Skip to main content

องค์ บรรจุน


ผีที่คนมอญนับถือ มิใช่ผีต้นกล้วย ผีตะเคียน ผีตานี ผีจอมปลวก แต่เป็นผีบรรพชน ผีปู่ย่าตายายของเขา สิ่งที่รัดโยงและธำรงความเป็นมอญที่สำคัญสิ่งหนึ่งคือ “การนับถือผี”

ผีเป็นศาสนาแรกของทุกชาติทุกภาษา คนมอญนับถือผีควบคู่กับพุทธศาสนา เคารพยำเกรงไม่กล้าฝ่าฝืน การรำผีนอกจากเป็นการเซ่นไหว้ผีประจำตระกูลแล้ว ยังเป็นการรักษาโรคด้วย หากเทียบกับการรักษาโรคในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่า เป็นจิตวิทยาการแพทย์ ในบรรดาการรักษาโรคที่หลากหลายของมอญ เช่น การรักษาด้วยสมุนไพร การนวด คาถาอาคม และพิธีกรรม เช่น การทิ้งข้าว (เทาะฮะแนม) การเสียกบาล (เทาะฮะป่าน) ส่วนพิธีกรรมที่ใหญ่ที่สุดคือ การรำผี (เล่ะฮ์กะนา)


คนมอญนับถือผีมาแต่โบราณกาล แม้เมื่อยอมรับนับถือศาสนาพุทธแล้วก็ยังนับถือผีควบคู่ไป ตำนานในการถือผีจึงมักเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเสมอ


สมัยพุทธกาลเศรษฐีผู้หนึ่งมีภรรยา 2 คน ภรรยาหลวงไม่มีลูกจึงอิจฉาฆ่าลูกภรรยาน้อย ตาย ภรรยาเศรษฐีทั้งสองนี้เมื่อตายไปก็พยาบาทจองเวรฆ่าลูกของอีกฝ่ายสลับกันไปทุกชาติ ชาติสุดท้ายฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นผี อีกฝ่ายเกิดเป็นมนุษย์ ต่างมีลูกด้วยกันทั้งคู่ ฝ่ายผีไล่ตามกินลูกมนุษย์ มนุษย์จึงหนีไปพึ่งพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร พระองค์ทราบความเป็นมาโดยตลอดด้วยพระอภิญญาณ จึงแสดงพระธรรมเทศนาแก่นางผีและมนุษย์ จนทั้งสองได้คิดเลิกจองเวรกัน ต่อมานางผีได้ไปอยู่กับมนุษย์ ช่วยเหลือมนุษย์และชาวเมืองทั้งหลาย บังเกิดผลดีมีโภคทรัพย์สมบูรณ์มั่งคั่ง จึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมาของชาวมอญในการนับถือผีบ้านผีเรือน


อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า สมัยพุทธกาล มีครอบครัวหนึ่งยังเหลือแต่มารดาและบุตรชาย มารดาได้ไปสู่ขอหญิงสาวมาเป็นภรรยาบุตรชาย แต่หญิงคนนั้นเป็นหมัน มารดาจึงคิดจะหาหญิงสาวคนใหม่มาให้ หญิงหมันกลัวภรรยาใหม่จะรวมหัวกับแม่สามีรังแกตน นางจึงไปหาภรรยาใหม่ให้สามีด้วยตัวเอง เมื่อภรรยาใหม่ตั้งครรภ์หญิงหมันก็เอายาผสมอาหารให้แท้งลูกถึง 2 ครั้ง พอครั้งที่ 3 ภรรยาใหม่ไม่แท้งแต่ทารกขวางท้องจึงตายทั้งกลม ก่อนสิ้นใจนางได้กล่าวจองเวร และได้ไปเกิดเป็นแมวในบ้านหญิงหมัน


