Skip to main content

ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ


เวลามีงานแบบนี้ที ถือโอกาสแต่งตัวอวดกันเต็มที่”

ปกติก็ไม่ได้แต่งแบบนี้ พอมีงานก็ลุกขึ้นมาใส่กัน เฟคชัดๆ...”

แต่งตัวแบบวันวานยังหวานอยู่ ของปลอมทั้งนั้น”บริบทการแสดงออกของเขา เป็นต้น


การตั้งธงเอาไว้กับชาวบ้านแบบนี้ ชาวบ้านที่ไหนจะมีความรู้ท่วมหัวเท่านักวิชาการที่จะลุกขึ้นมาตีฝีปากด้วยไหว อีตอนลงพื้นที่เพื่อต้องการไปเก็บข้อมูลที่บ้านเขาก็ทำเป็นจริงใจ แสร้งเป็นพวกเดียวกัน ถามไถ่ซักไซ้เอาข้อมูลจนหนำใจ กลับมาถึงสถาบันหน่วยงานตัวเองก็เที่ยวเอาข้อมูลที่ชาวบ้านบอกเล่าให้มาประสาซื่อนั้น นำมาวิพากษ์วิจารณ์จนชาวบ้านดูราวกับมนุษย์หิน อย่างนี้แถวบ้านผมเรียกว่า “เนรคุณแหล่งข้อมูล”


ลำพังในห้องเสวนา ที่นักวิชาการสายพันธุ์มานุษยวิทยามักชอบเอาทฤษฎีมาถกเถียงกันคอเป็นเอ็น สิ่งที่ถกเถียงกันนั้นก็ไม่ได้ถกเถียงกันบนพื้นฐานความคิดเห็นของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ไปเอาความคิดทฤษฎีคนอื่นที่อ่านเจอมาคนละทฤษฎี เชื่อต่างกัน แล้วก็นำมาถกเถียงกันในฐานะสาวกผู้ซื่อสัตย์ต่อทฤษฎีนั้นๆ ฉันมองไม่เห็นประโยชน์ปัจจุบัน และดูไร้แก่นสารอย่างน้อยก็ในสายตาของฉัน แต่เอาเถอะการที่เขาจะเถียงกันในที่ทางของพวกเขาก็ช่างเถิด แต่การจะเอาทฤษฎีมาเม้าท์ชาวบ้านร้านตลาดนั้นบอกได้เลยว่า มันช่างไร้จริยธรรมเสียจริงนะคุณ


เชื่อหรือไม่ว่านักวิชาการพวกนี้หลายคนเวลาลงพื้นที่เก็บข้อมูลก็ใส่ชุดพื้นเมืองลงพื้นที่เพราะต้องการสร้างความกลมกลืนกับชาวบ้าน (แต่ในความเป็นจริงแล้วสุดจะแปลกแยก ทำเป็นซดเหล้าขาว เคี้ยวหมากปากแดง สิ้นเปลืองของชาวบ้านเขาเปล่าๆ) ส่วนในเวทีประชุมวิชาการก็ใส่เสื้อผ้าฝ้ายและผ้าคลุมไหล่ดูละม้ายเอ็นจีโอ สวมประโปรงบางเบาหรือกางเกงแสล็คกลีบโง้งในชั่วโมงสอนหนังสือหรือเวลาไปร่วมงานสังคมชั้นสูง ชุดครุยยาวกรุยกรายผ้าหนาหลายชั้นในวันรับใบประกาศด๊อกเตอร์ ชุดกระโปรงสีขาวฟูฟ่องหรือสูทหนาเตอะแถมเนคไทรัดต้นคอของบ่าวสาวในวันแต่งงานอย่างกะคนเมืองหนาว คำถามก็คือในเมื่อชีวิตประจำวันไม่ได้แต่งตัวแบบนี้ จู่ๆก็ลุกขึ้นมาแต่ง ใช้ได้หรือไม่ ผิดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ผิดผีไหม


...
ก็คำถามเดียวกับที่นักวิชาการเหล่านี้ถามกับคนอื่นนั่นแหละ

คำตอบของฉันก็คือ มันก็น่าจะแต่งได้ตามกาลเทศะของมัน


ในกรณีของคนที่ปฏิเสธสังคม ปฏิเสธการรับพระราชทานปริญญาบัตร ปฏิเสธงานแต่งงาน ที่จะเป็นแสดงว่าจำยอมอยู่ในชุดที่แสดงความสูญสิ้นอิสระภาพท่ามกลางสายตาผู้คนมากมาย หรือแต่งกายแบบประจานตัวเองว่าพินอบพิเทาศักดินา มันก็อาจตอบโจทย์สำหรับบางคนที่ทำอย่างนั้นได้เหมือนกัน หากภายในใจมีทฤษฎีฝรั่งค้ำคอ รวมทั้งหากการกระทำเช่นนั้นมันทำให้คนรอบข้างมีความสุข โดยไม่มีคำถาม ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี ฉันอนุโมทนาด้วย


คนชาติพันธุ์ที่แต่งตัวในชุดประจำชาติของเขาในวาระพิเศษนานๆ ครั้ง โดยไม่ได้แต่งในชีวิตประจำวัน เพราะเขาหลายคนมีแต่ชาติไม่มีประเทศ เขาจึงต้องการพื้นที่แสดงออกแค่บางวันบางเวลา เขาแต่งโดยมีนัยยะอะไรบางอย่างที่ต้องการจะบอกเล่ากับคนพวกเดียวกัน และอีกนัยยะหนึ่งสำหรับคนต่างพวก ที่นักวิชาการเหล่านี้ไม่มีวันจะเข้าใจ


นกเอี้ยงเอ๋ย... เอ็งจงบินไปเสียจากไหล่ของนักวิชาการเหล่านี้เถิด ไหล่ของนักวิชาการผู้หลงไหลและมัวเมาในทฤษฎี นักวิชาการผู้ปฏิเสธความจริงที่ทิ่มแทงจิตใต้สำนึกของตัวเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ฉันได้แต่หวังว่านักวิชาการเหล่านี้เขาคงจะไม่ใส่ชุดนอนลายแตงโมไปประชุมกับอธิการบดี นุ่งกางเกงตีเทนนิสไปถวายสังฆทานที่วัด ใส่ชุดดำไปเยี่ยมคุณลุงที่โรงพยาบาล ใส่สูทสีแดงไปงานศพคุณตา หรือนุ่งกระโจมอกไปโดดสระที่โอเรียนเต็ล ฉันเชื่อว่าคุณๆ แต่ละคนเขาคงจะมีคำตอบให้กับตัวเองกันทั้งนั้น ซึ่งคนชาติพันธุ์เขาก็มีคำตอบที่พอเหมาะพอดีให้ตัวเขาเองเหมือนกัน อย่าไปตั้งประเด็นในเรื่องแบบนี้นักเลย มันไม่เห็นสร้างสรรค์ตรงไหน

 

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…