Skip to main content

 

ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น
สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
\\/--break--\>
เมื่อได้เรียนรู้แล้วจึงได้พยายามใช้ศัพท์แสงวิชาการ แม้จะไม่ค่อยเคยคุ้นปาก แต่เอาเถอะ เพื่อการต่อยอดองค์ความรู้แบบบูรณาการองค์รวม การพาตนเองเข้าสู่เวทีวิชาการเชิงวิพากษ์ที่เน้น
“เชิงอรรถ” และ “บรรณานุกรม” (บทความวิชาการบางชิ้นเมื่อเอาเชิงอรรถแต่ละหน้ามารวมกันยาวกว่าเนื้อหาวิชาการ) รวมทั้งการต่อสู้และข่มกันทางวิชาการด้วยทฤษฎีตะวันตก หน้าฉากเสนอปรับเปลี่ยนอคติแบบ “ฝรั่งมักถูกเสมอ” เป็นทัศนคติเชิงบวกมุ่งยกระดับภูมิปัญญาพื้นถิ่นสู่สังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่หลังฉากกลับก่อให้เกิดอัตลักษณ์เชิงซ้อนในวงวิชาการวาทกรรมอำพราง

หลังเรียนจบ หลายคนให้เกียรติเรียก
“นักวิชาการ” นับว่าดูดีไม่เลว แต่รู้ตัวดีว่า ถ้าจะเป็นได้อย่างมากก็แค่ “นักวิชาการคนกลุ่มน้อย”

นักวิชาการเยาวชนบางท่านไม่เห็นด้วยกับงานเขียนแบบที่อ้างอิงประวัติศาสตร์ส่วนกลางและโดยเฉพาะการยึดโยงกับราชสำนัก รวมทั้งคนที่มีภาพของความเป็น
“คนใน” และนักเคลื่อนไหวเรื่องวัฒนธรรมของคนกลุ่มน้อย จึงถูกกันออกจากนักวิชาการในอุดมคติ หลายท่านไม่จัดให้อยู่ในฐานะนักวิชาการไม่ว่าชายขอบหรือริมขอบ มีเพียงฉายาอันยาวที่ได้จากการทำงานว่า “นักเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมมอญ” ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง

“การจัดองค์ประกอบความเป็นไทยเสียใหม่ที่เริ่มขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยการดึงเอาความรับรู้ทางประวัติศาสตร์และความคิดฝันของชนชั้นนำไทยยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้กลับมาเป็นแกนกลางของความเป็นไทย พร้อมกับประดับประดาด้วยเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ในฐานะที่พึ่งของไพร่ฟ้าหลากชาติพันธุ์ ได้กลายเป็นแหล่งทรัพยากรอันอุดมของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทย ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างด้าว "ชาวพม่า" ในการยืนยันการดำรงอยู่ของพวกตนในดินแดนประเทศไทย

ดังปรากฏตัวอย่างว่า นักเคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรมมอญ ได้พยายามเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของตน เข้ากับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ฉบับราชการของไทย เพื่อยืนยันความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐไทยกับชาวมอญที่มีมานับแต่อดีต...
 
ในความเป็นจริง “แรงงานต่างด้าว” นั้นเรื่องหนึ่ง “สิทธิเสรีภาพ มนุษยธรรม เมตตาธรรม” เรื่องหนึ่ง “ความหลากหลายทางชาติพันธุ์” เรื่องหนึ่ง “ประวัติศาสตร์รัฐชาติ” เรื่องหนึ่ง “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” เรื่องหนึ่ง และ “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ฉบับเขียนใหม่” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นง่ายในเร็ววันอย่างที่นักวิชาการเยาวชนคิดฝัน แม้ทั้งหมดนี้จะสามารถ “บูรณาการ” เข้ากันได้ก็ตามแต่ก็ต้องแยกคิดพิเคราะห์ในรายละเอียด

