การที่ศาลรัฐธรรมนูญ (“ท่าน”) มีคำวินิจฉัยในวันศุกร์ ที่ 13 กรกฎาคม นี้ นับเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ผิดอย่างใหญ่หลวง โดยกระทำความผิดมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือ
1. มีคำสั่งให้รับคำร้องของผู้ร้องรวม 5 ราย โดยตรง อันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่บัญญัติโดยชัดแจ้งว่าผู้ร้องจะต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งมาตรา 68 สอดคล้องกับบทบัญญัติอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจท่านในการวินิจฉัยข้อขัดแย้งต่างๆ อันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เช่น วินิจฉัยว่า กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะต้องจะให้ศาลที่โจทก์-จำเลย พิพาทกันอยู่ตรวจสอบคำร้องของคู่ความ หากเห็นสมควรศาลในคดีนั้นจึงจะเสนอเรื่องถึงท่าน มิได้ให้สิทธิแก่คู่ความที่จะยื่นโดยตรงต่อท่าน การยุบพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. เป็นผู้ตรวจสอบและทำคำร้องยื่นต่อท่าน ให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ฯลฯ และรวมทั้งมาตรา 68 อันว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็บัญญัติชัดแจ้งโดยไม่อาจตีความเกี่ยวกับถ้อยคำที่จะ “ตะแบง” ให้อำนาจท่านที่จะรับคำร้องได้โดยตรง ดังจะเห็นได้ว่า คำวินิจฉัยตามประเด็นที่ 1 ที่ว่า ท่านมีอำนาจรับคำร้องไว้ได้หรือไม่ ท่านก็ยอมรับโดยชัดแจ้งว่า ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อความในมาตรา 68 แต่ท่านตีความอ้างถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แบบไร้เหตุผล
แท้ที่จริงถ้าดูรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของท่าน ไม่ประสงค์ที่จะให้ท่านรับคำร้องได้โดยตรงในทุกๆเรื่อง เพราะรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้ท่านเป็นองค์กรหนึ่งในหลายๆองค์กร และรัฐธรรมนูญไม่ประสงค์ให้ท่านมา “ล้วงลูก”รับเรื่องเอง มิเช่นนั้น ต่อไป องค์กรอื่นๆ และศาลยุติธรรม ก็จะไม่มีความหมาย เพราะหากจะคิดยื่นขอยุบพรรคการเมืองก็ไม่ต้องผ่านกกต. หากคิดว่ากฎหมายฉบับใดขัดรัฐธรรมนูญ โจทก์และจำเลยก็ไม่ต้องเสนอเรื่องต่อศาลผู้พิจารณาคดี ไปยื่นท่านโดยตรง ท่านซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามกรอบรัฐธรรมนูญ ก็จะกลายเป็นองค์กรเหนือรัฐธรรมนูญไปทันที และจะกลายเป็นศาลเตี้ยไปพร้อมๆ กัน เพราะใครๆ ก็ไปเคาะประตูเรียกท่านให้รับเรื่องได้ อย่างนี้ได้ทำงานคุ้มค่าเงินเดือนแน่
2. นอกจากรับคำร้องไว้โดยตรงแล้ว ท่านยังบังอาจมีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราว ห้ามมิให้สภานิติบัญญัติลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 โดยคำสั่งดังกล่าวอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ป.วิ.แพ่ง) โดยที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญรองรับ อีกทั้งยังไม่มีวิธีพิจารณาของท่านเอง
ป.วิ.แพ่ง เป็นกฎหมายเอกชน ใช้สำหรับคดีในศาลยุติธรรมที่พิพาทกันระหว่างโจทก์-จำเลย ในฐานะเอกชน จะมาใช้กับกฎหมายมหาชนได้อย่างไร นักกฎหมายทั้งประเทศงงกันไปหมด ใครๆ อาจทำพลาดกันได้ แต่ถ้าผิดพลาดแล้วจะต้องแก้ไข เหตุไรจึงไม่ใช้ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 27 ว่าด้วยการเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย โดยการยกเลิกคำสั่งที่ให้รับคำร้องโดยตรง รวมทั้งคำสั่งที่ให้สภานิติบัญญัติชลอการลงมติวาระ 3 ท่านกลับไม่ทำ แล้วยังเดินหน้าร่วมกันลงมติเอกฉันท์ 8 เสียงว่า ท่านมีอำนาจรับคำร้องพิจารณาไว้โดยตรง แต่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าเสีย
พฤติการณ์เช่นนี้ ถือได้ว่า ท่าน “ฉีก” รัฐธรรมนูญที่ท่านมีส่วนร่วมกันร่างขึ้นมาเอง เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า โดยถือว่าไม่มีสถาบันใดตามรัฐธรรมนูญที่จะรับการร้องทุกข์จากประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียให้พลิกคำวินิจฉัยในส่วนนี้ของท่านอีกแล้ว เท่ากับท่านกำลังทำ “รัฐประหารเงียบ” ที่นักกฎหมายหลายท่านต่างชี้ว่าท่านทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 กล่าวคือ ท่านเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งมีระวางโทษจำคุกถึง 10 ปี ข้อหาหนึ่งเป็นอย่างน้อย
