Skip to main content

 

ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น
สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
\\/--break--\>
เมื่อได้เรียนรู้แล้วจึงได้พยายามใช้ศัพท์แสงวิชาการ แม้จะไม่ค่อยเคยคุ้นปาก แต่เอาเถอะ เพื่อการต่อยอดองค์ความรู้แบบบูรณาการองค์รวม การพาตนเองเข้าสู่เวทีวิชาการเชิงวิพากษ์ที่เน้น
“เชิงอรรถ” และ “บรรณานุกรม” (บทความวิชาการบางชิ้นเมื่อเอาเชิงอรรถแต่ละหน้ามารวมกันยาวกว่าเนื้อหาวิชาการ) รวมทั้งการต่อสู้และข่มกันทางวิชาการด้วยทฤษฎีตะวันตก หน้าฉากเสนอปรับเปลี่ยนอคติแบบ “ฝรั่งมักถูกเสมอ” เป็นทัศนคติเชิงบวกมุ่งยกระดับภูมิปัญญาพื้นถิ่นสู่สังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่หลังฉากกลับก่อให้เกิดอัตลักษณ์เชิงซ้อนในวงวิชาการวาทกรรมอำพราง

หลังเรียนจบ หลายคนให้เกียรติเรียก
“นักวิชาการ” นับว่าดูดีไม่เลว แต่รู้ตัวดีว่า ถ้าจะเป็นได้อย่างมากก็แค่ “นักวิชาการคนกลุ่มน้อย”

นักวิชาการเยาวชนบางท่านไม่เห็นด้วยกับงานเขียนแบบที่อ้างอิงประวัติศาสตร์ส่วนกลางและโดยเฉพาะการยึดโยงกับราชสำนัก รวมทั้งคนที่มีภาพของความเป็น
“คนใน” และนักเคลื่อนไหวเรื่องวัฒนธรรมของคนกลุ่มน้อย จึงถูกกันออกจากนักวิชาการในอุดมคติ หลายท่านไม่จัดให้อยู่ในฐานะนักวิชาการไม่ว่าชายขอบหรือริมขอบ มีเพียงฉายาอันยาวที่ได้จากการทำงานว่า “นักเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมมอญ” ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง

“การจัดองค์ประกอบความเป็นไทยเสียใหม่ที่เริ่มขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยการดึงเอาความรับรู้ทางประวัติศาสตร์และความคิดฝันของชนชั้นนำไทยยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้กลับมาเป็นแกนกลางของความเป็นไทย พร้อมกับประดับประดาด้วยเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ในฐานะที่พึ่งของไพร่ฟ้าหลากชาติพันธุ์ ได้กลายเป็นแหล่งทรัพยากรอันอุดมของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทย ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างด้าว "ชาวพม่า" ในการยืนยันการดำรงอยู่ของพวกตนในดินแดนประเทศไทย

ดังปรากฏตัวอย่างว่า นักเคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรมมอญ ได้พยายามเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของตน เข้ากับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ฉบับราชการของไทย เพื่อยืนยันความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐไทยกับชาวมอญที่มีมานับแต่อดีต...
 
ในความเป็นจริง “แรงงานต่างด้าว” นั้นเรื่องหนึ่ง “สิทธิเสรีภาพ มนุษยธรรม เมตตาธรรม” เรื่องหนึ่ง “ความหลากหลายทางชาติพันธุ์” เรื่องหนึ่ง “ประวัติศาสตร์รัฐชาติ” เรื่องหนึ่ง “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” เรื่องหนึ่ง และ “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ฉบับเขียนใหม่” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นง่ายในเร็ววันอย่างที่นักวิชาการเยาวชนคิดฝัน แม้ทั้งหมดนี้จะสามารถ “บูรณาการ” เข้ากันได้ก็ตามแต่ก็ต้องแยกคิดพิเคราะห์ในรายละเอียด

