Skip to main content

 

 

เรื่องปัญหาการเซ็นเซอร์ เหมือนเป็นหัวข้อที่ไม่ต้องอธิบายว่าเป็นปัญหาถ่วงความเจริญทางการรับรู้และสติปัญญาของสังคมอย่างไร

สื่อกระแสหลักก็พูดเรื่องเสรีภาพในการสื่อสาร,รายงานข่าวอยู่เป็นประจำ  อย่างไรก็ตามหากไม่มีปัญหาการเซ็นเซอร์ในสังคมไทย ทางสำนักข่าวประชาไท ก็คงไม่จำเป็นต้องเชิญผมมาพูดเรื่องนี้ ในวันนี้

ขอเข้าเรื่องด้วยการโยนคำถามง่ายๆ ว่าท่านคิดอย่างไรกับสถาบันกษัตริย์?
ดี
ดีมาก
ดีที่สุด
ดีจริงๆครับ
(หากผมตอบเป็นลบ ผมคงถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 หรือ พ.ร.บ.คอมพ์)

คุณได้ยินหรือเสพข่าวสารด้านลบ ข่าวและความเห็นเชิงวิพากษ์ต่อสถาบันกษัตริย์ไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสื่อกระแสหลักบ้างหรือไม่ เมื่อใด ทำไม?

ทำไมหนังสืออย่าง The King Never Smiles จึงถูกแบน? ทั้งๆที่ถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง Yale

ทำไมผู้แปลบางตอนของหนังสือเล่มนี้ชื่อ นาย โจ การ์ดอน คนไทยสองสัญชาติอเมริกันไทย ต้องถูกตัดสินจำคุกข้อหาหมิ่นเจ้า ติดคุกนานกว่า1 ปีเพียงเพราะแปลเนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มนี้?

ทำไมนายเอกชัย หงส์กังวาน ผู้เผยแพร่และขายสารคดีเท่าทันเจ้าของสถานีโทรทัศน์แห่งออสเตรเลีย ABC จึงต้องติดคุกนานกว่าสองปีและถูกจองจำจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆที่สารคดีเท่าทันเจ้าไทยได้รับการฉายให้คนออสเตรเลียและคนชาติอื่นดูได้?

การห้ามมิให้ประชาชนแสดงออกอย่างเท่าทันและวิพากษ์ แถมบังคับให้ประชาชนต้องมองเจ้าและสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีความสำคัญและมีอิทธิพลสูงอย่างยิ่งต่อสังคมไทยไปในทางเดียวกัน มิได้ช่วยให้ประชาชนมีสติปัญญาหรือวุฒิภาวะสูงขึ้น และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมปัญหาการเซ็นเซอร์ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

เรื่องโกตี๋ แทนที่สื่อและประชาชนจะพยายามเข้าใจว่าทำไมโกตี๋จึงวิพากษ์ (หรือหมิ่นเจ้า) และเป็นการวิพากษ์ที่มีเหตุผลหรือไม่อย่างไร แต่สื่อไทยกลับสนใจแต่เพียงว่าจะไล่ล่าจับโกตี๋ได้ไหม พวกเขาไม่ต้องการเข้าใจ และดูเหมือนเพียงแต่ต้องการให้มีการเซ็นเซอร์

ส่วนเรื่ององค์กรเก็บขยะแผ่นดินก็เช่นกัน พวกเขามิเพียงมองคนเห็นต่างเป็นขยะ หากยังมิต้องการเข้าใจว่าทำไมคนจำนวนหนึ่งถึงต้องการวิพากษ์เจ้า

