Skip to main content

องค์ บรรจุน

"มอญร้องไห้" ร้องทำไม ร้องเพราะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ หรือญาติเสีย...?


ถูก...ญาติเสีย แต่ต้องระดับคนมีหลานเหลนแล้ว และเป็นที่เคารพรักของผู้คนเท่านั้น หากญาติที่เสียชีวิตอายุยังน้อย แม้จะเสียใจก็ร้องไห้กันไปตามมีตามเกิด ไม่มีการทำพิธีกรรมให้เป็นพิเศษแต่อย่างใด


มอญร้องไห้ เป็นมีพิธีกรรมของคนมอญ ซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในงานศพ เป็นการแสดงความอาลัยรักของลูกหลาน ที่สำคัญเป็นการยกย่องและรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ตายที่เคยทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต โดยมากแล้วผู้ร้องจะเป็นหญิงสูงอายุและเป็นเครือญาติกับผู้ตาย เนื้อหาที่ร้องพรรณนาออกมานั้นจะได้ออกมาจากใจ เพราะเคยสัมผัสคลุกคลีมาก่อนเมื่อตอนยังมีลมหายใจ โดยผู้ร้องจะร้องเป็นภาษามอญ และต้องใช้ปฏิภาณกวี คิดคำรำพันคล้องจองให้สัมผัสลงตามทำนองดั้งเดิม เนื้อหาที่ร้องนั้นจึงไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าผู้ตายเป็นใคร เคยประกอบคุณงามความดีอะไรเอาไว้บ้าง รูปแบบมอญร้องไห้ของแท้นั้นเรียบง่าย แต่กินใจ ได้เนื้อความเฉพาะผู้ตายเป็นรายๆ ไป ต่างจากมอญร้องไห้ของกรมศิลป์ที่ประยุกต์เสียใหม่ รูปแบบหรูหราอลังการ สะเทือนอารมณ์รุนแรง (ออกแนวผู้ดีเสียของรักอยู่สักหน่อย) ทว่าติดกับดัก "มาตรฐาน" จะฟังกี่งานๆ เนื้อหาก็เหมือนกันเป๊ะ


ประวัติความเป็นมาของมอญร้องไห้นั้นมีผู้กล่าวไว้หลายแห่ง เช่น เสถียรโกเศศ กล่าวถึงใน ประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิต ตอนที่เกี่ยวกับความตายไว้ว่า ต้นเหตุมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทรงปาฏิหารย์ให้พระบาททะลุออกมานอกโลง เพื่อให้พระมหากัสสป ศิษย์เอก เคารพบูชา ฝ่ายพุทธบริษัทที่ยังไม่บรรลุอรหันต์ผลต่างร้องไห้กันระงม จึงเป็นประเพณีสืบต่อมา


บ้างก็ว่าเป็นการสืบเนื่องมาจากนางมัลลิกาที่กรรแสงคร่ำครวญ ต่อพระบรมศพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งชาวมอญนั้นนับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด จึงได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาสำหรับกระทำต่อภิกษุสงฆ์จนถึงฆราวาสที่มีผู้เคารพนพไหว้



มอญร้องไห้ สดุดีเทิดพระเกียรติ งานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
เมื่อ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๗ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง


ที่มาอีกประการคือเป็นเรื่องกุศโลบายในการสงครามสมัยพระเจ้าราชาธิราช กษัตริย์มอญผู้ขับเคี่ยวกับกษัตริย์พม่าในอดีต สืบเนื่องจาก พระยาเกียรติ บุตรของพระเจ้าราชาธิราช ถูกกองทัพพม่าเข้าล้อมเมืองโดยไม่รู้ตัว กำลังทหารรักษาเมืองก็น้อยไม่สามารถสู้รบกับทหารพม่าที่มีกำลังมากกว่าได้ พยายามส่งข่าวไปให้พระราชบิดามาช่วยก็ไม่สามารถส่งสาส์นเล็ดลอดไปได้ ทว่ามีทหารชื่อ สมิงอายมนทยา อาสาออกไปส่งข่าวด้วยการนำอุบาย "นอนตาย" ไปบนแพหยวกกล้วย โดยใช้น้ำผึ้งทาตามตัว ข้างกายมีหม้อปลาเน่า ส่งกลิ่นเหม็น และมีแมลงวันตอมเหมือนตายจริงๆ ขณะเดียวกันในระหว่างที่เดินออกมาก็ให้หญิงสาวโกนหัวเดินร้องไห้โหยหวน พลางรำพึงรำพันถึงคุณงามความดีของสามีที่นอนตายบนแพหยวกกล้วยนั้น ฝ่ายทหารพม่าไม่ได้เฉลียวใจว่าเป็นกลลวง ปล่อยให้ขบวนศพผ่านไป จนสามารถนำทัพหลวงมาช่วยได้สำเร็จ จึงเกิดเป็นประเพณี "มอญร้องไห้" ไว้อาลัยสืบต่อจากนั้นมา


