“คดีโลกร้อน” เป็นชื่อที่ใช้เรียกคดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ฟ้องผู้บุกรุกป่า ผู้บุกรุกต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ที่ผ่านมามีเกษตรกรถูกฟ้องดำเนินคดีไปแล้วหลายสิบรายทั่วประเทศ ในช่วงปี 2549-52 ในจังหวัดตรังและพัทลุงมีราษฎรถูกดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 6 ราย กรมอุทยานฯ ได้เรียกค่าเสียหาย 20.306 ล้านบาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 14.76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ผมได้ยินเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ไม่ได้ให้ความสนใจเพราะไม่ทราบรายละเอียดมากพอ แต่หลังจากได้รับเชิญจากประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิชุมชน ทำให้ผมได้ทราบทั้งข้อมูล วิธีคิด รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการคิด ผมจึงไม่ลังเลที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้
ผมได้เปรียบเรื่องนี้กับภาพยนตร์ที่คนไทยคุ้นเคยคือ “เทวดาท่าจะบ๊องส์” เพราะมันคล้ายคลึงกันมาก โปรดติดตามครับ
มีคำถาม 2 ข้อที่จะต้องพิจารณา คือ (1) ค่าเสียหายดังกล่าวคืออะไรบ้าง และ (2) วิธีประเมินเป็นอย่างไร คงไม่เหมือนการประเมินราคาที่ดินในเมืองที่ใช้ราคาตลาดเป็นเกณฑ์
ค่าเสียหายประกอบด้วย 5 รายการ รวมกันไร่ละ 150,942.70 บาทต่อปี คือ (1) ค่าไม้และของป่า 40,825.10 บาท (2) ค่าดินสูญหาย 1,800.00 บาท (3) ค่าน้ำสูญหาย 58,800.00 บาท (4) ค่าปุ๋ยสูญหาย 4,064.15 บาท และ (5) ค่าทำให้อากาศร้อน 45,453.45 บาท
โปรดสังเกตว่า ตัวเลขค่าเสียหายออกมาละเอียดยิบจนถึงระดับสตางค์ ผมเคยสอนวิชา “การวิเคราะห์เชิงตัวเลข” ถ้าเป็นเช่นนี้ผมจะถามว่า “คุณใช้เครื่องมือชนิดใด ถึงได้ละเอียดถึงเพียงนี้ ดัวยเครื่องมือที่ละเอียดเท่านั้น จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ละเอียด หรือเพราะว่าเครื่องคิดเลขให้มา”
อีกอย่างคือ ค่าเสียหายนี้เป็นค่าเสียหายต่อปี แต่เวลาศาลพิพากษาให้ชดใช้ทำไมคิดครั้งเดียวจบเลย ทำไมไม่คิดทุกปีจนกว่าสภาพป่าจะฟื้นกลับมาเหมือนเดิม
สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการคิดค่าเสียหาย กรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นโจทก์ได้ใช้งานวิจัยของนักวิชาการในกรมเป็นเกณฑ์ โดยที่นักวิจัยได้ใช้สิ่งที่เรียกว่า “แบบจำลองทางคณิตศาสตร์” เป็นเครื่องมือ
ผมได้เรียนต่อกรรมการสิทธิฯว่า การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อหาคำตอบที่เราอยากได้นั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจกฎเกณฑ์ของเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดีเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นกฎฟิสิกส์หรือชีววิทยา เช่น อะไรเป็นต้นเหตุ (อาจมีหลายเหตุ) แต่ละเหตุอาจมีปฏิสัมพันธ์กันเอง หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผลลัพธ์ด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ ยากจริง ๆ