“คนในวัฒนธรรม” หลายคน ซึ่งอาจมีผมรวมอยู่ด้วยในนั้น แวดวงวิชาการเรียกว่า “คนใน” ถูกจัดวางให้เป็น “แหล่งข้อมูล” และชุมชนของพวกเราคือ “พื้นที่ศึกษา” ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์ด้วยกันลงพื้นที่ศึกษามนุษย์ด้วยกันเองแต่เข้าไม่ถึงมนุษย์ แม้พยายามจัดวางตัวเองชนิด “วิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” แต่ก็เป็นได้แค่เพียง นักวิชาการแบบชะโงกทัวร์ พกทฤษฎีตะวันตกอย่างบ้าหอบฟาง ตั้งสมมุติฐานขึ้นไล่เลี่ยกับคำตอบ เพียงใส่ชื่อแหล่งข้อมูลและพื้นที่วิจัยเข้าไป เลือกอ่าน เลือกฟัง และเลือกหยิบข้อมูลบางอย่างด้วยสายตา (แว่น) ที่มีอคติส่วนตัว วิเคราะห์อย่างผิวเผินเป็นงานวิจัยเล่มหนา สิ่งที่ตามมาภายหลังงานวิจัยในตู้เหล็กปิดตายก็คือ ตำแหน่งทางวิชาการ และองค์ความรู้ว่าด้วยเรื่องราวว่าด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ “แหล่งข้อมูล” และ “พื้นที่ศึกษา” ด้วยภาษาขั้นเทพ ข้อมูลที่ได้นั้นแม้จะเป็นความจริงแต่ไม่ทั้งหมด เป็นเพียงความจริงที่เกิดขึ้นในบางวันเวลาและเหตุแห่งปัจจัยเท่านั้น ไม่ใช่ทุกบริบทแห่งปัจจัย

ข้อรังเกียจที่ว่า การสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์แอบอิงประวัติศาสตร์ส่วนกลางและราชสำนักของคนกลุ่มน้อยอย่างพวกเรา เช่น หญิงมอญ อำนาจ และราชสำนัก, เจ้าจอมโซ่ง, กำเนิดต้นแซ่และการตั้งนามสกุลจากแซ่ของลูกจีนในไทย และ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี เป็นต้น งานเหล่านี้แตกต่างกันในเรื่องของเนื้อหาและการนำเสนอ แต่หลักใหญ่ใจความก็คือ ต่างต้องการพื้นที่นำเสนอ การประกาศตัวตน ที่มิได้เป็นอากาศธาตุ ไม่ได้ต้องการเป็นเพียงผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รอรับฝนจากฟ้าเท่านั้น ความอิ่มเอมมิได้อยู่ที่ปากท้องอย่างเดียว จิตใจก็สำคัญไม่ต่างกัน

งานลักษณะดังกล่าวไม่ตอบโจทย์นักวิชาการ แต่ตอบโจทย์ชนกลุ่มน้อย เพราะเรื่องเล่าที่บอกรากเหง้าและการมีตัวตนของบรรพชนในหน้าประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้หมายถึงเพียงคนกลุ่มน้อยหรือคนชายขอบ (คนเพศที่สาม คนพิการ คนป่วย คนไร้บ้าน ชนกลุ่มน้อย คนชาติพันธุ์ คนชายขอบสวัสดิการรัฐ) เท่านั้น แต่มันได้แสดงให้คนเหล่านี้ซึ่งรวมกันแล้วเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคมได้มีส่วนในการภาคภูมิใจว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างสังคม ก็เพื่อการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่ต้องเหนือหรือด้อยกว่าใครในสังคมเดียวกัน

อันที่จริงแล้ว นักวิชาการในสังคมเรามีไม่มากนัก หากรวมคนกลุ่มน้อยและคนชายขอบทุกกลุ่มเข้าด้วยกันแล้วจะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม ยิ่งนับเฉพาะนักวิชาการที่ห่างไกลต่อการทำความเข้าใจประเด็นเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันต่างหากที่เป็น
“นักวิชาการชายขอบ”

