Skip to main content

ภาสกร อินทุมาร




จำได้ว่าเมื่อตอนที่ผมริเป็นนักดนตรีไทยใหม่ๆ ในวัยเด็ก และได้ฟังเพลง “ราตรีประดับดาว” เป็นครั้งแรกนั้น ผมรู้สึกว่าเพลงนี้ช่างเพราะเหลือเกิน เพราะทั้งทำนองและเนื้อร้อง โดยที่เนื้อร้องมีอยู่ว่า…


วันนี้                                 แสนสุดยินดี พระจันทร์วันเพ็ญ

ขอเชิญสายใจ                                เจ้าไปนั่งเล่น ลมพัดเย็นเย็น หอมกลิ่นมาลี

หอมดอกราตรี                    แม้ไม่สดสี หอมดีน่าดม

เหมือนงามน้ำใจ แม้ไม่ขำคม             กิริยาน่าชม สมใจจริงเอย

ชมแต่ดวงเดือน                  ที่ไหนจะเหมือน ได้ชมหน้าน้อง

พี่อยู่แดเดียว เปลี่ยวใจหม่นหมอง       เจ้าอย่าขุ่นข้อง จงได้เมตตา

หอมดอกชำมะนาด             กลิ่นไม่ฉูดฉาด แต่หอมยวนใจ

เหมือนใจน้ำใจดี ปรานีปราศรัย          ผูกจิตสนิทได้ ให้รักจริงเอย

ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ   เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง

               หอมดอกแก้วยามเย็น                      ไม่เห็นใจพี่เสียเลยเอย

                               ดวงจันทร์หลั่นลดเกือบหมดดวง โอ้หนาวทรวงยอดชีวาไม่ปรานี

               หอมมะลิกลีบซ้อน                          อ้อนวอนเจ้าไม่ฟังเอย

                              จวนจะรุ่งแล้วนะเจ้า พี่ขอลา   แสงทองส่องฟ้าสง่าศรี

           หอมดอกกระดังงา                          ชิชะ ช่างน่าเจ็บใจจริงเอย

                      หมู่ภมรร่อนหาช่อมาลี          แต่ตัวพี่จำจากพรากไปไกล

           หอมดอกจำปี                                นี่แน่ะ พรุ่งนี้จะกลับมาเอย ฯ


เพลงนี้เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น โดยทรงขยายจากเพลง “มอญดูดาว” ๒ ชั้น ให้มาเป็นเพลงเถา (เพลงเถาหมายถึงเพลงที่ประกอบไปด้วยจังหวะทั้ง ๓ ลักษณะ คือ ๓ ชั้น ซึ่งเป็นจังหวะช้า ๒ ชั้น ซึ่งเป็นจังหวะปานกลาง และชั้นเดียว ซึ่งเป็นจังหวะเร็ว การบรรเลงเพลงเถาจะเริ่มจากจังหวะช้าก่อน และจบลงด้วยจังหวะเร็ว)


picture1

 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ทรงซอบรรเลงเพลงราตรีประดับดาว


ถึงผมจะเป็นนักดนตรี แต่ก็ไม่ค่อยได้สนใจประวัติของเพลงนี้มากนัก ได้แต่เล่นและฟังไปด้วยความชอบ จนวันหนึ่งที่เพลงนี้ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของความผูกพันและการพรากจาก ผ่านทางหนังสือที่ชื่อว่า “พรุ่งนี้จะกลับมาเอย” เมื่อครั้งงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ผมจึงเกิดความรู้สึกสะเทือนใจอย่างประหลาด ที่แม้ว่าในครั้งนั้นเมื่อผมฟังเพลงนี้ซึ่งมีเนื้อหาเชิญชวนมารับรักแกมตัดพ้อ แต่คำพูดสุดท้ายในเพลงที่ว่า “พรุ่งนี้จะกลับมาเอย” นั้นเป็นเพียงการลาจาก เพื่อจะกลับมาบอกรักอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ไม่เหมือนกับการจากในชีวิตจริง ที่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ผู้ที่จากไปจะไม่มีวันกลับมาอีก




เมื่อผมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เพลงประจำมหาวิทยาลัยของผมมี ๒ เพลง นักศึกษาใหม่ส่วนใหญ่จะได้ยินเพลงประจำมหาวิทยาลัยฉบับที่แต่งขึ้นทีหลัง แต่สำหรับผม เพลงประจำมหาวิทยาลัยที่บ่งบอกตัวตนและจุดยืนทางสังคมของมหาวิทยาลัยคือเพลงฉบับดั้งเดิม ที่ร้องว่า...


