Skip to main content

องค์ บรรจุน

 

การสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งรับรู้ความหมายจากอีกฝ่ายหนึ่ง และเกิดการตอบสนอง นับแต่โบราณกาลมีตั้งแต่การสุมไฟให้เกิดควัน นกพิราบสื่อสาร ปัจจุบันการสื่อสารมีหลายวิธีรวดเร็วทันใจมากขึ้น อาจเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ ดาวเทียม ระบบโทรคมนาคม หรือการสื่อสารระบบเครือข่ายที่อาศัยดาวเทียมและสายเคเบิลใยแก้ว ที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ต ก็ได้ ส่วนภาษาที่มาพร้อมกับวิธีการสื่อสารเหล่านั้น เป็นเครื่องมือที่สำคัญซึ่งมีพัฒนาการไม่หยุดนิ่ง มีการหยิบยืมคำในภาษาอื่น เปลี่ยนรูปแบบและความหมายตลอดเวลา เกิดจากการที่มนุษย์ต้องการใช้ภาษาสนองตอบรูปแบบชีวิตปัจจุบันของตน ภาษาจึงเป็นภาพสะท้อนการใช้ชีวิตของมนุษย์ในขณะนั้น


สื่อการเขียนในรูปตัวหนังสือ เป็นการสื่อเพื่อแสดงความรู้ ความคิด ความรู้สึก และความต้องการของผู้ส่งสารออกไปเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ผู้รับสารสามารถอ่านเข้าใจ ได้รับทราบความรู้ ความคิด ความรู้สึก และความต้องการเหล่านั้น การถ่ายทอดโดยวิธีบอกเล่าปากต่อปาก หรือที่เรียกว่า "มุขปาฐะ" อาจทำให้สารตกหล่นคลาดเคลื่อนได้ง่าย ลายลักษณ์อักษร ตัวหนังสือ หรือสื่อแสดงข้อความหรือสารที่แท้จริง คือเครื่องหมายที่ใช้แทนคำพูดนั่นเอง ในการสื่อสารด้วยสื่ออย่างที่เป็นทางการมีแบบแผนที่ต้องคำนึงถึงคือ ต้องใช้ถ้อยคำสำนวนสุภาพ ชัดเจน รัดกุม และเหมาะสม โดยพิจารณาว่าผู้รับสารสามารถรับสารที่ส่งมาได้มากน้อยเพียงใด ส่วนการสื่อสารด้วยสื่ออย่างไม่เป็นทางการ ในที่นี้จะเรียกว่า “สื่อชาวบ้าน” ที่ไม่ต้องคำนึงถึงถ้อยคำสำนวนที่สุภาพตามหลักการภาษาแบบราชบัณฑิตมากนัก มุ่งเน้นให้ผู้รับสารเข้าใจเจตนาที่แท้จริงอย่างตรงไปตรงมา อันเป็นที่มาของถ้อยคำระคายหูที่ไม่อาจพบได้ใน “สื่อสาธารณะ”


กู-มึง ภาษาในราชสำนักสุโขทัย ปัจจุบันจัดเป็นคำหยาบ ถูกปฏิเสธการมีอยู่และการใช้งานในชีวิตจริง


ด้วยวิธีคิดคล้ายๆ กันนี้ ชาววังจึงคิดชื่อเรียกปลาช่อนเสียใหม่ว่า ปลาหาง เรียกผักบุ้งว่า ผักทอดยอด เรียกปลาสลิดว่า ปลาใบไม้ จนมีคำค่อนขึ้นว่า “ชาววังมันช่างคิด เรียกดอกสลิดว่าดอกขจร ชาวนอกมันยอกย้อน เรียกดอกขจรว่าดอกสลิด” เมื่อคนใหญ่คนโตของบ้านของเมืองเห็นว่าชื่อศัพท์สำเนียงสิ่งใดแปร่งหูตนก็จัดแจงเปลี่ยนเสียโดยไม่คำนึงถึงความหมายและที่มา เช่น เปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็นประเทศไทย เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ยายมอญเป็น วัดอมรทายิการาม เปลี่ยนชื่อบางเหี้ยเป็น คลองด่าน เปลี่ยนชื่อบ้านซำหัวคน เป็นบ้านทรัพย์มงคล ล่าสุดมีนักการเมืองบ้องตื้นเสนอให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน “ภูมิซรอล” ที่กำลังมีปัญหาลุกลามเรื่องเขาพระวิหาร เหตุเพราะบ่งบอกความเป็นเขมร และถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ต่อไปพสกนิกรชาวไทยจะกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยภาษาอะไร หากรังเกียจที่จะใช้ภาษาเขมร...?


