Skip to main content

 

"อยากกลับบ้าน แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร รอแต่เวลาจะได้กลับบ้าน แต่เมษายนนี้คงไม่ได้กลับบ้าน" เขายิ้มระหว่างพูด แต่ถ้อยคำน้ำเสียงของเขานั้นมันไม่ชวนให้ยิ้มตามหรอก

 

 

 



1


แดดเดือดตอนเพลกวาดต้อนผู้คนให้เขาไปออกันที่ป้ายรถเมล์ มันกังวลว่าจะมีรถเมล์สักสายไหมที่ผ่านไปทางนั้น มันตัดสินใจขึ้นไปยืนเหงื่อซึมบน ปอ.26 ซึ่งแอร์เสีย

คนที่กินข้าวไข่เจียวยังเหงื่อออกอย่างมัน เจอสภาพอากาศแบบนี้มีหรือจะรอด แถมรถเมล์เลี้ยวตอนไหนไม่แน่ใจ เพราะใจมันมัวแต่สนใจอ่าน "สายรุ้งกลางซากผุกร่อน" ของมาโนช พรหมสิงห์ กว่าจะเอะใจว่า มันมาผิดทางแล้ว รถก็วิ่งห่างออกจากเส้นทางที่จะเชื่อมต่อไปยังจุดหมายไกลโข

ถลันลงรถเมล์แล้วมุดเข้าประตูร้านข้าวหมูกรอบแถวรัชโยธิน ห้องแอร์และน้ำเย็นพอบรรเทาความร้อนรน 42 บาท คือ ราคาที่มันต้องจ่ายสำหรับข้าวกับน้ำมื้อแรกของวัน



2

 


แท็กซี่มาดเข้มพามันทวนทางเดิมแล้ววนซ้ายมาเลี้ยวซ้ายก่อนถึงไทยพีบีเอส เข้าไปในสุดและอาคารด้านซ้ายมีป้ายใหม่หมาดชื่อ "เรือนจำชั่วคราวหลักสี่"

ประตูด้านขวาเปิดไม่กว้างนัก มันเดินเข้าไปยังโต๊ะที่มีป้าย "ติดต่อสอบถาม" เจ้าหน้าที่หญิงขอบัตรประชาชนและกรอกรายชื่อคนที่มันต้องการเยี่ยม

"สมศักดิ์ ประสานทรัพย์   สนอง เกตุสุวรรณ์   ธีระวัฒน์ สัจสุวรรณ   และ   ปัทมา มูลมิล"   สี่นักโทษการเมืองเสื้อแดงจากจังหวัดอุบลราชธานี

เก็บกระเป๋าสัมภาระไว้ในล็อกเกอร์หน้าตัวอาคาร ไม่นาน  พัชรี ลาเสือ ภรรยาของสมศักดิ์ ประสานทรัพย์  ก็มาทักทาย เธอมาเยี่ยมสามีตั้งแต่เช้าและจะไปเยี่ยมลูกชายซึ่งทำงานที่พัทยาอีกต่อหนึ่ง

 


3


มันยืนอยู่หน้าห้องที่มีกระจกกั้น ยกหูโทรศัพท์สนทนากับพวกเขาทั้งสี่คนทีละคน

สนอง เกตุสุวรรณ์ สุขุมและรูปร่างปราดเปรียวกว่าปีก่อน เขาฝากความคิดถึงไปหาแม่ ฝากบอกมายังนิสิตนักศึกษาว่า ให้สนใจปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ และอยากให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยดี

"นี่ไม่ใช่ทำเพื่อทักษิณ แต่เพื่อประเทศชาติ จะได้มีกฎหมายแม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น"


ปัทมา มูลมิล นักโทษการเมืองหญิงคนเดียวของเรือนจำพิเศษหลักสี่ เธอคิดถึงแม่ แม่ที่บอกให้เธอสู้ เธอบอกไม่อยากสู้แล้ว บางทีก็อยากตาย บางคืนนอนคิดไปต่างๆนานาแล้วก็ร้องไห้ เกือบสามปีชีวิตเสียโอกาส เสียอะไรไปตั้งเยอะแยะ เธอได้แต่ฝากบอกไปถึงคนที่เคยสู้มาด้วยกันว่า อย่าลืมกัน อย่าทิ้งกันไป อยากให้ช่วยผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อรับผิดชอบชีวิตแพะทางการเมือง สำหรับเธอนั้น หากได้รับอิสรภาพ เงินเยียวยาไม่เอาสักบาทก็ได้
 


