Skip to main content

วันนี้ได้โอกาสมาเยือน “ประชาไท” แบบไม่ตั้งใจ เพราะปวดหัวเป็นไข้เล็กน้อย จึงถือโอกาสไม่ไปทำงานในวันอาทิตย์นอกเวลาเพื่อเคลียร์งานที่ทำไม่ทันในวันธรรมดา ถามตนเองว่าให้เวลากับงานมากเกินไป จนลืมมองดูสุขภาพตนเองหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” เพราะจำได้ว่าสมัยอยู่ต่างประเทศก็ทำแบบเดียวกัน แล้วก็ทำได้ด้วย ปัญหามีน้อยกว่า แต่เป็นเพราะว่าทางโน้นมีระบบงานที่ให้เสรีภาพในการทำงานมากพอสมควร มีปรัชญาในการทำงานที่เหมาะสมกว่า เมื่อเปรียบกับงานตรงนี้


การทำงานในระบบตะวันตกนั้น ส่วนมากจะเน้นเนื้องานและเป้าหมาย ส่วนการเมืองในองค์กรนั้น ก็มีดุเดือดเลือดพล่านไม่แพ้กันนัก แต่ต่างกันในเรื่องการคัดสรรบุคคลเข้าทำงาน ที่ใช้ระบบ “merit” ที่ชัดเจนกว่า ในที่นี้เช่นกันไม่ได้บอกว่าปลอดการเมือง เพราะว่าที่นั่นก็มีและมีมากด้วย แต่หากว่ามีระบบอื่นมาตรวจเช็คได้เช่นกัน ทำให้คนที่เข้ามาโดยไม่โปร่งใสและไม่เหมาะสมจริง ต้องกระเด็นไปง่ายๆ (ยกเว้นกรณีอดีตประธานาธิบดีคนนั้น) ทำให้การทำงานในองค์กรไม่สะดุดจนเกินไปนัก แต่ก็มีเหมือนกันที่มีการล้มไม่เป็นท่าขององค์กรที่ว่ามีแต่คนเก่งๆทำงานกัน เช่น Enron ทั้งนี้เป็นเพราะเล่นการเมืองและสกปรกกันจนไม่เหลือ (เรียกว่าเก่งแต่ชั่ว) ก็ไม่ไหวเช่นกัน


ในเมืองไทยน่าสงสารกว่าคือ นอกจากไม่เก่งแล้ว การเมืองนั้นดกดื่นอย่างไม่น่าเชื่อ ที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบการทำงานของไทยนั้น ได้รับอิทธิพลจากโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมภายนอกไหลท้นเข้าไป ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากองค์กรเป็นระบบย่อยของสังคมใหญ่ ย่อมได้รับอิทธิพลต่างๆเป็นธรรมดา โดยผ่านองค์ประกอบที่สำคัญคือ “บุคลากร” ที่เป็นส่วนทำให้เกิดองค์กรและวัฒนธรรมองค์กร ดังนั้นการที่ได้บุคลากรแบบใดมาก็ย่อมทำให้องค์กรมีลักษณะเช่นนั้น เช่น ความว่องไว ความเฉื่อยชา ความชิงดีชิงเด่น ความถ้อยทีถ้อยอาศัย และที่สำคัญมากกว่านั้นคือบุคลากรที่ทำหน้าที่บริหาร ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดทิศทางขององค์การ ซึ่งหากไม่มีมีฝีมือและไม่มีคุณธรรมก็จบกัน


ในวัฒนธรรมไทย มีปัญหามากมาย ซึ่งก็เป็นที่ประจักษ์และศึกษากันมานานแล้วในสมัยสงครามโลกครั้งที่2 และหลังจากนั้นเล็กน้อยเรื่อยมาจนสมัยสงครามเวียตนาม ซึ่งได้มีนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมของสหรัฐฯมาทำวิจัยในเมืองไทย เช่น Ruth Benedict ที่เขียน Thai Culture and Behavior ในปี 1952 จากนั้นก็มีขบวนนักสังคมศาสตร์ทำการศึกษามาเรื่อยๆ ปัจจุบันก็ยังได้รับอิทธิพลจากงานวิจัยดังกล่าวบ้าง ปัญหาที่นักมานุษยวิทยาพูดถึงเมืองไทยส่วนมากคือ มีลำดับชั้นในสังคม (social hierarchy)สูง ความไม่ขยัน ความที่รักสนุก และไม่มองอะไรในอนาคตมากนัก นอกจากทำบุญเพื่อหวังผลชาติหน้า จึงไม่แปลกใจที่ปัจจุบันสังคมไทยก็ไม่ขยับไปไหน และที่น่ากลัวกว่าเดิมคือ เราเป็นได้แค่ประเทศที่รับจ้างผลิตแต่เราไม่มีกระบวนการที่จะสร้างเทคโนโลยีได้เองพร้อมทั้งมีประชากรที่พร้อมจะสุขเอาเผากิน สนุกและบันเทิงไปวันๆ


น่าเสียดายที่ในช่วงนั้นไม่มีใครกล้าพูดถึงเรื่องโครงสร้างเชิงอำนาจมากนัก อาจเป็นเพราะเป็นช่วงสงครามเย็น ที่ไม่มีใครอยากพูดถึงแนวคิดเชิงมาร์กซิสท์ ทำให้ขาดมิติที่มาคิดพิเคราะห์ได้ แม้ในปัจจุบันนี้ใครที่จะพูดเรื่องนี้ก็มีปัญหา เพราะยังมีซากเดนของกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์เดิม หรือขวาชิดติดขอบ คอยกำหนดแนวคิดของกระแสหลักในไทย ใครก็ตามที่หลุดออกนอกกรอบที่ขวากำหนดให้ ก็กลายเป็นซ้ายทันที ทั้งที่ไม่ใช่ซ้ายแม้สักกระผีก เอาเป็นว่าหากไม่ใช่แบบที่ขวากำหนดให้ ต้องเป็นซ้ายเท่านั้น ผีแนวคิขวาตกขอบตัวนี้เลยไม่มีวันตายคอยหลอนหลอกสังคมไทยให้งมงายมาตลอด


ปัจจุบัน มีการตั้งคำถามจากบางกลุ่มขึ้นมา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความความว่าจะโปร่งใส เพราะฝ่ายนั้นก็จ้องจะสร้างฐานอำนาจขึ้นมา และในที่สุดหากเกิดชนะขึ้นมา (ซึ่งไม่ง่ายนักหรอก) ฝ่ายอำนาจใหม่นี้ก็ไม่ต่างจากฐานอำนาจเดิมแล้วกดขี่ผู้คนอีก เป็นการสร้างซ้ำโครงสร้างอำนาจในสังคมด้วยกลุ่มใหม่ แต่คนไทยก็ยังคงเป็น Underdog ไปตลอด จึงเป็นเรื่องที่ช่วยให้กลุ่มอำนาจไหนๆก็สบาย เพราะคนไทยปกครองง่าย


เมื่อสังคมใหญ่เป็นแบบนั้น สังคมระดับองค์กรก็จำลองแบบกันมาอย่างไม่ผิดเพี้ยน ยิ่งระบบราชการชัดเจนเป็นที่สุด ระบบอุปถัมภ์เห็นได้ชัด เป็นเพราะการปูนบำเหน็จต่างๆมาจากส่วนกลางทั้งสิ้น และส่วนกลางก็มาจากศูนย์กลางอำนาจนั่นเอง การสวามิภักดิ์ต่อส่วนกลางย่อมยังประโยชน์ต่อผู้นั้น วงจรการพัฒนาจึงไปไหนไม่ได้ ใครๆก็อยากเข้ากับส่วนกลางหรือเป็นส่วนกลางเสียเอง จากนั้นก็สืบต่อทายาททางอำนาจกันต่อๆไป


แม้กระทั่งการเขียนบทความทำนองนี้ ผู้เขียนยังต้องระวัง เพราะว่าการระบุอะไรชัดเจนเกินไปย่อมก่อให้เกิดภัยเข้าตัว ในสังคมที่มีการสอดส่องกันมาก ไม่เกิดผลดีต่อใคร ยิ่งผู้มีอำนาจชอบใช้โดยอ้างว่า “เพื่อสังคมวัฒนธรรมอันดีงาม” หรือ “เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ” อะไรทำนองนี้ ย่อมถือเป็นเรื่องที่สร้างอำนาจอันชอบธรรมที่จริงๆแล้วไม่ชอบธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อนำมาขัดขวางผู้ที่คิดต่างหรือฝ่ายตรงข้าม ทำให้นึกถึงแนวคิดที่เรียกว่า แมคคาธี่อิซึ่ม McCarthyism (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.people.umass.edu/pokpongj/02-01.htm) ที่ทำให้สหรัฐฯเองเกิดความแตกแยกแบบไม่เข้าท่าเพราะมามัวแต่ระวังกันและกัน


ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนมือที่มีอำนาจ ในเดือน สิงหาคม-กันยายน มีการวิ่ง 100 เมตรกันทุกหน่วยงาน ผู้เขียนได้ยินอะไรสนุกๆมากขึ้น ข่าวลือ ข่าวเล่าอ้างมีเต็มทุกหัวระแหง แต่ไม่มีใครคุยเลยว่าระบบที่ใหม่ๆ ในการบริหารจัดการและสร้างคุณภาพที่แท้จริงในการทำงานจะเกิดขึ้น มีแต่อะไรที่เป็นปาหี่ เช่น การอภิปราย บรรยาย เวิร์คช็อป เปรอะไปหมด แต่แล้วก็ยังทำงานกันแบบเดิมๆ เป็นเพราะเรียนแล้วมาทำจริงไม่ได้ทั้งสิ้น หรือ ขนาดคนสอนเองยังไม่สามารถทำได้ในหน่วยงานตนเอง แต่ก็บังอาจมาสอน


ตอนนี้ เห็นมีการรณรงค์ การรักเมืองไทยกันเต็มไปหมด ผู้เขียนขำทุกครั้งเวลาได้ยินว่า การรักเมืองไทยมีวิธีการตามที่รัฐบาลบอกมา พูดง่ายๆคือการเป็นเด็กดีของรัฐบาลคือการรักเมืองไทย จึงได้แต่ถามว่าหากเป็นเด็กหลังห้องของรัฐบาลไทย แต่เป็นเด็กหัวแถวของความคิดต่างนี่ คงโดนตราหน้าว่า “ไม่รักเมืองไทย” เป็นแน่ การที่กำหนดการณรงค์เช่นนี้อาจให้เกิดรอยร้าวลึกมากกว่าเดิม เพราะการสร้าง “เรา-เขา” ไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจได้เร็วนัก เพราะคนที่ไม่เข้าข้างใครก็เป็น “อื่น” ไปได้ อีกทั้งอาจเป็นการการปลุกผีชาตินิยมย่อมถือเป็นอันตรายมากกว่าคุณประโยชน์ ในระยะยาว


ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมจึงคิดกันแบบง่ายๆ ได้อย่างนี้ น่ากลัวเหลือเกิน เรื่องนี้ขอจบแบบขำๆแต่สลดใจแบบนี้แล้วกัน

 

 

 

บล็อกของ แพ็ท โรเจ้อร์

แพ็ท โรเจ้อร์
สองวันก่อนคนสนิทคราวลูกฉุดลากไปดูหนังในโรง อันเป็นพฤติกรรมที่ผู้เขียนไม่ได้ทำมาเป็นสิบปี เข้าไปก็เด๋อๆ ด๋าๆ ต้องแบบเหมือนจะจูงเข้าไป ก็น่าสนุกดี รู้สึกว่าเหมือนเมืองนอกมากขึ้นที่มีอะไรเป็นคอมพิวเตอร์หมด และค่าดูค่อนข้างถูก นอกจากว่าเมื่อเปรียบกับรายได้จริงของคนไทยแล้ว นับว่าแพงมาก ผู้เขียนเสียเงินค่าดูแบบแพงเพราะอยากรู้ว่าอย่างที่แพงเป็นอย่างไร ก็น่าสนใจดี มีที่นั่งกว้างขวางอย่างดี มีคนมาเอาใจ เอาน้ำ เอาข้าวโพดคั่วมาให้ เรียกว่าเหมือนอยู่บ้านในห้องโฮมเธียเตอร์ หากลงทุนสร้างแบบนี้ในบ้านคงไม่คุ้มสำหรับบางคน เรียกว่าถอยห่างจากโลกความจริงไปชั่วคราวเพื่อให้เป็นโลกส่วนตัวตามลำพังเท่านั้นเอง…