Skip to main content

การที่ศาลรัฐธรรมนูญ (“ท่าน”) มีคำวินิจฉัยในวันศุกร์ ที่ 13 กรกฎาคม นี้ นับเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ผิดอย่างใหญ่หลวง โดยกระทำความผิดมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือ

1. มีคำสั่งให้รับคำร้องของผู้ร้องรวม 5 ราย โดยตรง อันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่บัญญัติโดยชัดแจ้งว่าผู้ร้องจะต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งมาตรา 68 สอดคล้องกับบทบัญญัติอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจท่านในการวินิจฉัยข้อขัดแย้งต่างๆ อันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เช่น วินิจฉัยว่า กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะต้องจะให้ศาลที่โจทก์-จำเลย พิพาทกันอยู่ตรวจสอบคำร้องของคู่ความ หากเห็นสมควรศาลในคดีนั้นจึงจะเสนอเรื่องถึงท่าน มิได้ให้สิทธิแก่คู่ความที่จะยื่นโดยตรงต่อท่าน การยุบพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. เป็นผู้ตรวจสอบและทำคำร้องยื่นต่อท่าน ให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ฯลฯ และรวมทั้งมาตรา 68 อันว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็บัญญัติชัดแจ้งโดยไม่อาจตีความเกี่ยวกับถ้อยคำที่จะ “ตะแบง” ให้อำนาจท่านที่จะรับคำร้องได้โดยตรง ดังจะเห็นได้ว่า คำวินิจฉัยตามประเด็นที่ 1 ที่ว่า ท่านมีอำนาจรับคำร้องไว้ได้หรือไม่ ท่านก็ยอมรับโดยชัดแจ้งว่า ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อความในมาตรา 68 แต่ท่านตีความอ้างถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แบบไร้เหตุผล

แท้ที่จริงถ้าดูรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของท่าน ไม่ประสงค์ที่จะให้ท่านรับคำร้องได้โดยตรงในทุกๆเรื่อง เพราะรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้ท่านเป็นองค์กรหนึ่งในหลายๆองค์กร และรัฐธรรมนูญไม่ประสงค์ให้ท่านมา “ล้วงลูก”รับเรื่องเอง มิเช่นนั้น ต่อไป องค์กรอื่นๆ และศาลยุติธรรม ก็จะไม่มีความหมาย เพราะหากจะคิดยื่นขอยุบพรรคการเมืองก็ไม่ต้องผ่านกกต. หากคิดว่ากฎหมายฉบับใดขัดรัฐธรรมนูญ โจทก์และจำเลยก็ไม่ต้องเสนอเรื่องต่อศาลผู้พิจารณาคดี ไปยื่นท่านโดยตรง ท่านซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามกรอบรัฐธรรมนูญ ก็จะกลายเป็นองค์กรเหนือรัฐธรรมนูญไปทันที และจะกลายเป็นศาลเตี้ยไปพร้อมๆ กัน เพราะใครๆ ก็ไปเคาะประตูเรียกท่านให้รับเรื่องได้ อย่างนี้ได้ทำงานคุ้มค่าเงินเดือนแน่

2. นอกจากรับคำร้องไว้โดยตรงแล้ว ท่านยังบังอาจมีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราว ห้ามมิให้สภานิติบัญญัติลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 โดยคำสั่งดังกล่าวอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ป.วิ.แพ่ง) โดยที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญรองรับ อีกทั้งยังไม่มีวิธีพิจารณาของท่านเอง

ป.วิ.แพ่ง เป็นกฎหมายเอกชน ใช้สำหรับคดีในศาลยุติธรรมที่พิพาทกันระหว่างโจทก์-จำเลย ในฐานะเอกชน จะมาใช้กับกฎหมายมหาชนได้อย่างไร นักกฎหมายทั้งประเทศงงกันไปหมด ใครๆ อาจทำพลาดกันได้ แต่ถ้าผิดพลาดแล้วจะต้องแก้ไข เหตุไรจึงไม่ใช้ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 27 ว่าด้วยการเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย โดยการยกเลิกคำสั่งที่ให้รับคำร้องโดยตรง รวมทั้งคำสั่งที่ให้สภานิติ
บัญญัติชลอการลงมติวาระ 3 ท่านกลับไม่ทำ แล้วยังเดินหน้าร่วมกันลงมติเอกฉันท์ 8 เสียงว่า ท่านมีอำนาจรับคำร้องพิจารณาไว้โดยตรง แต่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าเสีย

พฤติการณ์เช่นนี้ ถือได้ว่า ท่าน “ฉีก” รัฐธรรมนูญที่ท่านมีส่วนร่วมกันร่างขึ้นมาเอง เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า โดยถือว่าไม่มีสถาบันใดตามรัฐธรรมนูญที่จะรับการร้องทุกข์จากประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียให้พลิกคำวินิจฉัยในส่วนนี้ของท่านอีกแล้ว เท่ากับท่านกำลังทำ “รัฐประหารเงียบ” ที่นักกฎหมายหลายท่านต่างชี้ว่าท่านทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 กล่าวคือ ท่านเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งมีระวางโทษจำคุกถึง 10 ปี ข้อหาหนึ่งเป็นอย่างน้อย