                 สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ               ด้วยอำนาจปกครองให้ผ่องเฟื่องมา

         เอ๋ย เราเป็นไทย เรารักไทย บูชาไทย             ไม่ยอมให้ ใครผู้ใด มาล้างเสรีไทย

                     สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง          ก่อรุ่งเรืองสมบูรณ์เขตต์ประเทศไทยมา

        เอ๋ย ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์การเมือง           ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรือง ก็เพราะการเมืองดี

                   เหลืองของเราคือธรรมประจำจิตต์            แดงของเราคือโลหิต อุทิศให้มา

       เอ๋ย เหลืองกับแดง เหลืองกับแดง เหลืองกับแดง ทุกทุกแห่ง ทุกทุกแห่ง แต่ล้วนเหลืองกับแดง

                 ชื่อว่าธรรมแล้วเราเทอดให้สมไทย            ทุกอย่างไปงานหรือเล่นต้องเป็นไทยมา

       เอ๋ย ใครรักชาติ ใครรักธรรมเหมือนกับเรา        จงมาเข้า และโปรดเอาใจช่วยเหลืองกับแดง


ผมเข้าใจว่าเพลงนี้ไม่มีชื่อ รับรู้กันแต่เพียงว่าเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่แต่งเนื้อร้องขึ้นโดยขุนวิจิตรมาตรา โดยท่านผู้แต่งอาศัยทำนองเพลง “มอญดูดาว” มาเป็นทำนองของเพลงนี้ดังนั้น นักศึกษาจึงเรียกเพลงนี้ว่าเพลงมอญดูดาวตามชื่อเพลงที่เป็นต้นทำนอง


 

picture2
ขุนวิจิตรมาตรา


ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เพลงนี้ส่งผลต่อความคิดและจุดยืนทางสังคมของนักศึกษาจำนวนมากมาย นั่นคือการเชื่อมั่นและยึดมั่นในความเป็นธรรมเฉกเช่นเดียวกับจุดยืนของมหาวิทยาลัยดังที่ปรากฏในเนื้อเพลง ต่างจากเพลงประจำมหาวิทยาลัยฉบับใหม่ ที่พยายามบอกเพียงว่าให้นักศึกษารักและภูมิใจในมหาวิทยาลัย โดยไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดเราจึงควรภูมิใจและรัก

picture3



ชีวิตการทำงานของผมที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานวิชาการ ได้พาผมไปพบกับงานวิจัย เรื่อง “อิทธิพลของทำนองเพลงมอญที่ปรากฏในเพลงไทยสากล” ของ อาริสา อำภาภัย ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (๒๕๔๗) ที่กล่าวว่า ทำนองเพลงมอญได้เข้ามาอยู่ในเพลงไทยนานเกินกว่าจะกำหนดเวลาได้ โดยในส่วนของเพลงไทยสากลนั้น ได้มีการนำทำนองเพลงมอญเข้ามาใช้ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ การที่นักดนตรีนำทำนองเพลงมอญเข้ามาใช้ในเพลงไทยสากลนั้นเป็นเพราะความไพเราะระคนเศร้า รวมทั้งความผูกพันทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-มอญ นั้นมีความแน่นแฟ้นและต่อเนื่องยาวนานมาหลายศตวรรษจนกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน

 

 

picture4

วงดนตรีมอญพื้นบ้านบ้านเจ็ดริ้ว สมุทรสาคร (ถ่ายเมื่อราว .. ๒๕๐๐)


การได้อ่านงานวิจัยฉบับนี้ ทำให้ผมนึกถึงถึงเพลง “มอญ” ทั้ง ๒ ที่ผมกล่าวถึงข้างต้น ซึ่งเป็นเพลงที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของผมจนทุกวันนี้ รวมทั้งย้อนระลึกถึงช่วงเวลาที่ผมยังเป็นนักดนตรี ที่ผมเล่นเพลงที่มีคำขึ้นต้นว่า มอญ แขก แขกมอญ เขมร ลาว จีน ฯลฯ มากมายหลายหลาก และถึงแม้ในเวลานี้ผมจะจำเพลงเหล่านั้นได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ทำให้ผมได้มองเห็นตัวเองในช่วงเวลานั้น ว่าผมไม่เคยตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของชาติพันธุ์ต่างๆในเพลงที่ผมเองเป็นผู้เล่น ผมรับรู้เพียงว่าผมเล่นเพลง “ไทย” รวมทั้งเพลงมหาวิทยาลัยที่ทุกคนเรียกว่าเพลงมอญดูดาวนั้น ผมก็ร้องด้วยสำนึกเพียงว่าเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับชาติพันธุ์มอญ


การย้อนระลึกถึงเพลงมอญในความทรงจำของผม ทำให้ผมพบว่าผู้คนต่างดำรงอยู่ท่ามกลางความหลากหลายและการผสมกลืนกลายทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่ที่เราเรียกว่าประเทศไทย โดยที่เราเองก็อาจจะไม่รู้เลยว่าในตัวเรานั้นมีความเป็นชาติพันธุ์ใดผสมปะปนอยู่บ้าง และความเป็นชาติพันธุ์ต่างๆ เหล่านั้นส่งผลต่อวิธีคิดและสำนึกของเราอย่างไร


=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=


หมายเหตุ สามารถฟังเพลง “ราตรีประดับดาว” ได้ตาม link ที่ปรากฏนี้

http://p-i-e.exteen.com/20071028/entry เป็น website ที่มีผู้นำเพลงนี้ถึง ๕ รูปแบบมาบรรจุไว้ และขอแนะนำให้ผู้ที่สนใจฟังเพลงที่ ๒ บรรเลงโดยวงมโหรีของกรมศิลปากร ขับร้องโดย ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติชาวไทยเชื้อสายมอญสุพรรณบุรี

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…