ขนิษฐา คันธะวิชัย
สมาชิกชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ
รื่นเริงบันเทิงใจและปลาบปลื้มชื่นชม...
เคยมีคนบอกกับฉันว่า ฉันไม่ควรไปร่วมงานวันชาติมอญในเมืองมอญเพราะฉันต้องเคารพความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมและความเป็นชนชาติของชาวมอญ จึงทำให้ฉันไม่แน่ใจว่าการใช้คำ “รื่นเริงบันเทิงใจ” หรือ “ปลาบปลื้มชื่นชม” จะเป็นการสมควรหรือไม่ แต่นั่นก็คือความรู้สึกที่ฉันได้รับจากการไปงานวันชาติมอญครั้งที่ 61 ที่จัดขึ้น ณ หมู่บ้านบ่อญี่ปุ่น (ปะลางเจปาน) ด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านมอญที่อยู่นอกพรมแดนประเทศไทย
งานวันชาติมอญนี้จัดกันหลายที่ทั่วโลกที่มีชุมชนมอญอยู่ ทั้งในไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ อังกฤษ แคนาดา สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สวีเดน ฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ ฯลฯ แม้แต่ในเมืองมอญเองก็ไม่ได้มีงานวันชาติเพียงแค่ในหมู่บ้านบ่อญี่ปุ่น ทุกหมู่บ้านต่างก็จัดขึ้นพร้อมๆ กัน โดยมอญทั่วโลกยึดเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันชาติมอญ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นวันก่อตั้งเมืองหงสาวดี เมืองหลวงของชาวมอญนั่นเอง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์
สำหรับในประเทศไทยปีนี้ถือฤกษ์สะดวก จัดงาน“รำลึกบรรพชนมอญ” ในวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล และก็เป็นเพียงการทำบุญให้บรรพชนและมีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์และธำรงค์วัฒนธรรม ไม่ได้มีการเปิดไฮด์ปาร์คด่าประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีจุดมุ่งหมายแฝงทางการเมืองแต่อย่างใด เพียงแค่นี้ก็ยังทำให้หน่วยงานความมั่นคงในจังหวัดสมุทรสาครก็แทบจะนั่งไม่ติดเลยทีเดียว
ฉันได้รับคำเชิญให้ไปร่วมงานวันชาติจากผู้ใหญ่ชาวมอญที่เคยติดต่องานกับฉัน ในเมื่อผู้ใหญ่บอกว่าจะส่งบัตร “เชิญ” มาให้ ฉันเป็นเด็กจะไม่ไปได้อย่างไร ในที่สุดฉันก็เข้าไปในหมู่บ้านบ่อญี่ปุ่นตั้งแต่คืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ โดยการดูแลของทหารหน่วยประสานมอญ และน้องๆ เยาวชนมอญที่มาจากเมืองมอญ พวกเราต้องเบียดกันไปบนรถปิ๊กอัพคันเดียวถึง 24 คน แต่น้องๆ ทุกคนก็ไม่บ่นถึงความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหน้าปะทะลมและฝุ่นแดง ในทางตรงกันข้าม กลับร้องเพลงภาษามอญกันอย่างสนุกสนาน แม้ฉันจะไม่เข้าใจเนื้อเพลง แต่สีหน้าและแววตาของคนร้องก็ทำให้ฉันรู้สึกได้ถึงความเบิกบานใจและความมุ่งมั่นของน้องๆ ฉันจึงรู้สึกเบิกบานใจและสนุกสนานไปด้วย สมาชิกคนหนึ่งบอกฉันว่าเพลงนี้เป็นเพลงปลุกใจ เนื้อหาเกี่ยวกับการไม่ลืมถึงเป้าหมายสูงสุดคือ การได้ปกครองตนเอง และการได้ชาติมอญกลับคืนมา
พวกเราไปถึงบ้านบ่อญี่ปุ่นเวลาเกือบสองทุ่ม งานมหรสพเริ่มแล้ว จริงๆ แล้วคืนก่อนนั้นก็มีงานเช่นกันแต่เป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรม ส่วนคืนวันที่ 21 ที่ฉันไปถึงนั้นนี้มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ เหมือนตลาดนัดทั่วไปที่ฉันเคยเห็นในเมืองไทย ฉันแวะร้านขายหมาก ซึ่งมีทั้งหมากป้ายปูนที่ชายชาวมอญชอบเคี้ยว และหมากที่ใส่มะพร้าวย้อมสีที่เพื่อนฉันบอกว่าผู้หญิงจะเลือกเคี้ยวหมากชนิดนี้มากกว่า และก็มีหมากฝรั่ง ลูกอม นับว่าเป็นร้านขายของแก้เหงาปากจริงๆ ฉันอยากจะลองซื้อหมากป้ายปูนมาเคี้ยวสักคำจะได้เป็นประสบการณ์ชีวิต แต่ก็กลัว “ยันหมาก” เลยได้แต่หยิบหมากฝรั่งที่ฉันนำติดตัวมาขึ้นมาเคี้ยวเล่นแทน แต่ฉันก็ได้อุดหนุนแม่ค้าไปนิดหนึ่ง ในตอนแรกฉันไม่รู้ว่าจะใช้เงินสกุลไหนซื้อของในหมู่บ้านบ่อญี่ปุ่น แต่ในเมื่อเขาบอกราคามาเป็นบาท ฉันจึงจ่ายเงินบาทไปปกติ ซึ่งก็เหมือนกับเมืองที่อยู่ติดชายแดนไทยทั่วไปที่เราใช้เงินบาทซื้อของได้เลย
เดินไปอีกนิดก็เห็นซุ้มรณรงค์เรื่องป้องกันโรคเอดส์และการสอนวิธีคุมกำเนิด จัดโดยองค์กรเอกชนที่มาจากฝั่งไทย มีคำอธิบายทั้งภาษามอญและภาษาไทย น้องๆไปตอบคำถามได้ของรางวัลเป็นผงซักฟอก สมุด ดินสอ (และถุงยางอนามัย?) มากันหลายคน นอกจากนี้ยังมีหนังกลางแปลงและมีนักร้องนักดนตรีที่ไปจากฝั่งไทย เล่นเพลงไทย เล่นเพลงไทยจริงๆ ไม่ได้พิมพ์ผิด
เยาวชนมอญในมือแม่ และธงชาติมอญในมือเยาวชน
ฉันไม่นึกว่าจะได้ฟังเพลง “รักจางที่บางปะกง” หรือเพลงของ “พลพล” ในเมืองมอญ แล้วก็ไม่นึกด้วยว่าจะได้ยินเพลง “Slow Motion” ของโจอี้บอย ดังกระหึ่มออกมาจากบ้านคนมอญในเมืองมอญ แต่ว่าก็ว่าเถิด โลกาภิวัตน์เข้าไปถึงทุกหนทุกแห่ง แม้หมู่บ้านชนบทอย่างบ่อญี่ปุ่นก็คงไม่ใช่ข้อยกเว้น หรืออาจเป็นเพราะบ้านบ่อญี่ปุ่นเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดชายแดนไทย และมีคนมาทำงานในเมืองไทย จึงรับวัฒนธรรมและกระแสต่างๆ จากไทยไปมากก็เป็นได้ วัยรุ่นบางคนก็พูดภาษาไทยชัดมากและด่ากันเป็นภาษาไทยอย่างคล่องแคล่ว ภาษาอังกฤษก็พอพูดกันได้ เวลาที่ฉันสื่อสารภาษามอญอย่างกระท่อนกระแท่นออกไปแล้วเขาไม่รู้เรื่อง ฉันก็จะพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งเขาก็ตอบฉันมาเป็นภาษาอังกฤษกันได้ทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง เพราะมีอาสาสมัครที่เป็นฝรั่งมาสอนภาษาอังกฤษ อย่างในวันงานฉันก็เห็นอาสาสมัครที่เป็นฝรั่งประมาณ 3-4 คนมาร่วมงาน
