แสงแดดมีความสำคัญต่อการถ่ายภาพอย่างยิ่ง เพราะเป็นแสงจากธรรมชาติ ทำให้ภาพมีมิติ มีเงา แต่ก็ต้องเลือกเวลาเช่นกัน อย่างที่บอกในชื่อเรื่องว่า แสงแรกและแสงสุดท้าย แสงแรกนั้นคือ แสงแดดยามเช้าจนถึงสาย ๆ น่าจะประมาณ 8.30 น. และแสงสุดท้ายของวัน คือประมาณ 4-5 โมงเย็น เป็นช่วงเวลาที่พอดีที่สุดในการถ่ายภาพ
\\/--break--\>
คนเป็นช่างภาพจึงต้องรู้จักตื่นเช้าเพื่อไปให้ทันแสงอาทิตย์ บางวันนอกจากจะได้ถ่ายพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าแล้ว ยังอาจได้พระจันทร์ตกยามเช้าในอีกฟากฟ้าหนึ่ง ที่เชียงใหม่ก็มีโดยเฉพาะในช่วงนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่มุมไหนของเชียงใหม่
เราเคยถ่ายที่เชิงดอยสุเทพ ตื่นหกโมงเช้า ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน โผล่หน้าออกมาจากห้องพัก พบพระจันทร์ลอยเด่นอยู่เหนือพระธาตุดอยสุเทพ ขณะที่ด้านตะวันออกพระอาทิตย์กำลังขึ้น มุมห้องพักเราเห็นเพียงพระจันทร์ คว้ากล้องแทบไม่ทัน
ภาพนี้ถ่ายเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง พระอาทิตย์อยู่ด้านซ้ายมือของภาพ จึงเป็นภาพย้อนแสงนิดหน่อย ที่ยกมาให้ดูนี้คือภาพที่โฟกัสตรงท้องฟ้า กล้องดิจิตอลมักเจอปัญหาในสภาวะที่วัตถุมีแสงแตกต่างกันมาก ๆ ครึ่งดำด้านล่างนั้นยังไม่มืดเท่านี้แต่ก็มืดกว่าท้องฟ้าครึ่งบน เมื่อโฟกัสพื้นดินด้านล่าง ท้องฟ้าก็จะขาวไม่เห็นก้อนเมฆไม่เห็นฟ้าสีฟ้า เมื่อโฟกัสที่ฟ้า หรือที่ก้อนเมฆ ก็จะได้ภาพแบบนี้ ขึ้นอยู่กับแสงของวัตถุที่เราโฟกัส เวลาโฟกัสภาพที่เห็นที่จอ LCD ในกล้องก็จะเห็นแสงแตกต่างกันไป เลือกได้ตามความพอใจ
รูปนี้ก็เหมือนกัน เห็นเงาที่ทาบทับทุ่งข้าวอย่างชัดเจน ถ้าโฟกัสที่ฟ้า ข้างล่างก็จะมืด แต่เราจะได้ฟ้าอย่างที่ต้องการ ถ้าโฟกัสที่เงา ฟ้าก็จะขาวจ้าเกินไป ภาพนี้โฟกัสที่ตรงสีเขียวกลางภาพ เวลาถ่ายก็ต้องเลือกวัดแสงตรงจุดที่เห็นว่ากลางที่สุด จะได้ไม่ต้องใช้วิชามารในโฟโต้ช็อปมากนัก
ดูสองรูปนี้จะเห็นได้ชัด ว่าเวลาวัดแสงตรงส่วนมืด ภาพจะออกมาขาว เพราะกล้องจะปรับหน้ากล้องให้กว้างเพื่อรับแสงมาก ถ้าวัดแสงตรงส่วนสว่างหรือส่วนที่พอดีที่สุด ก็จะได้อย่างภาพบน ฟ้าก็ได้ ดินก็ได้ คนก็ได้ ถ่ายรูปต้องโลภนิดหน่อย
สำหรับเราชอบถ่ายแสงเช้า เพราะรู้สึกไปเองว่าแสงแดดยามเช้าให้พลังกับชีวิต ยามเช้าคนไม่เยอะ ไม่ค่อยมีคนตื่นออกมาดูโลก ได้สัมผัสโลกที่ยังไม่ตื่น ความเงียบ ความสงบ ขณะที่แสงบ่ายเหมือนจะมีความอ่อนล้าเจือปนอยู่ในนั้น เหงา ๆ ยังไงไม่รู้