วิวัฒนาการในการประท้วงและต่อต้านของผู้คนที่คัดค้านระบอบเผด็จการยิ่งดูท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อการประท้วงโดยการใช้ป้ายข้อความ การชูสามนิ้ว หรือการชุมนุมตามที่สาธารณะถูกทำให้กลายเป็นสิ่งผิดกฏหมาย กลายเป็นการก่อความไม่สงบยั่วยุทางการเมือง และเมื่อไม่กี่สัปดาห์หลังจากบก.ลายจุด ถูกคณะคืนความซวย เอ๊ย ความสุข จับตัวไป ไม่นานนักฉันได้เห็น"นมนกพิราบ"ของคนรู้จักผู้กล้าหาญท่านนึงบินโฉบหน้าฟีดบนเฟซบุ๊ค เลยขอเขียนถึงเรื่องนี้ซักหน่อยละกัน
การเปลือยกายประท้วงเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่ได้ผลสำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมือง คือมีความน่าดึงดูดและสามารถส่งสารได้ดี ในประเทศตะวันตกนั้นการเปลือยประท้วงในที่สาธารณะมักดึงดูดความสนใจจากสื่อได้ดี อย่างเช่น กลุ่มฟีเมน พีต้า หรือ กลุ่มนักปั่นเปลือย อย่างข่าวเร็วๆนี้ก็ลูกสาวบรูซ วิสลิสกับแคมเปญ free nipples
ส่วนในประเทศไทยนั้นเรามีข้อสังเกตว่า การเปลือยประท้วงนั้นเป็นที่แพร่หลายในอินเตอร์เนทพอสมควร เช่น แคมเปญอากงของคำ ผกา การเปลือยของกลุ่มนักศึกษา หญิงสาวและผู้รักประชาธิปไตยหลายๆคนก็ออกมาสื่อสารผ่านร่างกายตัวเองด้วยเช่นกัน ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นล้วนโพสและถูกแชร์กันกระหน่ำบนโลกโซเชียลมีเดีย ส่วนนึงน่าจะเป็นเพราะในโลกอินเตอร์เนทเป็นพื้นที่ที่ผู้คนยอมรับและอดทนอดกลั้นกับการเปลือยได้ในระดับหนึ่ง หรืออาจจะเป็นเพราะในอินเตอร์เนทมีเสรีภาพมากกว่าในชีวิตจริงรึเปล่า?
ในชีวิตจริงแล้วการเปลือยในที่สาธารณะถูกเรียกว่าการกระทำอนาจารต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งแบ่งระดับความอุจาดหรือลามกกันอย่างไรก็ไม่รู้ (รู้แต่ว่าหัวนมผู้หญิงอันตรายมว๊าก) แต่วัฒนธรรม"ไทย"แบบเผด็จการนั้น ชอบเที่ยวไล่ปิดหัวนมผู้หญิงมาตั้งแต่ในอดีตอยู่แล้ว อย่างการเปลือยอกในวันสงกรานต์ของผู้หญิงหรือแม้แต่ทรานเจนเดอร์เอง ถูกมองว่าเป็นอนาจารแน่นอนอย่างไม่ต้องคิดอะไรมาก ขณะที่โลกตะวันตกผลักดันเรื่อง topfreedom ของผู้หญิง เพื่อโปรโมททัศนคติความเท่าเทียมของการเปลือยท่อนบนในพื้นที่สาธารณะที่ขยายอาณาเขตของสิทธิของบุคคลล้ำหน้าไปเรื่อยๆ