วันที่ 22 กุมภาพันธ์อันเป็นวันงาน พวกเราตื่นมาแต่งตัวกันแต่เช้า ฉันสู้อุตส่าห์จำคำของศิษย์พี่ฉันซึ่งเป็นมอญเมืองไทยได้ว่า
“สไบเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิงมอญ สมัยที่รุ่นพี่เด็ก ยังเคยได้ยินคนแก่ดุสาวๆ ถึงขั้นร้องไห้ เพราะว่าไม่ได้ห่มสไบมาวัด เพราะมีคำพยากรณ์ทำนายไว้ทำนองว่าเมื่อโลกจะถึงกาลวิบัตินั้นจะเกิดเหตุวิปริตให้เห็นหลายประการ เช่นน้ำจะท่วมโลก กาจะออกไข่เป็นหงส์ รวมทั้งผู้หญิงมอญจะพากันทิ้งสไบ”
จะเห็นได้ว่าสไบเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิงมอญ ฉันจึงนำสไบสีแดงติดตัวมาด้วย เพราะรู้ว่าต้องใส่ชุดมอญ แต่ปรากฎว่าในกลุ่มที่ฉันไปด้วยนั้นมีเพียงฉันคนเดียวที่คล้องสไบ ส่วนคนอื่นใส่แต่เพียงเสื้อขาว หรือเสื้อยืดสีขาวพิมพ์ข้อความภาษามอญ มีน้อยคนนักที่ห่มสไบ เห็นแต่เพียงนางรำเท่านั้น
อ้าว ผู้หญิงมอญที่บ่อญี่ปุ่นไม่ห่มสไบกันแล้ว เอ...หรือว่าเขาใส่เฉพาะเวลาไปวัด นี่เป็น Culture shock อันหนึ่งที่ฉันพบตั้งแต่มาเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวมอญ สิ่งที่ฉันฟัง “บรรยาย” มา กับสิ่งที่ฉันเรียนรู้ในสถานการณ์จริงนั้นไม่เหมือนกัน แต่ก็เข้าใจว่าเพราะสังคมมอญเองก็มีความหลากหลายอยู่ในตัวและต้องปรับตัวไปตามสภาพภูมิสังคมที่ต่างกัน จะให้มีความเชื่อ รายละเอียดประเพณีรวมทั้งความนึกคิดแบบเป็นพิมพ์เดียวกันคงเป็นไปไม่ได้ ฉันก็ต้องเรียนรู้ต่อไป
ขบวนธงสวนสนามของทหารมอญ
คนในหมู่บ้านเริ่มเดินทางมาบริเวณสนามที่จัดงานตั้งแต่เช้าตรู่ เช้านี้ฉันจึงได้เห็นว่ามีการประดับธงชาติมอญไว้หน้าบ้านทุกๆ บ้าน ทุกๆคนพร้อมใจกันแต่งโสร่งแดง ผ้าถุงแดง เสื้อขาว ส่วนชายก็ใส่เสื้อขาวตารางแดง ซึ่งถือกันว่าเป็นชุดประจำชาติมอญ นอกจากคนในหมู่บ้านแล้ว ยังมีชาวมอญในหมู่บ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียง เช่นชาวมอญจากสังขละมาร่วมงานด้วยจึงมีคนเต็มสนาม
แถวเยาวชนมอญจากหมู่บ้านต่างๆ ที่มาร่วมในพิธี
ส่วนงานนั้นเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 7.00 น. มีการสวนสนามของทหารมอญที่ประจำการณ์อยู่แถบเจดีย์สามองค์ หัวแถวเป็นขบวนกลองสวนสนาม ตามด้วยขบวนธงชาติมอญ ขบวนทหารชายและทหารหญิง จากนั้นเป็นการกล่าวสุนทรพจน์โดยนายชานตอย รองเลขาธิการพรรคมอญใหม่ (Nai Chan Toik – Joint Secretary of New Mon State Party) นายทหารมอญระดับสูง ประธานจัดงาน และตัวแทนมอญเมืองไทย แม้ฉันจะฟังภาษามอญไม่ออกแต่ก็พอจับใจความได้ว่าหลายๆ ท่านได้พูดย้อนไปตั้งแต่พระเจ้าสมละ และวิมละ กษัตริย์สองพี่น้องที่เกี่ยวข้องกับตำนานการสร้างเมืองหงสาวดี
