Skip to main content
 

องค์ บรรจุน

 

๗ กรกฏาคม ที่ผ่านมาเป็นวันอาสาฬหบูชา รุ่งขึ้นก็เป็นวันเข้าพรรษา วันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เมื่อมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ผู้คนจึงออกต่างจังหวัดกันมาก ถนนช่วงนั้นจึงโล่งอย่างเทศกาลใหญ่ๆ ทุกครั้ง เปิดทีวีมีแต่ข่าวขบวนแห่เทียนเข้าพรรษากันทัวประเทศ ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ แปลกเท่าไหร่ยิ่งดี บางจังหวัดไม่เคยจัดก็สู้อุตส่าห์ซื้อช่างแกะเทียนค่าตัวแพงลิบมาจากอุบลราชธานี กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนทำเทียนเข้าพรรษาเพื่อขายการท่องเที่ยว ไม่ได้ถวายให้พระใช้งานจริง


ขณะนั้นเวลา ๑๐.๓๐ น. ผมนั่งอยู่โคนต้นอโศกอินเดียภายในวัดชนะสงคราม ความคลุกคลีกับวัดวามานานจึงพาลห่างวัด ไม่ได้คิดจะไปทำบุญทำทานอย่างชาวบ้านเขา นั่งดูชาวพุทธทุกเพศทุกวัยอุ้มลูกจูงหลานเข้าวัด เท่าที่ดูด้วยตาเปล่าประกอบกับพาหนะที่โดยสารมาส่วนใหญ่จะเป็นคนฐานะปานกลางไปจนถึงมีอันจะกินทั้งนั้น นับเป็นที่น่าปลาบปลื้มใจ พุทธศาสนาคงยืนยาวถึง ๕,๐๐๐ ปี ตามพุทธทำนาย

\\/--break--\>

ลานอโศกตรงที่ผมนั่งอยู่นั้นเป็นสี่แยกทางเดินสำหรับคนและรถยนต์ ที่ใช้เดินรถทางเดียว อยู่ตรงเกือบกึ่งกลางของวัด รถยนต์จำนวนมากที่แออัดอยู่เต็มลาดจอดและถนนทุกแยก เป็นภาพสะท้อนว่าน้ำมันราคาถูก คนพอมีพอกินและคนมีอันจะกินมาทำบุญกันมาก รถเก๋งคนละคัน รถตู้บางคันมีแค่ ๓-๔ คน นับไม่ถ้วนว่ามีรถทั้งหมดเท่าไหร่ พื้นที่วัดไม่พอสำหรับรถทั้งหมด ส่งผลให้รถภายในวัดติดอย่างหนัก ส่วนพระอุโบสถ สถานที่ใช้ในการทำบุญมีสาธุชนนั่งเบียดเสียดกันแทบต้องขี่คอ


ญาติโยมคงไม่ได้มีศรัทธาอย่างนี้กับทุกวัด การที่วัดชนะสงครามเกิดปรากฏการณ์อย่างนี้ขึ้น (และเกิดมานานแล้ว) คงเนื่องจากวัดชนะสงครามมีชื่ออยู่ในบรรดา ๙ วัด ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มาไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล ด้วยความเชื่อว่า "วัดชนะสงคราม" มีชื่อเป็นมงคล ต่างจาก "วัดสังเวช" ที่อยู่ไม่ห่างกัน


ไม่กี่พรรษามานี้พุทธศาสนิกชนผู้มีปัญญา ชี้แนะสังคมให้ใช้วิจารณญาณ เลิกถวายเทียนพรรษา เพราะวัดทั้งหลายมีไฟฟ้าสำหรับพระเณรท่องบ่นตำรากันแล้ว ผู้คนคล้อยตามพากันถวายหลอดไฟ (เช่นเดียวกับเมื่อราว ๑๐ ปีที่แล้ว เมื่อมีผู้ตายแล้วฟื้นรายหนึ่ง อ้างว่าช่วงที่เดินอยู่ในนรกไม่มีน้ำกิน เพราะตอนยังมีชีวิตไม่เคยทำบุญตักบาตรน้ำเปล่า หลังจากนั้นผู้คนทั่วบ้านทั่วเมืองจึงตักบาตรพระสงฆ์ด้วยน้ำเปล่า บางคนใส่ถุงเล็กๆ นั้นพอทน บางคนใส่น้ำโพลาริสขวดขาวขุ่น ๒ ขวดเต็มบาตรพอดี ช่วงนั้นพระสงฆ์องค์เจ้าแบกน้ำเปล่ากลับวัดกันหลังแอ่น แต่ไม่ค่อยมีข้าวฉัน) เมื่อก่อนในหมู่บ้านผมที่ต่างจังหวัด วัดหนึ่งๆ ในแต่ละปีจะมีคนถวายเทียนพรรษากันอย่างมาก ๒-๓ ต้น ตามฐานะ ญาติพี่น้องทั้งตระกูลรวมเงินกัน แต่ในกรุงเทพฯคนมีฐานะถวายกันคนละต้น แต่นั่นยังนับว่าดี เพราะเทียนที่เหลือจากการใช้ทางความหมาย (ไม่ใช่ทางประโยชน์ใช้สอย) มีพ่อค้ามาขอซื้อถึงวัดนำกลับไปหลอมใหม่


