Skip to main content

ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง

\\/--break--\>
ความที่คนทั้งสองสมุทร (รวมทั้งสมุทรปราการ และจังหวัดชายทะเลอื่นๆ) เป็นจังหวัดชายทะเลจึงมักไม่พ้นถูกคนอื่นเรียกขานว่า “ลูกน้ำเค็ม” แต่แท้จริงแล้วบ้านเราไม่ได้เค็มทั้งปี เพราะหมู่บ้านของเราส่วนใหญ่อยู่ถัดเข้าไปในคลองที่แยกย่อยจากแม่น้ำ บ้านเราจึงเป็น “คนสามน้ำ” มีน้ำขึ้นน้ำลงตามวิถีโคจรของดวงดาว ในช่วงหน้าฝนน้ำจืด หน้าหนาวน้ำกร่อย พอถึงหน้าแล้งน้ำเหนือไหลลงมาน้อย น้ำทะเลหนุนสูง น้ำในคลองบ้านเราก็เค็ม ลักษณะของน้ำและดินแบบนี้เองที่เรียกว่า “ลักจืดลักเค็ม” ปลูกผลไม้ได้รสชาติดี หวานแหลมอมเปรี้ยวนิดๆ อร่อยอย่าบอกใคร ผลไม้ของแม่กลองและมหาชัยจึงเป็นที่นิยมของตลาด นอกจากนี้ยังมีคนทำนาเกลือเหมือนกัน มีชาวประมงมากมาย อาหารทะเลสด ราคาถูก จำนวนมากเหมือนๆ กัน


ดูราวกับว่าแม่กลองและมหาชัย สองจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกันนี้จะมีอะไรๆ เหมือนกันมากมายราวฝาแฝด แต่เอาเข้าจริงแล้วรายละเอียดก็ต่างกัน ของใครของมัน

 


เทศกาลกินปลาทู จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 2521


อันที่จริงผมเป็นคนตำบลบ้านเกาะ บ้านอยู่กลางสวนมะพร้าว อยู่ไม่ไกลเมืองมหาชัยและไม่ห่างเมืองแม่กลอง ทุกวันนี้ผมใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯเป็นหลัก แต่ในวัยเด็กผมซึมซับความเป็นคนเมืองสมุทรเอาไว้เต็มสายเลือด คนแถวนั้นไม่ได้สนใจเขตการปกครองของจังหวัด แต่ละชีวิตรวมกันในสังคมเดียว ตามวิถีคนสามน้ำ กับคนสองฝั่งแม่น้ำ ทว่าหลากหลาย ไทย จีน มอญ ลาว


สมุทรสาครมีชุมชนมอญขนาดใหญ่และติดต่อกับชุมชนมอญสมุทรสงคราม ไปมาหาสู่กันแม้ไม่ใช่ญาติก็ดุจเครือญาติ ยามปกติก็ค้าขายทางเรือ คนมอญแม่กลอง มหาชัย มักนำจาก ฟืน ไปค้าขายถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แถวบ้านมอญสามโคก ปากเกร็ด ชาวมอญเหล่านั้นต้องการจากมุงหลังคา และฟืนเผาโอ่งอ่างกระถางครก เมื่อเครื่องปั้นเหล่านั้นสุกจากเตา ชาวมอญปากเกร็ดสามโคกก็นำลงเรือไปขายยังลุ่มน้ำแม่กลอง ตั้งแต่แม่กลอง บ้านโป่ง โพธาราม ลุ่มน้ำท่าจีน ตั้งแต่มหาชัย นครปฐม สุพรรณบุรี ส่วนลุ่มเจ้าพระยาไล่ขึ้นไปทางอยุธยา ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี เรื่อยขึ้นไปถึงลุ่มน้ำป่าสัก ลพบุรี ต่อด้วยลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม นครสวรรค์ และอุทัยธานี ข่าวจึงมักเดินทางถึงกันระหว่างบ้านมอญทุกลุ่มน้ำ เป็นที่รู้กันว่าแล้งหน้าบ้านใดมีงานบุญงานกุศล เฮโลไปช่วยงานกันมิได้ขาด กระทั่งรู้จักมักคุ้น และแต่งงานอยู่กินกันข้ามลุ่มน้ำ