เสรีภาพในการคิดและแสดงออกเป็นเสรีภาพพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี  เป็นรากฐานแห่งสติปัญญาความรู้ความเข้าใจของประชาชน ในทางตรงกันข้าม การเซ็นเซอร์ไม่ให้ประชาชนสามารถพูดคุยกันด้วยเหตุผลได้ หรือทำได้ลำบากยิ่งขึ้น เพราะอาจผิดกฎหมาย และอยู่ในสภาวะแห่งความกลัว ทำให้สังคมสูญเสียโอกาสที่จะเรียนรู้แลกเปลี่ยนเหตุผลซึ่งกันและกันไม่ว่าเรื่องเจ้า เรื่องกองทัพ ศาสนา สามจังหวัดใต้ คนชายขอบ เพศวิถี ความเป็นไทย ชาตินิยม ฯลฯ

วันนี้จะมีการจัดเสวนาวิชาการ เรื่องการสืบสันติวงศ์กับประชาธิปไตยไทย >ท่านเชื่อหรือไม่?

ผู้พูดมิได้โกหก  เสวนานี้มีขึ้นจริง แต่จัดขึ้นที่ออสเตรเลีย ณมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ลองคิดดูสิ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากมีความพยายามจะจัดเสวนาในหัวข้อเดียวกันนี้ในประเทศไทย

นี่คืออีกหนึ่งปรากฏการณ์การเซ็นเซอร์ในสังคมไทย เรื่องที่ควรจะได้รับการพูดคุยอย่างมีเหตุผล เท่าทันเชิงวิพากษ์ ประชาชนไทยกลับทำไม่ได้ ปัญญาชนอย่าง อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  อดีตอธิการบดี ม. ธรรมศาสตร์ กลับต้องไปพูดเรื่องนี้ในออสเตรเลีย

หากเป็นในเมืองไทย คงพูดได้อย่างเดียวว่า ดีๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ  ลูกเดียวหรือ no comment!

อีกตัวอย่างได้แก่ละครเวทีใหม่ล่าสุด ณ กรุงลอนดอน เรื่อง King Charles IIIซึ่งจินตภาพไปถึงเหตุการณ์ในอนาคต ถึงหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่สอง ซึ่งนำไปสู่การขึ้นครองราชย์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ล จากนั้นละครกล่าวถึงการเป็นโรควิตกจริตของกษัตริย์ชาร์ลที่ 3 ภายหลังการขึ้นครองราชย์  โดยพระองค์ไม่ยอมลงพระราชปรมาภิไธย ตามที่รัฐสภาอังกฤษทูลเกล้า พระองค์หวังรวบอำนาจคืนไปอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ และมีพระบรมราชโองการให้เคลื่อนรถถังมาจอดหน้าพระราชวังบักกิงแฮม  จนกระทั่งพระโอรส เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคทต้องวางแผนแย่งชิงราชบัลลังก์ เพื่อกอบกู้ประชาธิปไตยอังกฤษ

พวกท่านในที่นี่ลองพิจารณาดูว่าหากละครประเภทนี้ถูกเขียนขึ้นพาดพิงถึงราชวงศ์จักรี ผู้เขียนบทละครและนักแสดงจะมีที่ซุกหัวนอนนอกจากทัณฑสถานหรือไม่?

แต่ในอังกฤษ หนังสือพิมพ์ The International New York Times ฉบับวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เขียนว่าละครเวทีเรื่องนี้ ก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างออกรสชาติและกว้างขวางในสังคมอังกฤษ ถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ และความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษกับประชาชน ในตอนหนึ่งของบทความ นายMike Bartlett ผู้เขียนบทละคร กล่าวว่า”There is something about hierarchy that’s comforting. And that’s a very uncomfortable idea in 21st –century thought.”

มันมีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความแตกต่างทางชนชั้น ที่ทำให้รู้สึกอบอุ่น และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง ในฐานะที่ความคิดในศตวรรษที่ 21

ผู้เขียนนาย Bartlett ยอมรับว่า หากละครนี้ถูกเขียนในยุคก่อนปี 1968 เขาอาจถูกเซ็นเซอร์ เพราะตอนนั้นเจ้าหน้าที่ระดับสูง ตำแหน่ง Lord Chamberlain มีอำนาจในการเซ็นเซอร์ และตรวจทานละครเวที  แต่อังกฤษในวันนี้มีเสรีภาพมากกว่าอดีต

เรื่องนี้ตอกย้ำในเราเห็นว่าแม้ในอังกฤษเองก็มีการเปลี่ยนแปลง  สังคมไทยจึงไม่จำเป็นต้องอ้างจารีตหรือกฏหมายใดๆ ที่กลายเป็นตัวถ่วงสติปัญญาและเสรีภาพของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย

ในตอนท้ายของบทสัมภาษณ์ นายBartlett ยังพูดต่อว่าเขาพยายามเขียนบทละครนี้ให้ดึงดูด ประชาชนหลากหลาย ทั้งพวกที่เกลียดราชวงศ์และรักเทิดทูนสถาบัน
นอกจากการเซ็นเซอร์ อันสืบเนื่องมาจากกฎหมายปิดหูปิดตาประชาชนอย่างมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว ผู้พูดอยากกล่าวถึงการเซ็นเซอร์มิติอื่นที่มีอยู่ในสังคมไทยด้วย  การเซ็นเซอร์เพราะข้อจำกัดขององค์กรสื่อที่มีความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจแนวดิ่ง จากบนลงล่าง เป็นอีกหนึ่งความท้าทายการรับรู้ของสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ(ดูหนังสื่อ ‘สื่อเสรีมีจริงหรือ’ โดยผู้เขียนที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทองได้)

กล่าวคือหากในตอนต้นผู้พูดกล่าวถึงการเซ็นเซอร์ เรื่องเท่าทันเจ้า ผู้พูดก็อยากให้ผู้ฟังตระหนักเช่นกันว่า ขณะเดียวกันก็มีการเซ็นเซอร์ที่เห็นความเท่าทันเจ้าของสื่อ องค์กรสื่อหากำไรที่เรียกว่าบรรษัทสื่อ (Corporate Media)มีลักษณะการกุมอำนาจในองค์กร เป็นแบบเผด็จการ รวมศูนย์ ในขณะที่องค์กรสื่อเหล่านั้น มักยืนยันว่าองค์กรสนับสนุนประชาธิปไตยในสังคม

ตัวอย่างง่ายๆ เช่นมีการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อบางองค์กร เพราะความสัมพันธ์ของเจ้าของสื่อกับกลุ่มการเมือง หรือเพราะการพึ่งพาแหล่งโฆษณารายใหญ่ ในขณะเดียวกัน สื่อมักไม่วิจารณ์กันเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสิ่งที่สื่อไทยเรียกว่า แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน รวมถึงตัวมันเอง องค์กรสื่อที่ไม่มุ่งเน้นกำไรอย่างประชาไท หรือทีวีสาธารณะ ไทยพีบีเอส จึงสมควรต้องทำหน้าที่สร้างความเท่าทัน ต่อสื่อกระแสหลักที่มุ่งเน้นกำไร ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้ประชาชนตระหนักว่าการทำหน้าที่ของสื่อกระแสหลักมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง มีเรื่องอะไรบ้างที่สื่อกระแสหลักไม่ยอมพูดหรือนำเสนอ

แต่สิ่งที่ลึกซึ้งและสลับซับซ้อนกว่าการเซ็นเซอร์เพราะกฏหมายอย่างมาตรา112พ.ร.บ.คอมฯ หรือเพราะโครงสร้างของบรรษัทสื่อ ได้แก่การเซ็นเซอร์ตนเองของนักข่าวและบรรณาธิการ และเจ้าของสื่อ เนื่องจาก‘อุดมการณ์’  ผู้พูดขอยกเรื่อง 3 จังหวัดภาคใต้เป็นตัวอย่าง ประชาชนและสื่อจำนวนมิน้อย จะไม่ยอมคิดเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าในปัตตานี หรือการตั้งเขตปกครองพิเศษ เพราะตนรับไม่ได้ เนื่องจากมองว่าขัดต่ออุดมการณ์ความรักชาติพวกต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อแบ่งแยกดินแดนหรือกู้เอกราชปาตานีจึงเป็นได้เพียง ‘โจรใต้’และคนเลวในสายตาสื่อกระแสหลักและคนไทยส่วนใหญ่