มอญร้องไห้แบบดั้งเดิมของมอญนั้น นิยมทำกันในช่วงดึกสงัดระหว่างการตั้งศพบำเพ็ญกุศลและช่วงก่อนรุ่งสาง อีกช่วงก็คือหลังชักศพขึ้นกองฟอนหรือเมรุเตรียมฌาปนกิจ การร้องไห้นี้เป็นการร้องที่ไม่มีน้ำตา ได้แต่พรรณนาคุณความดีของผู้ตาย พลางสะอื้นน้อยๆ เป็นระยะ มิได้ฟูมฟายตีอกชกหัว อย่างที่คนยุคหลังนำมาดัดแปลง บางแห่งเป็นสาวประเภทสอง แต่งกายเป็นสาวมอญ ร้องไห้พลางกลิ้งตัวลงมาจากเมรุชั้นสูงสุด เพื่อเรียกอารมณ์สะเทือนใจจากแขกที่มาร่วมงาน และสิ่งที่ไม่น่าดูอย่างยิ่งก็คือ เมื่อผ้าผ่อนท่อนสไบของหล่อนเปิดเปิง (หากเป็นหญิงยังน่าอภิรมณ์)


เดิมนั้นหากผู้ตายมีฐานะดี ลูกหลานมักหาปี่พาทย์มอญมาบรรเลง และให้ญาติผู้หญิงที่มีความสามารถร้อง "มอญร้องไห้" ประกอบ พรรณนาคุณงามความดีของผู้ตายด้วยความอาลัยถึง ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีเครื่องขยายเสียงนั้น โดยเฉพาะในช่วงรุ่งสาง บรรยากาศเงียบสนิท เสียงร้องนั้นโหยหวล พลอยทำให้ผู้ที่ได้ยินที่แม้ไม่ใช่ญาติก็อดสะเทือนใจจนร้องไห้ตามไม่ได้


ธรรมเนียม "มอญร้องไห้" ได้มีอิทธิพลแพร่เข้าไปยังราชสำนักไทย จะต้องมีนางร้องไห้ทุกครั้งที่สูญเสียบุคคลในราชตระกูล ธรรมเนียมนางร้องไห้ในวังนี้คาดว่ามีมาแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ มาเลิกไปสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ไม่ทรงโปรดฯ ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ ไม่จริงใจ ร้องไปคนตายก็ไม่ฟื้นขึ้นมาได้ จึงรับสั่งให้เลิกไป แต่ในชั้นหลังในหมู่สามัญชนทั่วไปโดยเฉพาะชาวมอญยังคงรักษาประเพณีนี้ไว้ไม่เปลี่ยนแปลง


มาระยะหลังครูเพลงไทยเดิมของกรมศิลป์ได้ประยุกต์มอญร้องไห้ ใส่บทร้อง และบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์มอญ เรียกกันว่า แบบตลาด ส่วนเนื้อเพลงนำมาจากเรื่อง "ราชาธิราช" ตอนสมิงพระรามหนีเมีย ขอเล่าเท้าความเกี่ยวกับเรื่อง ราชาธิราช ให้ฟังพอเป็นสังเขป ดังนี้คือ ราชาธิราช เป็นวรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการทำสงครามระหว่างพม่ากับมอญ กรมศิลปากรนิยมนำมาแสดงเป็นละครพันทาง


ทีนี้มาเข้าเรื่องสมิงพระราม ทหารเอกของพระเจ้าราชาธิราช ถูกพม่าจับไปเป็นเชลยศึกที่กรุงอังวะ ขณะนั้นกรุงอังวะมีศึกติดพันกับพระเจ้ากรุงจีน ได้มีพระราชสาส์นมาท้าพนันให้หาทหารมือดีรำเพลงทวนต่อสู้กันตัวต่อตัว ถ้าฝ่ายอังวะแพ้ จะถูกริบเมือง แต่ถ้าฝ่ายพระเจ้ากรุงจีนแพ้ก็จะยอมถอยทัพกลับไป


