Skip to main content

การชนะการเลือกตั้งสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562 ชัยชนะตกอยู่กับ พรรค Possiblack (ได้คะแนน 247 ต่อ 201) นั้นคงไม่ได้สร้างความแปลกใจผิดคาดสักเท่าไหร่ เนื่องจากพรรค Possiblack เก๋าเกมส์กว่า คนที่ลงสมัครในพรรคส่วนใหญ่เคยผ่านทำงานสโมสรฯมาก่อน และดำรงตำแหน่งสำคัญภายในองค์กร ส่วนพรรค DemoSigh เป็นพรรคใหม่ แม้จะมีบางส่วนเคยทำงานสโมสร แต่ถ้าเทียบกับพรรค Possiblack นั้นก็คนละชั้นกันเลย ผู้ลงสมัครในนามพรรค Possiblack ท่านหนึ่ง ทำภาพประชาสัมพันธ์ เขียนวิจารณ์ Demosighว่า

 

“สิ่งที่พรรค Demosigh โฆษณาคือความเชื่อใจ ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีผลงาน ไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆว่า ข้ออ้างทั้งหมดที่มีอยู่ในรูปนโยบายนั้นจะถูกผลักดันออกมาเป็นรูปธรรม ด้วยบุคลากรของพรรคได้เลยสักคน”

 

(ภาพและข้อความที่พิชาภพ เข็มพุดซา ใช้ในการหาเสียงลงสมัครนายกสโมสรฯ ข้อความนี้เป็นการตอบโต้

ต่อการวิจารณ์ว่านโยบายขยายเวลาเปิดห้องสมุดของเขาและให้นิสิตมาควบคุมดูแลแทนอาจารย์ในช่วงเวลาหลังเวลาทำการปกติว่าทำไม่ได้จริง และอาจารย์ไม่เห็นด้วยกับเขา)

 

 

จากข้อความข้างต้น ทำให้เห็นได้ไม่ยากว่าพรรค Possiblack ยึดถือ “ความเป็นรูปธรรม” "ประสบการณ์" ที่ผ่านของตนมากขนาดไหน และจากที่กล่าวเช่นนี้จึงอนุมานไม่ยากว่า นโยบายส่วนใหญ่ที่หาเสียงเป็นนโยบายที่เคยเสนอมาแล้ว (เมื่อคิดว่าตัวเองทำดีกว่า นโยบายก็ต้องออกมาในแนวเดิม) และต่อยอดจากของเดิม ลองเปรียบเทียบนโยบายขยายเวลาชั่วโมงห้องสมุดคณะก็ได้ซึ่งเป็นจุดขายที่โดดเด่นของพรรค Possiblack (ซึ่งบรรณารักษ์ยังคงยืนกรานปฏิเสธไม่สนับสนุนให้ทำ) หรือนโยบายตู้ล็อกเกอร์ (เป็นนโยบายที่มีมาหลายปีแล้วและคนในพรรค Possiblack หลายคนทันจะมีส่วนร่วมในโครงการนี้) มีนิสิตบางคนกล่าวว่า คงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมองว่าพรรคหาเสียงทำได้บ้างไม่ได้บ้าง การมองแบบนี้แม้จะมีเหตุผลอยู่ สำหรับฝ่ายที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สโมสรนิสิตกลับมามีชีวิตชีวา และเป็นตัวแทนของนิสิต แต่ก็ไม่ควรด่วนสรุปเร็วไป ว่าจะไม่มีอะไรใหม่ และใช่ว่าอะไรๆจะไม่ดีขึ้น

 

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อาจมี “อนาคตใหม่” ก็ได้

ที่กล่าวเช่นนี้หมายถึง คนที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสโมสรนิสิตครั้งนี้คือ พิชาภพ เข็มพุดซา หรือ ซีเกมส์ ซึ่งอาจจะเป็น “อนาคตใหม่”

 

 

พิชาภพ เข็มพุดซา เป็นนิสิตที่เป็นที่รู้จักกันดีในคณะ มีอัธยาศัยใจคอดี ตั้งแต่ก่อนเข้าจุฬาฯเคยเป็นประธานนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่ออยู่ปี1 ก็ดำรงตำแหน่งหัวปี ทำงานสโมสรมาตั้งแต่นั้น ปีสองเป็นหัวหน้าฝ่ายศิลปวัฒนธรรม ปีสามขยับมาเป็นเบอร์สองตำแหน่ง อุปนายกสโมสรนิสิต ฝ่ายนอก บัดนี้ถึงเวลาที่เขาจะได้เป็นนายกสโมสรนิสิตแล้ว งานที่พิชาภพเกี่ยวข้องเช่น โครงการ 40 ปี 6 ตุลาฯ (งานที่เชิญโจชัว หว่องมาแต่ถูกกักตัวไม่ให้เข้า) โครงการฟื้นฟูชมรมละคร (ปัญหาภายใน ทำให้โครงการล้มเลิกไป) โครงการโจกาไรเซชั่น (ฟื้นฟูลานโจก้าเป็นพื้นที่ของนิสิตร่วมใช้ด้วยกัน) โครงการสิงห์ดำ-สิงห์แดง ถ้ามองในส่วนหนึ่ง อาจจะมองว่าพิชาภพไม่ได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเพราะในภาพรวมสโมสรนิสิตไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ และนิสิตในคณะก็ไม่ได้สนใจจะมีส่วนร่วม (พิชาภพยอมรับเอง) แต่ถ้าลองมองเจาะลึกไปในตัวบุคคล งานที่พิชาภพได้รับมอบหมายจะเห็นว่า มีความพยายามสร้างสรรค์ไม่น้อย เสียดสีการเมืองและผู้มีอำนาจอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้พิชาภพก็เป็นคนอัธยาศัยดี และยอมรับข้อบกพร่องของสโมสร (เช่นเรื่องการเปิดเผยบันทึกการประชุมที่ไม่ได้ทำตามธรรมนูญสโมสรนิสิตที่บอกว่าต้องเปิดเผย หรือการที่คนในสโมสรที่มีตำแหน่งอาจจะวางตัวไม่เหมาะสมกับนิสิตอื่นๆในคณะ) นับว่าพิชาภพเป็นคนเปิดเผย จริงใจ และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจริงให้เกิดขึ้น