เมื่อสามีจับได้จึงฆ่าหญิงหมันตาย หญิงหมันไปเกิดเป็นแม่ไก่อยู่ในบ้าน เมื่อแม่ไก่ออกไข่ แม่แมวก็มากินไข่หมดทุกครั้ง แม่ไก่แค้นใจจึงอธิษฐานให้ไปเกิดใหม่เป็นแม่เสือ ฝ่ายแม่แมวได้ตายไปเกิดเป็นแม่เนื้อ พอแม่เนื้อตกลูก แม่เสือก็มาจับกินลูกของแม่เนื้อ แม่เนื้อตายไปเกิดเป็นยักษิณี ฝ่ายแม่เสือตายไปเกิดเป็นหญิงสาวในเมืองสาวัตถี เมื่อคลอดลูกยักษิณีก็มาจับลูกของเธอกินถึง 2 ครั้ง พอครั้งที่ 3 นางจึงหนีกลับไปคลอดลูกที่บ้านเกิด ยักษิณีก็ได้ตามไปอีก หญิงสาวจึงอุ้มลูกหนีเข้าไปในพระวิหาร ขณะนั้นพระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมอยู่ หญิงสาวขอให้พระพุทธองค์ช่วยเหลือ พระพุทธองค์จึงเรียกนางยักษิณีและหญิงสาวมาให้สติ “ถ้าพวกเจ้าไม่มาสู่สำนักเรา เวรของพวกเจ้าจักตั้งอยู่ตลอดชั่วกัลป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน ของหมีกับไม้สะคร้อ และเวรของกากับนกเค้า เพราะเหตุไรพวกเจ้าถึงได้จองเวรแก่กันและกันเล่า เพราะเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร แต่เวรหาระงับด้วยการจองเวรไม่”


เมื่อยักษิณีได้ฟังจึงได้คิดและเลิกจองเวรนับแต่นั้นมา พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งให้หญิงสาวพายักษิณีไปบ้าน เลี้ยงดูอย่างดี ยักษิณีจึงตอบแทนบุญคุณด้วยการบอกฝนฟ้าน้ำท่าเพื่อการเพาะปลูก หญิงสาวจึงได้ผลิตผลสมบูรณ์ค้าขายร่ำรวย เมื่อชาวเมืองทราบเรื่องจึงพากันเคารพบูชาเลี้ยงดูนางยักษิณี และได้รับผลดีเช่นกัน ชาวเมืองจึงพากันนับถือนางยักษิณีสืบต่อมา


ตำนานเหล่านี้ได้ผูกเรื่องผีเข้ากับพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเข้ามามีส่วนสำคัญ นับว่าเป็นการผสมผสานความเชื่อเรื่องผีที่มีอยู่เดิมเข้ากับพุทธศาสนาอย่างกลมกลืน เป็นการกตัญญูรู้คุณและระลึกถึงต่อบรรพชนผู้มีพระคุณอย่างหนึ่ง


คนมอญทุกตระกูลจะมีผีประจำตระกูล แต่ละตระกูลนับถือสัญลักษณ์ผีประจำตระกูลของตนแตกต่างกันไป เช่น ผีเต่า ผีงู ผีไก่ ผีข้าวเหนียว นอกจากนี้บางแห่งยังมีผีชนิดอื่นๆ เช่น ในจังหวัดราชบุรีมีการนับถือผีม้า ในจังหวัดสมุทรสาครบางบ้านนับถือผีกล้วยหอม การนับถือผีโดยมากสืบทอดผ่านลูกชายคนโต มีในบางชุมชนเท่านั้นที่สืบทอดผีผ่านลูกชายคนเล็ก ในแต่ละบ้านต้องมีเสาผี (เสาเอก) เป็นที่เก็บของใช้ของผี ได้แก่กระบุงหรือหีบ ภายในประกอบด้วยผ้านุ่งผ้าห่ม และแหวนผี แหวนทองหัวพลอยแดง ซึ่งต้องเก็บรักษาดูแลให้ดี อย่าให้ของหายผ้าขาดชำรุด หากชำรุดสูญหายต้องหามาเปลี่ยนใหม่ มิฉะนั้นผีอาจลงโทษให้คนในตระกูลให้เจ็บไข้ได้ป่วย


