Skip to main content

ภาสกร  อินทุมาร 


เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

สิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย ที่มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับแรงงานมอญย้ายถิ่นที่มาจากพม่า

ความเกี่ยวโยงสัมพันธ์ระหว่างคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัยกับคนมอญย้ายถิ่นที่มาจากประเทศพม่าได้เกิดขึ้นมาเนิ่นนาน ดังคำพูดของ “พระครูปลัดโนรา อภิวโร” เจ้าอาวาสวัดศิริมงคล แห่งตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ผู้ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายมอญในพื้นที่ ที่ว่า

“...วัดศิริมงคลนั้นห่างไกลจากตลาด ห่างไกลจากโรง งานไม่เท่าไหร่นัก คนมอญก็มาหลบลี้ ก็มาหลบก่อนที่จะเข้าโรง งาน หลบอยู่ที่วัดนี้ ประกอบกับหลวงพ่อเก่าท่านเมตตาต่อคน มอญ เพราะท่านรู้เรื่องคนมอญดี เพราะว่าหลวงพ่อก็เป็นคน มอญ แต่เป็นคนมอญไทยรามัญ ทีนี้พอคนมอญพม่าเข้ามาอยู่ แล้ว หลวงพ่อก็ให้ความอุปการะ หุงข้าวให้กินบ้าง พาไปหลบ ตำรวจบ้าง สมัยก่อนทางด้านหน้าวัดที่ติดกับแม่น้ำท่าจีน ส่วน ทางด้านหลังเป็นสวนพุทรา หลวงพ่อก็ให้คนขับรถไปหลบ... เขา ไม่ลืมบุญคุณที่ได้กินข้าว ได้ที่อยู่อาศัย เขาก็เลยมาต่อๆ กันเรื่อย หมู่ทางบ้านเขาก็รู้กันแล้วบอกต่อๆ กันไป แล้วก็อีกอย่างหนึ่งที่นี่ ก็มีพระมอญพม่าด้วย...” *

20080108 p30
พระอาจารย์โนรา เจ้าอาวาสวัดศิริมงคล

ทุกวันนี้ พระครูปลัดโนราและวัดศิริมงคล ก็ยังมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับคนมอญย้ายถิ่น ดังเช่นการที่คนมอญย้ายถิ่นจะเข้ามาทำบุญที่วัดทุกวันพระและวันสำคัญทางศาสนา และการที่มีพระมอญจากเมืองมอญจำพรรษาอยู่นั้น ก็ได้ทำให้คนมอญย้ายถิ่นได้เข้ามาขอความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ อาทิ การรักษาโรคตามแบบโบราณ การสะเดาะเคราะห์ ฯลฯ นอกจากนี้ ด้วยความช่วยเหลือของพระครูปลัดโนรา วัดศิริมงคลจึงถูกใช้เป็นสถานที่ที่คนมอญย้ายถิ่นจัดงาน “วันชาติมอญ” หรือ “วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ” มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ โดยที่งานดังกล่าว ก็คือพื้นที่ของการธำรงความเป็นชาติพันธุ์มอญ ผ่านการสดุดีวีรชนมอญและการแสดงทางวัฒนธรรม

20080108 p26
พระอาจารย์มาลัย เจ้าอาวาสวัดบางหญ้าแพรก

นอกจากพระครูปลัดโนราแล้วนั้น ยังมี “หลวงพ่อมาลัย” เจ้าอาวาส “วัดบางหญ้าแพรก” ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร อีกท่านหนึ่ง ที่ช่วยเกื้อหนุนให้คนมอญย้ายถิ่นได้ธำรงความเป็นชาติพันธุ์ของตน หลวงพ่อมาลัยเป็นคนไทยเชื้อสายมอญบ้านบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ท่านได้รับนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางหญ้าแพรกเมื่อหลายสิบปีก่อน ดังนั้นท่านจึงเป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้าใจความเป็นไปของคนมอญย้ายถิ่นที่มหาชัย บทบาทสำคัญของท่านที่มีต่อคนมอญย้ายถิ่นก็คือ การอนุญาตให้ใช้สถานที่วัดเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์พัฒนาภูมิปัญญามอญ” โดยที่แนวคิดของการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวก็คือ