การกล่าวสุนทรพจน์ของตัวแทนพรรคมอญใหม่
ในตอนหนึ่งของการกล่าวสุนทรพจน์ ผู้ใหญ่ในงานท่านหนึ่งกล่าวว่า เราชาวมอญควรก้าวตามกระแสโลกาภิวัฒน์ให้ทัน และควรเพิ่มพูนความรู้เพื่อก้าวไปข้างหน้า อย่าคิดแต่เรื่องหนหลังอย่างเดียว ผู้ใหญ่อีกท่านได้กล่าวถึงสถานการณ์ “สมองไหล” ว่า ปัญหาปัจจุบันของชาวมอญนี้คือคนมอญที่มีความรู้นั้นได้ไปเรียน ไปทำงานหรือทำธุรกิจในประเทศอื่นแล้วไม่ได้กลับมา ซึ่งคนมอญควรอยู่ในประเทศของเรา จริงๆ แล้วผู้ที่กล่าวสุนทรพจน์มีมากกว่านี้ แต่นี่เป็นข้อความที่เพื่อนมอญของฉันแปลให้ฟัง ในขณะที่ข้อความอื่นเธอไม่ได้แปล ฉันเข้าใจว่านี่คงเป็นข้อความที่โดนใจเธอ และเธอเห็นด้วย ถึงแปลให้ฉันฟังอย่างกระตือรือร้นโดยที่ฉันไม่ต้องถาม
กองทหารเกียรติยศหน้าปะรำพิธีและผู้มาร่วมงาน
สิ่งที่ฉันชอบในงานนี้คือการร้องเพลงของเยาวชนมอญนี่เอง หลังจากประธานในพิธีเดินทางกลับ ก็มีการแสดงบนเวที หนึ่งในนั้นคือการร้องเพลงของเยาวชนมอญ ซึ่งมีเนื้อหาในทำนองว่า ชาวมอญควรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อประเทศของเรา เราหวังว่าวันหนึ่งเราจะได้เลือกผู้นำที่ดีมาปกครองประเทศของเรา หงส์จะบินคืนสู่แผ่นดินมอญ การที่มอญไม่มีประเทศเพราะถูก “เขา” รังแก อย่างไรก็ตาม เหตุที่ฉันชอบนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาในเพลง แต่เป็นเพราะว่าในขณะที่ฉันถ่ายรูปเหล่านักร้องบนเวทีนั้น คนข้างล่างเวทีที่อยู่ใกล้ๆฉันก็พากันร่วมร้องเพลงนี้ด้วย เมื่อมองเข้าไปในสายตาของแต่ละคน ก็เห็นประกายแบบเดียวกับที่ฉันเห็นจากน้องเยาวชนมอญกลุ่มที่ฉันเดินทางมาด้วย เป็นประกายของความมีจุดมุ่งหมาย สิ่งนี้ทำให้ฉันอดชื่นชมไม่ได้ แม้ฉันจะไม่ใช่ชาวมอญ แต่เมื่อได้มาอยู่ในสถานที่ที่มีรัศมีแห่งความหวัง ความเบิกบานใจและความมุ่งมั่นเปล่งประกายเช่นนี้ ก็ย่อมทำให้ฉันมีความสุขและปลาบปลื้มไปด้วย
เยาวชนมอญ...แม้จะเปิดเพลงโจอี้บอยดังลั่น แต่หน้าบ้านก็ยังประดับธงมอญ
เยาวชนมอญ...แม้จะด่ากันเป็นภาษาไทยบ้าง แต่ก็นุ่งโสร่งแดงมางานวันชาติมอญ
แม้ว่ากำลังทหารและอาวุธอาจจะสู้เขาไม่ได้ แต่ก็มี “สำนึกรักชาติของเยาวชนมอญ” ที่ฉันเห็นว่าเป็น “ยุทธปัจจัย” ที่สำคัญกว่ากระสุนปืนหรืออาวุธทรงอานุภาพใดๆ
นี่คือความประทับใจของฉันที่มีต่อเยาวชนมอญและงานวันชาติมอญ ณ หมู่บ้านบ่อญี่ปุ่น