ชาวมอญจะเซ่นไหว้ผี เรียกว่า ผีบ้านผีเรือน เป็นประจำทุกปี โดยจะทำกันเป็นการภายในครอบครัว ในช่วงสงกรานต์ซึ่งถือเป็นช่วงขึ้นปีใหม่ เครื่องเซ่นต่างๆ ได้แก่ อาหารหวานคาว ขนมต้มแดงต้มขาว กล้วย อ้อย มะพร้าว ดอกไม้ธูปเทียน ทองคำเปลว ผ้าสี น้ำอบ จุดธูปเทียนบอกกล่าว เมื่อธูปมอดหมดจึงไหว้ลา และนำเครื่องเซ่นไปแบ่งกันกินในครอบครัว ถือว่าเป็นยาและศิริมงคล


การรำผีนั้นจะกระทำเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ผิดปกติขึ้นในบ้าน หรือมีข้อบ่งชี้บางประการเกิดขึ้น เช่น มีคนในบ้านหายไป หรือเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ หญิงตั้งครรภ์พิงเสาบ้าน มีคู่สามีภรรยาที่เป็นคนนอกผีมานอนในบ้านในลักษณะผัวเมีย ครอบครัวทำมาหากินไม่ขึ้น เกิดอุบัติเหตุรุนแรง เมื่อมีการบนบานให้หายป่วย ให้คนที่หายไปกลับมา หรือเกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวข้างต้น เจ้าบ้านหรือหัวหน้าครอบครัวจะไปหาโต้ง (ผู้อำนวยการพิธี) ให้ทำนาย หากการทำนายบ่งบอกว่าเหตุอาเพศนั้นเป็นเพราะผีทำ ก็ต้องจัดพิธีรำผีเพื่อเป็นการขอขมา การเตรียมการทั้งหมด โต้งจะต้องเป็นผู้กำกับดูแลขั้นตอนทุกอย่างโดยละเอียด ตั้งแต่การปลูกโรงพิธี การเตรียมของประกอบพิธี เช่น ขนมผี อาหารคาวหวาน ผ้านุ่งผ้าห่ม อุปกรณ์การรำ การแต่งตัว เป็นต้น



ปะรำพิธี (เหริ่งกะนา) รำผีมอญ บ้านบางกระดี่ บางขุนเทียน กรุงเทพฯ


การรำผีมักกระทำกันในเดือนคู่หรือช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือน 4-6 ห้ามจัดพิธีในวันพระเพราะต้องเข้าวัดทำบุญถือศีล การจัดงานภายในตระกูลเดียวกันห้ามจัดงานเกินปีละ 1 ครั้ง งานในที่นี้รวมตั้งแต่ โกนจุก งานบวช งานแต่งงาน งานศพ ในการจัดพิธีรำผีนี้ต้องบอกกล่าวญาติทุกคนที่นับถือผีเดียวกันให้มาทั้งหมด ในวันสุกดิบก่อนวันทำพิธี 1 วัน ปลูกโรงพิธีขึ้น 1 หลัง ภายในบริเวณบ้านของตน ซึ่งแต่ละตระกูลมีตำราที่ต่างกัน จัดเตรียมเครื่องเซ่นและอุปกรณ์รำผีซึ่งจัดไว้เป็นชุดๆ ตามจำนวนสมาชิกในตระกูล ต้องหาวงปี่พาทย์มอญประกอบพิธี เล่นเพลงไปตามแต่ละบทเฉพาะ ปี่พาทย์และโต้งต้องรู้ขั้นตอนของพิธีกรรมทั้งหมดอย่างดี ท่ารำและเพลงต้องสัมพันธ์กัน


การประกอบพิธีจะเริ่มจากการเชิญปาโน่ก (พ่อปู่ หรือ ผีต้นตระกูล) เข้าสู่โรงพิธี โต้งจะเป็นผู้กำกับการรำในแต่ละขั้นตอนโดยละเอียด ในทุกบทของการรำผี ผู้รำจะต้องรำด้วยเครื่องเซ่น 1 กะละมัง เหล้า และรำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ต้นสันพร้ามอญ (ข่าไก่ดำ) ดาบ กระสวยทอผ้า และ เหล้า อย่างละคู่

