Skip to main content

องค์ บรรจุน

“ทะแยมอญ” เป็นการละเล่นพื้นบ้านของมอญอย่างหนึ่ง สำหรับท่านที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน คงหลับตานึกภาพไม่ออก แต่อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า เป็นการแสดงที่ให้อารมณ์คล้ายๆ การแสดงลำตัดของไทย เป็นการร้องโต้ตอบด้วยปฏิภาณกวี มีทั้งเรื่องธรรมและเกี้ยวพาราสีของนักแสดงชายหญิงประกอบวงมโหรีมอญ คนที่ฟังไม่ออกก็อาจเฉยๆ แต่หากเป็นคนมอญรุ่นที่หิ้วเชี่ยนหมากมานั่งฟังด้วยแล้วละก็ เป็นได้เข้าถึงอารมณ์เพลง ต้องลุกขึ้นร่ายรำตามลีลาของมโหรี หรือบางช่วงอาจเพลินคารมพ่อเพลงแม่เพลงที่โต้กลอนกันถึงพริกถึงขิง อาจต้องหัวเราะน้ำหมากกระเด็นไปหลายวาทีเดียว

20080125 ทะแยมอญบ้านเจ็ดริ้ว ถ่ายเมื่อราวปี 2500
ทะแยมอญบ้านเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ถ่ายเมื่อราวปี 2500

“ทะแยมอญ” เป็นชื่อที่คนไทยเรียกการละเล่นอย่างหนึ่งของคนมอญ ซึ่งเพี้ยนมาจากคำในภาษามอญว่า แต็ะแหฺย็ะฮ์ หมายถึงการขับร้อง ทะแยมอญเป็นการละเล่นหรือการแสดงของชาวมอญที่มีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ (ร้องโต้ตอบกัน) คล้ายกับการเล่นเพลงพื้นเมืองของไทย เช่น เพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว และเพลงเรือ แต่ไม่มีการร้องหยาบคาย โดยจะมีผู้ร้องชายหญิงโต้ตอบกันเป็นคู่ ๆ ประกอบการร่ายรำ สำหรับคำร้องนั้นเป็นภาษามอญ แต่ในปัจจุบันมีการประยุกต์คำร้องให้มีภาษาไทยปน มักใช้กับทำนองเพลงสมัยใหม่ เช่น เพลงลูกทุ่ง เป็นต้น (พระมหาจรูญ ญาณจารี : www.monstudies.com )

เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการละเล่นทะแยมอญ เป็นวงมโหรีเครื่องสายมอญ ซึ่งประกอบด้วยดนตรี ๕ ชิ้น ได้แก่ ซอมอญ (โกร่) จะเข้มอญ (กฺยาม) ขลุ่ย (อะโลด) เปิงมาง (ปุงตัง) และฉิ่ง (คะเด) และเนื่องจากปัจจุบันได้มีการประยุกต์เอาทำนองเพลงสมัยใหม่มาใช้ นักดนตรีจึงเพิ่มซอด้วงเพื่อทำทำนองอีก ๑ ชิ้น และในบางครั้งอาจเพิ่มฉาบเล็ก กรับ และกลองรำวง สำหรับเป็นเครื่องประกอบจังหวะอีกด้วย

แต่เดิมวงทะแยมอญใช้เป็นมหรสพได้ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล โดยผู้ร้องจะปรับเนื้อหาของคำร้องให้เข้ากับงานแต่ละประเภท เช่น งานศพ ก็จะร้องพรรณนาคุณงามความดีของผู้ตาย งานแต่งงานก็จะร้องพรรณนาประวัติของบ่าวสาว ให้คติการครองเรือนและสิ่งที่ควรปฏิบัติต่อกัน จบด้วยการอวยพรคู่บ่าวสาว ส่วนงานที่เกี่ยวกับศาสนาก็จะร้องพรรณนาถึงอานิสงส์ของการทำบุญ และประวัติความเป็นมาของงานเทศกาล เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง เนื้อหากล่าวถึงตั้งแต่หลักธรรม และการดำเนินชีวิต

20080125 วงมโหรีมอญ หงส์ฟ้ารามัญ บ้านบางกระดี่ กรุงเทพฯ
วงมโหรีมอญ หงส์ฟ้ารามัญ บ้านบางกระดี่ กรุงเทพฯ งานเทิดพระเกียรติพระมิ่งมณีจักรีวงศ์ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ

บทร้องนั้นเดิมจะร้องโต้ตอบกันด้วยปฏิภาณกวี มีทั้งที่เล่าเป็นเรื่องราว และการเกี้ยวพาราสีกัน ปัจจุบันผู้แสดงจะร้องด้วยการจำเนื้อร้องเป็นบท และใช้ร้องซ้ำๆ เนืองจากปัจจุบันอาชีพไม่สามารถยึดการแสดงทะแยมอญเป็นอาชีพหลัก หรือรวมตัวกันซ้อมหลังเลิกงานในไร่นาได้อีก เนื่องจากสภาพชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ความนิยมลดน้อยลง โอกาสในการแสดงจึงมีน้อย