สิ่งที่เราไม่กล้าถามเพราะอุดมการณ์เราบดบัง เป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักอย่างยิ่งยวด

กล่าวง่ายๆ การเซ็นเซอร์ในระดับที่สลับซับซ้อนที่สุด คือการกดทับการรับรู้เรื่องบางเรื่อง หรือบางมิติของเรื่องบางเรื่อง ไม่ว่าจะโดยปัจจัยภายนอกอย่างกฏหมาย หรือปัจจัยภายใน อย่างสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์,ทัศนคติ,อคติ หรือแม้แต่สิ่งที่ตัวเองถือว่าเป็นอุดมคติของตัวเอง

การเซ็นเซอร์ ไม่ว่าเรื่องอะไรสุดท้ายก็คือการไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบตั้งคำถามสงสัย

ในสภาวะสงคราม สื่อไทยหรือประชาชนไทยมักมองสงครามกับต่างประเทศจากมุมมองชาตินิยมจากมุมมองผู้รักชาติ ประวัติศาสตร์ได้สอนให้เห็นว่าสื่อตะวันตกหรือประเทศส่วนใหญ่ย่อมเลือกข้างและเซ็นเซอร์ตนเองในระดับหนึ่งเวลาอยู่ในภาวะสงคราม

ส่วนเรื่องเพศวิถี สื่อและประชาชนจำนวนมากผลิตซ้ำวาทกรรมที่ว่าเพศที่ 3 4 5 วิปริตผิดธรรมชาติหรือเป็นตัวตลก

ท้ายสุดเราทุกคนจึงมิได้เป็นเพียงเหยื่อที่ถูกเซ็นเซอร์จากกฏหมายหรือข้อจำกัดภายนอกบางอย่าง หากบางครั้งเราในฐานะสื่อ(และประชาชนทั่วไป) อาจเซ็นเซอร์เรื่องบางเรื่องเอง โดยมิได้ตระหนักเช่นกัน

(เมื่อใดเรายอมรับให้การเซ็นเซอร์ปกติ เมื่อนั้นเราก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการเซ็นเซอร์)

ความคิดเรื่องความดีความชั่วสิ่งอันเป็นธรรมชาติ ผิดธรรมชาติ สิ่งที่ถูกและผิดศีลธรรมเหล่านี้ มีกรอบระดับวาทกรรมครอบงำอยู่ การตระหนักถึงปัญหาการเซ็นเซอร์อย่างแท้จริง จึงเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราตระหนักถึงความสลับซับซ้อนของการเซ็นเซอร์ และกล้าตั้งคำถามต่อการเซ็นเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์,ศาสนา,ชาติ เพศวิถี หรือแม้แต่ตัวเราเอง และสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้องเป็นจริงโดยมิต้องสงสัย

ความสงสัย ความอยากรู้อยากแลกเปลี่ยนเป็นทั้งสิทธิพื้นฐานของมนุษย์และบ่อเกิดแห่งปัญญาไม่มีอะไรสามารถทดแทนการแสดงความคิดเห็น,โต้แย้ง,เรียนรู้ร่วมกันอย่างเปิดเผยและปราศจากความกลัวในที่สาธารณะได้ แต่มาตรา 112,พ.ร.บ.คอมพ์ และการเซ็นเซอร์เรื่องต่างๆในรูปแบบต่างๆ ทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นในสังคมไทย หากเราตระหนัก เราจะทราบดีว่าทำไมเราต้องผลักดันให้สังคมไทยมีเสรีภาพการแสดงออกมากกว่านี้