สำหรับการเปลือยเพื่อประท้วงต่อต้านนั้นต้องผ่านการตรึกตรองมาแล้วอย่างดี อีกอย่างคือผู้ที่ออกมาทำแคมเปญตรงนี้หลีกเลี่ยงการ objectification ในสังคมที่มีวัฒนธรรมเหยียดเพศได้ยาก เนื่องจากบางประเทศยังมองหน้าอกผู้หญิงเป็นวัตถุอนาจาร มากกว่าการเปลือยคือเสรีภาพและอำนาจเหนือร่างกายของปัจเจกบุคค และบางครั้งก็หลงลืมไปแล้วว่าการบังคับให้ประชาชนใส่เสื้อ ห้ามเปลือยอก คือ ผลของการมีรัฐเผด็จการเป็นผู้นำแฟชั่น ยิ่งถ้าผู้ที่ออกมาเปลือยต่อต้านเป็นผู้หญิงด้วยแล้ว พวกเธอต้องอาศัยความเข้มแข็ง คำอธิบายที่ถูกกลั่นกรองทางความคิด ความกล้าที่ไม่เกรงกลัวต่อmale judgement และแนวคิดการพลิกกลับการถูกทำให้เป็นวัตถุนั้นให้กลายเป็นเชิงบวก (ซึ่งเรามองว่ามันเป็นไปได้และขึ้นอยู่กับเจตจำนงเสรีของผู้เปลือย)
หลังจากที่ภาพเปลือยประท้วงนั้นถูกโพสเผยแพร่ออกไปแล้ว ที่เหลือคือ การถกเถียงของคนในสังคม พวกเขาอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาก็ได้ พวกเขาอาจจะมองเห็นสารที่ต้องการสื่อ อาจจะมองเห็นแค่เต้านม หรืออาจจะมองเห็นเป็นแค่เรื่องเพศ
การวิพากษ์วิจารณ์ การตีความ ถกเถียงเหล่านี้ คือ เสรีภาพทางการแสดงออกที่อยู่ในมือของทุกคน การถกเถียงของสังคมนั้นจะบ่มเพาะการยอมรับและอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างซึ่งเป็นรากฐานของวิถีประชาธิปไตย ส่วนคำวิจารณ์เสียๆหายๆบางอย่าง เช่น เฮทสปีช คำด่าที่เหยียดเพศนั้น มันก็สะท้อนวุฒิภาวะทางสังคมอย่างหนึ่งที่ไม่ยอมรับการเปลือยของเพศหญิงที่มาจากเจตจำนงอันเสรีภายใต้อำนาจการตัดสินใจของตัวเธอเอง แต่กลับใช้คุณค่าวัฒนธรรมแบบเผด็จการยัดเหยียดความอับอาย กล่าวหาว่าร่างกายของผู้หญิงคือสิ่งกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ มองข้ามความเป็นปัจเจกในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง รวมไปถึงมองข้ามเนื้อหาและบริบทต่างๆที่ผู้ประท้วงต้องการนำเสนอ
ส่วนตัวแล้วการเปลือยไม่ได้เป็นการถูกทำให้เป็นวัตถุเสมอไป มันคือการหลุดจากกรอบที่สังคมกำหนดขึ้นมาด้วยซ้ำ (อีกนัยนึงก็คือ กบฏต่อบรรทัดฐานของสังคม)
การนำเสนอมุมมองการเปลือยของมนุษย์ในแง่ใหม่ๆของสังคมไทยที่อยู่บนฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน และการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ที่สามารถกระตุ้นมุมมองของสังคม รวมไปถึงการให้คุณค่าความเท่าเทียมทางเพศ นั้นจำเป็นต้องสร้างต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะทางการเมืองที่กดขี่หรือเสรีแค่ไหนก็ตาม
ยิ่งในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย การเปลือยในแง่ของการประท้วง คือ การแสดงออกทางการเมืองโดยสันติอันสุดโต่ง
ซึ่งสามารถมองเห็นเนื้อหนังอันบอบบางของมนุษย์ที่ไม่อาจต้านทานลูกกระสุนได้
Ps.บทความนี้ดัดแปลงมาจากสเตตัสอีกที และขอมอบบันทึกนี้ให้แก่นมและเสรีภาพ :)