กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลก
เรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และเชื่อมโยงกันหลายมิติหลายสาขาวิชา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจกันในช่วงเวลาอันสั้นและจากเอกสารจำนวนจำกัด ในที่นี้ผมจะเริ่มต้นนำเสนอด้วยภาพการ์ตูนและข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นเราจะเข้าใจทันทีว่า (๑) ทำไมกลุ่มพ่อค้าพลังงานทั้งระดับประเทศและระดับโลกจึงมุ่งแต่ส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิลที่ใช้หมดแล้วหมดเลย ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า (๒) ทำไมพลังงานจากธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เช่น พลังงานจากพืช พลังงานลมและแสงอาทิตย์ จึงถูกกีดกันและกล่าวหาต่างๆนานา
และ (๓) ทำไมสงครามอ่าวเปอร์เซีย จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งกับอิรัก และอิหร่านที่กำลังจ่อคิวตามมาติดๆ
เรามาเริ่มกันที่การ์ตูนกันก่อนเลยครับ ผมมีคำบรรยายอยู่ใต้รูป
การ์ตูนแสดงการเชิดหุ่น ผู้เชิดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกด้านพลังงานชื่อ Enron โดยที่ในมือถือนโยบายพลังงานอยู่ฉบับหนึ่งด้วย หุ่นที่ถูกเชิดตัวแรก เป็นพ่อค้าน้ำมันที่มีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานาธิบดีสหรัฐด้วย โดยที่รองประธานาธิบดีได้เชิดหุ่นประธานาธิบดี บูซส์ อีกต่อหนึ่ง ทั้งสามถือนโยบายพลังงานฉบับเดียวกัน โดยที่หุ่นท่านประธานาธิบดีกล่าวว่า “มันเป็นการบังเอิญเท่านั้นนะ”
ดูภาพนี้แล้วลองย้อนกลับมาดูนโยบายพลังงานของรัฐบาลไทยแต่ละชุดซิครับ ปรากฏว่า ไม่ว่ารัฐมนตรีคนไหนเข้ามารับตำแหน่ง ไม่เคยมีนโยบายที่หนีไปจากแหล่งพลังงานฟอสซิลเลย ต่างก็มุ่งแต่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงทั้งสิ้น จนคุณเจริญ วัดอักษร นักต่อสู้เพื่อมาตุภูมิและสิ่งแวดล้อมที่ถูกสังหารไปแล้ว ได้กล่าวสรุปไว้อย่างคมคายว่า “ในหัวของคนพวกนี้มีแต่ถ่านหิน”
หลังจากได้ดูการ์ตูนที่สะท้อนปัญหารวมของระบบพลังงานทั้งโลกแล้ว ต่อไปนี้เป็นข้อมูลเสริมเพื่อขยายความภาพรวมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ข้อมูลที่ว่านี้คือข้อมูลการนำเข้าน้ำมันของประเทศต่างๆ ที่มากที่สุด ๑๐ ประเทศ ขอย้ำว่าเป็นข้อมูลการนำเข้า ไม่ใช่การบริโภคเพราะบางประเทศก็มีแหล่งน้ำมันของตนเองด้วย
ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสูงสุด ปี ๒๕๔๘ สังเกตว่า ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันสูงเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก ที่มา www.nationmaster.com
จากแผนผังก็เป็นไปตามที่ทุกท่านทราบกันแล้วคือ สหรัฐอเมริกานำเข้าสูงถึง ๓๔.๘% ของโลก รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น (๑๗.๗%) และเยอรมนีเป็นอันดับสาม (๘.๗%)
ที่น่าแปลกใจมากคือ ประเทศไทยเราเองมีการนำเข้าน้ำมันในปี ๒๕๔๘ สูงเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก ประมาณ ๑.๘% ของโลก ในขณะที่มีรายได้ประชาชาติ [1] อยู่ในอันดับที่ ๓๒ ของโลก
ข้อมูลนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ประสิทธิภาพการใช้พลังงานหรือการแปลงพลังงานมาเป็นรายได้ของคนไทยเรานั้นน่าเป็นห่วงมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่อาจถือเป็นวาระแห่งชาติก็ยังได้
มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ (Heinrich-Böll Foundation) จากประเทศเยอรมนีได้สรุปแบบฟันธงไว้ว่า “ความยั่งยืนของระบบพลังงานโลกต้องขึ้นอยู่กับสองยุทธศาสตร์ คือหนึ่งการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (energy efficiency) และ สอง การใช้พลังงานหมุนเวียน”
