บทความนี้ประกอบด้วย 6 หัวข้อย่อย ท่านสามารถอ่านหัวข้อที่ 6 ก่อนก็ได้เลย เพราะเป็นนิทานที่สะท้อนปัญหาระบบการศึกษาได้ดี เรื่อง “โรงเรียนสัตว์” ถ้าท่านรู้สึกสนุกและเห็นคุณค่าของนิทานดังกล่าว (ซึ่งทั้งแสบ ทั้งคัน) จึงค่อยกลับมาอ่านหัวข้อที่ 2 จนจบ หากท่านไม่เกิดความรู้สึกดังกล่าว ก็โปรดโยนทิ้งไปได้เลย
๒. ปัญหาของการศึกษากระแสหลักคืออะไร
ถ้าผลิตผลของระบบการศึกษาที่มีการจัดการกันอยู่ทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ (ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า “การศึกษากระแสหลัก (mainstream education)” ) สามารถสัมผัสได้ชัดเจนเหมือนผลิตผลของการก่อสร้างทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ชาวโลกเราคงจะได้เห็นภาพเหล่านี้ปรากฏอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง
การก่อสร้างเชิงวัตถุย่อมต้องมีการวางแผน การออกแบบ และการบริหารจัดการฉันท์ใด การศึกษาก็ย่อมต้องมีสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แต่ความผิดพลาดของระบบการศึกษากระแสหลักอยู่ตรงไหน เราเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก ที่สำคัญมันยังเป็นสิ่งที่สามารถเห็นต่างกันได้อีก
อย่างไรก็ตาม คนจำนวนหนึ่งซึ่งได้แก่ นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชนรวมทั้ง พ่อ แม่ และผู้ปกครอง ก็สามารถรับรู้ได้ถึงความผิดพลาดเหล่านั้น จนกระทั่งถึงขั้นสิ้นหวังกับระบบการศึกษาที่เป็นอยู่
หากพิจารณาในภาพรวม จากรายงานสภาวะการศึกษาไทยปี 2551/2552 ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง บทบาทการศึกษากับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม[1] ได้สรุปไว้อย่างชัดเจนว่า
รายงานฉบับนี้ยังได้เพิ่มเติมอีกว่า “แรงงานเกินครึ่งของแรงงานทั่วทั้งประเทศยังคงมีระดับการศึกษาแค่ประถมและต่ำกว่า ขณะที่ผู้ว่างงานมีการศึกษาระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นสัดส่วนสูงกว่าผู้มีการศึกษาต่ำกว่า” นี่อาจทำให้เราคิดได้ว่า จริงๆ แล้วผู้ประกอบการเอง ก็ไม่ได้ต้องการคนที่มี “การศึกษา” มากนักหรอกนะ!
ถ้าเราครุ่นคิดอีกสักนิด เราก็จะพบข้อบกพร่องของผลิตผลทางการศึกษาของประเทศเรามากขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็น การใช้เหตุผล ความรู้สึกเป็นเจ้าร่วมของทรัพยากรสาธารณะ การคอร์รัปชัน รวมไปถึงลายมือเขียนหนังสือของคนรุ่นใหม่
กล่าวเฉพาะเรื่องลายมือ มหาตมา คานธี ได้ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วว่า “ลายมือที่เลวนั้นควรจะถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายของการศึกษาที่ยังไม่สมบูรณ์ ...ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าเด็กๆ ควรจะได้รับการฝึกสอนวิชาวาดเขียน ก่อนที่จะลงมือเขียนหนังสือกันจริงๆ ...เมื่อกระทำเช่นนี้ได้เด็กจึงจะมีลายมืองาม”
ผมเองเป็นผู้ตรวจข้อสอบของนักศึกษามานานเกือบ 40 ปี ได้เห็นลายมือที่ “เลวลง” มาเป็นลำดับ
พจนานุกรม ฉบับ Collins Cobuild ได้ให้ความหมายของคำว่า Education ไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า “การศึกษาคือระบบการสอนคนซึ่งโดยปกติใช้กับระดับโรงเรียนหรือวิทยาลัย (Education is the system of teaching people, usually at a school or college.)”
