Skip to main content

1. คำนำ


รักเจ้าจึงปลูก” เป็นชื่อโครงการที่ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำลังครุ่นคิดเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ผมเองได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มา 2 ตอนแล้ว


ในบทความตอนที่ 1 ได้พูดถึงปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยว่ากำลังวิกฤติทั้งระดับภาควิชาจนถึงระดับประเทศ ตั้งแต่ระดับประถม มัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย คือนักเรียนมัธยมปลายทั่วประเทศสอบ O-net ได้คะแนนเฉลี่ยตกทุกวิชา โดยที่วิชาคณิตศาสตร์ได้น้อยที่สุดเพียงร้อยละ 29.4 เท่านั้น ผู้รับผิดชอบหน้าบทความของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจบอกกับผมว่า “ปัญหาการศึกษาไทยมีความรุนแรงกว่าปัญหาเศรษฐกิจเสียอีก”

 

ในตอนที่สอง ผมพูดถึงปัญหาการให้คุณค่าของเวลาว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยไม่รู้จักการประมาณการใช้เวลาเฉลี่ยเพื่อทำความเข้าใจกับบทเรียน องค์กรยูเนสโกได้ให้ค่าเฉลี่ยมาตรฐานว่า ในการฟังคำบรรยายในชั้นเรียน 1 ชั่วโมง นักศึกษาต้องฝึกฝนและทบทวนบทเรียนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารเวลาของนักศึกษาเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยดัง ๆ ในต่างประเทศ


ในบทความตอนที่ 3 นี้ ผมได้ทำการสอบถามการใช้เวลาของนักศึกษาที่ผมสอน จำนวน 45 คน พบสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างที่อยากจะเล่าให้ฟังครับ

 

2. การใช้เวลากับระดับเกรดสะสมของนักศึกษา


2.1
วิธีการศึกษา

 

ผมเคยถามอาจารย์ของภาควิชาท่านหนึ่งที่กำลังทำปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ว่า “ประทับใจอะไรในสิงคโปร์มั่ง” อาจารย์ท่านนั้นบอกผมว่า “ประทับใจมาก ๆ สอง อย่างคือ สิงคโปร์มีต้นไม้เยอะมาก โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย ดูไปนึกว่าเป็นป่าไม้ อย่างที่สองคือ นักศึกษาสิงคโปร์ตั้งใจเรียนและทำงานหนักมาก”


เราลองมาดูนักศึกษาที่ผมสอนกันบ้างครับ


ผมได้ขอร้องนักศึกษาที่ผมสอน 2 วิชา ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สอง(สดๆ) วิชาเอกคณิตศาสตร์ 40 คน กับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 ที่เคยลงเรียนมาแล้วแต่ต้องถอนไป(เพราะได้คะแนนสอบกลางภาคน้อยหรือเคยได้เกรดอีหรือตกมาแล้ว) จำนวน 30 คน ให้ช่วยบันทึกการใช้เวลาตลอดเวลา 1 สัปดาห์


ผมได้ให้ตารางเป็นรายชั่วโมงวันละ 24 ชั่วโมงรวม 7 วัน โดยเริ่มจากสัปดาห์ที่ 5 นับจากวันเปิดภาคเรียน แต่บังเอิญว่าสัปดาห์นั้นตรงกับวันหยุดยาว 3 วัน(วันสำคัญทางศาสนาอิสลามซึ่งผมไม่ทราบล่วงหน้า) ดังนั้นข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เวลาจึงอาจคลาดเคลื่อนไปจากปกติวิสัยบ้าง


ผมขอร้องให้นักศึกษาให้ข้อมูลตามความเป็นจริง พร้อมระบุชื่อ จากนั้นผมก็นำชื่อมาค้นหาระดับเกรดสะสมของนักศึกษาแต่ละคน จากการดูข้อมูลที่นักศึกษาให้ ผมค่อนข้างเชื่อว่านักศึกษาให้ข้อมูลตามความเป็นจริง (สังเกตและตรวจสอบซึ่งกันและกัน)