เมื่อได้กล่าวถึงประเทศผู้นำเข้าน้ำมันแล้ว เรามาดูประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองกันบ้าง
แสดงอันดับประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก
ที่มา Energy Information Administration, International Energy Outlook 2006
จากตาราง เราพบว่าประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองสูงสุด ๗ อันดับแรกของโลก คือ ซาอุดิอาระเบีย แคนาดา อิหร่าน อิรัก คูเวต สหรัฐอาหรับอิมิเรส และ เวเนซูเอลา ตามลำดับ ถ้าเราพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของประเทศทั้ง ๗ นี้กับประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก คือสหรัฐอเมริกาแล้ว เราจะพบว่ามีเพียง ๒ ประเภทเท่านั้น คือประเภทที่เป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างแนบแน่นกับประเภทที่เป็นศัตรูที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปแทรกแซง รุกรานและกำลังจะรุกรานทั้งสิ้น สอดคล้องกับคำประกาศของประธานาธิบดีบุสซ์หลังกรณี ๑๑ กันยายน ที่ว่า “ถ้าคุณไม่เป็นพวกเรา คุณก็คือศัตรูของเรา”
วารสารของศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง [2] ได้กล่าวเชิงสรุปว่า “สงครามเพื่อทำลายซัดดัมแห่งอิรัก แท้จริงก็มีต้นตอมาจากการที่อังกฤษ-อเมริกาไม่ต้องการให้มีใครเป็นก้างขวางคอ ในการที่พวกตนจะมีอิทธิพลเหนือผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมันในคูเวตและซาอุดิอารเบียนั่นเอง”
นักวิเคราะห์บางคน เช่น William Clark [3] เชื่อตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ แล้วว่า สหรัฐอเมริกาที่มีเป้าหมายที่จะรุกรานประเทศอิหร่านด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่เครื่องอาวุธนิวเคลียร์ แต่เป็นเพราะอิหร่านกำลังจะหันไปใช้เงินตระกูลยูโรในการค้าน้ำมันแทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐที่ลดค่าลงเรื่อยๆ
ดูท่าจะรุกรานประเทศโน้นประเทศนี้อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นตราบใดที่ประเทศสหรัฐอเมริกายังมีความต้องการน้ำมันสูงขนาดนี้ เป็นที่น่าสงสัยว่า ถ้าประเทศอิหร่าน อิรัก ไม่มีแหล่งน้ำมันแล้ว สหรัฐอเมริกาจะทำสงครามด้วยหรือไม่
ถ้าชาวโลกหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่ใครก็ไม่สามารถผูกขาดได้ นอกจากจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการป้องกันความขัดแย้งระหว่างประเทศและในโลกได้อีกด้วย
ภาพการ์ตูนในหน้าถัดไป ตั้งชื่อภาพว่า “ผู้เสพย์ติดสงคราม” ในภาพเป็นรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง พร้อมด้วยมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสงคราอิรัก ภาพนี้สะท้อนความคิดที่ติดเป็นนิสัยของผู้นำสหรัฐได้เป็นอย่างดี
นักวิจารณ์คนหนึ่งบอกว่า ถ้านำงบประมาณที่ใช้ในการบุกอิรักซึ่งมีประมาณ ๐.๒๐๘ ล้านล้านดอลลาร์(นับถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ เท่านั้น) มาทำกังหันลม จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ ๗-๑๑% ของที่ชาวอเมริกันใช้ทั้งประเทศ และเป็นการใช้ได้ตลอดไปจะไม่ดีกว่าหรือ
ท่านที่สนใจค่าใช้จ่ายในสงคราม สามารถเข้าไปดูได้ จะพบว่าขณะสูงถึงกว่า ๔ แสนล้านดอลลาร์แล้ว [4]