ด้วยเหตุที่นิยามของการศึกษามีเพียงเท่านี้ ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและการเมือง, David W. Orr ได้วิพากษ์การศึกษาว่า
อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ให้ความหมายที่ชัดเจนชนิดที่อุดรอยรั่วของนิยามการศึกษาที่ขาดเป้าหมายข้างต้นไว้อย่างเสร็จสรรพว่า
อาจารย์สุลักษณ์ ยังได้ให้ความเห็นในเชิงประวัติศาสตร์ว่า
(๑) รวบรวมการเมืองการปกครองให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกัน โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องการสยบบ้านเล็กเมืองน้อยทั้งหมดให้อยู่ในอาณัติของรัฐบาลกลางยิ่งๆขึ้นทุกที หาไม่บ้านเล็กเมืองน้อยนั้นๆ ที่เคยมีความเป็นเอกเทศ ไม่ว่าจะในฐานะประเทศราช หรืออื่นใดในทางพึ่งตัวเอง (Autonomy) อาจถูกฝรั่งแย่งชิงเอาไป ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วกับลาว (ร. ๕) และเขมร (ร. ๔) รวมถึง ๔ รัฐในมลายู (ร. ๕)
(๒) ได้ใช้การศึกษาในการเกลี้ยกล่อมและล้างสมอง ให้ราษฎรและชนชั้นปกครองในท้องถิ่นต่างๆ หันมานับถือกรุงเทพฯ ยิ่งๆ ขึ้น โดยยอมลดความเป็นตัวของตัวเองลงไปเรื่อยๆ รวมถึงความภาคภูมิในวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย ถ้าไม่ได้ผลก็จําต้องใช้กําลังทหารปราบปราม อย่างกรณีกบฏผู้มีบุญที่อุบลราชธานี และกบฏเงี้ยวเมืองแพร่เป็นตัวอย่าง
(๓) ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนให้คนรุ่นใหม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และนิยมยินดีตามพระราชนิยม
Dr.Ron Miller นักเคลื่อนไหวเพื่อการศึกษาทางเลือกมานานกว่า 20 ปี และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Self-Organizing Revolution ได้ให้ความเห็นคล้ายกับอาจารย์สุลักษณ์ แต่ได้ชี้ให้เห็นโลกทัศน์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นด้วยว่า
“ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ได้สร้างขึ้นจากกรอบความคิดที่มีลักษณะเป็นกลไก/เทคโนแครท ที่นำไปสู่ยุคของการขยายตัวการอุตสาหกรรม และจักรวรรดินิยมที่เริ่มต้นขึ้นในกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งกำลังเสื่อมถอยไปแล้ว โลกทัศน์ใหม่กำลังเกิดขึ้น เป็นโลกทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ความเชื่อมโยงกัน และให้ความสำคัญกับความหลากหลายของมนุษย์ เป็นโลกทัศน์แบบองค์รวม ซึ่งนำไปสู่แนวคิดที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับการศึกษา”
การศึกษาทางเลือก (Alternative Education) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้แตกต่างจากการศึกษากระแสหลัก อย่างไรก็ตาม ทั้งชื่อและความหมายของการศึกษาทางเลือกก็ยังคงแตกต่างกันไปตามสำนักคิดต่าง ๆ แต่จากรายงาน “โครงการศึกษาวิจัยการศึกษาทางเลือกเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ” ตอน การศึกษาทางเลือกในนานาประเทศ โดย รัชนี ธงไชย[3] ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า
