ที่มา: ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, SIMBA)
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 55 ที่ผ่านมาประจำศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, SIMBA) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของธนาคารกรุงศรีฯ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง พฤติกรรมการใช้โซเชียล มีเดีย (Social Media) ของคนกรุงเทพฯ จำนวนทั้งสิ้น 641 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 17-23 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา พบผลสำรวจที่น่าสนใจดังนี้
ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.0 ใช้ Social Media ในรอบ 30 วันที่ผ่านมา โดยตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 46.9 ใช้มากกว่า 1 ครั้งต่อวัน รองลงมาคือ ร้อยละ 22.4 ใช้วันละครั้ง ร้อยละ 8.0 ใช้ 5-6 ครั้ง/สัปดาห์ ร้อยละ 9.2 ใช้ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ ร้อยละ 7.9 ใช้ 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ และร้อยละ 5.6 ใช้น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นอกจากนี้เมื่อถามตัวอย่างถึงเว็บไซต์ที่ใช้ Social Media พบว่าตัวอย่างเกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 98.6 ระบุ Facebook รองลงมาคือ ร้อยละ 21.6 ระบุ Twitter และร้อยละ 13.9 ระบุ Hi5 ตามลำดับ
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ใช้ Social Media พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.5 ระบุใช้เพื่อพูดคุย ติดตามข่าวสารของเพื่อน/คนรู้จัก รองลงมาหรือร้อยละ 63.4 ระบุใช้เพื่ออัพเดตสถานะ / รูปภาพ /ข่าวสาร /สถานการณ์ทั่วไป ร้อยละ 34.0 ระบุใช้เล่นเกมส์
นอกจากนี้ตัวอย่างร้อยละ 31.7 ยังใช้เพื่อระบายอารมณ์/ความรู้สึก ร้อยละ 30.0 ใช้พูดคุย ติดตามข่าวสารของคนในครอบครัว ร้อยละ 25.0 ใช้เพื่อหาคู่ /แฟน /เพื่อนใหม่ในสังคมออนไลน์ ร้อยละ 18.9 ใช้เพื่อติดต่องาน ในขณะที่ร้อยละ 9.0 ใช้เพื่อซื้อ /ขายสินค้า/ทำธุรกิจออนไลน์
นอกจากนี้เมื่อทำการสัมภาษณ์เชิงลึกเพิ่มเติมกับกลุ่มผู้ที่ใช้ Social Media เป็นประจำทุกวัน พบว่า กลุ่มตัวอย่างพบเห็นโฆษณาสินค้าและบริการใน Social Media หลากหลายประเภท อาทิ สินค้าประเภทแฟชั่น เครื่องสำอาง เกม ส่วนลดที่พัก โรงแรม และร้านอาหารต่างๆ เป็นต้น โดยโฆษณาที่พบเห็น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โฆษณาสินค้าและบริการที่ให้การสนับสนุนเว็บไซต์ Social Media ที่ตนใช้ และโฆษณาที่แปะวางบนหน้ากระดาน (Wall) และหน้าประวัติของตน นอกจากนี้ เมื่อสอบถามต่อไปถึงความคิดเห็นต่อโฆษณาทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว พบว่า สำหรับโฆษณาประเภทแรกนั้น กลุ่มตัวอย่างเข้าใจและยอมรับการมีโฆษณา เพราะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาในเชิงธุรกิจที่จะต้องมีสปอนเซอร์ อีกทั้งให้ความเชื่อถือต่อโฆษณาประเภทนี้มากกว่าโฆษณาประเภทที่ 2 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างรู้สึกรำคาญ ถูกรบกวน ถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และรู้สึกกังวลกับข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลไปยังแหล่งที่มาของโฆษณาเหล่านั้น นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างบางรายยังกล่าวว่า การทำโฆษณาลักษณะนี้ถือเป็นความเห็นแก่ตัวของเจ้าของโฆษณา และมักจะลบหรือบล็อคโฆษณาเหล่านี้ทันที
อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ Social Media พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.6 ระบุ Social Media ทำให้ติดต่อสื่อสารกับคนที่อยู่ไกลได้ รองลงมาหรือร้อยละ 71.9 ทำให้รู้ว่าเพื่อนเก่าอยู่ที่ไหน ทำอะไร ร้อยละ 68.8 ทำให้ได้พูดคุยกับคนหลายๆ คนในเวลาเดียวกัน ร้อยละ 67.3 ทำให้ได้พูดคุยกับคนอื่นได้บ่อยขึ้น และร้อยละ 55.9 ทำให้กล้าที่จะพูดคุยมากกว่าการสื่อสารโดยตรง เช่น การพูดคุยต่อหน้า/ทางโทรศัพท์
ที่น่าพิจารณาคือเมื่อถามถึงปัญหาที่เคยประสบจากการใช้ Social Media พบว่า ตัวอย่างเกือบครึ่งหรือร้อยละ 46.3 ระบุว่าเคยพบเจอสื่ออนาจาร รองลงมาคือ ร้อยละ 39.0 มีปัญหาในเรื่องของเวลาพักผ่อนน้อย กระทบต่อการเรียน/การงาน ร้อยละ 27.0 มีปัญหาเรื่องข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล ร้อยละ 25.7 มีปัญหาทะเลาะ/มีปัญหากับผู้อื่น ร้อยละ 19.0 มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น กระสับกระส่าย หงุดหงิดเมื่อไม่ได้ใช้ ในขณะที่ร้อยละ 13.0 ระบุปัญหาถูกหลอกลวงต้มตุ๋น และร้อยละ 10.4 ปัญหาสุขภาพ เช่น นิ้วล็อค กล้ามเนื้ออักเสบ
ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 63.8 ระบุวิธีการป้องกันภัยที่อาจแฝงมากับโลกของ Social Media โดยวิธีการเรียนรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้ Social Media รองลงมาหรือร้อยละ 50.8 วิธีการป้องกันโดยการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับภัยที่เกิดขึ้นตามสื่อต่างๆ ร้อยละ 41.5 ป้องกันโดยวิธีการให้ความรู้ต่อลูก / หลานหรือคนในครอบครัว ร้อยละ 33.5 ป้องกันโดยไม่สร้าง Social Media กับคนที่ไม่รู้จัก ร้อยละ 28.3 ป้องกันโดยการสอดส่องดูแลการใช้ Social Media ของบุตรหลาน และร้อยละ 19.7 ป้องกันโดยพ่อ แม่หรือผู้ปกครองต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีในปัจจุบัน
ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่าง ร้อยละ 49.1 เป็นชาย
และร้อยละ 50.9 เป็นหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 44.8 อายุระหว่าง 15 – 24 ปี
ร้อยละ 23.9 อายุระหว่าง 25 – 33
ร้อยละ 10.5 อายุระหว่าง 34 – 39 ปี
และร้อยละ 20.8 อายุระหว่าง 40 – 50 ปี
สำหรับรายได้ ร้อยละ 30.6 ระบุรายได้ครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 20,000 บาท
ร้อยละ 33.3 ระบุรายได้ 20,000-39,999 บาท
ร้อยละ 9.9 ระบุรายได้ 40,000-49,999 บาท
และร้อยละ 26.2 ระบุรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป
ด้านการศึกษา ร้อยละ 48.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
ร้อยละ 43.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
และร้อยละ 8.6 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี