Skip to main content
 

ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีงานรับปริญญากันมาก ผู้เขียนก็ต้องไปมีส่วนในงานแบบนี้ทุกปีนับตั้งแต่เรียนจบมา 11 ปีที่แล้ว เพราะสายงานนั้นบังคับให้ต้องร่วม บทความนี้จึงเป็นบทความที่ไม่เกี่ยวกับองค์การโดยตรงสักครั้งหนึ่ง แต่เกี่ยวกับ "คน" ที่รับปริญญาและคนที่เกี่ยวข้อง


การรับปริญญาในเมืองนอกนั้น ไม่ได้เป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่เหมือนเมืองไทย แต่ถามว่ามีคนมาชุมนุมกันมั้ย

ตอบว่ามี แต่การทำมากินสำคัญกว่า หลายคนจึงไม่ได้สนใจว่าต้องรับหรือไม่ หากต้องย้ายเมืองไปทำงานทีอื่นหรือกลับบ้านไปก่อนวันรับปริญญา กระนั้นเมืองนอกคือสหรัฐฯในที่นี้ (บางแห่งมีการรับปีละสองหน และบางแห่งมีการรับปีละหน ก็มักเป็นเทอมที่สิ้นสุดในเดือน พ.. หรือ มิ..) ก็จะมีงานรับปริญญาหลังวันสอบไล่ในเทอมนั้น (ไม่ใช่คอยนานแบบเมืองไทย เพราะต้องให้มั่นใจว่าจบแน่ จบจริง) ที่สหรัฐฯ นั้นรับแบบหลอกๆ ไปก่อน จากนั้น ถ้าพบว่าเรียนผ่านครบข้อบังคับตามหลักสูตรแล้วจริง ก็จะส่งใบปริญญาไปให้ที่บ้านหรือที่อยุ่ที่ให้ไว้ ส่วนใบระเบียนสมบูรณ์ก็จะส่งให้ทาง ปณ.ตามที่ร้องขอมาได้ ส่วนหากมีการสูญหายก็บอกไปว่าหายหรือไม่ได้รับ มหาวิทยาลัยก็จะออกใบให้ใหม่ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่แบบเมืองไทยเพราะว่าหากมีการจับได้ว่าใช้วุฒิปลอม มีโทษทางอาญาที่รุนแรง


ในเมืองไทย บัณฑิตไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ค้านกับเรื่องนี้มาตลอดว่า หากใบปริญญาไม่มีปัญญาในตัวเจ้าของ อย่าไปมีเสียเลย ผู้เขียนจำได้ว่า ตอนเรียนจบที่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้คอยจนรับปริญญาเพราะส่งบทนิพนธ์ทุกอย่างกลางเทอม ไม่ได้อยู่รอจนงานรับปริญญา แต่ให้มหาวิทยาลัยส่งมาให้ทางไปรษณ๊ย์ พกกลับมาแค่ใบรับรองจากคณะ/บัณฑิตวิทยาลัยว่า จบแน่ เพื่อเอามาสมัครงาน


มีคนสำคัญต่างๆ ของแต่ละสถาบันมาให้โอวาทแก่บรรดาผู้สำเร็จการศึกษา หัวเรื่องใหญ่ๆ คือ 1. แสดงความยินดีที่จบ 2. ขอให้ใช้วิชาความรู้ในด้านดี 3. ขอให้ตระหนักถึงภาระตนเองในสังคม 4. ขอให้เจริญสุขสวัสดิ์ มีอยู่แค่นี้ จากนั้นก็มีคำปฏิญาณของบัณฑิต ที่มีทำนองคล้ายกันในความรับผิดชอบ ซึ่งก็ได้แต่พูดกันไป ไม่เห็นใครเอามาปฏิบัติกันสักกี่คน หลายคนที่จบมานี่ก็โกงๆ เค้าจบมาด้วย ไม่เห็นมีใครพูดสักคำว่าอีนี่โกงมาจึงจบ มัวแต่มาปลื้มกันในท้ายสุด ลืมมองว่ากระบวนการที่ได้มาสกปรกแค่ไหน