การเป็นผู้ตั้งคำถามที่ผู้คนจำนวนมิน้อยในสังคมไม่อยากฟังเป็นเรื่องที่ท้าทายและมีต้นทุนสูง บางคนอาจหมดอนาคตในวิชาชีพหรือทำมาหาเลี้ยงชีพลำบากขึ้น อย่างเช่นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ซึ่งเป็นบุคคลที่สังคมรู้จักอย่างกว้างขวางผู้หนึ่งที่บอกแก่ผู้พูดเมื่อเร็วๆนี้ว่า เขาไปสมัครเพื่อย้ายไปทำงานที่ช่องทีวีดิจิตอลใหม่ 3 ช่องและถูกปฏิเสธทั้ง 3 ช่อง โดยที่ผู้บริหารทั้งสามช่องบอกกับเขาว่าติดอยู่เพียงเรื่องเดียว คือจุดยืนของเขาเรื่องมาตรา 112

ต้นทุนของการท้าทายการเซ็นเซอร์ ยังรวมถึงการที่ผู้ที่ตั้งคำถามกับเรื่องอันสลับซับซ้อนต่างๆ โดยการไม่มองอะไรเป็นขาว เป็นดำ จะต้องอยู่กับสิ่งที่ผู้พูดเรียกว่า”ความเป็นจริงอันสลับซับซ้อนและกระอักกระอ่วนใจ” (Uncomfortable Truth)เราอาจพบว่าความดีงามอย่างที่เราเคยเชื่อ หรือยังเชื่ออยู่ เช่นความรักชาติ,ศีลธรรม,ความภักดี อาจมิได้ดีหรือมีแต่ด้านที่ดีงาม อย่างที่เราคิด

หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ความจริงมิเคยปราณีใคร


ปล. บทความนี้เขียนขึ้นสำหรับการบรรยายในหัวข้อ“สื่อต้องไม่ยอมจำนนต่อการเซ็นเซอร์” ในการอบรม “จริยธรรมสื่อและการเซ็นเซอร์” ให้กับสื่อพลเมือง จัดโดยโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย (SAPAN) โดยการสนับสนุนของ USAID และมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2557 ที่โรงแรม ดิเอทัส กรุงเทพฯ

 

บล็อกของ ประวิตร โรจนพฤกษ์

ประวิตร โรจนพฤกษ์
1) กว่า 90% ของผู้เสียชีวิตคือผู้ชุมนุมธรรมดา -ปี 2553 จากร้อยศพผมนึกได้เพียงชื่อ เสธ.แดง กับพันเอกร่มเกล้า2) กว่า 99% ของผู้อยู่แนวหน้าเวลาเกิดเหตุเผชิญหน้าปะทะคือผู้ชุมนุมธรรมดา หาใช่แกนนำไม่ –แกนนำมักคอยปลุกปั่นท่ามกลาง ‘มวลมหาประชาชน’ หรือม็อบจากบนเวทีแนวหลัง
ประวิตร โรจนพฤกษ์
ถึงเวลา countdown ความคลั่งชาติแล้วสินะพวกพี่น้องใครจับจ้องรอดูทีวี ถ่ายทอดสดศาลโลกบ้างฆ่ากันตายกี่ล้านศพในนามความคลั่งชาติเกลียดกันนานกี่ศตวรรษในนามชาตินิยมดูถูกคนรวมกี่ชาติในนามวัฒนธรรมอันดีงามทิ้งบ้านทิ้งครอบครัวไปกี่รอบเพื่อไปตายแทนชนชั้นนำ
ประวิตร โรจนพฤกษ์
การพยายามผลักดัน พรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งสุดซอยโดยอย่างเร่งด่วนโดยพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร เป็นการผลักภาระการสังหารประชาชนโดยมิต้องรับผิดชอบใดๆให้เป็นมรดกเลือดตกทอดแก่ลูกหลานชาวไทย