1. คำนำ
ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้เป็นปกหน้าและหลังของเอกสารขนาดกระดาษ A4 ที่หนาเพียง 16 หน้า แม้ว่าหลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับศัพท์แสงที่ปรากฏ แต่ผมเชื่อว่าแววตาและท่าทางของเจ้าหนูน้อยในภาพคงทำให้ท่านรู้สึกได้ว่าเธอทึ่งและมีความหวัง บรรณาธิการกรุณาอย่าทำให้ภาพเล็กลงเพื่อประหยัดเนื้อที่ เพราะจะทำให้เราเห็นแววตาของเธอไม่สดใสเท่าที่ควร เอกสารนี้จัดทำโดย “สภาเพื่ออนาคตโลก” หรือ World Future Council (WFC) ค้นหาได้จาก www.worldfuturecouncil.org
WFC มีสมาชิกที่มีชื่อเสียงมากอยู่ 50 ท่านจากทั่วโลก หนึ่งในนั้นเป็นคนไทยคือ ท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์
บทความนี้จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดและวัตถุประสงค์ของ WFC (ทั้ง ๆ ที่น่าสนใจมาก) แต่ผมจะอธิบายถึงสาระสำคัญที่อยู่ในเอกสารฉบับนี้
นอกจากนี้ ผมเชื่อว่าท่านที่รู้สึกผิดหวังและหดหู่ใจกับความล้มเหลวของการประชุมระดับโลกเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่จัดโดยสหประชาชาติ (เรียกเป็นรหัสว่า COP15) เมื่อกลางเดือนธันวาคมปี 2552 คงจะรู้สึกดีขึ้น เพราะว่าสาระสำคัญของเอกสารฉบับนี้คือทางออกของการแก้ปัญหาโลกร้อนที่แท้จริง
ถ้าย้อนไปดูปกหลังของเอกสาร “นโยบายเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก” นี้ (ผมยังไม่บอกว่านโยบายนี้ชื่ออะไร เพราะหากแปลแล้วจะเข้าใจยาก) นโยบายนี้เน้นสาระสำคัญ 6 ประการที่เป็นปัญหาร่วมของโลกคือ (1) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (2) การสร้างงาน (3) ความมั่นคงด้านพลังงาน (4) ความมั่นคงในการลงทุน (5) ส่งเสริม นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และ (6) สร้างการตลาดที่เป็นธรรม
จากสาระทั้ง 6 ทำให้เราคิดได้เองว่า ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาน้ำทะเลสูงขึ้น พายุและภัยธรรมชาติรุนแรงและบ่อยขึ้นเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการสร้างงานเพิ่มขึ้น การสร้างระบบตลาดที่เป็นธรรม รวมถึงการเอาใจใส่ดูแลนักลงทุนที่บางคนมองเป็นเรื่องเอารัดเอาเปรียบด้วย
ที่น่าสนใจมากก็คือว่า ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานทั้งนั้น
2. กิจการใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด
ก่อนที่เราจะแก้ปัญหาโลกร้อน เราต้องทราบเสียก่อนว่ากิจการหรือภาคการผลิตใดบ้างที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน
นักวิทยาศาสตร์พบว่า ภาคส่วนหรือกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็น 5 อันดับแรกเรียงตามลำดับจากมากไปน้อย คือ โรงไฟฟ้า (21.3%) กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม (16.8%) เชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง (14.0%) และผลิตผลภาคการเกษตร (12.5%) ทั้ง 5 อันดับนี้มีส่วนร่วมรวมกันถึง 64.4%
ถ้าคิดเป็นชนิดของก๊าซเรือนกระจก พบว่า ก๊าซ 3 ชนิด คือ คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (72% มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล) มีเทน (18% มาจากการเน่าเปื่อยของพืชซึ่งลดได้ค่อนข้างยาก) และ ไนตรัสอ๊อกไซด์ (9% มาจากปุ๋ยเคมี) มีส่วนทำให้โลกร้อนรวมกันถึง 99%
สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า โรงไฟฟ้าเป็นตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยทิ้งห่างอันดับสองคือกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมถึง 4.5% ดังนั้น ถ้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ อย่างเป็นมรรคเป็นผลและมีพลังแล้ว เราจึงควรเน้นไปที่การลดในภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก
โจทย์ต่อไปก็คือ ลดได้จริงหรือ และลดได้อย่างไร
แต่ก่อนที่จะตอบโจทย์นี้ เรามาดูข้อเสนอและความเป็นจริงบางอย่างที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจในเบื้องต้นว่า “มันเป็นไปได้จริง ๆ”
3. ข้อเสนอและความเป็นจริงบางอย่าง
3.1 ข้อเสนอ