“การศึกษาทางเลือกไม่ใช่แค่เรื่องกระบวนการ หรือ วิธีการ แต่เป็นทัศนะในการมองการจัดการศึกษาที่เห็นว่า สามารถกระทำได้หลากหลายหนทาง วิธีการ โครงสร้างการจัดการ ตลอดจนการจัดสภาพแวดล้อมทางการศึกษา รวมทั้งเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และสังคมมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยจัดสรรให้ทุกคนได้รับการศึกษาด้วยการจัดสรร ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมต่อการเติบใหญ่พัฒนา”
Wikipedia ได้ให้ข้อสังเกตว่า “การศึกษาทางเลือกมักจะเน้นที่ 3 ประการต่อไปนี้คือ (๑) คุณค่าของชั้นเรียนที่มีขนาดเล็ก (๒) ให้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างครูกับนักเรียน และ (๓) ให้ความสำคัญกับชุมชน”
Dr. Ron Miller ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า
ผมทราบว่า ขณะนี้ สังคมเราได้มี “สภาการศึกษาทางเลือก” เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องควรระวังก็คือ สภาการศึกษาทางเลือกไม่ควรจะเป็น “ผู้นำ” ที่เต็มไปด้วยกฏระเบียบมากมาย แต่ควรจะเป็นองค์กรที่ “ส่งเสริมศักยภาพ” ของเครือข่ายมากกว่า
แม้ว่ากระบวนการเคลื่อนไหวนี้มีแนวทางการศึกษาที่หลากหลาย แต่มีหลักการพื้นฐานที่เหมือนกันอยู่ 5 ประการ (ตามข้อเสนอของ Dr. Ron Miller ซึ่งผมแปลมาจาก Five Principles of the Coming Education Revolution) คือ
ระบบการศึกษาสาธารณะที่แสวงหาความสมดุล จะไม่ใช่เป็นวัฒนธรรมเดี่ยวอีกต่อไป มันจะต้องจัดให้มีการเลือกที่หลากหลายที่แสดงถึงปรัชญาและวัฒนธรรมที่หลากหลาย
หลักการพื้นฐานทั้ง 5 ประการของการปฏิวัติทางการศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นควรจะได้รับการครุ่นคิดอย่างปรานีตในการจัดการศึกษาทางเลือกใหม่
๖. สรุป
ผมขอสรุปบทความนี้ด้วยนิทานเรื่อง โรงเรียนสัตว์ ซึ่งเขียนโดย George H. Reavis ผมได้ถอดความและใส่ไข่บ้างแล้วนำมาต่อดังนี้
กาลครั้งหนึ่ง พวกเหล่าสัตว์ทั้งหลายได้ตัดสินใจร่วมกัน (มีส่วนร่วมแล้วนะ!) ว่า "เพื่อที่จะให้พวกเราเหล่าสัตว์ทั้งหลายสามารถรู้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ เราควรจะต้องจัดการให้มีโรงเรียนขึ้นมา ถึงเวลาจะต้องพัฒนาแล้ว"
เพื่อความรวดเร็ว พวกเขาจึงได้ลอกหลักสูตรมาจากสำนักแห่งหนึ่งซึ่งประกอบด้วย 4 วิชา คือวิชา วิ่ง ว่ายน้ำ ปีนต้นไม้ และ บิน คณะกรรมการโรงเรียนก็อนุมัติในทันทีและเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารหลักสูตร พวกเขาจึงตั้งกติกาว่า "สัตว์ทุกตัวต้องลงทะเบียนเรียนทั้งสี่วิชานี้เหมือนกันหมด สัตว์ตัวใดต้องการความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษก็ค่อยไปศึกษาระดับปริญญาในมหาวิทยาลัยก็แล้วกัน"
