Skip to main content

ผมตั้งชื่อบล็อกนี้ว่า “สนามหลังบ้าน”

“สนาม”ในที่นี้ ประการแรกคงหมายถึงการทำงานภาคสนาม (fieldwork) ซึ่งถือเป็นวิธีการศึกษา การเก็บข้อมูล และหาความรู้ที่เป็นจุดเน้นสำคัญอย่างหนึ่งของวิชาอย่างมานุษยวิทยา วิชานี้ให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่ การติดตาม การสังเกตการณ์ การพูดคุย การมีส่วนร่วม และการใช้เวลากับสิ่งที่ศึกษาโดยตรงค่อนข้างมากกว่าการทำงานเอกสาร การนั่งขบคิดเอาเอง หรือการติดตามข่าวสารระยะไกลเพียงอย่างเดียว

เวลาพูดถึงการทำงานภาคสนามแบบนี้ ผมมักนึกไปถึงการทำค่ายในกิจกรรมนักศึกษา  จำได้ว่าเคยมีการถกเถียงกันในคนทำกิจกรรมว่า ค่ายรูปแบบต่างๆ ในมหาวิทยาลัยยังเป็นกิจกรรมที่จำเป็นหรือควรทำกันอยู่หรือไม่ ในยุคสมัยหนึ่งค่ายเคยเป็นกิจกรรมสำคัญที่นักศึกษาลงพื้นที่ไปช่วย “พัฒนา” ชนบทในด้านต่างๆ เช่น ไปช่วยสร้าง ช่วยสอน ช่วยคิด เป็นต้น แต่สมัยหลังๆ การทำค่ายมีแนวโน้มกลายไปเป็นการเดินทางไกลๆ ไปเปลี่ยนบรรยากาศของนักศึกษาภายนอกมหาวิทยาลัย ไปเที่ยว ไปกินเหล้า ไปชมธรรมชาติ ไปหาเพื่อนใหม่ๆ เท่านั้นเอง หน้าที่ของค่ายไม่ได้ตอบโจทย์ชาวบ้านหรือผู้คนที่เราไปทำค่ายอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลายคนรวมทั้งผม ก็ยังเห็นว่าค่ายยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกิจกรรมนักศึกษา ในแง่ของการสามารถทำให้ค่ายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ เป็นกระบวนการหนึ่งที่พานักศึกษาที่มีแนวโน้มโดยมากเป็นคนชั้นกลางในเมือง ออกไปสัมผัส เรียนรู้ผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ที่แตกต่างจากพวกเขาและเธอ ทั้งในด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม หรือแม้แต่ความคิด การออกค่ายลงพื้นที่จึงเป็นคล้ายๆ การเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างหนึ่งที่เชื่อมโลกของนักศึกษาชนชั้นกลางกับผู้คนส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะคนชั้นล่างจำนวนมากในสังคม

เช่นเดียวกัน, ถ้าหากหลักใหญ่ใจความของการศึกษาวิจัยคือการพยายามเข้าใจคนอื่น เข้าใจสังคม เข้าใจโลกที่เราอยู่ ขณะเดียวกันก็ย้อนกลับมาเข้าใจตัวเราเอง การลงพื้นที่ภาคสนามก็เป็นวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งในการศึกษา ที่ช่วยให้นักศึกษา/นักวิจัยได้มีโอกาสลงไปสัมผัส มีปฏิสัมพันธ์ มีส่วนร่วมกับเรื่องราว ผู้คน หรือสิ่งของ ที่ตนศึกษาจริงๆ ไม่ใช่นั่งคิดทฤษฎีอธิบายเพียงอย่างเดียว

แน่ละว่า สนามคงไม่ได้หมายถึงแค่เพียงพื้นที่หมู่บ้านชนบทที่ใดที่หนึ่งสักแห่งอีกต่อไป แต่สนามสำหรับการศึกษาก็ขยายไปตามความซับซ้อนของสังคม อาทิ สลัมกลางเมือง, การชุมนุมทางการเมือง, เรือนจำ, ห้องส้วมในบ้าน, ร่างกายของเราๆ ท่านๆ, การเดินทางของสิ่งของ-ผู้คน หรือพื้นที่ใหม่ๆ อย่างโลกออนไลน์ ก็สามารถเป็นสนามในการศึกษาแบบหนึ่งได้

ในอีกความหมายสำหรับผม สนามเป็นคล้ายลานหรือพื้นที่กว้างที่เปิดสำหรับทำกิจกรรม อย่างสนามกีฬา สนามเด็กเล่น สนามหญ้าในสวนสาธารณะ หรือสนามเรื่องสั้นในหน้านิตยสารต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้คนเขียนเรื่องราวส่งเข้าไป

บล็อกนี้จึงอยากจะให้เป็นลานในการทดลองทำกิจกรรมอย่างการเขียน และเป็นคล้ายบทบันทึก บทสะท้อนเรียนรู้จากเรื่องราวหรือเรื่องเล่า ที่ผม-ซึ่งเป็นผู้เขียนที่มีมุมมองและมีอคติของตนเอง-ได้พบเจอหรือสัมผัสขณะทำการศึกษาภาคสนามหรือแม้แต่ข้อเขียนหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและผมมีโอกาสได้อ่าน

แล้ว “หลังบ้าน” ล่ะ เกี่ยวอันใดกับสนาม?

ครับ, ตัวผมเอง เป็นนักศึกษาฝึกหัดวิจัยผู้กำลังเก็บข้อมูลภาคสนาม ในเรื่องที่ว่าด้วย “นักโทษการเมือง” โดยเฉพาะนักโทษทางความคิดจากประมวลกฎหมายอาญาบางมาตรา สนามที่ผมต้องลงไปสัมผัสพบเจอจึงคือผู้คนและพื้นที่ที่กำลังเป็นจุดเผชิญหน้าที่สำคัญทางการเมืองในขณะนี้ เป็นเรื่องราวที่อยู่ “หลังบ้าน” แต่กำลังมีความสำคัญต่อบ้านหลังนี้อย่างยิ่งยวด

หากเปรียบประเทศเป็นบ้านแล้ว ถ้าหน้าบ้านของเรากำลังจะเปิดเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเปิดเสรีการส่งของค้าขายเข้าประตูบ้าน หลังบ้านของเราก็ดูจะพยายามปิดบังการละเมิดสิทธิ พยายามปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถ้าหน้าบ้านของเราเต็มไปด้วยการโฆษณาเรื่องราวของการรักกัน เรียกร้องการปรองดองสมานฉันท์ หรือแสดงออกว่าสงบสันติ หลังบ้านของเราก็ดูจะเต็มไปด้วยความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้คนในบ้านของตนเอง ถ้าหน้าบ้านของเรายินดีเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกในฐานะแหล่งรายได้สำคัญของบ้าน หลังบ้านของเราของดูเหมือนจะพยายามไล่คนร่วมหลังคาออกจากบ้านไป เพราะคิดเห็นแตกต่างไม่ตรงกัน

ผมจึงคิดว่าการจะเข้าใจบ้านหลังนี้จึงดูจะต้องหันไปมอง “สนามหลังบ้าน” ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ หลังบ้านที่เต็มไปด้วยเศษสิ่งของที่เราแกล้งลืมทิ้งไว้, เรื่องราวที่ถูกเก็บกวาดแอบไว้หรือทำราวกับไม่มีอยู่, ผู้คนในบ้านที่เราพยายามซ่อนไว้จากสายตาคนภายนอก เท่าที่ผมจะพอกล่าวถึงได้ภายใต้ข้อจำกัดของตนเอง ทั้งนี้เพื่อมองให้เห็นอาณาบริเวณบ้านที่เราอยู่ได้อย่างรอบด้านขึ้นสักหน่อยก็ยังดี และสร้างความเข้าใจต่อบ้านหลังนี้ที่คล้ายจะถึงช่วงเลาที่กำลังจำเป็นต้องถูกปรับปรุง-เปลี่ยนแปลงในหลายสิ่งหลายอย่าง

เรื่องราวที่ผมพยายามจะเขียนหรือสื่อสารต่อไปในบล็อกนี้ จึงเป็นเรื่องราวจาก “สนามหลังบ้าน”

บล็อกของ กำลังก้าว

กำลังก้าว
ขณะที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีผลกำหนดอนาคตของประเทศ แต่ก็เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของคำพิพากษาคดีๆ หนึ่งที่มีผลกำหนดอนาคตชีวิตของครอบครัวๆ หนึ่งอย่างมหาศาล
กำลังก้าว
ผ่านไปเกือบจะครบสองปีแล้ว ตั้งแต่เธอถูกจับกุมดำเนินคดี...แต่คดียังไม่ได้เริ่มสืบพยานโจทก์เลยแม้สักปากเดียวเสาวณี อินต๊ะหล่อ เคยทำงานเป็นแม่ครัวในร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน แต่บ้านที่เธออยู่อาศัยนั้นอยู่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
กำลังก้าว
1“เราจะไม่เป็นเราอีก”
กำลังก้าว
คืนนั้น หลังจากรู้ว่ามีชื่อตัวเองอยู่ในประกาศเรียกทางโทรทัศน์ แกโพสต์สเตตัสหนึ่งในเฟซบุ๊กไว้ว่า “โจนาธาน ลิฟวิ่งสตัน ซีกัล ผมจะเป็นนางนวลตัวนั้น”
กำลังก้าว
 การดิ้นรนครั้งสุดท้ายของไดโนเสาร์ยักษ์เกรี้ยวกราดสุดเรี่ยวแรงแห่งเผ่าพันธุ์ทำผืนดินสะเทือนเลือนลั่นต้นไม้ใบหญ้าล้มระเนระนาดสัตว์น้อยใหญ่หลบหนีชุลมุนวุ่นวายกระทั่งหลายชีวิตบาดเจ็บล้มตายเซ่นสังเวยการเคลื่อนตัวของสัตว์ยักษ์ 
กำลังก้าว
30 เม.ย.นี้ จะเป็นวันครบรอบ 3 ปีของการจับกุมคุมขังสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีมาตรา 112 และเป็นเวลาครบรอบ 3 ปีแล้วที่ชายคนนี้ยืนยันนับตั้งแต่ถูกจับกุมว่า “ผมยอมสูญเสียอิสรภาพ แต่จะไม่ยอมสูญเสียความเป็นคน”
กำลังก้าว
ข้อเขียนนี้เป็นบันทึกเล็กๆ น้อยๆ จากการทำรายงานข่าวเรื่อง “เปิดใจ 'สปป.ล้านนา' สาขาสันกำแพงกับข้อกล่าวหาแยกประเทศ”%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%