ขณะที่หลอดไฟนีออนหลอดหนึ่งใช้กันนานจนลืม ปีนี้หลวงพี่ที่ผมเคารพได้รับประเคนหลอดไฟทั้งหลอดผอม ๒๐ วัตต์ ๔๐ วัตต์ และหลอดตะเกียบ ขนาดสามารถเปลี่ยนแทนหลอดไฟเก่าทั้งกุฏิได้ ๓ รอบ ซึ่งจริงๆ แล้วท่านก็ไม่รู้จะเอาไปให้ใคร เพราะเขาก็มีกันแล้วทั้งนั้น (ต่างจากโยมบางคนเจตนาบรรเจิด นำหลอดไฟไปถวายวัดต่างจังหวัดห่างไกล แต่ลืมดูว่าวัดยังไม่มีไฟฟ้าใช้) เมื่อนั่งพลิกดูหลอดไฟสังฆทานของหลวงพี่ยี่ห้อหนึ่ง มีรายชื่อวัด ๙ วัด นัยว่าจะให้ซื้อทีเดียว ๙ ชุด แล้วไปถวายทั้ง ๙ วัด สะดุดตาตรงที่ระบุว่า "วัดชนะสงคราม ถนนพระอาทิตย์" แสดงว่าคนทำข้อมูลต้องไม่เคยไปวัดชนะสงครามอย่างแน่นอน


กลับมาที่สี่แยกใกล้ลานอโศก รถยนต์ส่วนตัวเนืองแน่นเต็มลานและถนน ประกอบกับ รถของคนมีฐานะบางคันขับรถสวนทาง ไม่เคารพกติกาขับรถทางเดียว ถนนแคบรถหลีกกันไม่ได้ รถหลายคันรีบไปตักตวงกลัวบุญจะหมด รถบางคันได้บุญมาแล้วเกรงจะตกหล่นหายไป บีบแตรไล่รถคันหน้าสนั่นวัด บางคนลงจากรถเดินไปต่อว่ารถที่ย้อนศร ต่างระบายอารมณ์ใส่กัน คงต่างหลงลืมกันไปแล้วว่ามาวัดเพื่ออะไร


หรือต่างก็มาวัดเพื่อถวายหลอดไฟ อย่างโฆษณาในทีวี

 

พุทธพญากรณ์ ๑๖ ประการ ของพระพุทธเจ้าเมื่อสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งแคว้นโกศล ได้ทรงสุบินนิมิตประหลาดถึง ๑๖ ประการ ทรงเกรงว่าอันตรายจะเกิดกับพระองค์ จึงให้พราหมณ์ปุโรหิตทำนาย พราหมณ์ได้พยากรณ์ว่า อันตรายจะเกิดมีแก่พระชนม์ชีพของพระองค์ พระอัครมเหสีและราชสมบัติ และได้ทูลแนะนำให้ฆ่าสัตว์บูชายัญสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อในลัทธิของตน แต่โชคดีที่พระนางมัลลิกาเทวี พระมเหสี ได้แนะนำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลไปทูลถามพระพุทธเจ้าก่อน พระองค์ทรงทำนายว่า ผลของพระสุบินนิมิตจะไม่เกิดแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล แต่จะเกิดขึ้นในอนาคตกาล ถ้าผู้เป็นใหญ่ปกครองบริหารบ้านเมือง ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ชนทั้งหลายย่อหย่อนในศีลธรรม จิตใจเสื่อมคลายจากกุศล ก็จะเกิดเหตุวิปริตผิดธรรมชาติ บ้านเมืองจะเดือดร้อน แล้วทรงพยากรณ์พระสุบินนิมิตไว้เป็นข้อๆ ในที่นี้จะขอยกมาเฉพาะข้อที่ ๘ ซึ่งดูจะเข้ากับสถานการณ์ที่สุด


ข้อ ๘ ภาพสุบินนิมิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล คือ "ตุ่มน้ำเต็มเปี่ยมลูกใหญ่ใบหนึ่งตั้งอยู่ที่ประตูเมืองล้อมด้วยตุ่มเป็นอันมาก ชนทุกชั้นเอาหม้อตักน้ำมาจากทุกทิศ เทใส่ลงในตุ่มที่เต็มแล้ว น้ำก็ไหลล้นออกไป คนทั้งหลายก็ยังเทน้ำลงในตุ่มที่เต็มแล้วอยู่เรื่อยๆ ไม่มีใครสนใจในตุ่มที่ว่างเปล่าเลย" สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า


"ในอนาคตกาล โลกจะเสื่อม เมืองเล็กเมืองน้อยจะหมดความหมาย ทรัพย์สำรองของแผ่นดินจะถดถอยมีเหลือเพียงเล็กน้อย ผู้เป็นใหญ่ปกครองบริหารบ้านเมืองจะเกณฑ์ให้ชาวเมืองแสวงหาทรัพย์มาส่งให้กับผู้ปกครองเมืองใหญ่ๆ จนไม่มีใครสามารถที่จะสำรองทรัพย์ไว้ในบ้านเรือนของตน เป็นเหมือนกับการเติมน้ำใส่ตุ่มที่เต็มแล้ว ไม่เหลียวแลตุ่มเปล่าๆ บ้างเลยฉะนั้น"

 

 

 

ธรรมะบนลานอโศกที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้นึกถึงวัดต่างจังหวัดห่างไกล ไม่นับรวมถึงโรงเรียนด้อยโอกาสทุรกันดาร คนไข้อนาถาในโรงพยาบาล มีให้สร้างบุญสร้างกุศลได้อีกมาก อย่ายื้อแย่งกันทำบุญที่วัดชนะสงครามเลย มาทำบุญที่วัดชนะสงครามแล้ว ใช่ว่าทุกคนจะสอบติดมหาวิทยาลัย ได้รับการเลือกตั้ง ชนะคดีความ หรือสมหวังกลับไปทุกคนเสียเมื่อไหร่ ดูอย่างกกต.ชุดก่อนนั่นเป็นตัวอย่าง มาไหว้พระทำพิธีที่วัดชนะสงครามตอนเย็น รุ่งขึ้นเข้าคุก

 

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…