20080125 วงมโหรีและทะแยมอญ บ้านไร่เจริญผล ในงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ 60 ลพบุรี
วงมโหรีและทะแยมอญ บ้านไร่เจริญผล สมุทรสาคร ในงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ 60 จังหวัดลพบุรี

ปัจจุบันการแสดงทะแยมอญในเมืองไทยเหลือที่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น มีเพียงวงเดียวและยังเปิดรับการแสดงอยู่ คือวงหงส์ฟ้ารามัญ บ้านบางกระดี่ กรุงเทพฯ ที่ใช้การร้องด้วยปฏิภาณกวีแต่ก็มีแบบบทท่องจำด้วย ซึ่งได้รับความนิยมมาก มีการว่าจ้างไปทำการแสดงยังชุมชนมอญต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนวงทะแยมอญอื่นๆ ในเมืองไทยที่เคยมีก็ต่างโรยราลงไป ด้วยเหตุผลทางธุรกิจและขาดผู้สืบทอด ยังมีวงทะแยมอญที่พอนึกออกอีก ๓ แห่ง ได้แก่ บ้านเจ็ดริ้ว และบ้านไร่เจริญผล สมุทรสาคร และบ้านกระทุ่มมืด รอยต่อนครปฐมและนนทบุรี ซึ่งนักแสดงล้วนเป็นผู้สูงอายุ ที่ล้มหายตายจากไปก็มาก บางรายเครื่องดนตรียังอยู่ดีแต่เรี่ยวแรงจะดีดสีไม่มีแล้ว นางเอกประจำวงจะยืนร้องนานๆ ก็ไม่ไหว เรี่ยวแรงที่จะต่อล้อต่อเถียง เท้าสะเอวชี้หน้าพระเอกก็ลำบาก นักดนตรีสีซอกันไปร้องกันไปลูกหลานต้องคอยส่งยาดมชงยาหอมให้เป็นระยะๆ เพราะอายุนักแสดงจำนวนไม่ถึงสิบคนแต่อายุรวมกันเกือบพันปีอยู่รอมร่อ

วงทะแยมอญที่ชวนไปดูในครั้งนี้ไม่ใช่หงส์ฟ้ารามัญ แต่เป็นวงบ้านไร่เจริญผล สถานที่ๆ จะจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญ ในวันที่ ๒-๓ กุมภาพันธ์นี้ เป็นวงเก่าแก่วงหนึ่ง ที่มีนักดนตรีมือดี นักร้องเสียงใสและไหวพริบปฏิภาณยอดเยี่ยม แถมยังมีการฝึกลูกหลานเอาไว้ในวงหลายคน แต่เดิมจะได้ดูทะแยมอญกันทีก็ต้องตรุษสงกรานต์หรืองานศพพระผู้ใหญ่ แต่คราวนี้ชวนไปดูเนื่องจากมีงานสำคัญ คืองานวันรำลึกชนชาติมอญ ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๖๑ แล้ว โดยชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพได้จัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทุกจังหวัดที่มีชุมชนมอญ (ราว ๓๕ จังหวัด) และชาวไทยเชื้อสายมอญจากทั่วประเทศจะเดินทางมาร่วมงาน ซึ่งไม่ได้มามือเปล่า ยังแห่กองผ้าป่ามาร่วมทำบุญร่วมกับวัดที่เป็นเจ้าภาพ นำอาหารและการแสดงมาร่วมด้วย ซึ่งเป้าหมายสำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญที่มาในงานนี้คือ เพื่อทำบุญอุทิศกุศลแด่บรรพชนมอญผู้ล่วงลับ แต่ครั้งนี้อาจพิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะชาวไทยเชื้อสายมอญทั่วประเทศจะร่วมจิตร่วมใจกันทำบุญอุทิศพระกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วยดวงใจที่เปี่ยมรักและอาลัยมิรู้คลาย

งานวันรำลึกชนชาติมอญทุกครั้งที่ผ่านมา จึงมิได้มีแต่ทะแยมอญเก่าแก่ที่หาชมยากและอยากชี้ชวนให้ไปดูเท่านั้น ยังละลานตาด้วยภาพพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่มีชีวิต ชาวมอญจากหลากหลายลุ่มน้ำล้วนแต่งกายสวยงามตามเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของตน สวมโสร่งนุ่งซิ่นเกล้าผมห่มสไบ สดับสุ้มเสียงสำเนียงมอญ ชิมอาหาร และชมการแสดงหลากหลายลุ่มน้ำ ที่มารวมตัวประชันให้ชมกันเต็มอิ่มเกินบรรยาย

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…