ปัจจุบันทั้งรองประธานาธิบดี ดิกค์ เชนนี และรัฐมนตรีต่างประเทศ ดร. คอนโดลีซซา ไรท์ ต่างก็เคยเป็นบุคคลสำคัญในบริษัทน้ำมันระดับใหญ่ที่สุดในโลก คือ Halliburton และ Chevron ตามลำดับ สำหรับภาพข้างล่างนี้เป็นเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ที่ทางบริษัทได้นำชื่อของเธอมาตั้งเป็นชื่อเรือเพื่อเป็นการให้เกียรติ
เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ ของบริษัท Chevron ที่นำชื่อ Condoleezza Rice รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเธอเคยเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัท
ที่มา http://www.aztlan.net/oiltanker.htm
ศาสตราจารย์ โจเซฟ สติ๊กลิทซ์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ต้นทุนราคาน้ำมันดิบจะสูงขึ้นประมาณ ๕ ถึง ๑๐ เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลโดยมีสาเหตุมาจากการก่อสงคราม ดังนั้น ผลกระทบจากสงครามอิรักได้ส่งผลกระทบถึงเราทุกคนทั่วโลก
เชื่อได้แล้วนะครับว่า การเมืองโลกกับพลังงานโลกมีความสัมพันธ์กันแนบแน่นขนาดไหน เรื่องถ่านหินก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับน้ำมันเพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า ดังนั้นผมจะไม่ขอกล่าวถึงในทีนี้
ผมยังมีอีก ๓ ประเด็นที่จะกล่าวเพิ่มเติมในบทนี้ครับ คือ (๑) เรื่องราคาน้ำมันกับจำนวนการผลิตและ (๒) ข้อมูลเกี่ยวกับถ่านหิน และ (๓) แนวโน้มการใช้แหล่งพลังงานต่างๆ ในอนาคตอีก ๗๐ ปีข้างหน้าซึ่งจะช่วยให้เรามองภาพในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น
ราคาน้ำมันกับจำนวนการผลิต
ในปี ๒๕๔๘ มีการผลิตน้ำมันทั่วโลกประมาณวันละ ๘๕ ล้านบาร์เรล [5] มีการคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๕๓ จะเพิ่มเป็น ๙๑.๖ ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่น่าจะเพิ่มสูงกว่านี้อีกเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนและอินเดียที่มีประชากรรวมกันถึง ๔๐% ของโลก
สำหรับปริมาณการผลิตและราคาในช่วง ๑๕ ปี (ค.ศ. ๑๙๙๐-๒๐๐๕) สามารถดูได้จากกราฟในหน้าถัดไป แต่เป็นข้อมูลของตลาดในกลุ่มโอเปค [6] เท่านั้น
อนึ่ง กลุ่มโอเปคมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ ๓๗ - ๓๙% ของโลก ดังนั้น หากต้องการทราบจำนวนการผลิตทั่วทั้งโลกก็สามารถคิดสัดส่วนเอาได้
จากกราฟ ถ้าพิจารณาอย่างผิวเผิน เราจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการผลิตกับราคา(ต่อบาร์เรล) เป็นไปตามกลไกการตลาด คือถ้าราคาสูงก็มีการผลิตเพิ่ม แต่ในความเป็นจริงแล้วมีเหตุการณ์สำคัญต่างๆของโลกทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองและมาจากภัยธรรมชาติ
ในประเด็นเรื่องราคากับการผลิต ผมยังมีอีก ๒ กราฟเพื่อขยายความในรายละเอียด ท่านผู้อ่านที่รู้สึกว่าเข้าใจดีแล้ว ก็สามารถข้ามไปดูกราฟสุดท้ายที่เป็นเรื่องอนาคตได้เลยครับ
(กราฟต่อไปเป็นการแสดงราคาน้ำมันดิบในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๙ เราพบว่าก่อนปี ค.ศ. ๑๙๗๓ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ราคาน้ำมันดิบอยู่ประมาณ ๑๕ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ได้เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันในปี ๒๕๑๖ เนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับอาหรับและการรวมตัวกันขึ้นราคาน้ำมัน (ตามที่กลุ่ม The Club of Rome คาดหมาย-ในบทที่ ๓)
จากนั้นก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การปฏิวัตพระเจ้าซาร์แห่งอิหร่าน (๑๙๗๙) สงครามระหว่างอิรัก กับอิหร่าน (ที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอิรัก ปี ๑๙๘๐) รวมทั้งสงครามรุกรานอิรักในปี ๒๕๔๖ การประท้วงของกรรมกรบ่อน้ำมันในเวเนซูเอลา (PDVSA Strike)