“คนในวัฒนธรรม” หลายคน ซึ่งอาจมีผมรวมอยู่ด้วยในนั้น แวดวงวิชาการเรียกว่า “คนใน” ถูกจัดวางให้เป็น “แหล่งข้อมูล” และชุมชนของพวกเราคือ “พื้นที่ศึกษา” ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์ด้วยกันลงพื้นที่ศึกษามนุษย์ด้วยกันเองแต่เข้าไม่ถึงมนุษย์ แม้พยายามจัดวางตัวเองชนิด “วิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” แต่ก็เป็นได้แค่เพียง นักวิชาการแบบชะโงกทัวร์ พกทฤษฎีตะวันตกอย่างบ้าหอบฟาง ตั้งสมมุติฐานขึ้นไล่เลี่ยกับคำตอบ เพียงใส่ชื่อแหล่งข้อมูลและพื้นที่วิจัยเข้าไป เลือกอ่าน เลือกฟัง และเลือกหยิบข้อมูลบางอย่างด้วยสายตา (แว่น) ที่มีอคติส่วนตัว วิเคราะห์อย่างผิวเผินเป็นงานวิจัยเล่มหนา สิ่งที่ตามมาภายหลังงานวิจัยในตู้เหล็กปิดตายก็คือ ตำแหน่งทางวิชาการ และองค์ความรู้ว่าด้วยเรื่องราวว่าด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ “แหล่งข้อมูล” และ “พื้นที่ศึกษา” ด้วยภาษาขั้นเทพ ข้อมูลที่ได้นั้นแม้จะเป็นความจริงแต่ไม่ทั้งหมด เป็นเพียงความจริงที่เกิดขึ้นในบางวันเวลาและเหตุแห่งปัจจัยเท่านั้น ไม่ใช่ทุกบริบทแห่งปัจจัย

ข้อรังเกียจที่ว่า การสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์แอบอิงประวัติศาสตร์ส่วนกลางและราชสำนักของคนกลุ่มน้อยอย่างพวกเรา เช่น หญิงมอญ อำนาจ และราชสำนัก, เจ้าจอมโซ่ง, กำเนิดต้นแซ่และการตั้งนามสกุลจากแซ่ของลูกจีนในไทย และ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี เป็นต้น งานเหล่านี้แตกต่างกันในเรื่องของเนื้อหาและการนำเสนอ แต่หลักใหญ่ใจความก็คือ ต่างต้องการพื้นที่นำเสนอ การประกาศตัวตน ที่มิได้เป็นอากาศธาตุ ไม่ได้ต้องการเป็นเพียงผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รอรับฝนจากฟ้าเท่านั้น ความอิ่มเอมมิได้อยู่ที่ปากท้องอย่างเดียว จิตใจก็สำคัญไม่ต่างกัน

งานลักษณะดังกล่าวไม่ตอบโจทย์นักวิชาการ แต่ตอบโจทย์ชนกลุ่มน้อย เพราะเรื่องเล่าที่บอกรากเหง้าและการมีตัวตนของบรรพชนในหน้าประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้หมายถึงเพียงคนกลุ่มน้อยหรือคนชายขอบ (คนเพศที่สาม คนพิการ คนป่วย คนไร้บ้าน ชนกลุ่มน้อย คนชาติพันธุ์ คนชายขอบสวัสดิการรัฐ) เท่านั้น แต่มันได้แสดงให้คนเหล่านี้ซึ่งรวมกันแล้วเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคมได้มีส่วนในการภาคภูมิใจว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างสังคม ก็เพื่อการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่ต้องเหนือหรือด้อยกว่าใครในสังคมเดียวกัน

อันที่จริงแล้ว นักวิชาการในสังคมเรามีไม่มากนัก หากรวมคนกลุ่มน้อยและคนชายขอบทุกกลุ่มเข้าด้วยกันแล้วจะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม ยิ่งนับเฉพาะนักวิชาการที่ห่างไกลต่อการทำความเข้าใจประเด็นเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันต่างหากที่เป็น
“นักวิชาการชายขอบ”

