Skip to main content

ภาสกร อินทุมาร

“วันรำลึกชนชาติมอญ” ที่จัดขึ้นทุกปีนั้น ปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒-๓ กุมภาพันธ์ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยความร่วมมือของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ วัดบ้านไร่เจริญผล และพี่น้องชาวมอญจากหลายๆ พื้นที่

ก่อนงานจะเริ่ม พวกเรา-คณะเตรียมงาน ประมาณ ๑๐ คน ได้เดินทางไปยังสถานที่จัดงานตั้งแต่วันที่ ๑ เพื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ ตั้งแต่การตกแต่งบริเวณงานด้วยธงราวรูปหงส์ที่พวกเราทำขึ้น, การผูกผ้าและจัดดอกไม้, การตกแต่งเวที, การติดตั้งนิทรรศการเคลื่อนที่, การเตรียมสถานที่สำหรับทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนมอญ ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากวัดบ้านไร่เจริญผล

20080227 - 1
คณะกรรมการจัดงานกำลังซิลสกรีนกระดาษทำธงราวรูปหงส์สัญลักษณ์ของชาวมอญ

 

20080227 - 2
ธงราวที่ทำด้วยน้ำพักน้ำแรงขึงตกแต่งอาคารสถานที่

เช้าวันที่ ๒ เราตื่นขึ้นมาพบกับเหตุการณ์ไม่พึงปรารถนาบางอย่าง นั่นก็คือ ตำรวจและเจ้าหน้าที่จาก “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน” (กอ.รมน.) ได้เข้ามาสอดส่องบริเวณงาน และตั้งด่านรอบวัดเพื่อตรวจสอบคนที่จะมาร่วมงาน ทำให้พี่น้องบางคนที่ตั้งใจมากต้องกลับไป (เรื่องนี้แฟนๆ “ประชาไท” คงได้รับรู้ผ่านข่าวและบทความต่างๆแล้วว่า “เกิดอะไรขึ้น”) แต่ในที่สุดเรื่องราวก็คลี่คลายได้เมื่อบรรดาพระแห่งวัดบ้านไร่เจริญผล กรรมการชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ และตัวแทนจากสภาทนายความและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เจรจากับตำรวจและฝ่ายความมั่นคง และในช่วงค่ำของวันนั้นเราก็มีการแสดงจากนักเรียนในพื้นที่ รวมทั้งวงดนตรีลูกทุ่งมอญจากกระทุ่มมืดก็ได้มาสร้างความครึกครื้นให้กับคนที่มาร่วมงานที่แม้จะบางตาไปบ้างเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ (เพราะอะไรก็คงทราบกันดี) แต่ถึงคนร่วมงานจะบางตา หลายๆคนก็ยังคงลุกขึ้นมารำหน้าเวทีดนตรีเหมือนเช่นเคย

20080227 - 3
หนึ่งในคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาซักถามความเป็นไปเป็นมาภายในงานตลอดเวลา

ก่อนรุ่งเช้าวันที่ ๓ ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้บริเวณวัดที่เราใช้จัดงานเจิ่งนองไปด้วยน้ำฝน พวกเราต่างกังวลว่าฝนจะเป็นอุปสรรคในเวลาที่เรามีกิจกรรมหรือไม่ แต่โชคดีที่ฝนไม่ตกลงมาอีกในวันรุ่งขึ้น แม้จะมีเมฆครึ้มสลับกับแสงแดดให้พอตื่นเต้นบ้าง และพอถึงเวลาประมาณ ๘ นาฬิกาเศษ พี่น้องชาวมอญจากจังหวัดต่างๆ ก็ทยอยเดินทางมาถึง และเมื่อเสียงกลองยาวจากพี่น้องอยุธยาดังขึ้น ทุกคนก็ร่วมกันรำและจัดขบวนแห่หงส์และธงตะขาบเข้ามาบริเวณหน้าเวทีเพื่อรอการเปิดงาน โดยในปีนี้เราได้รับเกียรติจาก คุณเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ซึ่งทำงานเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์มากว่า ๓๐ ปี รวมทั้งยังมีเชื้อสายมอญทางราชสกุลกุญชร ณ อยุธยา ให้เกียรติมาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน

20080227 - 5
นางเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ ประธานเปิดงาน กับผู้สูงอายุชาวมอญ

จากนั้นจึงเป็นพิธีสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนมอญ โดยในพิธี คุณสุณี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธาน รวมทั้งผู้มีบทบาททางสังคม เช่น ครูประทีป อึ้งทรงธรรม, สภาทนายความ และนักวิชาการอีกหลายท่าน ก็มาร่วมทำบุญกับพี่น้องชาวมอญ เมื่อทำบุญเสร็จ พี่น้องที่เตรียมการแสดงมา ไม่ว่าจะเป็นวงปี่พาทย์จากปทุมธานี, ซอมอญจากลพบุรี, สะบ้าหนุ่มสาวและทะแยมอญจากสมุทรสาคร ก็เริ่มเปิดเวทีของตน ทำให้บรรยากาศของงานเป็นไปด้วยความครึกครื้น ระหว่างนี้หากใครหิว ก็สามารถเดินไปยังโรงทานและซุ้มอาหารที่พี่น้องจากที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องละแวกวัดบ้านไร่เจริญผล เตรียมอาหารมาอย่างหลากหลาย (ซึ่งเราก็เชิญตำรวจมากินด้วย)

20080227 - 6
นางสุนี ไชยรส ประธานในพิธีสงฆ์ ถวายเครื่องไทยทานแด่พระภิกษุสงฆ์

 

20080227 - 4
การแสดงทางวัฒนธรรมกับผู้ชมชาวมอญที่เป็นกันเองแม้ผู้คนจะบางตา

 

และงานของเราก็จบลงในช่วงบ่ายของวันนั้น ถึงแม้ว่าวันรำลึกชนชาติมอญในปีนี้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่เราก็ยังคงดำเนินงานไปอย่างราบรื่นอย่างที่เคยเป็นมา และทุกคนก็คงรอคอยที่จะได้พบกันใหม่ในปีหน้า ซึ่งจริงๆแล้วก็อีกไม่นานเลย...

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…