การรำผีแต่ละบทจะมีท่ารำและเพลงประกอบประจำบทนั้นๆ เมื่อพ่อปู่ลงโรงพิธีแล้ว จะทำพิธีกันในโรงพิธีไปตลอดทั้งวันตามขั้นตอนในตำรา ซึ่งแต่ละขั้นตอนล้วนจำลองวิถีชวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ได้แก่ รำสามถาด (รำถวายมือ) รำถวายผีในโรงพิธีและขอขมาเจ้าที่ ฟันต้นกล้วย จำลองทำพิธีศพ อาบน้ำต้นผี จำลองขั้นตอนการโกนจุกและอาบน้ำต้นผี (ผู้สืบทอดผี) บวชเณร จำลองขั้นตอนการบวชเณร พายเรือบิณฑบาต กาขโมยปลาย่าง ฝรั่งกินปลา จำลองขั้นตอนการเลี้ยงอาหารฝรั่ง ฝรั่งส่องกล้อง ดูระยะทาง ลูกสะใภ้ รวมลูกสะใภ้ทั้งหมดรำด้วยกัน พ่อปู่รักษาโรค รักษาด้วยคาถา สมุนไพร เทียนเสี่ยงทาย กินปลาย่าง การกินปลาย่างของเมียน้อย ซึ่งต้องแอบกิน



พ่อปู่ (ปาโน่ก) ลงสู่ปะรำพิธี บ้านบางกระดี่ บางขุนเทียน กรุงเทพฯ


เมื่อจบการรำชุดกินปลาย่างแล้วจึงจะสามารถพักกินข้าวกลางวันได้ ซึ่งการรำผีในช่วงเช้าเป็นแบบพิธีการ สำหรับช่วงบ่ายผ่อนคลายเน้นความสนุกสนาน ได้แก่ รำผีประจำโรงพิธี พ่อปู่หนุ่มจีบสาว ส่งขันหมาก ชนไก่ รำสามสาว เก็บฝ้าย เล่นสะบ้า คล้องช้าง ออกศึก รำกะเหรี่ยง (คล้ายลาวกระทบไม้) รำรวมญาติ (ผีตะครุบ) รำรวมญาติทั้งตระกูล เชิญผีกลับขึ้นบ้าน รำถวายมือ ทุ่มมะพร้าวเสี่ยงทาย เข็นเรือ สะเดาะเคราะห์


จากนั้นเปิดดูเทียนเสี่ยงทาย โต้งจะทำนายอนาคต การทำมาหากิน ความปรองดองของคนในบ้าน การรำผีจะจบลงด้วยการรวบรวมเอาเศษอาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ที่ทำขึ้นชั่วคราวรวบรวมลงแพกล้วย นำไปลอยน้ำ เป็นการลอยเสนียดจันไร


พ่อปู่รักษาโรค ในพิธีฟ้อนผีเม็ง (มอญ) บ้านเม็ง ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่


เมื่อประมาณกลางปี 2544 ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปร่วมพิธีรำผีมอญที่ชุมชนวัดใหญ่นครชุมน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ชุมชนมอญแห่งนี้ยังคงมีความเชื่อถือในผีบรรพชนของตนอย่างเหนียวแน่น ครั้งนั้นเจ้าของบ้านเกิดความรู้สึกว่าครอบครัวของตนอยู่กันอย่างไม่สงบสุข มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเป็นระยะ เกิดเรื่องระหองระแหงของคนในครอบครัวและหมู่เครือญาติอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องมรดกที่ดินระหว่างพี่ๆ น้องๆ ซึ่งชุมชนในต่างจังหวัดในแต่ละคุ้มบ้านก็มักเป็นเครือญาติกันทั้งหมด บ้านเรือนอยู่ชิดติดกัน ไม่มีรั้วบ้านกั้นแบ่งชัดเจน เมื่อมีเรื่องบาดหมางกันก็ไม่อาจปิดประตูอยู่บ้านใครบ้านมันได้ เด็กเล็กยังคงวิ่งเล่นด้วยกัน หมาแมวเป็ดไก่ของแต่ละบ้านก็เดินไปมาที่ใต้ถุนบ้านของแต่ละหลัง จิกกัดกันเป็นเรื่องปกติ ความที่พี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงทะเลาะกันเองภายหลังจากที่พ่อแม่ตายไปและทิ้งมรดกไว้ให้แบ่งกันเอาเอง ความขัดแย้งเรื่องมรดกจึงเป็นเหมือนเรื่องในครอบครัว ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือแม้แต่เจ้าอาวาสวัดที่นับถือก็เกินจะบิณฑบาตข้อพิพาทนี้ ได้ จนเรื่องต้องถึงโรงถึงศาลเป็นคดีความรอคำพิพากษา