การที่คนกลุ่มน้อยและคนชายขอบเชื่อมโยงตนเองเข้ากับประวัติศาสตร์ส่วนกลางในยุคที่นักวิชาการชายขอบเห็นว่าเป็นเรื่องที่ล้าสมัย ไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มน้อยทั้งหมดยอมรับในอำนาจ แต่เป็นการต่อสู้กับอำนาจด้วยอำนาจที่กดทับพวกเขามานาน เพื่อประกาศพื้นที่ของตน ปัจจัยทั้งสองประการจึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้ อย่างที่  นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวไว้ว่า

“ช่องโหว่ที่ทำให้ ‘ประวัติศาสตร์แห่งชาติ’ สำนวนนี้ไม่ลงตัวดังกล่าว ในภายหลังมีความพยายามที่จะทดแทนด้วยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็มีปัญหาตรงที่หลายครั้งด้วยกันเป็นการศึกษาที่อาศัยกรอบโครงของ “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” ทำให้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับราชธานี (ดังเช่นพงศาวดารท้องถิ่นส่วนใหญ่ซึ่งเขียนกันขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ท้องถิ่นไม่ได้เป็นฝ่ายรับ (
passive) เพียงอย่างเดียว ในความเป็นจริงท้องถิ่นเป็นหน่วยการเมืองที่เลือกการกระทำที่มองผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้งต่างหาก อีกทั้งมีโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างสังคมภายในที่เป็นอิสระจากการกำกับของราชธานี แต่การมองท้องถิ่นอย่างเป็นอิสระนี้ ซึ่งเริ่มกระทำกันมากขึ้นในภายหลัง กลับก่อให้เกิดความวิตกกังวล แก่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐและนักวิชาการอนุรักษ์นิยม เกรงกันว่าจะทำให้เกิดความแตกแยกในชาติ...”

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของคนกลุ่มน้อยจึงต้องอาศัยประวัติศาสตร์ส่วนกลางและราชสำนัก ซึ่งสามารถสนองประโยชน์ได้ ในขณะที่
“นักวิชาการชายขอบ” ปฏิเสธทั้งประวัติศาสตร์ส่วนกลาง ปฏิเสธทั้งคนกลุ่มน้อยที่อาศัยประวัติศาสตร์ส่วนกลางและราชสำนัก “นักวิชาการชายขอบ” เหล่านี้ จึงไม่เคยเข้าใจคนกลุ่มน้อยและแม้แต่ตัวเอง ในเวทีวิชาการจึงมักเกิดปรากฏการณ์พูดอย่างทำอย่าง ดังศัพท์วิชาการสวยหรูที่ว่า “ย้อนแย้ง”

ข้อชวนฉงนนั้นคือ สถาบันวิชาการหลายแห่งที่เป็นติ่งหนึ่งของมหาวิทยาลัย ทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาชน ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตนักวิชาการและผลงานวิชาการ หลายแห่งมีชื่อสถาบันเป็นพระนามของสมาชิกราชวงศ์ บางแห่งอาศัยวาระเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๓ รอบ ๔ รอบ หรือหลายๆ รอบ ในการก่อตั้งสถาบัน แม้การก่อตั้งสถาบันจะไม่ได้รับพระราชทานทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง แต่การใช้ชื่อสมาชิกใน
“สถาบัน” มาเป็นชื่อ “สถาบัน” เริ่มตั้งแต่การเวนคืนที่ดินได้โดยง่าย งบประมาณและตำแหน่งทางวิชาการเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งความน่าเชื่อถือเพื่อการแสวงหาทุนและความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสในการก่อตั้งสถาบัน เหล่านี้ถือเป็นการนำพาตนเองเข้าไปสัมพันธ์อยู่กับส่วนกลางและราชสำนักหรือไม่
 
 
 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…