การที่คนกลุ่มน้อยและคนชายขอบเชื่อมโยงตนเองเข้ากับประวัติศาสตร์ส่วนกลางในยุคที่นักวิชาการชายขอบเห็นว่าเป็นเรื่องที่ล้าสมัย ไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มน้อยทั้งหมดยอมรับในอำนาจ แต่เป็นการต่อสู้กับอำนาจด้วยอำนาจที่กดทับพวกเขามานาน เพื่อประกาศพื้นที่ของตน ปัจจัยทั้งสองประการจึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้ อย่างที่  นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวไว้ว่า

“ช่องโหว่ที่ทำให้ ‘ประวัติศาสตร์แห่งชาติ’ สำนวนนี้ไม่ลงตัวดังกล่าว ในภายหลังมีความพยายามที่จะทดแทนด้วยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็มีปัญหาตรงที่หลายครั้งด้วยกันเป็นการศึกษาที่อาศัยกรอบโครงของ “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” ทำให้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับราชธานี (ดังเช่นพงศาวดารท้องถิ่นส่วนใหญ่ซึ่งเขียนกันขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ท้องถิ่นไม่ได้เป็นฝ่ายรับ (
passive) เพียงอย่างเดียว ในความเป็นจริงท้องถิ่นเป็นหน่วยการเมืองที่เลือกการกระทำที่มองผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้งต่างหาก อีกทั้งมีโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างสังคมภายในที่เป็นอิสระจากการกำกับของราชธานี แต่การมองท้องถิ่นอย่างเป็นอิสระนี้ ซึ่งเริ่มกระทำกันมากขึ้นในภายหลัง กลับก่อให้เกิดความวิตกกังวล แก่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐและนักวิชาการอนุรักษ์นิยม เกรงกันว่าจะทำให้เกิดความแตกแยกในชาติ...”

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของคนกลุ่มน้อยจึงต้องอาศัยประวัติศาสตร์ส่วนกลางและราชสำนัก ซึ่งสามารถสนองประโยชน์ได้ ในขณะที่
“นักวิชาการชายขอบ” ปฏิเสธทั้งประวัติศาสตร์ส่วนกลาง ปฏิเสธทั้งคนกลุ่มน้อยที่อาศัยประวัติศาสตร์ส่วนกลางและราชสำนัก “นักวิชาการชายขอบ” เหล่านี้ จึงไม่เคยเข้าใจคนกลุ่มน้อยและแม้แต่ตัวเอง ในเวทีวิชาการจึงมักเกิดปรากฏการณ์พูดอย่างทำอย่าง ดังศัพท์วิชาการสวยหรูที่ว่า “ย้อนแย้ง”

ข้อชวนฉงนนั้นคือ สถาบันวิชาการหลายแห่งที่เป็นติ่งหนึ่งของมหาวิทยาลัย ทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาชน ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตนักวิชาการและผลงานวิชาการ หลายแห่งมีชื่อสถาบันเป็นพระนามของสมาชิกราชวงศ์ บางแห่งอาศัยวาระเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๓ รอบ ๔ รอบ หรือหลายๆ รอบ ในการก่อตั้งสถาบัน แม้การก่อตั้งสถาบันจะไม่ได้รับพระราชทานทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง แต่การใช้ชื่อสมาชิกใน
“สถาบัน” มาเป็นชื่อ “สถาบัน” เริ่มตั้งแต่การเวนคืนที่ดินได้โดยง่าย งบประมาณและตำแหน่งทางวิชาการเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งความน่าเชื่อถือเพื่อการแสวงหาทุนและความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสในการก่อตั้งสถาบัน เหล่านี้ถือเป็นการนำพาตนเองเข้าไปสัมพันธ์อยู่กับส่วนกลางและราชสำนักหรือไม่
 
 
 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์