สมัยก่อนพ่อแม่ผมยึดอาชีพค้าขายทางเรือเช่นกัน มาช่วงที่ผมเกิด น้ำในคลองหน้าบ้านเริ่มจืดนานขึ้นในแต่ละปี (จากเดิมที่จืดเพียงปี ๑-๒ เดือน) พ่อแม่เลยหันมาทำสวน ผมจึงเกิดไม่ทันบรรยากาศการค้าทางเรือ ซึ่งในสมุทรสงครามมีคนมอญที่เป็นลูกค้าของพ่อแม่ผมอยู่มาก ทั้งอัมพวา แม่กลอง บางจะเกร็ง คลองสุนัขหอน ตอนเด็กแม่พาผมไปไหว้หลวงพ่อบ้านแหลมทุกปี ไปแต่ละครั้งก็ใช้เวลาเป็นวันๆ เข้าบ้านนั้นออกบ้านนี้ แม่บอกไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติ เพราะค้าขายกันจนสนิทสนม เอาฟืนเอาจากเขาไปก่อน ขายหมดค่อยเอาเงินมาจ่ายเจ้าของทีหลัง


เมื่อบ้านผมหันมาทำสวนผลไม้ เริ่มด้วย พุทรา กล้วย อ้อย ถั่ว และข้าวโพด ต่อมาได้พันธุ์มะพร้าวจากแม่กลอง หันมาทำน้ำตาลจากมะพร้าว เรียกว่า “น้ำตาลปี้บ” ตอนเริ่มต้นใหม่ๆ ยังไม่ชำนาญ อาศัยไปลักจำจากคนทำตาลที่แม่กลอง เครื่องไม้เครื่องมือก็ต้องซื้อหามาจากที่นั่น จำพวก กระทะ โค (ครอบกระทะกันน้ำตาลล้น) เนียน (คล้ายเกรียงแต่ใหญ่กว่า เอาไว้ขูดน้ำตาล) ไม้กระทุ้งน้ำตาล มีดปาดตาล แม้แต่ช่างก่อเตาเคี่ยวตาล ช่างแกะสลักป้ายประทับตราน้ำตาล ก็ต้องไปหาซื้อว่าจ้างที่แม่กลอง เริ่มแรกได้น้ำตาลน้อยก็ซื้อขายกันอยู่แถวมหาชัย ภายหลังมีคนทำน้ำตาลกันมากเข้าก็ต้องไปติดต่อพ่อค้าน้ำตาลจากแม่กลองให้มารับซื้อ เพราะเกินกำลังพ่อค้าแถวมหาชัยที่ยังไม่มีประสบการณ์การค้าน้ำตาล


ขณะที่เป็นนักศึกษาก็ไม่พ้นต้องเกี่ยวข้องกับแม่กลอง ด้วยความที่ต้องการตอบแทนคุณพ่อแม่ที่เติบโตและเล่าเรียนสำเร็จมาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงจากอาชีพปาดตาล เมื่อทำวิทยานิพนธ์สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ จึงทำวิทยานิพนธ์อุปกรณ์ปาดตาล สำรวจพฤติกรรมการใช้งาน ออกแบบ เสร็จแล้วต้องไปจ้างช่างที่แม่กลองตีมีดปาดตาลตามแบบ เอามาประกอบกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่ออกแบบไว้ วิทยานิพนธ์ของผมจบลงด้วยดี อุปกรณ์ที่ผมออกแบบไว้ก็จบลงไปด้วยเหมือนกัน ไม่มีใครหยิบขึ้นมาดูและพูดถึงมันอีกเลย


ภายหลังเมื่อลุกขึ้นมาอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมมอญ ทำกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ ค้นคว้า เขียนหนังสือ บทความต่างๆ เคยไปคลุกคลีอยู่ที่วัดศรัทธาธรรม วัดมอญที่บางจะเกร็ง ซึ่งหมู่บ้านนี้เป็นบ้านมอญดั้งเดิม ขนาดชื่อบางยังเป็นภาษามอญ ที่แปลว่า ต้นเหงือกปลาหมอ ปัจจุบันบ้านมอญแห่งนี้เหลือความเป็นมอญไม่มาก แต่ก็ยังพอมีคนพูดภาษามอญได้บ้าง มีการรวมกลุ่มแม่บ้านทำขนมกะละแมรามัญ เป็นสินค้าขึ้นชื่อของบ้านนี้ โด่งดังไปทั่ว ซื้อไปฝากใครจะได้รับคำชมทั้งนั้น (ถ้าไม่ชมคราวหน้ายังหวังว่าจะได้กินอยู่อีกหรือ)

 


พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ศิลปะมอญ วัดน่วมกานนท์ จังหวัดสมุทรสาคร