 

2.2 ผลการศึกษา


เนื่องจากแบบสอบถาม เป็นการเติมกิจกรรมที่ได้ทำจริง ๆ (ไม่ใช่เลือก) กิจกรรมจึงมีหลากหลาย ตั้งแต่ นอน เรียน ทำการบ้าน ไปจนถึงอาบน้ำให้หมา ดังนั้น การนำเสนอผลการศึกษาจึงขอจัดเป็นกลุ่มกิจกรรมที่นักศึกษาส่วนใหญ่ทำเหมือน ๆ กัน ซึ่งได้แก่ นอน ทำการบ้าน เล่มเกม (รวมดูทีวี คุยโทรศัพท์ เล่นอินเตอร์เนตและฟังเพลง) ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ จะกล่าวถึงเฉพาะที่น่าสนใจ โดยแต่ละสัปดาห์เรามีเวลาทั้งหมด 168 ชั่วโมง

 

การนอน


โดยภาพรวมพบว่า เวลาส่วนใหญ่นักศึกษาใช้ไปกับการนอนเฉลี่ยสัปดาห์ละ 58 ชั่วโมง (หรือวันละ 8.3 ชั่วโมง) คิดเป็นร้อยละ 35 ของเวลาทั้งหมด นักศึกษาส่วนมากพักในหอพักซึ่งการเดินทางไปอาคารเรียนใช้เวลา 20 นาที


เป็นที่น่าสังเกตว่า นักศึกษาส่วนมากเข้านอนหลังเที่ยงคืน เวลาตื่นนอนขึ้นอยู่กับเวลาเรียนตอนเช้า ในวันหยุดหลายคนนอนวันละ 13 ชั่วโมง (นอนเป็นหลัก)


นอกจากนี้พบว่า ในวันเรียนปกติ นักศึกษาจำนวนไม่น้อยกลับไปนอนพักกลางวันที่หอพัก ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง ไม่พบว่านักศึกษาคนใดลุกขึ้นมาทบทวนบทเรียนในตอนใกล้รุ่ง ซึ่งผู้ใหญ่เคยแนะนำคนรุ่นผมว่า “อ่านหนังสือตอนเช้าๆ จะจำได้ดี” นักศึกษามุสลิมที่ลุกขึ้นมาละหมาดตอนเช้า ๆ เสร็จแล้วก็กลับไปนอนต่ออีก


สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างระดับเกรดสะสมของนักศึกษา (แกนนอนตั้งแต่ 1.5 ถึง 4.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด) กับจำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการนอนต่อสัปดาห์ แสดงได้ดังกราฟที่ 1

 

 

จากกราฟที่ 1 พบว่า นักศึกษาที่ได้ระดับเกรดต่ำ (ประมาณที่ระดับ 2) จะใช้เวลาในการนอนมากกว่านักศึกษาที่ได้ระดับเกรดสูง (เกิน 3) โดยมีเส้นแนวโน้มแสดงไว้ในกราฟด้วยว่า “คนที่ได้เกรดต่ำจะใช้เวลานอนมากกว่าคนที่ได้เกรดสูง”


ผมไม่ได้ระบุความมีนัยสำคัญของความสัมพันธ์ดังกล่าวมาให้ท่านผู้อ่านปวดหัวเล่น เพราะถือว่ามีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนของนักศึกษา


เราไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่ามนุษย์แต่ละคนควรจะใช้เวลานอนวันละเท่าใดจึงจะเพียงพอ แต่เกณฑ์สากลสำหรับกรรมกรผู้ใช้แรงงานที่เรียกว่า “3 แปด” คือ นอน ทำงาน และใช้เวลาพัฒนาตนเองและสังคมอย่างละ 8 ชั่วโมงต่อวัน


จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมรู้สึกว่าคนที่เป็นนักศึกษาน่าจะนอนวันละ 6-7 ชั่วโมงต่อวันก็จะเพียงพอแล้ว แต่นักศึกษาของผม (อาจรวมถึงนักศึกษาทั่วไปด้วย) ใช้เวลานอนมากกว่ากรรมกรผู้เหน็ดเหนื่อยกับการใช้แรงงานเสียอีก

 

การทบทวนบทเรียนและการทำแบบฝึกหัด


โดยภาพรวม พบว่า นักศึกษาของผมจำนวน 45 คน ใช้เวลาในการทบทวนบทเรียนเฉลี่ยสัปดาห์ละ 15 ชั่วโมงเท่านั้น (หรือเฉลี่ยวันละ 2.1 ชั่วโมง)


ผมไม่ได้ตรวจสอบให้ละเอียดว่า นักศึกษาลงทะเบียนเรียนกี่หน่วยกิต (กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์) แต่โดยหลักสูตรแล้วประมาณ 18 หน่วยกิต นั่นคือ ถ้าเรายึดตามกรอบมาตรฐานของยูเนสโก นักศึกษาจะต้องใช้เวลาเพื่อการนี้ถึง 36 ชั่วโมง


แต่นักศึกษาของผมใช้ไปเพียง 15 ชั่วโมงเท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของมาตรฐานสากลเท่านั้น และคิดเป็นเพียงร้อยละ 9 ของเวลาที่มีทั้งหมด

 

 

 

ผลที่พบจากกราฟก็เป็นไปตามคาดหมาย คือ คนที่ใช้เวลาในการฝึกฝนน้อยก็จะได้เกรดต่ำ คนที่ฝึกฝนมากกว่าก็จะได้เกรดสูงกว่า

 

สิ่งที่ผมไม่เชื่อสายตาเลยก็คือ พบว่ามีนักศึกษาคนหนึ่งไม่ทบทวนบทเรียนสักนาทีเดียวตลอดทั้งสัปดาห์

การใช้เวลาเล่นเกม-อินเตอร์เนต ดูทีวี ฟังเพลงและคุยโทรศัพท์

 

โดยภาพรวม นักศึกษาใช้เวลาไปกับกิจกรรมดังกล่าวเฉลี่ยสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง หรือวันละ 2.8 ชั่วโมง (ร้อยละ 12 ของเวลาทั้งหมด) มากกว่าเวลาที่ใช้ทบทวนบทเรียนเสียอีก

 

 

 

กราฟที่ 3 แสดงว่า นักศึกษาที่ได้ระดับเกรดต่ำจะใช้เวลาเล่นเกม เล่นอินเตอร์เนต ดูทีวี ฟังเพลง มากกว่านักศึกษาที่ได้เกรดสูง

 

หมายเหตุ

สิ่งที่ผมประหลาดใจมากก็คือ ไม่มีนักศึกษาแม้แต่คนเดียวที่ใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือนอกเวลา ไม่ว่าจะเป็นนิยาย การ์ตูน หรือปรัชญาเพื่อช่วยเสริมประสบการณ์ชีวิต


ระหว่างที่เขียนบทความนี้ ผมพบนักศึกษาคนหนึ่ง (แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ผมสอบถาม) กำลังดาวน์โลดคู่มือการถ่ายรูป ผมคิดว่ากิจกรรมที่นักศึกษาคนนี้กำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ น่าส่งเสริม น่ายกย่อง แต่ผมไม่ค่อยได้พบเห็นกับนักศึกษากลุ่มนี้ของผม นอกจากบางคนเท่านั้นที่บอกว่า คุยกับพ่อแม่ อาบน้ำให้หมา ซักผ้า และทำความสะอาดห้อง เป็นต้น

 