สมศักดิ์ ประสานทรัพย์ พูดเหมือนเนื้อความที่เขาเขียนหามันทุกสัปดาห์ เขาบอกเหตุการณ์บ้านเมืองตอนนี้ไม่น่าไว้วางใจ มวลชนต้องไม่ละสายตา เพราะอำมาตย์กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อกลับมามีอำนาจ เขาหวังเพียงได้ประกันตัวออกมาสู้คดี แต่เขาเองก็ไม่หวังกับสิ่งนี้มากนัก เพราะผิดหวังซ้ำซากมาแล้วไม่รู้กี่รอบ    เขาดูแข็งแรงแต่เขาเองก็ไม่แน่ใจว่า สภาพจิตใจแบบนี้จะประคับประคองตัวเองได้ตลอดรอดฝั่งไหม เพราะความตายของชายหนุ่มแข็งแรงอย่าง วันชัย รักสงวนศิลป์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้น   มันทำให้เขาไม่อาจแน่ใจว่า   เมื่อไรจะถึงคิวของเขาบ้าง
 


ธีระวัฒน์ สัจสุวรรณ ฝากความคิดถึงถึงบรรดาอาจารย์ที่เคยไปเยี่ยมเขาเมื่อครั้งถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางอุบลราชธานี   ฝากขอบคุณนักศึกษา  อาจารย์และมวลชนที่รักความเป็นธรรมที่ไปเยี่ยมให้กำลังใจพวกเขาที่เรือนจำพิเศษหลักสี่ตลอดมา

"อยากกลับบ้าน แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร รอแต่เวลาจะได้กลับบ้าน แต่เมษายนนี้คงไม่ได้กลับบ้าน" เขายิ้มระหว่างพูด แต่ถ้อยคำน้ำเสียงของเขานั้นมันไม่ชวนยิ้มตามหรอก

 


4

 


ภายนอกเรือนจำพิเศษหลักสี่ แสงแดดตอนใกล้บ่ายโมงขังคนให้หลบซ่อนตัวใต้ชายคา ในอาคาร ในห้องแอร์ มันยืนอ่านประกาศที่ติดหน้ากระจกตรงที่มันมาติดต่อสอบถาม ตารางรอบการเยี่ยมญาติในแต่ละวันมี 9 รอบ ๆ ละครึ่งชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ 08:30 น. และรอบสุดท้าย 14:30 น.

มันไขล็อกเกอร์ คว้ากระเป๋าขึ้นไหล่แล้วเดินจากมากลางแสงแดดบ่ายวันที่ 1 เมษายน 2013 ใจมันหม่นหมองข้องขัดที่ประเทศแสนดีนี้มีนักโทษทางความคิดมากไป มีนักโทษการเมืองมากไป และมันก็พบว่า คนบางส่วนของประเทศนี้กล้วแสงแดดกัน

 

6 เมษายน 2013

ธีร์  อันมัย
 
 
 
 

บล็อกของ Redfam Fund

Redfam Fund
ไม่ลืม
Redfam Fund
ธี ร์ อันมัย: update ความเคลื่อนไหวประจำเดือนกุมภาพันธ' 57 - See more at: http://blogazine.in.th/blogs/redfam-fund/post/4587#sthash.YZyhBkzE.dpuf 
Redfam Fund
 ...จะต้องใช้เลือด ใช้ชีวิตและอิสรภาพของประชาชนอีกเท่าไรจึงจะพอ
Redfam Fund
อีกหนึ่งชีวิตของนักโทษการเมืองจากอุบลราชธานีที่ได้จากไปในขณะที่ความยุติธรรมยังคงเดินหลงทางและดูเหมือนว่าอาจจะไม่มีวันที่จะไล่ตามทันวันเวลาที่ลดน้อยลงของพวกเขา