 

 

(ภาพ สแตนดี้ของ "พิชาภพ เข็มพุดซา" ถูกตั้งในกิจกรรมล่ารายชื่อถอดถอน กกต ที่ใต้ตึก3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ)

 

ความท้าทายที่พิชาภพต้องเจอ

ต่อแต่นี้เมื่อพิชาภพ เข็มพุดซาได้รับตำแหน่ง นายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขาจะเจอภารกิจที่ท้าทายเขาอยู่หลายอย่าง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการหาเสียงของพรรคและจากนโยบายเก่าที่เขายังทำไม่เสร็จ

 

เรียงจากง่ายไปยาก

  1. การเปิดเผยรายงานการประชุมของสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ต่อสาธารณะ (ตามธรรมนูญ ซึ่งไม่ทำจริงจังในตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา)

  2. การกล้าให้คนตรวจสอบและข้อเสนอไม่ถูกนิ่งเฉย เช่น การจัดให้มีชมรมสภานิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และการที่คนในสโมสรนิสิตจะวางตัวดีในการตอบโต้กับสมาชิกของสโมสรคนอื่นๆที่ไม่เห็นด้วยกับตน

  3. การปรับปรุงตู้ล็อกเกอร์ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นนโยบายเก่าในปีก่อนแต่ก็ไม่มีการดำเนินการ

  4. ในยุคเผด็จการทหารและการเมืองไทยที่ไม่มีเสถียรภาพ มีการฉ้อโกงการเลือกตั้ง เขาจะมีส่วนให้นิสิตคณะรัฐศาสตร์ได้นำเสนอ “งานล้อเลียนสังคม” ในงานบอลประเพณีจุฬาฯ -ธรรมศาสตร์อย่างไร และจะมีกิจกรรม หรือแถลงการณ์อะไรบ้างที่สะท้อนในสิ่งที่เป็นจิตวิญญาณของประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ให้แก่สังคม

  5. พิชาภพ วิจารณ์นโยบายพรรค Demosingh ที่จะให้สโมสรจัดติว หานักเรียนที่อยากเรียนพิเศษ หารายได้เข้าสโมและเป็นรายได้ให้นิสิตว่า “ถ้าจะมีจุดยืนเรื่องการหาเงินให้สโมฯ ผมไม่ว่า แต่ถ้าเป็น จุดยืนเรื่องปัญหาทางสังคมที่พรรคพยายามเสนอ ผมว่าไม่ใช่” สิ่งที่ต้องจับตาดูก็คือ ในปีนี้พิชาภพและสโมสรจะปฏิเสธไม่รับเงินของบริษัทต่างๆที่มีส่วนส่งเสริมความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างไร และจะมีวิธีหาเงินอะไรแทน

  6. นโยบาย “ขยายเวลาเปิดทำการห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ” ซึ่งอาจารย์บรรณารักษ์ห้องสมุดไม่เห็นด้วยอย่างเปิดเผย จากปัญหาค่างบประมาณไฟฟ้า และความปลอดภัยของนิสิต นโยบายนี้เป็นนโยบายเก่าที่เขาเคยหาเสียง แต่เขาก็ยังยืนกรานอยู่ โดยจะให้นิสิตมาร่วมดูแลห้องสมุดด้วย พรรคฝ่ายตรงข้ามเขาใช้จุดนี้โจมตีว่าเขากำลังโกหกเพราะทำไม่ได้จริงจากสภาพความจริง แต่พิชาภพเชื่อว่าเขามาเปลี่ยนสภาพความจริง ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ จุดนี้น่าจับตามองที่สุด

  7. สิ่งนี้อาจจะไม่มีในนโยบายเขา แต่เขาก็จะต้องต่อสู้เพื่อนิสิตในคณะ คือ การที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะทุบตึกโรงอาหารเก่าของคณะที่เป็นที่ทำการชมรม เขาจะต่อสู้รักษาสิทธิของนิสิตได้อย่างไร และเขาจะทำให้สภาพของมันดูไม่สกปรกได้หรือไม่ในสมัยของเขา

 

พิชาภพเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหลักในสโมสรนิสิตมาสองปี ถ้าพูดแบบหยาบๆเขาก็เป็น “คนหน้าเก่าที่เราคุ้นเคย” แต่เขาก็เป็น “อนาคตใหม่” ด้วย จากนโยบายขยายเวลาห้องสมุด (ที่เขายืนกรานว่าจะทำให้ได้) และให้นิสิตมีส่วนรับผิดชอบ แม้จะถูกคัดค้านจากบรรณารักษ์และอาจารย์บางท่าน (พิชาภพตอบโต้ด้วยการกล่าวว่า “มันยากนักหรอครับที่จะเชื่อใจนิสิตในคณะฯ) บ่งบอกว่าเขากล้าพูด กล้าจะชน กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงสิ่งเก่าให้ดีขึ้นได้สำเร็จ ไม่ว่าอย่างไรตอนนี้อนาคตของสโมสรนิสิตก็อยู่ในมือของเขาแล้ว เรามาจับตากันว่า “อนาคตใหม่” คนนี้ที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาจะทำตามสัญญาของเขาได้หรือไม่

 

บล็อกของ ในรั้วรัฐศาสตร์ จุฬาฯ /Polsciclub