3. สรุป


แม้ว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก เช่น อาจขึ้นกับระดับสติปัญญา ความถนัด ความใฝ่รู้ เทคนิคการเรียน-การสอน ฯลฯ แต่จากการหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับเกรดสะสมที่นักศึกษาได้รับกับจำนวนเวลาที่ใช้ใน 3 กิจกรรมหลัก คือ (1) การนอน (2) การทำแบบฝึกหัด และ (3) การเล่นเกม อินเตอร์เนต ดูทีวี ฟังเพลง พบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างที่เราทุกคนเข้าใจดี


อย่างไรก็ตาม ผมยังมีความเชื่อว่า นักศึกษาเหล่านี้พร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง หากพวกเขาได้ถูกนำเข้ามามีส่วนร่วมใน “กระบวนการเรียนรู้” ถึงความจำเป็นของการใช้เวลาที่เหมาะสมในกิจกรรมการเรียน จนกลายเป็นกระแสสังคมในหมู่พวกเขาเอง


สิ่งที่ผมไม่อาจจะหลีกเลี่ยงการพาดพิงถึง (ทั้งๆ ที่ไม่อยากทำเลย) คือ บทบาทของผู้บริหารสถาบันการศึกษา ผมทราบดีว่าท่านทั้งหลายมีความรู้ความสามารถมากมาย แต่สิ่งที่ท่านขาดไปก็คือ “เวลา” ที่ท่านควรหันมาเอาใจใส่ต่อปัญหานี้อย่างจริงจัง จริงใจ ตามกรอบของเกณฑ์คุณภาพมาตรฐาน โดยไม่เห็นแก่จำนวนเงินที่สถาบันการศึกษาจะได้รับเพิ่มขึ้นเมื่อมีจำนวนนักศึกษามากขึ้นครับ.

 

 

 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลกเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และเชื่อมโยงกันหลายมิติหลายสาขาวิชา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจกันในช่วงเวลาอันสั้นและจากเอกสารจำนวนจำกัด ในที่นี้ผมจะเริ่มต้นนำเสนอด้วยภาพการ์ตูนและข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นเราจะเข้าใจทันทีว่า (๑) ทำไมกลุ่มพ่อค้าพลังงานทั้งระดับประเทศและระดับโลกจึงมุ่งแต่ส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิลที่ใช้หมดแล้วหมดเลย ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า (๒) ทำไมพลังงานจากธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เช่น พลังงานจากพืช พลังงานลมและแสงอาทิตย์…
ประสาท มีแต้ม
๑ คำนำ: วิธีการศึกษา-วิธีการเคลื่อนไหว ภาพถ่ายข้างบนนี้มาจากภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อม เรื่อง “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก (An Inconvenient Truth)” ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ (Oscars award) ไปหลายรางวัลเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐   ในภาพมีเรือหลายลำวาง(เคยจอด)อยู่บนทรายที่มีลักษณะน่าจะเคยเป็นคลองมาก่อน   นอกจากจะสร้างความฉงนใจให้กับผู้ชมว่ามันเป็นไปได้อย่างไรแล้ว    ยังมีประโยคเด็ดที่ได้รับการอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ ของกวีชาวอเมริกัน [1] มีความหมายเป็นไทยว่า “เป็นการยากที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง…
ประสาท มีแต้ม
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้สัมภาษณ์หลังจากทราบว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า “พลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็นสำหรับการจัดหาพลังงานในระยะยาวของประเทศ ขณะนี้ทั่วโลกก็กำลังกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน” (มติชน,19 กันยายน 50) ในตอนท้ายรัฐมนตรีท่านนี้ได้ฝากถึงนักการเมืองในอนาคตว่า“อยากฝากถึงพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยว่าหากจะมีการกำหนดนโยบายอะไรออกมาขอให้ดูผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องดูถึงผลระยะยาวด้วย เรื่องนิวเคลียร์ต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 14 ปี แต่รัฐบาลมีอายุการทำงานเพียง 4 ปีเท่านั้น”…