ผมสอนวิชา “การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์” มากว่าสิบปี ผมยังไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ของป่าไม้ ผมไม่สามารถวิจารณ์งานวิจัยนี้ได้มากนัก แต่โดยทั่วไปแล้วคนในวงการเขาพูดกันว่า “ถ้าใส่ขยะเข้าไปในโมเดล หรือโมเดลแบบขยะ ๆ คำตอบที่โมเดลให้มาก็คือขยะ ไม่มีประโยชน์”
ดังนั้น การสร้างและการนำแบบจำลองไปใช้จึงต้องระมัดระวังมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินคดี ในที่นี้ผมขอวิจารณ์เฉพาะค่าทำให้อากาศร้อนเท่านั้น
วิธีคิดของนักวิชาการกลุ่มนี้ คือ วัดอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นที่ที่มีต้นไม้ปกคลุมที่ยังไม่ถูกบุกรุกแล้วเปรียบเทียบกับพื้นที่โล่งที่ถูกบุกรุกแล้ว ในช่วงเวลา 8.00 ถึง 18.00 น. จากนั้นก็คำนวณว่า ถ้าต้องการทำให้อุณหภูมิของพื้นที่โล่งกลับไปเท่าเดิมโดยใช้เครื่องปรับอากาศ (ที่เสียค่าไฟฟ้าหน่วยละ 2.10 บาท) นั้น ต้องเสียค่าไฟฟ้าเท่าใด ผลลัพธ์ที่ได้คือค่าเสียหายในประเด็นนี้
ผมไม่ได้เรียนถามนักวิจัยในที่ประชุม เพราะตามรายละเอียดไม่ทัน แต่หลังจากได้อ่านเอกสารนำเสนอแล้ว ผมมีคำถาม 3 ข้อครับ คือ
(1) ทำไมจึงเก็บข้อมูลเฉพาะในช่วง 8.00-18.00 น. เท่านั้น ทำไมไม่เก็บข้อมูลให้ตลอด 24 ชั่วโมง(และอาจต้องตลอดทุกฤดูกาลด้วย) เพราะในกลางคืนอุณหภูมิของอากาศในที่โล่งจะต่ำกว่าที่ที่มีไม้ปกคลุม ในช่วงกลางวันอาจเป็นจะจริงตามที่นักวิจัยว่า แต่ในช่วงกลางคืนกลับเป็นตรงกันข้าม
ถ้าท่านผู้อ่านคิดแย้งกับที่ผมกล่าวมา ก็ลองออกไปนอนนอกบ้านตอนกลางคืนดูก็ได้จะรู้สึกว่าหนาวกว่าอยู่ในบ้าน การปกคลุมของต้นไม้ก็คล้าย ๆ กับหลังคาบ้าน
การขึ้นลงของอุณหภูมิอากาศมีหลายสาเหตุ เช่น กระแสลม เมฆ และความกดอากาศ เป็นต้น การคิดเฉพาะการมีหรือไม่มีต้นไม้ มันง่ายเกินไปครับ
(2) ถ้าอากาศร้อนขึ้นจริงแล้วมันเสียหายอย่างไร ผมไม่เข้าใจ โปรดอย่าสับสนระหว่าง “โลกร้อน (Global Warming)” กับ “พื้นที่ที่ร้อนขึ้น”
โลกร้อนเป็นปัญหาระดับโลก (Global) มีสาเหตุมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขึ้นไปทำหน้าที่เป็น “ผ้าห่มโลก” ไม่ให้ความร้อนที่มาจากดวงอาทิตย์หลุดออกไปจากชั้นบรรยากาศโลกได้
คนเราถ้าได้ห่มผ้าผืนเท่าฝ่ามือก็ไม่อาจทำให้อุ่นขึ้นมาได้ “ผ้าห่มโลก” ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์มาจากก๊าซ 3 ชนิด คือ (1) คาร์บอนไดออกไซด์ (จากเชื้อเพลิงฟอสซิล) 72% (2) ก๊าซมีเทน (จากการเน่าเปื่อยของพืช) 18% และ (3) ไนตรัสออกไซด์ (จากปุ๋ยเคมี) 9 %
(3) นักวิจัยคิดค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 2.10 บาทนั้น ท่านได้ลืมบวกค่าเอฟทีอีก 80 กว่าสตางค์หรือไม่
ข้อคิดจากคดีนี้ คล้ายกับหนังที่ชาวพื้นเมือง (ชื่อนิเชา) เผ่าหนึ่งในแอฟริกาที่ไปพบขวดโค๊กที่คนมือบอนทิ้งลงมาจากเครื่องบินเล็ก ชาวพื้นเมืองคิดว่าเป็นสิ่งวิเศษที่พระเจ้าประทานมาให้ เอาไปใช้เพื่อบดแป้งก็ได้ผลดี ต่อมามีคนเอาไปใช้ตีหัวกัน จนนำไปสู่การทะเลาะวิวาทกลายเป็นสงคราม
แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ก็เช่นกัน ถ้าไม่รู้จักกฎของธรรมชาติ ไม่รู้จักสร้าง ไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักตั้งคำถาม ความเสียหายก็เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้