“...เพื่อรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมและรักษาภาษามอญให้มีอยู่ และเพื่อให้ชาวมอญไม่หมดไปในโลกนี้ เมื่อเราเกิดมาเป็นคนมอญ เราก็อยากให้เด็กมอญได้ภูมิใจในความเป็นชนชาติของเขา เพราะว่าคนเราเกิดเป็นมอญนี้มันก็มีความน้อยใจ ในเมื่อเขาไม่มีการศึกษา เขาก็จะไม่รู้ประวัติศาสตร์ของมอญ ไม่รู้ว่าเผ่าพันธุ์เป็นอย่างไร เขาจะน้อยใจ... คนไทยทำไมถึงไม่หมดไป ก็เพราะภาษาไทย ภาษานั้นสำคัญมาก... จะรักษาประเทศให้อยู่ได้ ภาษาและวัฒนธรรมต้องคงอยู่...” **

นอกจากจะสอนภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมมอญแล้ว ศูนย์พัฒนาภูมิปัญญามอญ ยังสอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ เพื่อให้ลูกหลานมอญสามารถดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อีกด้วย และด้วยบทบาทของหลวงพ่อมาลัยในการเป็นผู้อุปถัมภ์ศูนย์พัฒนาภูมิปัญญามอญเช่นนี้เอง ที่ทำให้คนมอญย้ายถิ่นมีความเคารพศรัทธาต่อท่าน ดังจะเห็นได้ จากการที่ในห้องเช่าของคนมอญย้ายถิ่นจำนวนมาก มีรูปภาพของท่านอยู่บนหิ้งบูชาร่วมกับภาพของสถานที่และบุคคลที่คนมอญเคารพ ดังเช่น ภาพพระธาตุต่างๆ ภาพพระพุทธรูปที่สำคัญ ภาพกษัตริย์มอญในอดีต ภาพพระยาเจ่ง รวมทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นต้น

20080108 p24
เด็กๆ ลูกหลานแรงงานมอญ ภายในศูนย์พัฒนาภูมิปัญญามอญ วัดบางหญ้าแพรก

หากมองจากสายตาคนนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสายตาของรัฐไทย บทบาทของหลวงพ่อมาลัยและพระครูปลัดโนราที่มีต่อคนมอญย้ายถิ่น ก็อาจทำให้เกิดคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดพระทั้งสองรูปจึงให้ความช่วยเหลือและดูแลคนที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย แต่หากมองด้วยสายตาของมนุษย์ด้วยกันก็จะพบว่าแรงงานมอญที่เข้ามานั้น ล้วนถูกผลักจากชุมชนดั้งเดิมของตนด้วยความเดือดร้อนทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง การให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ที่เดือดร้อนเช่นนี้ ก็คือหน้าที่หนึ่งที่มนุษย์พึงมีต่อกันมิใช่หรือ  และเมื่อมองด้วยสายตาของความเป็นชาติพันธุ์ สิ่งที่พระครูปลัดโนรา และหลวงพ่อมาลัยกระทำต่อคนมอญย้ายถิ่นนั้น ล้วนเกิดขึ้นจากสายใยของความเป็นชาติพันธุ์ “มอญ” ที่ยึดโยงกันอยู่ ซึ่งสายใยของชาติพันธุ์และความเป็นมนุษย์นั้น ล้วนอยู่เหนือเส้นแดนที่ถูกขีดขึ้นโดยรัฐ

20080108 p25
เด็กก็คือเด็ก ไม่บอกใครจะรู้ว่าชาติพันธุ์ไหน ขาวหรือดำ ดีหรือชั่ว

 

เชิงอรรถ

* สัมภาษณ์ พระครูปลัดโนรา อภิวโร เจ้าอาวาสวัดศิริมงคล ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร, อ้างใน สุกัญญา เบาเนิด. การสร้างอัตลักษณ์ของคน มอญย้ายถิ่น: กรณีศึกษาแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร. วิทยานิพนธ์มานุษย วิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๙.

** สัมภาษณ์ นายจอมอญ ครูประจำศูนย์พัฒนาภูมิปัญญามอญ วัดบางหญ้า แพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร, อ้างใน สุกัญญา เบาเนิด. การสร้างอัตลักษณ์ ของคนมอญย้ายถิ่น: กรณีศึกษาแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร. วิทยานิพนธ์ มานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๙.

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…