Skip to main content

ภาสกร อินทุมาร

“วันรำลึกชนชาติมอญ” ที่จัดขึ้นทุกปีนั้น ปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒-๓ กุมภาพันธ์ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยความร่วมมือของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ วัดบ้านไร่เจริญผล และพี่น้องชาวมอญจากหลายๆ พื้นที่

ก่อนงานจะเริ่ม พวกเรา-คณะเตรียมงาน ประมาณ ๑๐ คน ได้เดินทางไปยังสถานที่จัดงานตั้งแต่วันที่ ๑ เพื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ ตั้งแต่การตกแต่งบริเวณงานด้วยธงราวรูปหงส์ที่พวกเราทำขึ้น, การผูกผ้าและจัดดอกไม้, การตกแต่งเวที, การติดตั้งนิทรรศการเคลื่อนที่, การเตรียมสถานที่สำหรับทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนมอญ ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากวัดบ้านไร่เจริญผล

20080227 - 1
คณะกรรมการจัดงานกำลังซิลสกรีนกระดาษทำธงราวรูปหงส์สัญลักษณ์ของชาวมอญ

 

20080227 - 2
ธงราวที่ทำด้วยน้ำพักน้ำแรงขึงตกแต่งอาคารสถานที่

เช้าวันที่ ๒ เราตื่นขึ้นมาพบกับเหตุการณ์ไม่พึงปรารถนาบางอย่าง นั่นก็คือ ตำรวจและเจ้าหน้าที่จาก “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน” (กอ.รมน.) ได้เข้ามาสอดส่องบริเวณงาน และตั้งด่านรอบวัดเพื่อตรวจสอบคนที่จะมาร่วมงาน ทำให้พี่น้องบางคนที่ตั้งใจมากต้องกลับไป (เรื่องนี้แฟนๆ “ประชาไท” คงได้รับรู้ผ่านข่าวและบทความต่างๆแล้วว่า “เกิดอะไรขึ้น”) แต่ในที่สุดเรื่องราวก็คลี่คลายได้เมื่อบรรดาพระแห่งวัดบ้านไร่เจริญผล กรรมการชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ และตัวแทนจากสภาทนายความและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เจรจากับตำรวจและฝ่ายความมั่นคง และในช่วงค่ำของวันนั้นเราก็มีการแสดงจากนักเรียนในพื้นที่ รวมทั้งวงดนตรีลูกทุ่งมอญจากกระทุ่มมืดก็ได้มาสร้างความครึกครื้นให้กับคนที่มาร่วมงานที่แม้จะบางตาไปบ้างเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ (เพราะอะไรก็คงทราบกันดี) แต่ถึงคนร่วมงานจะบางตา หลายๆคนก็ยังคงลุกขึ้นมารำหน้าเวทีดนตรีเหมือนเช่นเคย

20080227 - 3
หนึ่งในคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาซักถามความเป็นไปเป็นมาภายในงานตลอดเวลา

ก่อนรุ่งเช้าวันที่ ๓ ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้บริเวณวัดที่เราใช้จัดงานเจิ่งนองไปด้วยน้ำฝน พวกเราต่างกังวลว่าฝนจะเป็นอุปสรรคในเวลาที่เรามีกิจกรรมหรือไม่ แต่โชคดีที่ฝนไม่ตกลงมาอีกในวันรุ่งขึ้น แม้จะมีเมฆครึ้มสลับกับแสงแดดให้พอตื่นเต้นบ้าง และพอถึงเวลาประมาณ ๘ นาฬิกาเศษ พี่น้องชาวมอญจากจังหวัดต่างๆ ก็ทยอยเดินทางมาถึง และเมื่อเสียงกลองยาวจากพี่น้องอยุธยาดังขึ้น ทุกคนก็ร่วมกันรำและจัดขบวนแห่หงส์และธงตะขาบเข้ามาบริเวณหน้าเวทีเพื่อรอการเปิดงาน โดยในปีนี้เราได้รับเกียรติจาก คุณเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ซึ่งทำงานเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์มากว่า ๓๐ ปี รวมทั้งยังมีเชื้อสายมอญทางราชสกุลกุญชร ณ อยุธยา ให้เกียรติมาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน

20080227 - 5
นางเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ ประธานเปิดงาน กับผู้สูงอายุชาวมอญ

จากนั้นจึงเป็นพิธีสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนมอญ โดยในพิธี คุณสุณี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธาน รวมทั้งผู้มีบทบาททางสังคม เช่น ครูประทีป อึ้งทรงธรรม, สภาทนายความ และนักวิชาการอีกหลายท่าน ก็มาร่วมทำบุญกับพี่น้องชาวมอญ เมื่อทำบุญเสร็จ พี่น้องที่เตรียมการแสดงมา ไม่ว่าจะเป็นวงปี่พาทย์จากปทุมธานี, ซอมอญจากลพบุรี, สะบ้าหนุ่มสาวและทะแยมอญจากสมุทรสาคร ก็เริ่มเปิดเวทีของตน ทำให้บรรยากาศของงานเป็นไปด้วยความครึกครื้น ระหว่างนี้หากใครหิว ก็สามารถเดินไปยังโรงทานและซุ้มอาหารที่พี่น้องจากที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องละแวกวัดบ้านไร่เจริญผล เตรียมอาหารมาอย่างหลากหลาย (ซึ่งเราก็เชิญตำรวจมากินด้วย)

20080227 - 6
นางสุนี ไชยรส ประธานในพิธีสงฆ์ ถวายเครื่องไทยทานแด่พระภิกษุสงฆ์

 

20080227 - 4
การแสดงทางวัฒนธรรมกับผู้ชมชาวมอญที่เป็นกันเองแม้ผู้คนจะบางตา

 

และงานของเราก็จบลงในช่วงบ่ายของวันนั้น ถึงแม้ว่าวันรำลึกชนชาติมอญในปีนี้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่เราก็ยังคงดำเนินงานไปอย่างราบรื่นอย่างที่เคยเป็นมา และทุกคนก็คงรอคอยที่จะได้พบกันใหม่ในปีหน้า ซึ่งจริงๆแล้วก็อีกไม่นานเลย...

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์