ราคาน้ำมันดิบในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๔๘ พร้อมการขึ้นลงของราคาตามเหตุการณ์สำคัญ
ข้อมูลเกี่ยวกับถ่านหิน
เนื่องจากในประเทศไทยเรายังมีกลุ่มที่สนใจถ่านหิน ถึงขั้นที่รับเป็นเจ้าภาพประชุมวิชาการเรื่องถ่านหินโลก(Coaltrans Thailand) ที่จังหวัดลำปาง เมื่อปี ๒๕๔๘ ประเทศที่ให้การสนับสนุนการเงินเพื่อจัดประชุมครั้งนั้นคือประเทศออสเตรเลีย ในที่นี้ผมเพียงแต่เอาข้อมูลมานำเสนอว่า ประเทศที่มีแหล่งถ่านหินในอันดับต้นๆ ของโลกนั้น ได้แก่ประเทศใดบ้าง
ลำดับประเทศที่มีแหล่งถ่านหินสำรองอันดับแรกๆของโลก พบว่า ๓ อันดับแรกของโลกคือ ประเทศโรมาเนีย (๓๐.๑%) ออสเตรเลีย(๒๑.๙%) จีน (๑๗.๗%) ที่มา www.nationmaster.com
สำหรับ ๒ ภาพข้างล่างนี้เป็นเหตุการณ์การแสดงออกของ “คนไม่เอาถ่านหิน” ที่ จ.ลำปาง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการร่วมกันสร้างเชิงนโยบายสาธารณะของเรา
ภาพเหตุการณ์ วันประชุมวิชาการถ่านหินโลก (มกราคม ๒๕๔๘) ที่จังหวัดลำปาง ซ้ายมือเป็นภาพผู้เสียชีวิตจากโรคหืดหอบ (พร้อมขวดยาที่ใช้แล้ว) ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ขวามือเป็นการตั้งแถวรับมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจจากการมาประท้วงของเครือข่าย “คนไม่เอาถ่านหิน”
ภาพจาก http://www.thaingo.org
แนวโน้มการใช้แหล่งพลังงานต่างๆ ในอนาคตอีก ๗๐ ปีข้างหน้า
เรื่องสุดท้ายสำหรับบทนี้ เป็นการแสดงให้เห็นการใช้พลังงานจากแหล่งต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ถึง ๒๖๑๘ กราฟนี้ผมได้มาจากเว็บต์ของประธานาธิบดีอินเดีย
จากกราฟข้างล่างนี้ พบว่าในปัจจุบัน (ปี ๒๐๐๗) พลังงานจากแสงอาทิตย์(ไม่ระบุว่าเป็นชนิดใด) กำลังมีอัตราการใช้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าแหล่งพลังงานชนิดอื่น(เพราะมีความชันมากกว่าชนิดอื่นๆ) ในขณะที่อัตราการใช้ของพลังงานจาก ถ่านหิน น้ำมัน กำลังลดลง นี่แสดงว่านโยบายการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยกำลังสวนกระแส
โครงสร้างแหล่งพลังงานของโลกในช่วงปี ค.ศ. ๑๘๕๐ ถึง ๒๐๗๕
ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า พลังงานจากไม้และชีวมวลต่างๆ ซึ่งเคยเป็นแหล่งพลังงานที่มีการใช้กันมากที่สุดในอดีตนับร้อยปี ได้มาถึงจุดต่ำสุดในช่วงปีนี้ แต่กำลังจะได้รับความนิยมใหม่อีกครั้งหนึ่งในอนาคต
นี่เป็นแนวโน้มในอนาคตที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจอย่างดีให้กับกลุ่มประชาสังคม ที่ทำงานรณรงค์และผลักดันเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
----------
[1] ข้อมูลปี ๒๕๔๗ จาก http://www.nationmaster.com/graph/eco_gdp-economy-gdp-nominal (หมายเหตุ ไม่มีข้อมูลปีเดียวกัน แต่ถึงจะเป็นคนละปีก็พออนุโลมเทียบกันได้)
[2] ฉบับที่ ๑๖ น้ำมัน , กรกฎาคม ๒๕๔๔ หน้า ๑๕
[3] The Real Reasons Why Iran is the Next Target: The Emerging Euro-denominated International Oil Marker, โดย William Clark www.globalresearch.ca เมื่อ 27 October 2004
[4] http://nationalpriorities.org/index.php?option=com_wrapper&Itemid=182
[5] ในขณะที่ประเทศไทยใช้น้ำมันในปี ๒๕๔๘ เฉลี่ยวันละ ๗๔ ล้านลิตร (๑ บาร์เรล เท่ากับ ๑๕๙ ลิตรโดยประมาณ)
[6] ที่มา http://www.wtrg.com/oil_graphs/PAPRPOP90.gif กลุ่มโอเปก ประกอบด้วยสมาชิก ๑๑ ประเทศคือ Algeria, Indonesia, Iran, Iraq, Kuwait, Libya, Nigeria, Qatar, Saudi Arabia, the United Arab Emirates, and Venezuela.