้รู้สึกว่าเธอเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารังเกียจ ...ผมพูดแรงไปหรือเปล่า เอาเป็นว่าสายตาเหล่านั้นทำให้เธอรู้สึกว่าไม่ควรจะอยู่ที่นั่น เธอเป็นสิ่งแปลกปลอม เธอเป็นอาชญากร
หลังจากวันนั้น ผมพบว่ารอบตัวผมเต็มไปด้วยเหตุการณ์แบบนี้
ผมพอจะรู้บ้างว่าบุคลิกบางประการของประชาธิปไตยก็คือการยอมรับในความแตกต่างของมนุษย์ล้านเจ็ดสิบเอ็ดแสน โดยที่เราจะไม่ผลักอกใคร (หรือถีบใคร) ไปเป็นศัตรูและรดน้ำความชิงชังให้งอกงุ้มขึ้นมากั้นกลางระหว่างกันเพียง เพราะคิดไม่เหมือนกัน
แต่ที่ผมสงสัยก็คือการจะไม่ผลักอกใครนั้นต้องมีเงื่อนไขดังนี้หรือไม่
‘ฉันจะไม่ผลักอกเธอ แม้ว่าเธอจะคิดต่างจากฉัน ขอแค่เธอมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยเหมือนฉัน’
ผมเขียนเองก็ยังงงเอง เพราะประโยคข้างบนนั่น อ่านไปอ่านมากลับเหมือนจะขัดๆ กันอยู่ในที
ผมเคยอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่มีจดหมายของผู้อ่านทางบ้านเขียนส่งไป เพื่อต้องการประณามใครก็ตามที่เข้าไปสุงสิงกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คุณผู้อ่านคนนั้นประหนึ่งจะต้องการให้คนไทยทุกคนแปลงร่างเป็น ‘ประชาธิปไตย RANGER’ หรือผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย
นั่งตาลอยนึกสักพัก ผมก็เอะใจว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่เราจะสกัดกั้นคนทั้ง 60 ล้านคนไม่ให้เข้าไปสุงสิงกับ คมช. ด้วยการไล่ ‘ประณาม’ ไปเรื่อยๆ จนกว่าฟ้าสีทองจะผ่องอำไพอีกครั้ง แต่กว่าจะไล่ประณามได้ขนาดนั้นคงเหนื่อยน่าดูชม
4
ผมไม่ได้คิดจะมาเรียกร้องหรือสร้างความชอบธรรมให้กับใครทั้งสิ้น เพราะฝั่งที่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็ร้ายกาจใช่ย่อย ผลักอกฝั่งคัดค้านตลอด เอะอะอะไรก็ด่าว่าเป็น ‘พวกประชาธิปไตยจ๋า ตามก้นฝรั่ง’ ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการมักง่ายแบบนี้
แต่น้องสาวคนนั้น เธอเป็นคนธรรมดาที่อยู่ในห้วงเวลาทางการเมืองที่แสนสับสนและมีความคิด ความเชื่อไปตามทัศนะของเธอ
.. เมื่อเราอยู่ในสถานที่ที่ผู้คนยอมรับคุณค่าบางอย่างที่ถือว่าดีงาม (หรือบางคนชอบใช้คำว่า เลวน้อยที่สุด ซึ่งก็เก๋ไก๋ดี) และถ้าคุณอยู่ในกรอบคุณค่านี้ ไม่ว่าคุณจะคิดต่างอย่างไร ผู้คนก็จะโอบไหล่และยิ้มให้คุณเสมอ แต่เมื่อใดที่คุณแตกต่างโดยไม่อยู่ในกรอบ เมื่อนั้นคุณจะโดนถีบ
ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่คนเกือบทั้งโลกยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี (หรือเลวน้อยที่สุด) แต่เมื่อรัฐประหารอันเป็นสิ่งที่เลวมากที่สุดและอยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยเกิดขึ้น มันเป็นไปได้จริงๆ หรือที่คนทั้ง 60 ล้านคนจะต้องไม่เห็นด้วย ให้ตายยังไงก็ต้องมีทั้งคนที่เฉยๆ และเห็นด้วย
ด้วยความเคารพเป็นอย่างสูงต่อผู้รักประชาธิปไตยทุกท่านในที่นี้ ผมว่าคนที่เห็นด้วยกับรัฐประหารก็น่าสนใจไม่น้อย ทำไม? เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ประชาธิปไตยก็ถูกยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว มันจึงมีฐานที่งามสง่าให้หยัดยืนโดยไม่ต้องเปลืองแรงมาก แต่กับคนที่เห็นด้วยกับรัฐประหาร มันเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ ที่เขาจะต้องสรรหาเหตุผลและออกแรงสร้างที่มั่นอย่างหนักหนาสาหัส เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองไม่ถูก ‘ประณาม’ หรือถูกผลักอกและตีตราว่าเป็น ‘คนเลว’
โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกว่ามีคำถามที่น่าถามอยู่ข้อหนึ่งก็คือเมื่อประชาธิปไตยเป็นสิ่งดีงาม เหตุใดจึงมีคนเห็นด้วยกับรัฐประหารอยู่อีก ผมเชื่อว่าคำตอบของคำถามนี้คงพอทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างที่เราควรทำต่อไปในวันข้างหน้า
แต่ถ้าจะตอบว่า ‘เพราะคนพวกนั้นไม่มีจิตสำนึกประชาธิปไตย เป็นพวกฝักใฝ่เผด็จการ ฯลฯ’ …ก็เป็นคำตอบเหมือนกัน แต่เป็นคำตอบที่ทำให้ผู้ตอบดูน่าเลื่อมใส แล้วก็ผลักอีกคนให้เป็นผู้ร้ายเสมอ
แต่ก็มีคนตอบแบบนี้อยู่จริงและมีไม่น้อย
และด้วยตรรกะของคำตอบแบบนี้ มันก็ได้สร้างสมการแปลกๆ ที่ว่าใครที่เชื่อในประชาธิปไตยย่อมดีและถูกต้องเสมอ ถ้าไม่ ย่อมชั่วร้ายและผิดเสมอ ซึ่งแม้ผมจะอ่อนคณิตศาสตร์ แต่ผมไม่คิดว่านี่เป็นสมการที่ถูกต้องนัก
5
ผมยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่าผมไม่ได้พูดเรื่องการเมือง
ลองไม่ต้องสนใจเรื่องการเมืองหรือระบอบการปกครอง คิดแค่ว่ามีคนที่ต่างจากเรากันไปคนละทาง แล้วเราจะอยู่ร่วมกับคนเหล่านี้อย่างไร เราจะนั่งกินข้าวกับคนที่คิดต่างโดยไม่ส่งสายตาพิฆาตได้อย่างไร เราจะไม่ชิงชัง รังเกียจได้หรือไม่ ถ้าความคิดของคนคนนั้นไม่ได้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่เรายึดถือเลย
ปัญญาชน นักประชาธิปไตยทั้งหลายจะออกมาเดินขบวน คัดค้าน ขับไล่เผด็จการ หรือจะจับพวกรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อเอาเข้าคุก...ก็ทำไปเถอะครับ ถ้านั่นจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาว ผมเห็นด้วย
แต่ถ้าปัญญาชนนักประชาธิปไตยจะถีบอก ประณาม ชิงชัง เหยียดหยาม หรือแช่งชักหักกระดูกใครก็ตามที่นิยมชมชอบนาซี ฟาสซิสต์ เผด็จการอำนาจนิยมคอมมิวนิสต์ หรือระบบการเมืองแบบโควต้าอ้อย แทนการถกเถียง แลกเปลี่ยน วิพากษ์วิจารณ์กันด้วยเหตุผลและมิตรไมตรี ก็น่าสงสัยอยู่ครามครันว่าจะเรียกตัวเองว่านักประชาธิปไตยได้แค่ไหน
การด่าคนที่คิดไม่เหมือนเราเป็นเรื่องง่าย
แต่การเป็นเพื่อนกับคนที่ต่างกับเราแบบสุดขั้วนั้นยากกว่า
ผมยอมรับว่าสมการที่ผมอ้างถึงก่อนหน้าอาจจะมักง่ายเกินไป เพราะเรากำลังพูดถึงสังคมในระดับประเทศที่จำเป็นต้องมีกฎ กติกาที่ดี และได้รับการยอมรับในการอยู่ร่วมกัน
แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่าผมไม่ได้พูดเรื่องการเมืองหรือระบอบการปกครอง เพราะไม่ว่าจะระบอบการปกครองแบบไหน เราก็ยังต้องอยู่ร่วมกับคนที่ไม่เหมือนเรา
6
เป็นไปได้ว่าการที่ผมเป็นคนไม่มีจุดยืนก็เพราะผมไม่มีความสามารถพอที่จะจัดการจุดยืนของตัวเองโดยไม่ไปทำร้ายใคร
บ่อยครั้งที่ผมก้มมองเท้าตัวเองเพื่อสำรวจว่าจุดที่ผมยืนอยู่กำลังเป็นจุดที่เหยียบใครหรือเปล่า เพราะผมไม่ได้ต้องการเหยียบใครเพื่อให้ตัวเองมีจุดยืนที่สูงขึ้น
7
ถ้าคืนนั้นผมอยู่ในวงกับน้องสาวคนนั้น ผมจะลุกไปนั่งข้างๆ เธอและพูดเสียงดังฟังชัดว่า
‘ผมเห็นด้วยกับการรัฐประหาร’
ความนึกคิดตอนนั้นคงไม่มีอะไรมากไปกว่าการอยากเข้าข้างเธอ เพราะผมเชื่อว่าเราไม่มีสิทธิใช้จุดยืนอันสูงส่งของเราเที่ยวไปเหยียบคนอื่น ให้รู้สึกต่ำต้อย
จุดยืนเป็นสิ่งสำคัญ แต่บางที---บางทีการอยู่ร่วมกันก็จำเป็นต้องใช้จุดยืนมากเท่าๆ กับการใช้หัวใจที่เคารพในกันและกัน
** เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.prachatai.com/05web/th/home/12704