กฏเหล็กในพิธีรำผีข้อหนึ่ง คือ เมื่อบ้านใดจัดพิธีรำผีขึ้น ทุกคนในตระกูลจะต้องมาร่วมงาน ไม่ว่าแยกบ้านไปอยู่ห่างไกลเพียงใด หากยังมิได้ทำพิธีแยกผี (แยกผีไปอยู่ที่บ้านของตนเอง) ก็ถือเสียว่ายังเป็นผีเดียวกัน หากมีความผิดเกิดขึ้นก็จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน และหากไม่มาร่วมงาน จะถือว่าการรำผีในครั้งนั้นไม่สะอาด ไม่หลุด ไม่ขาด (จากความผิด)


ในวันทำพิธีรำผีมอญ ทุกคนในตระกูลดังกล่าวก็มาร่วมกันมากหน้าหลายตา สมาชิกกว่า 100 คน เนื่องจากเป็นตระกูลใหญ่ ค่อนข้างมีฐานะ (จึงเกิดปัญหาเรื่องมรดก) คนที่มีเรื่องพิพาทกันก็ระดับเลยวัยกลางคน แต่ละคนมีลูกเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว ที่ทิฐิมากก็เดินเกร่อยู่วงนอก คอยดูอยู่ห่างๆ หากถึงขั้นตอนการรำที่ต้องเข้าร่วม เมื่อโต้งเรียกมาเข้าพิธีก็สักแต่ทำไปแกนๆ อย่างนั้นเอง ไม่พูดไม่คุยกันอย่างที่พี่น้องคลานตามกันมาพึงเป็น


ในช่วงบ่ายของวันนั้นเป็นช่วงรำแบบเน้นความบันเทิง ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ปี่พาทย์จะตีเพลงสตริง ลูกทุ่ง ทะแยมอญ ผสมผสานลงไปก็สามารถทำได้ คนนอกตระกูลที่ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการก็สามารถร่วมสนุกร่วมรำได้ ซึ่งโดยปกติแล้วโต้งทั่วไปเป็นแต่เพียงผู้จัดการ ผู้สื่อสารกับผี ให้ผีมาเข้าร่างลูกหลานเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ให้ผีมาเข้าร่างโต้ง แต่ที่จังหวัดราชบุรีนั้นคงเป็นกรณีพิเศษ ผีอาจหาโอกาสเข้าร่างทั่วไปยาก โต้งจึงมักทำหน้าที่ให้ผีเข้าร่าง เป็นม้าทรงไปในตัว เรียกง่ายๆ ว่า รู้งาน คุมเกมเดินเกมได้ดี ระหว่างที่พิธีกรรมกำลังไปได้สวย อยู่ในขั้นตอนการรำบททั่วๆ ไป หลายคนกำลังรำได้ที่ สนุกสนานไปกับจังหวะปี่พาทย์ จู่ๆ โต้งที่ยืนคุมพิธีอยู่กลางปะรำพิธีก็สั่นเทิ้มไปทั้งร่าง แม้ว่าคุณป้าที่เป็นโต้งจะอายุเพียง 60 ปีเศษ แต่ยังแข็งแรง ปกติเดินได้คล่องแคล่วหลังตรงก็กลับกลายเป็นเดินหลังค่อม ตะโกนเสียงดัง แหบห้าว ด้วยภาษามอญล้วนๆ (ปกติคนมอญในปัจจุบันเมื่อพูดมอญมักมีภาษาไทยปน) เรียกหาหมากพลู เหล้า ยาสูบ สูบยาทีเดียว 3 มวน


