บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
มาเลเซียแบ่งการปกครองออกเป็น ๙ รัฐ แต่ละรัฐมีเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางการปกครอง เช่น รัฐยะโฮร์ (เมืองหลวง คือ ยะโฮร์บาห์รู) รัฐกลันตัน (เมืองหลวง คือ โกตาบารู) นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีดินแดนสหพันธ์อีก ๒ แห่ง คือ กัวลาลัมเปอร์ (เมืองหลวง คือกัวลาลัมเปอร์) และลาบวน (เมืองหลวง คือ วิกตอเรีย) รัฐหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับไทยและเคยเป็นดินแดนในปกครองของไทยมาก่อนก็คือ รัฐไทรบุรี หรือเคดาห์ (เมืองหลวง คือ อลอร์สตาร์) ไทรบุรีเคยอยู่ภายใต้การปกครองของไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค และแบ่งการปกครองเป็น ๑๘ มณฑล สมัยนั้นไทรบุรีมีฐานะเป็นมณฑลไทรบุรี แต่ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๑ ไทยต้องเสียอำนาจการปกครองหัวเมืองมลายู ได้แก่ ไทรบุรี ปะลิส กลันตัน และตรังกานู ให้กับอังกฤษ เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมืองไทรบุรีปกครองโดยเจ้าเมืองตำแหน่ง เจ้าพระยาไทรบุรี ตนกูอะหมัด เมื่อตนกูอะหมัดถึงแก่อสัญกรรม จึงโปรดเกล้าฯให้แต่งตั้งบุตรคนโตคือ ตนกูไซนาระชิด ขึ้นเป็นพระยาไทรบุรี ตนกูไซนาระชิด มีน้องชายคนหนึ่งชื่อ ตนกูฮามิด ท่านผู้นี้ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น พระเสนีณรงค์ฤทธิ์รายามุดา หลังจากพระยาไทรบุรีไซนาระชิดดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองได้ ๒ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม จึงโปรดเกล้าฯตั้งพระเสนีณรงค์ฤทธิ์เป็นพระยาไทรบุรีต่อมา โดยมียศเป็น เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี แต่ชาวมลายูนิยมเรียกว่า สุลต่านอับดุล ฮามิด
สุลต่านอับดุล ฮามิด เป็นสุลต่านองค์ที่ ๒๔ ของเมืองไทรบุรี (รัฐเคดาห์) ท่านมีชายาเป็นคนไทยเชื้อสายมอญเมืองนนทบุรี ชื่อ หม่อมเนื่อง หรือมะเจ๊ะเนื่อง (แปลว่า คุณแม่เนื่อง) หรือ ชิค เมนยาราลา ในสำเนียงของชาวมลายู แต่บางครั้งก็เรียกทับศัพท์ว่า หม่อม ด้วยเช่นกัน หม่อมเนื่องนับเป็นชายาองค์ที่ ๖ ของสุลต่าน ฮามิด แม้สุลต่านจะมีชายาหลายคนตามธรรมเนียมศาสนาอิสลาม แต่ได้ยกให้หม่อมเนื่องเป็นภรรยาเอก เพราะเป็นภรรยาพระราชทานจากราชสำนักสยามในขณะนั้น
ตนกูอับดุล รอฮ์มาน (Tunku Abdul Rahman) เกิดวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๖ ที่เมืองไทรบุรี ประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน ตนกูอับดุล รอฮ์มาน เป็นบุตรชายคนที่ ๔ ในบรรดาบุตรธิดาบิดามารดาเดียวกัน ๘ คน ของสุลต่านอับดุล ฮามิด กับหม่อมเนื่อง ในวัยเด็กท่านเดินทางมาอยู่ในไทยเช่นเดียวกับเจ้านายไทรบุรีคนอื่นๆ โดยเดินทางเข้ามาตั้งแต่อายุได้ ๑๐ ขวบ เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ตามคำชักชวนของพี่ชาย ตนกู ยูซุฟ ซึ่งทำงานอยู่ในกรมตำรวจของไทย ยศร้อยเอก จนเมื่อไทรบุรีตกเป็นของอังกฤษ กอรปกับพี่ชายที่อุปถัมภ์ดูแลเสียชีวิตลง ขณะนั้น ตนกูอับดุล รอฮ์มาน อายุได้ ๑๒ ขวบ (พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๕๘) ท่านได้เดินทางกลับบ้านเกิดไปเรียนต่อที่ปีนัง และที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กระทั่งจบปริญญาตรี
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นยึดมลายูได้ รัฐไทรบุรีหลุดจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มาอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นแทน เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามอังกฤษก็กลับมาเป็นเจ้าอาณานิคมปกครองมลายูเช่นเดิม ช่วงนี้มีพรรคแนวร่วมชาตินิยมมลายูหรือพรรคอัมโนเกิดขึ้น หัวหน้าพรรคคือ ดะโต๊ะออนน์ บิน จาฟาร์ โดยมี ตนกูอับดุล รอฮ์มาน สมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วย เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป ตนกูอับดุล รอฮ์มาน มีความโดดเด่นมาก จึงได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคแทนดะโต๊ะออนน์ และก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ “สหพันธ์มลายา” ที่ขณะนั้นมีเพียง ๙ รัฐ
ต่อมาตนกูอับดุล รอฮ์มาน นำเอาสิงคโปร์ บอร์เนียวเหนือ และซาราวัก ซึ่งยังไม่ได้เอกราชมาเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์มลายู และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสหพันธ์มาเลเซีย เมื่อ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖ ตนกูอับดุล รอฮ์มาน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ๗ ปี ก็ลาออกเพราะขัดแย้งกับนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ชื่อ ดร.มหฎีร์ มุฮัมหมัด และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
คุณหญิงเนื่อง หรือ คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี หลานสาวหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ดคนแรก และมารดาของอดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียคนแรก ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดหลักแหลมและทำธุรกิจร่ำรวยที่สุดในบรรดาชายาของสุลต่านทั้งหมด ยังคงรักษาสายเลือดมอญที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา แม้จะอยู่ในแวดล้อมของเครือญาติข้างสามีและประชาชนชาวมุสลิม แต่ก็ยังมีจิตศรัทธาสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้นึกถึงแผ่นดินเกิดและวัฒนธรรมของบรรพชน วัดที่คุณหญิงเนื่องสร้างขึ้นนี้คือ วัดบาร์กาบาตา (วัดสโมสรราชานุประดิษฐ์ หรือ วัดราชานุประดิษฐ์) ที่ยังคงปรากฏอยู่ ณ เมืองไทรบุรีจวบจนปัจจุบัน
ลูกหลานในสกุล นนทนาคร ยังคงจดจำได้ว่า ตนกูอับดุล รอฮ์มาน เคยเดินทางมาเยี่ยมคารวะหลวงรามัญนนทเขตคดีที่บ้านพักริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับวัดเตย อำเภอปากเกร็ด
การดำเนินนโยบายของ ตนกูอับดุล รอฮ์มาน ที่เจรจาจนให้ให้ชนชาติต่างๆ รวมกันเป็นชาติ ร่วมสร้างประเทศสหพันธ์มลายูด้วยกัน รวมทั้งยังเจรจาให้สุลต่านทั้ง ๙ รัฐ สลับกันขึ้นเป็นประมุขของชาติ อันแสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยที่นิยมความรอมชอมและมีบุคลิคการประนีประนอมสูง
สอดคล้องกับข้อเขียนของท่าน ในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ (รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างวัดและโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นเพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระมเหสีในรัชกาลที่ ๔ พระราชชนนีผู้มีเชื้อสายมอญของพระองค์) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ที่ส่งบทความมาร่วมตีพิมพ์ตามคำขอเพื่อลงในหนังสือ “ชื่นชุมนุม” ที่คณะกรรมการจัดงานได้จัดทำขึ้นเป็นอนุสรณ์ในวาระที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสโมสรสถานของสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ที่ถนนราชดำริ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙ ตนกูอับดุล รอฮ์มาน ได้ส่งข้อเขียนมาเป็นภาษาอังกฤษ และมีผู้แปลเป็นภาษาไทย ข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงความประทับใจในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้รับการศึกษาในเมืองไทย และมีนัยยะของเนื้อความที่สื่อถึงทิศทางความสัมพันธ์ของสองประเทศนับจากนี้ไป
“...ข้าพเจ้าระลึกถึงชีวิตเด็กที่เทพศิรินทร์ด้วยความปีติเป็นอันมาก การศึกษาที่ข้าพเจ้าได้รับจากที่นั่นและชีวิตที่เคยอยู่ในประเทศไทย นับเป็นทุนทรัพย์อันมีค่าอย่างแท้จริง ในการปฏิบัติงานปัจจุบันของข้าพเจ้าในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพราะความรักในชีวิตไทยของข้าพเจ้า ช่วยอำนวยให้เกิดความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่างประเทศทั้งสองของเรา…”
หาก ตนกูอับดุล รอฮ์มาน ยังมีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ ความหลากหลายในสายเลือดและการใช้ชีวิตในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน น่าจะเป็นจุดหลอมรวมสำคัญที่ทำให้ผู้คนในภูมิภาคนี้อยู่ร่วมกันอย่างคนที่เข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกันมากกว่านี้