นักภาษาไทยเรียกร้องให้คนไทยรักษ์ภาษาไทย “อย่าพูดไทยคำอังกฤษคำ” แต่สามารถพูดไทยคำสันสกฤษคำ ไทยคำบาลีคำ ไทยคำจีนคำ ไทยคำอินโดนีเซียคำ ไทยคำมอญคำ ไทยคำเขมรคำ เพราะคำเหล่านี้ไทยเรา “ยึด” เขามานานจนเป็นภาษาไทยแล้ว (เวลาไปเจอคนลาวพูดคำที่คนไทยเรียกว่าภาษาสุภาพในตลาดสดคนไทยจึงขบขัน ไม่รู้ว่าขันชาวลาว หรือขันคนที่เอาภาษาลาวบ้านๆ มาเป็นคำสุภาพกันแน่)


ภาษาหนังสือราชการที่สละสลวย กระชับ กินความ ทว่าวกไปวนมาตีความไม่ออก ชาวบ้านเซ็นชื่อไปทั้งไม่เข้าใจ มารู้ตัวอีกทีก็ถูกยึดบ้านยึดนาหนี้สินท่วมหัว หากเป็นเช่นนั้นเราลองพิจารณา “ภาษาชาวบ้าน” สื่อที่เหมาะกับชาวบ้าน มีความตรงไปตรงมา ชัดเจนได้ใจความ เพียงแต่อาจบาดใจคนที่อ่อนไหวบอบบางด้วยถ้อยคำทิ่มแทง ขอย้ำว่า เป็นสื่อชาวบ้านถึงชาวบ้านเท่านั้น มิใช่คนเมืองที่ใช้สื่อชาวบ้านอย่างขาดความเข้าใจ

 


ร้านอาหารแนวสุขภาพย่านบางลำพู อยู่ตรงป้ายรถเมล์พอดี ช่องประตูมีกรุ่นแอร์เย็นๆ โชยออกมาตลอดเวลา จึงต้องเขียนสื่ออย่างสุภาพว่า “ขอความกรุณาอย่ายืนขวางทางเข้า”

 


ร้านบะหมี่หมูแดงย่านเทเวศน์ คงชอบใจ
เฉพาะลูกค้าที่มานั่งกินในร้าน คนซื้อกลับบ้านที่มานั่งรอในร้านทำลายโอกาสทางการค้า “ซื้อกลับบ้านกรุณารอหน้าร้าน” ต่อด้วย “ขอบพระคุณที่ให้ความร่วมมือ”



ร้านเครื่องปั้นดินเผาย่านเตาปูนบอกว่า “ของทุกอย่างห้ามต่อ ขายถูกแล้ว”

 


แผงผลไม้ตรงข้ามตลาดสดเทเวศน์ คงเหลือทนกับพวกชิมแล้วไม่ซื้อ หรือซื้อครึ่งโลแต่ชิมเกือบโล
“เงาะ มังคุด ลำใย ห้ามชิม งดชิม” ตบท้ายด้วยข้อความ “โปรดอ่าน”

 


วัดธรรมาภิรตารามย่านบางซื่อ คงจะทำนอง “โดนมาเย๊อะ เจ็บมาเย๊อะ” เลยต้องมีสื่อเพื่อเตือนสติญาติโยม “เศรษฐกิจก็ไม่ดี ระวังคนร้าย คนชั่ว คนมิจฉาชีพต้ม
-ตุ๋น หลอกลวงมาหลายรูปแบบ
ระวัง อย่าเผลอฯ”

 


ที่โรงพยาบาลศิริราช คาดว่าลูกค้าและปวงชนชาวไทยที่ไปร่วมลงนามถวายพระพรคงมีจำนวนมาก สื่อที่แขวนไว้ในห้องน้ำจึงต้องบอกว่า “คนขี้อย่าใจลอย คนคอยใจจะขาด”

 


ทางเท้าย่านปิ่นเกล้า ออกแนวประชดประชัน “ต้นไม้นะ ไม่ใช่ถังขยะ” แต่จะได้ผลหรือเปล่าดูได้จากภาพ

 


ภาพสุดท้ายหน้าตลาดบางลำพู อาศัยกระแสโลกร้อน ประกอบกับตัวเองก็ร้อน บรรดาแม่ค้าเลยช่วยกันเขียนป้ายตั้งไว้ “ดับเครื่องด้วยช่วยโลกร้อน”

 

ในอีกแง่มุมหนึ่ง ความหมายของสื่อที่ปรากฏอย่างตรงไปตรงมาในรูปของ “สื่อชาวบ้าน” นั้นอาจเกิดจากความเหลืออดเหลือทน เข้าทำนองว่า “พูดภาษาคนไม่รู้เรื่อง” นัยว่าก่อนหน้านี้ก็ได้ใช้ความพยายามอย่างอื่น จนเมื่อต้องขึ้นป้ายอาจเริ่มจากภาษาสละสลวยแล้ว แต่คนทั่วไปมักไม่สนใจอ่าน หรืออ่านแต่ไม่ให้ความสำคัญ เช่น ป้ายข้างทางก่อนหน้านั้นอาจเขียนว่า “กรุณาอย่าทิ้งขยะลงในกระถางต้นไม้ ขอบคุณค่ะ” แต่ก็ยังมีคนทิ้งอยู่เรื่อยๆ เจ้าของก็เลยจำเป็นต้องเปลี่ยนข้อความบนป้ายใหม่เป็น “ต้นไม้นะ ไม่ใช่ถังขยะ” ในบางแห่งที่เคยเห็นยังมีการวงเล็บต่อไว้ด้วยว่า “ภาษาคน” เพราะต้องการประชดประชันคนที่ไม่มีระเบียบวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ แต่ที่สุดแล้วในหลายครั้งหลายหน การประชดประชัดนั้นก็ไม่ได้ผล รังแต่จะถูกประชดกลับซึ่งหนักกว่าเดิม นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าทุกวันนี้อุณหภูมิในความคิดของคนไทยสูงขึ้นทุกที ทุกวันนี้คนเราสื่อสารผ่านดวงตาและดวงใจน้อยลงกันแล้วหรืออย่างไร

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…