ลึกๆในจิตใต้สำนึกของบรรดาผู้นำเผด็จการทหาร พวกเขาคงตระหนักว่าเขาปราศจากความชอบธรรมใดๆ พวกเขาจึงออกอาการวิตกจริตและปราบปรามการขัดขืนทุกรูปแบบ ไม่ว่าในโลกเสมือนจริงของอินเทอร์เน็ตหรือในโลกแห่งความเป็นจริงประจำวัน
เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ผมได้รับโทรศัพท์จากทหาร คสช. ซึ่งเป็นกลุ่มทหารที่ได้ก่อรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และละเมิดสิทธิผู้ออกคะแนนสียงเลือกตั้งนับสิบล้านคนว่าผมไม่ได้รับการอนุมัติให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปร่วมงานประชุมฉลองวันเสรีภาพสื่อโลกซึ่งจัดโดยองค์การยูเนสโก้ ณ.ประเทศฟินแลนด์ ในเดือนพฤษภา
หนึ่งในคณะโฆษก คสช. พันเอก ปิยพงษ์ กลิ่นพันธุ์ ได้ตอบคำถามของทีวีสาธารณะออสเตรเลีย หรือ Australian Broadcasting Corporation ที่รายงานข่าวผมเรื่องนี้ว่า ผมถูกห้ามมิให้เดินทางออกนอกประเทศเพราะ “เขายังคงโพสต์โจมตีงานของ คสช. [ในโลกออนไลน์] และเขาละเมิดคำสั่ง คสช.ในหลายรูปแบบ ดังนั้นการเดินทางของเขาจึงมิได้รับการอนุมัติ”
สิทธิในการเดินทางออกนอกประเทศของผมถูกริดรอนตั้งแต่ผมถูก คสช. เรียกไปขังเพื่อ ‘ปรับทัศนะคติ’ สองรอบ ครั้งแรกในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 และครั้งที่สองเดือนกันยายน 2558 รวมแล้วเป็นเวลา 10 วัน ก่อนที่ผมจะได้รับการปล่อยตัวทั้งสองครั้ง ผมจำเป็นต้องเซ็น MOU กับ คสช. ซึ่งรวมถึงการต้องขออนุมัติจากหัวหน้า คสช.เวลาต้องการเดินทางไปนอกประเทศ
เงื่อนไขอื่นๆรวมถึงข้อตกลงว่าผมจะไม่ไปร่วมช่วยเหลือหรือนำขบวนการต้านเผด็จการทหาร คสช. และถ้าผมไม่ปฎิบัติตามข้อตกลง ทาง คสช.ก็สงวนสิทธิที่จะระงับธุรกรรมทางการเงินและดำเนินคดีกับผม
อย่างไรก็ตาม สิ่งสุดท้ายที่ผมจะยอมเซ็นคือการยินยอมตกลงที่จะไม่ตรวจสอบวิพากษ์ คสช. และผมก็ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบวิพากษ์ คสช. นี้มาตลอดเวลาเกือบสองปีตั้งแต่วันที่เกิดรัฐประหารผ่านงานในฐานะนักข่าว และผ่านทวีตเตอร์และเฟซบุ๊ก
นี่คือสิ่งที่นักข่าวไทยที่ไม่ยอมเสแสร้งว่าคณะรัฐประหารมีความชอบธรรมต้องเผชิญ
ณ เวลาที่ผมเขียนบทความนี้ เผด็จการทหารกำลังเตรียมคอร์สอบรมให้การศึกษาใหม่ (re-education camps) แก่ผู้ที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับเผด็จการซึ่งรวมถึงสื่อจำนวนหนึ่งในค่ายทหารหลายแห่ง คอร์สนี้จะใช้เวลาเจ็ดวัน กิจกรรมนี้แท้จริงก็คือต้องการทำให้คนเงียบ ถ้าใครไม่อยากมีชื่อติดและถูกส่งเข้าค่าย ก็จะต้องอยู่นิ่งๆ และเลิกส่งเสียงวิพากษ์รัฐทหาร
ผู้นำของเผด็จการทหารปัจจุบันชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ซึ่งเคยกล่าวตลกๆว่า นักข่าวที่ต้าน คสช. ควรถูกประหารชีวิต แถมเจ้าตัวยังใช้ตรรกะที่ว่าเขาไม่ต้องตามใจใครเพราะเขามิได้มาจากการเลือกตั้ง ประยุทธ์รักษาความสงบเรียบร้อยโดยการออกคำสั่งห้ามมิให้มีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และข้อห้ามนี้ก็ยังคงถูกใช้มาเป็นเวลาเกือบสองปีแล้ว
ข้อมูลจากไอลอว์ (iLaw) ซึ่งเป็นองค์กรในกรุงเทพฯ ที่เก็บตัวเลขสถิติเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่มีรัฐประหารยึดอำนาจโดย คสช.จนถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกเรียกไป ‘ปรับทัศนคติ’ แล้วกว่า 900 คน ในหลายกรณีรวมถึงการขังในที่ลับถึงเจ็ดวัน ตัวเลขพลเมืองที่ถูกนำขึ้นศาลทหารอยู่ที่ 150 คน 62 คนที่ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือ ม.112
38 คน ถูกดำเนินคดีภายใต้ ม.116 ซึ่งถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และอีก 85 คนถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
ผมไม่ใช่ผู้เดียวที่ขัดขืนในการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐทหาร คนไทยหลายคนที่ไม่ยอมเงียบต้องจ่ายราคาค่างวด และอีกหลายคนคงจะต้องจ่ายอีกในอนาคต บางคนถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร บางคนถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน และมีคนจำนวนหนึ่งถูกระงับหนังสือการเดินทาง
อย่างไรก็ตาม เพราะความโหยหาในเสรีภาพ จึงยังคงมีไทยจำนวนหนึ่งที่ส่งเสียงท้าทายในโลกโซเชี่ยลแม้จะมีการไล่ปราบและมีความคิดที่จะเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตโดยใช้เทคโนโลยีซิงเกิ้ลเกตเวย์ เสรีภาพเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งต่างจากการเป็นสัตว์เลี้ยงของเผด็จการทหาร
ลึกๆแล้ว เผด็จการทหารย่อมรู้ดีว่าอำนาจพวกเขามิได้อยู่บนพื้นฐานของความชอบธรรม หากถูกคงไว้ด้วยกระบอกปืนและการข่มขู่ขังประชาชน และสิ่งนี้กำลังทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเผด็จการทหารมากขึ้นทุกที
หมายเหตุ: บทความนี้แปลมาจากภาษาอังกฤษที่ผู้เขียน (Pravit Rojanaphruk) เขียนลงพิมพ์เผยแพร่ใน นสพ.เดอะการ์เดี้ยนของอังกฤษ (The Guardian) ลงในวันที่ 5 เมษายน 2559 ภายใต้ชื่อ ‘Thailand is turning into Juntaland – and we are resisting’ http://www.theguardian.com/commentisfree/2016/apr/05/thailand-juntaland-military