เมื่อสมิงพระราม ทราบเรื่องจึงอาสาออกรบ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกันศึกไม่ให้ลุกลามไปถึงกรุงหงสาวดี หลังจากที่สมิงพระรามมีชัยชนะ สามารถฆ่า กามะนี ทหารของพระเจ้ากรุงจีนลงได้ พระเจ้ากรุงอังวะได้พระราชทานธิดาให้อภิเษกสมรส สมิงพระรามจำใจรับด้วยเกรงจะเสียสัตย์ แต่ขอพระราชทานคำสัญญาไว้ ๒ ข้อ คือ

๑. ห้ามใครก็แล้วแต่เรียกตนว่า เชลย

๒. ถ้าเกิดสงครามระหว่างกรุงหงสาวดีกับกรุงอังวะ ตนขอไม่สู้รบด้วย เพราะทั้งสองฝ่ายล้วนมีพระคุณกับตน


ต่อมาธิดาพระเจ้ากรุงอังวะ ให้กำเนิดพระโอรสองค์หนึ่ง มีความซุกซนประสาเด็ก พระเจ้ากรุงอังวะรักและหลงมาก วันหนึ่งขณะที่นั่งอยู่บนพระเพลาเสด็จตา นัดดาองค์น้อยก็ลุกขึ้นปีนป่ายขึ้นที่สูง พระเจ้ากรุงอังวะหันมาเห็นก็หลุดปากว่า "ลูกอ้ายเชลยนี้กล้าหาญนัก นานไปเห็นจะองอาจแทนมังรายกะยอชวาได้..." สมิงพระรามได้ยินเข้าจึงน้อยใจ และคิดหนีกลับเมืองมอญ ก่อนกลับได้เข้าไปดูหน้าลูกเมียเป็นครั้งสุดท้าย เขียนจดหมายสอดไว้ใต้หมอน เนื้อหาในจดหมายก็เป็นดังที่ได้ยินได้ฟังกันโดยทั่วไป ผู้ที่ร้องเพลงนี้เอาไว้เป็นท่านแรก คือ ครูเหนี่ยว ดุริยพันธ์ ถือเป็นแม่แบบของเพลงมอญร้องไห้มาจนปัจจุบัน เนื้อความมีดังนี้ คือ


     "หยิบกระดาษวาดอักษรชะอ้อนสั่ง        น้ำตาหลั่งไหลหยดรดอักษร

แล้วสอดไว้ใต้เขนยที่นางนอน                   พิศพักตร์ทอดถอนหฤทัย
    
ค่อยตระโบมโลมลูบจูบสั่งลา                นางจะรู้กายาก็หาไม่

หักจิตออกนอกห้องทันใด                         ขึ้นม้าควบหนีไปมิได้ช้า..."

 

 

มอญร้องไห้ สดุดีเทิดพระเกียรติ งานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

 

ปัจจุบัน มอญร้องไห้ที่คนทั่วไปรู้จักก็คือ มอญร้องไห้แบบกรมศิลปากร ร้องไปก็สะอื้นไห้เสียจนปากเบี้ยว ยิ่งแบบที่สาวประเภทสองนำมาดัดแปลงออกรับงานแสดงตามงานวัดด้วยแล้ว ตีอกชกหัว หกคะเมนตีลังกา แหกปากฟูมฟาย ได้ชมได้ฟังครั้งใดสะเทือนอารมณ์จนสุดจะบรรยาย แต่ขอโทษ แบบนั้นมอญผู้ดีเขาไม่ทำกัน ของแท้เขาต้องนิ่งแสดงออกแต่พองาม เศร้าน่ะเศร้าอยู่หรอก ก็ญาติตายทั้งคน แต่มันก็ควรเก็บอาการ ต้อง "แอ๊บ" กันบ้าง น้ำตาคลอน้อยๆ สะอื้นในคอหน่อยๆ หากดัดจริตมากเสียจนน้ำตาท่วมเบ้า เสลดพันคอ ร้องไม่เป็นภาษา ดูหน้าหรือทั้งแป้งพอกหน้าสีป้ายเปลือกตาละลาย คนมางานศพคงตกใจนึกว่าคนที่นอนในโลงออกมานั่งร้องเสียเอง


บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…