ช่วงนี้วงปี่พาทย์รู้งานอยู่แล้ว ตีเพลงช้าลงทันใด โดยที่โต้งไม่ต้องหันมาขยิบตา และเมื่อผีในร่างโต้งดื่มเหล้าสูบยาหมดมวน ปี่พาทย์ก็เปลี่ยนเป็นเพลงโอด และตามด้วยเพลงมอญร้องไห้ ผู้ที่มาร่วมงานทุกคนเปลี่ยนอารมณ์แทบไม่ทัน ต่างเงียบกริบตามองเพ่งเป็นจุดเดียวในปะรำพิธี


ผีในร่างโต้งเรียกลูกๆ ทุกคนเข้าไปหา ตวาดลั่นให้ทุกคนกอดคอกันไว้ พลางทรุดตัวลงนั่งกอดและเขย่าตัวคนที่ผีในร่างโต้งเรียกว่าลูกๆ ทุกคนอย่างแรง ผีในร่างโต้งร้องไห้ฟูมฟาย ปากก็พร่ำบ่นแต่ความเสียใจน้อยใจ


“..
ทำไมลูกๆ ไม่รักกัน ทำไมลูกๆ ทะเลาะกัน ลูกไม่รักพ่อแล้วหรือ เราเคยลำบากมาด้วยกันจำไม่ได้แล้วหรือ รักกันไว้นะ พ่อเป็นห่วงลูกทุกคน...” ปี่พาทย์ยังคงตีคลอไปเบาๆ เดาได้ไม่ยากเลยว่าทุกคนในที่นั้นร้องไห้สะอึกสะอื้น มือปาดน้ำตากันทั่วหน้า ไม่เว้นแม้แต่ผู้มาร่วมงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้ง รวมทั้งนักวิชาการที่มาสังเกตุการณ์ในพิธี


พิธีรำผีมอญในวันนั้นจบลงด้วยดี ด้วยความประทับใจและตื้นตันใจของทุกคน วันต่อมาผู้เขียนโทรศัพท์ไปคุยกับหัวหน้าวงปี่พาทย์ สามีของโต้ง ถามเรื่องข้อมูลอะไรบางอย่าง แต่ได้ข้อมูลสืบเนื่องมาจากพิธีรำผีในวันนั้นว่า “พี่น้องบ้านนั้นเขาถอนฟ้อง แบ่งมรดกกันลงตัวแล้ว…”


พิธีรำผีมอญ ชุมชนคลองนาใหม่ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร


ผู้เขียนไม่มีคำถามว่าผีมีจริงหรือเปล่า ผู้เขียนไม่เคยตั้งคำถามว่าโต้งจบการแสดงมาจากสถาบันใด ในเมื่อคำตอบท้ายสุดเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายอยู่แล้ว ในฐานะนักวิชาการจะไปตั้งคำถามที่ตอบไม่ได้เพื่ออะไร

ปัจจุบันความเชื่อเรื่องผีลดน้อยลง เพราะถูกท้าทายจากความเชื่อและหลักการทางวิทยาศาสตร์ ต่อสู้กับความคิดของผู้คนและความเจริญทางวัตถุที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจ มองว่าเป็นเรื่องงมงาย

หากแท้ที่จริงแล้ว “ผี” คือเครื่องมือควบคุมสังคม เฝ้ารักษาขนบจารีตประเพณีและวัฒนธรรมให้คงอยู่ มีนัยยะแฝงทางวัฒนธรรม ผ่านการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลาช้านาน สื่อแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ความเป็นมอญที่มีขนบจารีตที่ดีงามเป็นเครื่องนำทาง เมื่อลูกหลานมอญหันหลังให้ผี วัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ของมอญจึงค่อยๆ เลือนหายไปทีละน้อย การนั่งลงพูดคุยเปลี่ยนเป็นการประจันหน้า สิ่งสวยงามที่แทรกอยู่ในความเชื่อเรื่องผีจึงหมดไปจากวิถีชีวิต



บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…