บรรดาผู้สำเร็จการศึกษากระดี๊กระด๊ากันเกือบทั้งนั้น เหมือนงานรวมรุ่นได้เพราะไม่ได้เจอกันหลังจากเรียนจบ แต่ว่าน่าเสียดายที่จริงๆแล้วนั้นไม่เคยได้ตั้งคำถามเลยว่าจบแล้วนี่ รู้แจ้งจริงตามใบปริญญาที่ให้ไว้เป็นหลักฐานหรือเปล่า มีผู้ใหญ่หลายคนของแต่ละมหาวิทยาลัยมักบอกว่าบัณฑิตที่จบไปมีคุณภาพดี เป็นการโฆษณาเกินจริงเป็นส่วนมาก เพราะผู้เขียนเองพบว่าไม่เกินร้อยละ 10 ของผู้สำเร็จการศึกษาในปัจจุบันนี้ของไทยได้คุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น อันนี้ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ จะไม่เป็น เพราะที่นั่นเองหลายครั้งผู้เขียนก็อยากจะเอาปริญญาคืนเพราะไม่ได้เรื่อง สอนพวกนี้มากับมือพบว่าตอนเรียนก็ขี้เกียจบรม แต่ด้วยกระบวนการที่ว่า "ถ้าเข้ามาแล้ว ต้องผลักดันให้เรียนให้จบ" ทำให้ต้องปล่อยให้จบแบบที่ไม่น่าเชื่อ


อย่างไรก็ตาม ได้แต่หวังว่าพวกที่ปล่อยให้จบนั้น จะยังพอเอาตัวรอดได้ และพัฒนาตนเองต่อไป ผู้เขียนเองเคยเป็นเด็กที่เกือบเรียนไม่จบมัธยมต้น เพราะมีปัญหาในเรื่องจิตวิทยาช่วงวัยรุ่น และคณาจารย์กลุ่มหนึ่งเข้าใจและเชื่อในศักยภาพของผู้เขียนจึงให้มีการสอบพิเศษและช่วยให้กำลังใจผู้เขียนมาก จนผ่านพ้น หากจะมองแล้ว การเรียนในมัธยมต้นนั้นไม่ได้มีอะไรมากกว่าทางผ่าน แต่ในระดับปริญญานี่แหละที่อาจมีผลกระทบทางสังคมได้มากกว่า การเชื่อในศักยภาพตรงนี้ต้องมองระดับของการศึกษาด้วย ถ้าคนไม่เก่งจริงก็คงไปลงเอยที่ไม่ได้รับปริญญา น่าเสียดายที่เดี๋ยวนี้ การศึกษาระดับปริญญามันคือการทำมาหากินกันไปเสียหมดจนต้องปล่อยผ่านกันอย่างง่ายขึ้น


ที่เห็นว่าง่ายขึ้นชัดเจนคือ การที่อาจารย์หลายคนยอมให้เด็กปริญญาตรีสามารถไปลอกงานมาเขียนรายงานเป็นดุ้นๆ แหล่งข้อมูลก็คือ อินเตอร์เน็ทนี่แหละ แล้วการลอกมาลงเป็นดุ้นนี่ยิ่งมากยิ่งดี เพราะอาจารย์ชอบให้เด็กไปเอามามากๆ จะได้เอามาใช้ต่อ ทั้งที่เอามาจากแหล่งข้อมูลเชื่อถือไม่ได้ คนใกล้ตัวของผู้เขียนเจอกับตนเองที่มาถามผู้เขียนว่ารายงานควรทำอย่างไร เนื่องจากอาจารย์สั่งงานมาแบบกว้างสุดขีด ผู้เขียนบอกว่าให้มีประเด็นคำถามแล้วตอบ งานออกมาจึงมีแค่ 5 หน้า เพราะไม่ได้ลอกมาเป็นดุ้นๆ และมีการวิเคราะห์ข้อมูล ปรากฏว่าอาจารย์ไม่ได้ตรวจเอง และให้ผู้ช่วยสอนที่เป็นแค่เด็กป. โท มาตรวจ และให้เกรดที่ขึ้นอยู่กับความหนาของรายงาน ไม่ได้เรื่อง ทำให้เด็กเกิดอาการน้อยใจที่ทำดีแต่ไม่ได้ดี ที่เห็นชัดต่อมาอีกคือผู้เขียนก็พบว่านักศึกษาของผู้เขียนเองก็ชินกับการทำงานแบบนี้ เดาได้ว่าชินมาจากระดับปริญญาตรี ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยปิดหรือเปิด เป็นกันหมด น่าอดสูกันจริง