เป็นธรรมดาของคนเรากระมังที่รักบ้านของเรา รักจังหวัดของเรา รักประเทศของเรา เพราะเชื่อว่าดีที่สุดในโลก (ชาตินิยม จังหวัดนิยม ตำบลนิยม) แต่สำหรับผมแล้วกลับรู้สึกว่าบ้านของเรา จังหวัดของเรา “ช่างไม่มีอะไรดี” เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ แม้มหาชัยจะอยู่ชิดติดกรุงเทพฯ จะว่าเจริญก็เจริญ จะว่าบ้านนอกก็บ้านนอกเหลือทน (โทรศัพท์เข้ากทม.ยังต้องกด ๐๒) สถานที่ท่องเที่ยวก็ไม่มีกับเขา เห็นพ่อค้าบางรายเปิดร้านขายของที่ระลึกก็อยู่ได้ไม่นาน รถออกจากกรุงเทพก็ขับฉิวผ่านไป รอว่าอาจจะแวะตอนขากลับ หรือเขาอาจจะซื้อมาจากหัวหิน เมืองเพชร หรือแม่กลองแล้วก็ได้ เขาก็เลยขับรถฉิวเข้ากรุงเทพฯ มหาชัยจึงเป็นได้แค่เมืองผ่านร่ำไป


แม้ผมจะมีประสบการณ์ที่ผูกพันกับแม่กลองอย่างคนคุ้นเคย แต่ผมกลับแอบอิจฉาคนแม่กลองเสมอ อะไรๆ ก็แม่กลอง ทั้งที่หลายๆ อย่างบ้านเราก็มีเหมือนกัน เพียงแค่แม่กลองมีลิ้นจี่รสดี มหาชัยไม่มีก็เท่านั้น น้ำตาลสดที่เขาขายกันทั่วไปต้องโฆษณาว่าน้ำตาลสดแม่กลอง ทำไมไม่บอกว่าน้ำตาลสดมหาชัยบ้าง ทั้งที่รสชาติก็เหมือนกัน ที่สำคัญแม่กลองชอบทำตัวเด่น มีคนแต่งเพลงให้มากมาย เพลงดังๆ ทั้งนั้น


เจื้อยแจ้วแว่วเสียงสำเนียงขับร้อง ดังเพลงมนต์รักแม่กลอง ล่องลอยพริ้วหวานซ่านมา...”เพลง มนต์รักแม่กลอง ของ ศรคีรี ศรีประจวบ


สิ้นแสงดาวดุเหว่าเร่าร้อง จากสุมทุมลุ่มน้ำแม่กลองพี่จำจากน้องคนงาม แว่วหวูดรถไฟพี่แสนอาลัยสมุทรสงคราม คงละเมอเพ้อพร่ำ คิดถึงคนงามที่อยู่แม่กลอง...” เพลง ลาสาวแม่กลอง ของ พนม นพพร


สายชลแม่กลอง เหมือนดังละอองน้ำตก ใสดังกระจก เปรียบดังจิตใจเจ้าของ พี่ลอยรักให้ฝากไปในสายแม่กลอง...” เพลง แม่กลอง ของ สุเทพ วงศ์กำแหง


ด่วนเก้าเก้าแม่กลอง หลงรักน้องสมุทรสาคร สาวไทย สาวหมวย หรือสาวมอญ เออเอ่อเอ๋ย อาวรณ์อยู่ทุกยาม...” เพลง ด่วนแม่กลอง ของ ยอดรัก สลักใจ


เพลงสุดท้ายนี้ดีหน่อยที่ยังเอ่ยถึงสมุทรสาคร และสาวมอญของผมด้วย แต่ผมก็ยังรู้สึกเสียเปรียบอยู่ดี ที่หนุ่มแม่กลองมาจีบสาวมหาชัย ทำไมไม่มีเพลงหนุ่มมหาชัยไปจีบสาวแม่กลองบ้าง แต่เอาเถอะ บางครั้งบางคราวก็ขอแอบภูมิใจกับคนแม่กลองด้วยก็แล้วกัน เพราะแม้ว่าเพลงจะเอ่ยถึงแม่กลอง แต่ผมก็ถือว่าบ้านเราอยู่ใกล้กัน มีลูกค้าของพ่อแม่ และมีคนรู้จักอยู่ที่แม่กลอง ก็เท่ากับว่าเราเป็นเจ้าของเพลงร่วมกัน แต่สำหรับเพลงที่กล่าวถึงมหาชัย เช่น ท่าฉลอม หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ สาวมอญคนสวย ขวัญใจบ้านแพ้ว หนุ่มทุ่งกระโจมทอง น้ำตาน้องเพ็ญ จากปากพนังถึงมหาชัย เพลงเหล่านี้เป็นเพลงของคนมหาชัยเท่านั้น...คนแม่กลองไม่เกี่ยว

 

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์