นอกจากรัฐประหารเงียบแล้ว ท่านกำลังใช้อำนาจที่ไม่มีกฎหมายรองรับเข้าไปแทรกแซงควบคุมอำนาจอธิปไตยฝ่ายอื่นในขณะนี้ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ถึงแม้คำวินิจฉัยในประเด็นอื่นของท่าน อาจจะดูดี เหมือนจะเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมือง แต่ท่านกำลังทำตัวเหนือระบบทุกอย่าง คำวินิจฉัยที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญไม่เป็นการล้มล้างการปกครองท่านไม่จำเป็นต้องชี้ขาด เพราะเป็นประเด็นตื้นๆ ที่แม้นักศึกษานิติศาสตร์ชั้นปีที่ 1 ก็ย่อมรู้ แต่ท่านลืมไปว่าคำวินิจฉัยของท่าน ที่ท่านอาจภูมิใจว่า จะเป็น “บรรทัดฐาน” ใหม่ที่หักล้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อนในเรื่องเดียวกัน ประชาชนคิดว่า น่าจะเป็น “บรรทัดเถื่อน”เสียมากกว่าเพราะ

1.ถ้าท่านตัดบทเพียงว่า ยินยอมให้ยื่นตรงต่อท่านตามสิทธิพิทักษ์ตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 เท่านั้น ส่วนอื่นต้องมีองค์กรตรวจสอบก่อนยื่นเช่นเดิม นับแต่นี้ไปจะมีผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งประชาชนจะยื่นคำร้องต่อท่านโดยตรง อ้างว่า มีบุคคลหรือพักการเมือง (พิจารณาเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ว่า เฉพาะบุคคลหรือพรรคการเมือง เป็นการตีความช่วยเหลือท่านมิให้ร่อแร่ไปกว่านี้ ) ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง ฯ นอกวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ ท่านจะต้องรับคำร้องไว้ทุกเรื่อง ไม่ว่าบุคคลหรือพรรคการเมืองนั้นเป็นฝ่ายใด และคิดว่าจะมีคำร้องเช่นนี้ตามมาเป็นโขยง

2.เมื่อท่านใช้อำนาจแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติได้ ต่อไปวันข้างหน้า หากมีคำร้องตามมาตรา 68ขึ้นมาอีก อ้างว่า ศาลปกครองที่กำลังพิจารณาคดีพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนอยู่จะทำการตามมาตรา 68 โดยมีข้ออ้างอันละเอียดพิศดาร มีเหตุผลรองรับ ท่านต้องรับคำร้องไว้ก่อนเพื่อพิจารณา เพราะเมื่อท่านทำตัวเป็น “องค์กรเหนือรัฐธรรมนูญ” แทรกแซงควบคุมเหนือนิติบัญญัติได้ ท่านก็ต้องกล้าไปแทรกแซงควบคุมอำนาจตุลาการได้เช่นเดียวกัน ส่วนฝ่ายบริหารนั้น เหมือนลูกไก่ในกำมือของท่าน เป็นทั้งลูกไก่ใต้ปีกทหาร และจะเป็นลูกไก่ใต้อุ้ง “มือที่มองไม่เห็น” ร้อง เจี๊ยบ เจี๊ยบ เจี๊ยบ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการเสนอกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฎร

ณ เวลานี้ เป็นเกมส์วัดใจของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำของศาล ที่ว่าควรมีการทำประชามติ ญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ปรากฏข้อความในคำแนะนำของท่านว่า “ สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” เสียก่อน หรือจะดำเนินการไปตามมาตรา 291 ที่เกือบถึงปลายทางแล้ว

แต่กระผมเห็นว่า คำแนะนำของท่านไม่ใช่คำวินิจฉัยและไม่อยู่ในอำนาจของท่านที่จะทำได้ เพราะ

<!--[if !supportLists]-->1.ไม่อยู่ในประเด็นใดๆ ที่ยกขึ้นมาพิจารณา

<!--[if !supportLists]-->2.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจชี้แนะหรือสั่งการหัวหน้าอำนาจบริหาร คือนายกรัฐมนตรีหรือประธานรัฐสภา ประมุขอำนาจนิติบัญญัติในเรื่องนี้แม้แต่น้อย เป็นเพียงความพยายามที่จะอัพเกรดตัวเอง ขึ้นมาให้เป็นอำนาจที่สี่ทั้งๆที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 หรือรัฐธรรมนูญอำมาตย์ฯ ให้ทำเช่นนั้นได้

ท้ายสุด ทั้งสามอำนาจเป็นของประชาชน มาจากประชาชน แต่ท่านทำตัวอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ประชาชนจะไม่ยอมให้ท่านทำผิดเป็นครั้งที่สองอีกต่อไป

 

นทีทอง สมุทรชลธี

 

บล็อกของ นทีทอง สมุทรชลธี

นทีทอง สมุทรชลธี
   
นทีทอง สมุทรชลธี
 
นทีทอง สมุทรชลธี
การที่ศาลรัฐธรรมนูญ (“ท่าน”) มีคำวินิจฉัยในวันศุกร์ ที่ 13 กรกฎาคม นี้ นับเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ผิดอย่างใหญ่หลวง โดยกระทำความผิดมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือ
นทีทอง สมุทรชลธี
                                                            ประชาธิปเต่า
นทีทอง สมุทรชลธี
 
นทีทอง สมุทรชลธี