ได้พูดคุยกับอาจารย์ที่สอน ป.ตรี ได้ความว่าขี้เกียจตรวจมาก เอาความหนาเป็นเกณฑ์ บอกว่าแค่เด็กหามาตรงจุดก็บุญแล้ว ลอกมาเป็นกระบิๆ หรือลอกมาเหมือนกันก็ได้คะแนน ตกลงกลายเป็นว่าอาจารย์เองนี่แหละก้ไม่ได้เรื่อง พบว่ามีอาจารย์ขยันๆน้อยจนถึงไม่มี และที่สำคัญอาจารย์ระดับ ป.ตรีต้องปล่อยเด็กให้จบเพราะว่าต้องทำตัวเลข และสร้างประชานิยม เพื่อให้เด็กมาลงวิชาที่ตนสอนเยอะๆ โดยเฉพาะสถาบันที่มีสาขาเกือบทุกจังหวัดทั่วไทย ที่เน้นตัวเลขจนไม่น่าเชื่อ ทั้งนี้ก็รวมถึงพวกม.เปิดและปิดต่างๆด้วยหลายแห่ง ที่ขาดการคุมคุณภาพอย่างไม่เหลือหรอ


น่าเสียดายที่ระบบทุกอย่างทำให้เด็กของเรา ไม่สู้ ไม่อดทน ไม่ไฝ่รู้ จนไม่เหลือเลยว่าคุณภาพเป็นอย่างไร ไม่นานมานี้ได้อ่านข่าวว่าเวียตนามก็มีปัญหาว่าบัณฑิตที่ไปเป็นพนักงานบนเรือบินพูดอังกฤษไม่ได้ ผู้เขียนเองก็พบว่าของเราก็มีปัญหาคล้ายกัน บัณฑิตไทยเอกอังกฤษใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้เพียบ บางคนก็เกียรตินิยมมาด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกไปเสียแล้ว


สิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่แค่คุณภาพปริญญาที่ไร้ปัญญา แต่เป็นเรื่องคุณภาพของนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ไม่มีความวิริยะ ไม่มีความไฝ่รู้ เพราะว่าสังคมไม่ส่งเสริม อีกทั้งตัวเด็กเองก็ขี้เกียจลงๆ เตือนก็ไม่ได้สอนก็ไม่ได้ มีอาการฉุนฉียว น้อยอก น้อยใจ พาลถึงฆ่าตัวตาย เพราะพ่อแม่พี่น้องและสังคมโดยรวมกลัวเด็กเครียด เด็กไร้สุข เหมือนเรื่อง "พ่อแม่รังแกฉัน"ที่ผู้เขียนเรียนมาแต่เด็ก แม้ฝรั่งเองก็ยังบอกว่าต้องเข้มงวดกับเด็ก ไม่งั้นเด็กจะเสีย แต่สังคมไทยเลี้ยงเด็กได้เละตุ้มเป๊ะ ลืมมองว่าวันหน้าเด็กจะเสีย และแข่งขันกับใครไม่ได้


เอาเป็นว่า การที่มีเด็กดีๆเหลืออยู่บ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกัน แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้นพวกนี้ก็อย่ามาตะโกนว่าทำไมต้องโดนตำหนิด้วย พวกคุณทำดีก็ดีแล้ว ไม่ต้องเดือดร้อน ผู้ใหญ่ที่เข้าใจเค้ายังคงเข้าใจพวกคุณ อย่ามาว่าผู้ใหญ่นักเลยว่าไม่เข้าใจ ผู้ใหญ่สมัยนี้ดีๆก็พอมี แล้วที่สอนเด็กๆให้ขยันก็เพราะรู้ว่าไม่ขยันแล้ว จะเสียโอกาสในชีวิตอย่างนึกไม่ถึง


ปัญหาการไร้ปัญญาต้องอยู่ที่ตัวเด็กด้วยว่า "อย่าสนุกที่ไม่ต้องทำการบ้านมาก อย่าบ่นที่มีการบ้านแยะและหัดฟังผู้ใหญ่บ้าง" การที่ต้องอดทนในการรับฟัง อดทนที่ต้องทำงานหนักไม่ใช่เรื่องน่าดูถูก อย่าอ้างคำว่าประชาธิปไตย หรือไม่ยุติธรรม เพราะการเป็นประชาธิปไตยในจุดนี้ ไม่ได้หมายความว่า เด็กจะเท่าผู้ใหญ่ทุกอย่าง การอบรมบ่มนิสัยเป็นหน้าที่ที่ผู้ใหญ่ต้องทำ และการเรียนรู้เป็นหน้าที่ของเด็ก เนื่องจากวุฒิภาวะและการรับรู้อะไรต่างๆไม่ได้มีระดับที่จะทำให้เข้าใจอะไรได้มากและลึกซึ้ง แม้ในสหรัฐฯเองนั้น เด็กก็ไม่ได้มีสิทธิมากเหมือนเด็กไทยในสมัยนี้ สังคมตรงนั้นสอนเรื่องวินัยและความรับผิดชอบ ดังนั้น วันนี้ไม่ว่าเด็กหรือใหญ่ ทุกคนต้องเปลี่ยนการมองบทบาทและความรับผิดชอบทางสังคมให้คมชัดขึ้น เพราะสังคมนั้นเป็นของทุกคน และทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบตามที่ควรจะเป็น คิดให้เป็นและทำให้ได้ ให้เป็น

บล็อกของ แพ็ท โรเจ้อร์

แพ็ท โรเจ้อร์
สองวันก่อนคนสนิทคราวลูกฉุดลากไปดูหนังในโรง อันเป็นพฤติกรรมที่ผู้เขียนไม่ได้ทำมาเป็นสิบปี เข้าไปก็เด๋อๆ ด๋าๆ ต้องแบบเหมือนจะจูงเข้าไป ก็น่าสนุกดี รู้สึกว่าเหมือนเมืองนอกมากขึ้นที่มีอะไรเป็นคอมพิวเตอร์หมด และค่าดูค่อนข้างถูก นอกจากว่าเมื่อเปรียบกับรายได้จริงของคนไทยแล้ว นับว่าแพงมาก ผู้เขียนเสียเงินค่าดูแบบแพงเพราะอยากรู้ว่าอย่างที่แพงเป็นอย่างไร ก็น่าสนใจดี มีที่นั่งกว้างขวางอย่างดี มีคนมาเอาใจ เอาน้ำ เอาข้าวโพดคั่วมาให้ เรียกว่าเหมือนอยู่บ้านในห้องโฮมเธียเตอร์ หากลงทุนสร้างแบบนี้ในบ้านคงไม่คุ้มสำหรับบางคน เรียกว่าถอยห่างจากโลกความจริงไปชั่วคราวเพื่อให้เป็นโลกส่วนตัวตามลำพังเท่านั้นเอง…