นอกจากรัฐประหารเงียบแล้ว ท่านกำลังใช้อำนาจที่ไม่มีกฎหมายรองรับเข้าไปแทรกแซงควบคุมอำนาจอธิปไตยฝ่ายอื่นในขณะนี้ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ถึงแม้คำวินิจฉัยในประเด็นอื่นของท่าน อาจจะดูดี เหมือนจะเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมือง แต่ท่านกำลังทำตัวเหนือระบบทุกอย่าง คำวินิจฉัยที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญไม่เป็นการล้มล้างการปกครองท่านไม่จำเป็นต้องชี้ขาด เพราะเป็นประเด็นตื้นๆ ที่แม้นักศึกษานิติศาสตร์ชั้นปีที่ 1 ก็ย่อมรู้ แต่ท่านลืมไปว่าคำวินิจฉัยของท่าน ที่ท่านอาจภูมิใจว่า จะเป็น “บรรทัดฐาน” ใหม่ที่หักล้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อนในเรื่องเดียวกัน ประชาชนคิดว่า น่าจะเป็น “บรรทัดเถื่อน”เสียมากกว่าเพราะ
1.ถ้าท่านตัดบทเพียงว่า ยินยอมให้ยื่นตรงต่อท่านตามสิทธิพิทักษ์ตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 เท่านั้น ส่วนอื่นต้องมีองค์กรตรวจสอบก่อนยื่นเช่นเดิม นับแต่นี้ไปจะมีผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งประชาชนจะยื่นคำร้องต่อท่านโดยตรง อ้างว่า มีบุคคลหรือพักการเมือง (พิจารณาเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ว่า เฉพาะบุคคลหรือพรรคการเมือง เป็นการตีความช่วยเหลือท่านมิให้ร่อแร่ไปกว่านี้ ) ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง ฯ นอกวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ ท่านจะต้องรับคำร้องไว้ทุกเรื่อง ไม่ว่าบุคคลหรือพรรคการเมืองนั้นเป็นฝ่ายใด และคิดว่าจะมีคำร้องเช่นนี้ตามมาเป็นโขยง
2.เมื่อท่านใช้อำนาจแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติได้ ต่อไปวันข้างหน้า หากมีคำร้องตามมาตรา 68ขึ้นมาอีก อ้างว่า ศาลปกครองที่กำลังพิจารณาคดีพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนอยู่จะทำการตามมาตรา 68 โดยมีข้ออ้างอันละเอียดพิศดาร มีเหตุผลรองรับ ท่านต้องรับคำร้องไว้ก่อนเพื่อพิจารณา เพราะเมื่อท่านทำตัวเป็น “องค์กรเหนือรัฐธรรมนูญ” แทรกแซงควบคุมเหนือนิติบัญญัติได้ ท่านก็ต้องกล้าไปแทรกแซงควบคุมอำนาจตุลาการได้เช่นเดียวกัน ส่วนฝ่ายบริหารนั้น เหมือนลูกไก่ในกำมือของท่าน เป็นทั้งลูกไก่ใต้ปีกทหาร และจะเป็นลูกไก่ใต้อุ้ง “มือที่มองไม่เห็น” ร้อง เจี๊ยบ เจี๊ยบ เจี๊ยบ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการเสนอกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฎร
ณ เวลานี้ เป็นเกมส์วัดใจของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำของศาล ที่ว่าควรมีการทำประชามติ ญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ปรากฏข้อความในคำแนะนำของท่านว่า “ สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” เสียก่อน หรือจะดำเนินการไปตามมาตรา 291 ที่เกือบถึงปลายทางแล้ว
แต่กระผมเห็นว่า คำแนะนำของท่านไม่ใช่คำวินิจฉัยและไม่อยู่ในอำนาจของท่านที่จะทำได้ เพราะ
<!--[if !supportLists]-->1.ไม่อยู่ในประเด็นใดๆ ที่ยกขึ้นมาพิจารณา
<!--[if !supportLists]-->2.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจชี้แนะหรือสั่งการหัวหน้าอำนาจบริหาร คือนายกรัฐมนตรีหรือประธานรัฐสภา ประมุขอำนาจนิติบัญญัติในเรื่องนี้แม้แต่น้อย เป็นเพียงความพยายามที่จะอัพเกรดตัวเอง ขึ้นมาให้เป็นอำนาจที่สี่ทั้งๆที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 หรือรัฐธรรมนูญอำมาตย์ฯ ให้ทำเช่นนั้นได้
ท้ายสุด ทั้งสามอำนาจเป็นของประชาชน มาจากประชาชน แต่ท่านทำตัวอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ประชาชนจะไม่ยอมให้ท่านทำผิดเป็นครั้งที่สองอีกต่อไป
นทีทอง สมุทรชลธี