องค์กรที่ชื่อว่า การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Technology Development- RETD) ได้เสนอในที่ข้างๆ ห้องประชุมโลกร้อน (side-event) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (COP15) เมื่อปลายปี 2552 ว่า ชาวโลกทั้งมวลจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ลง 85% ของระดับปัจจุบันภายในปี 2050 หรืออีก 40 ปีข้างหน้า
กราฟซ้ายมือ เป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ทาง RETD ต้องการให้ปล่อยได้ในปีต่าง ๆ จนถึงปี ค.ศ. 2050 สำหรับกราฟทางขวามือเป็นการคาดหมายว่าจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนถึง 75% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2050 ที่เหลือเป็นการผลิตจากนิวเคลียร์ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและอื่น ๆ
RETD เป็นองค์กรที่มีชื่อเสียง เขาย่อมมีเหตุผล (ซึ่งผมจะกล่าวต่อไป) ว่าจะทำอย่างไรจึงจะเป็นไปตามที่คาดหมายไว้ แต่ก่อนอื่น เรามาดูความเป็นจริงที่กลุ่มสหภาพยุโรปได้ดำเนินการไปแล้ว
3.2 ความเป็นจริงบางอย่าง
เพื่อเป็นการยืนยันว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานฟอสซิลนั้นเป็นไปได้จริง ผมจึงได้นำข้อมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปในปี 2551 (ค.ศ. 2008) ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 23,851 เมกกะวัตต์ (ใกล้เคียงกับที่ประเทศไทยเรามีอยู่ทั้งหมด)
จากกราฟ เราจะเห็นได้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมีมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ 8,484 เมกกะวัตต์ สำหรับอันดับสามคือ พลังงานจากโซลาร์เซล (หรือจากแสงอาทิตย์) ถึง 4,200 เมกกะวัตต์
โรงไฟฟ้าทั้งสองประเภทนี้แทบจะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย ที่น่าสังเกต คือ มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพียง 60 เมกกะวัตต์เท่านั้น
ในขณะที่ประเทศไทยเรา (โดยกลุ่มพ่อค้าพลังงานและนักการเมือง) กำลังจะตัดสินใจว่าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2,000 เมกกะวัตต์ที่จังหวัดใดภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ผมเข้าใจว่า แรงผลักดันในเรื่องนี้ก็คงไม่ต่างอะไรการของบประมาณในกระทรวงสาธารณะสุขที่ถูกตรวจสอบว่าส่อไปในทางทุจริตไปแล้ว
4. นโยบายสำคัญเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก คืออะไร?
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวลฯลฯ กล่าวว่าจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้น เป็นความจริงหรือไม่
ผมขอเรียนว่า เป็นความจริงเพียงบางส่วน แต่ก็เป็นความเท็จบางส่วน
ที่เป็นความเท็จ เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้น้ำเสียจากโรงงานมันสำปะหลัง ขี้หมู โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม นอกจากจะเป็นการลดการปล่อยน้ำเสียลงในคูคลองสาธารณะแล้ว ค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ยังสามารถได้ทุนคืนภายในเวลาไม่เกิน 6 ปี ซึ่งไม่มีโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลประเภทใดสามารถทำได้
ในส่วนที่เป็นความจริง คือพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนสูงมาก และพลังงานลมซึ่งยังมีต้นทุนสูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลอยู่เล็กน้อย
โจทย์ที่ต้องคิดและแก้ไขก็คือ รัฐบาลจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน (ซึ่งไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก) สามารถผลิตได้โดยมีกำไรพอสมควรต่อการลงทุน
การกระทำของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คือมาตรการทางกฎหมายที่เรียกว่า “Feed-in Tariffs” ตามชื่อของเอกสารข้างต้น หรือบางคนเรียกให้กระชับขึ้นว่า “Feed-in-Law”
ผมขอแปลตามความหมายที่แท้จริงว่า “กฎหมายว่าด้วยการป้อนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน” นี่คือเหตุผลที่ผมไม่ยอมแปลชื่อเอกสารนี้ตั้งแต่ตอนต้นของบทความ
มีบางท่านอาจรู้สึกแย้งอยู่ในใจว่า การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น
ข้อแย้งนี้มีความจริงอยู่บ้างในเรื่องต้นทุนที่ต่างกันระหว่างพลังงานฟอสซิลกับพลังงานหมุนเวียน แต่นับวันต้นทุนจากพลังงานฟอสซิลจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนจะลดลง
จากการศึกษาของรัฐบาลเยอรมนีพบว่า ต้นทุนของสองชนิดนี้จะเท่ากันในประมาณปี ค.ศ. 2035 หรืออีก 25 ปีข้างหน้า
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ ค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลมในปี 2004 และ 2010 ได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 44 และร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับการผลิตในปี 1991 |
ในปัจจุบันค่าไฟฟ้าจากกังหันลมในประเทศเยอรมนีราคาหน่วยละประมาณ 3.5 บาทเท่านั้น ราคานี้คือราคาที่ผู้บริโภคในระดับครัวเรือนจ่ายในประเทศไทย
เท่านี้ยังไม่พอ Sir Nicholas Stern ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษและหัวหน้าอีกหลายองค์กรกล่าวไว้ในเอกสาร WFC ว่า “ปัญหาโลกร้อนคือความผิดพลาดทางการตลาดที่ใหญ่ที่สุดที่ชาวโลกเคยประสบมา” ที่เป็นเช่นนี้เพราะ การตลาดของเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ได้คิดต้นทุนภายนอก (external cost) ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อมและสภาวะโลกร้อน
5. กฎหมายว่าด้วยการป้อนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน
หลักการของกฎหมาย Feed-in Law ง่ายมากครับ คือ มีกฎหมายบังคับให้บริษัทที่รับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ปลายทางว่า จะต้องรับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนในราคาพิเศษ ในช่วงเวลาที่แน่นอนคือประมาณ 20 ปี ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดต้องร่วมกันรับผิดชอบ
ในปี 2549 ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ทำให้ประเทศเยอรมนีมีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประมาณ 11.8% ของไฟฟ้าทั้งหมด ภาระที่เพิ่มขึ้นทำให้แต่ละครอบครัวต้องใช้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณครอบครัวละ 75 บาทต่อเดือน
ถ้าโยงกลับมาเป็นกรณีประเทศไทยเรา เนื่องจากชาวเยอรมนีใช้ไฟฟ้าประมาณ 3 เท่าของประเทศไทย ดังนั้น ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่า ถ้าประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสัก 6% (ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายปี) ด้วยใช้กฎหมายฉบับนี้
ครอบครัวคนไทยจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียงเดือนละ 13 บาทเท่านั้น
6. ผลดีด้านอื่น ๆ
ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศเยอรมนี สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ได้ถึง 97 ล้านตัน หรือประมาณ 1.4% ของการปล่อยทั้งโลกรวมกัน ในด้านการจ้างงาน จากพลังงานหมุนเวียนในภาคไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวมีการจ้างแรงงานถึง 2.14 แสนคน
มีการลงทุนปีละ 8.7 พันล้านยูโร หรือ 4.3 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับกรณีมาบตาพุดบ้านเรา
ในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน เชื้อเพลิงพวกนี้ไม่มีวันหมดไปจากโลก ในด้านความมั่นคงของผู้ลงทุน นักลงทุนจะไปวิตกกังวลอะไรในเมื่อมีสัญญาผูกพันถึง 20 ปี
ในด้านการตลาดที่เป็นธรรม กฎหมายนี้ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ที่ใดลมไม่แรงมากแต่ยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้ ให้รับซื้อในราคาที่แพงหน่อย ที่ใดลมแรงมากให้รับซื้อในราคาที่ถูกลงหน่อย
ในช่วง 5 ปีแรก ให้รับซื้อในราคาสูงหน่อย เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนสูงในช่วงแรก แต่ในอีก 15 ปีหลังให้ซื้อในราคาลดลงหน่อย
บริษัทใดที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงนัก ให้เปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีใหม่ แล้วให้จ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้น ผู้ใดลงไปผลิตในทะเล (เพราะบนพื้นดินเต็มความสามารถแล้ว) ค่าไฟฟ้าก็สูงกว่าผลิตจากบนบก
นี่ซิครับ คือการเอื้ออาทรที่แท้จริง
คำว่า Change ที่นักการเมืองใหญ่ ๆ ชอบพูดกันนั้น หาได้มีมาตรการใด ๆ รองรับเหมือนกับที่ผมได้กล่าวมาแล้วเลยครับ พลเมืองอย่างเราต้องรู้ให้เท่าทันครับ