นักเรียนทั้งหมดมี 5 ท่าน คือ เป็ด กระต่าย กระรอก นกอินทรีย์ และปลาไหล แต่มีตัวละครเพิ่มอีก 1 ตัว คือหนู นักเรียนเป็ดซึ่งมีความสามารถสูงมากในด้านการว่ายน้ำ และจริงๆแล้วเขามีความสามารถมากกว่าครูผู้สอนเสียอีก แต่ด้วยความที่จ้าวเป็ดน้อยกลัวจะสอบตกในวิชาการวิ่ง เป็ดจึงต้องอยู่ตอนเย็นหลังเลิกเรียนเพื่อเรียนพิเศษเพิ่มเติม เธอต้องฝึกวิ่งอย่างหนักจน "พายตีน" ฉีกขาด
ในที่สุดนักเรียนเป็ดผู้น่าสงสารก็สอบวิชาว่ายน้ำศาสตร์ได้ เกรดเพียงแค่ผ่าน หรือได้ระดับซีเท่านั้น ส่วนผลการเรียนวิชาอื่น ๆ ปรากฏว่า เป็ดได้เพียงเกรดซีในวิชาการบินและปีนต้นไม้ ส่วนวิชาการวิ่งเธอได้เกรดดีลบ เพราะว่าเท้าของเป็ดน้อยผู้น่าสงสารเต็มไปด้วยแผลเหวอะหวะ
กระต่ายซึ่งมีความสามารถในการวิ่งสูงกว่าเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน แต่กระต่ายก็ต้อง "ประสาทกิน" เพราะวิชาว่ายน้ำแย่งเวลาไปเกือบหมด
เจ้ากระรอกน้อยซึ่งเป็นเลิศในวิชาปีนต้นไม้ก็ต้องมาเซ็งอย่างสุดๆ กับเงื่อนไขของครูที่ว่า "เธอจะต้องบินจากพื้นดินข้างล่างขึ้นสู่ข้างบนเท่นั้น" กระรอกน้อยก็ขอร้องว่า "ครูครับผมขอบินจากที่สูงคือจากยอดไม้ลงไปสู่พื้นดินซึ่งผมถนัด" แต่คุณครูบอกว่า "ทำไม่ได้ เพราะผิดระเบียบ"
ในที่สุดกระรอกก็ต้องออกแรงมากในการบินจนเกิดอาการปวดขา จึงได้เกรดซีในวิชาปีนต้นไม้และได้เกรดดีในวิชาวิ่งและวิชาการบิน
ส่วนนกอินทรีย์ซึ่งเป็นเด็กมีปัญหาและถูกกวดขันให้อยู่ในวินัยอย่างเข้มงวด ในวิชาปีนต้นไม้ครูบอกว่า "เธอต้องปีนจากตำแหน่งนี้ไปสู่อีกตำแหน่งหนึ่งที่ฉันกำหนดให้" เจ้านกอินทรีย์รู้สึกอึดอัดมากจึงดื้อแพ่งที่จะใช้วิธีการของตนเองพร้อมบอกกับคุณครูว่า "หนูสามารถออกจากจุดนี้ไปยังจุดที่คุณครูกำหนดได้อย่างรวดเร็วและเร็วกว่าใคร ๆ ในปฐพีนี้ แต่ขอให้หนูไปโดยวิธีการบิน ขอไม่ปีนได้ไหม" ในที่สุดครูก็ไม่ยอมและให้นกอินทรีย์สอบตก
เมื่อวันสิ้นสุดการศึกษามาถึง ทางโรงเรียนจัดพิธีคล้ายๆ กับเด็กอนุบาลรับปริญญาในเมืองไทย ปลาไหลพิการได้รับเลือกให้เป็นประธานรุ่น ประธานซึ่งสามารถสอบผ่านได้ทุกวิชา คือ ว่ายน้ำได้ดีกว่าใคร ๆ วิ่งก็ได้ ปีนต้นไม้และบินได้เล็กน้อยก็ได้เกรดเฉลี่ยสูงที่สุดในชั้น จนได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนนักเรียนเพื่อกล่าวขอบคุณในงานเลี้ยงอำลาโรงเรียน
ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือ วันหนึ่งแม่หนู (หนูจริง ๆ มีสี่ขามีหางด้วย-ไม่ใช่สาว ๆ ที่แทนตนเองว่าหนู) ได้มาติดต่อกับโรงเรียนเพื่อขอให้ทางโรงเรียนนี้เปิดสอนวิชาขุดดินและการหลบซ่อนตัวให้กับลูกของตน แต่ทางโรงเรียนไม่ยอมเปิดสอน ในที่สุดแม่หนูก็ต้องส่งลูก ๆของตนไปเรียนในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ในที่สุดลูกหนูตนนี้ก็สำเร็จการศึกษาและกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานี้ในเวลา ต่อมา
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ระบบการศึกษามีความสามารถในการทำลายศักยภาพของนักเรียนได้อย่างยอดเยี่ยม แทนที่การศึกษาจะช่วยค้นหาศักยภาพของผู้เรียนแล้วพัฒนาให้สูงขึ้น
ขอบคุณครับ