เมื่อมีรัฐบาลใหม่สิ่งทีตามมาด้วยเสมอ คือ นโยบายด้านเกษตรกรรม ในอดีตเกษตรกร หรือที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็น “ชาวนา” คือ กลุ่มเป้าหมายหลักในการหยิบมาเป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับนโยบายอุดหนุน ตามสโลแกน “ชาวนา คือ กระดูกสันหลังของชาติ” ที่แม้แต่คนรุ่นหลังๆ ก็ยังได้ฟังคำขวัญเหล่านี้อยู่เนืองๆ
แต่ถ้าลองไปทบทวนตัวเลขสถิติทั้งหลายจะพบความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรไทยมานับสิบปีแล้ว กล่าวคือ ชาวนา ไม่ใช่เกษตรกรส่วนใหญ่ และเกษตรกรมิใช่คนส่วนใหญ่ของคนในประเทศ ที่พูดเช่นนี้ มิได้หมายความว่า เกษตรกร หรือชาวนาไม่สำคัญ แต่ต้องการย้ำว่า หากจะสร้างนโยบายที่เหมาะสมกับเกษตรกรจะต้องเข้าใจ ภาคเกษตร เสียใหม่ให้ตรงกับความเป็นไปในปัจจุบัน
ปัจจุบัน รสนิยมในการกินข้าวหรือแป้ง ลดลงตามกระแสการรักษาสุขภาพ เช่นเดียวกับ คนที่ทำอาชีพใช้แรงงานที่ต้องบริโภคแป้งจำนวนมากในแต่ละวันก็ลดลง สิ่งที่เพิ่มมากขึ้น คือ การบริโภคเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป หากไปดูจำนวนสัดส่วนเกษตรกรจะพบว่า เกษตรกรในพืชหรือปศุสัตว์เชิงพาณิชย์มีมากขึ้น และชาวนารายย่อย/เพื่อยังชีพอย่างเดียว น้อยลงไปมาก ชาวนาที่มีลักษณะเป็นผู้จัดการนา เจ้าของที่นา หรือคนเช่านา หรือแรงงานเกษตรรับจ้าง มีมากขึ้น
ยิ่งในช่วงนอกหน้าเกษตรกรรม เกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทานหรือทำการเพาะปลูกไม่ได้ จึงมักออกไปทำงานรับจ้างในเมืองใหญ่เสมอ ทำให้ตัวเลขแรงงานภาคเกษตรกับบริการในประเทศไทยเหวี่ยงไปมา
ทั้งที่ นักคิดนโยบายทั้งหลาย ก็รู้ว่า ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจยืนอยู่บนภาคบริการ หรือการประกอบการรายย่อยไปตั้งนานแล้ว การทำเกษตรก็อยู่ในลักษณะเกษตรเชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมการเกษตร
หากจะทบทวนสถานการณ์ด้านการเกษตร จึงหนีไม่พ้นที่ต้องตอบเรื่องดังต่อไปนี้
- หากมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรในสินค้าหนึ่ง แล้วจะทำให้เกษตรกรในสินค้าอื่นๆ สงบได้อย่างไร เช่น การมีนโยบายเน้นช่วยเหลือชาวนา จะทำให้ชาวสวนยาง ผู้ปลูกพืชไร่มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอื่นๆ อีกมากมายที่จ้องตาไม่กระพริบรู้สึกอย่างไร เกษตรกรคงมีคำถามว่าทำไมตนไม่ได้รับความช่วยเหลือ ตนไม่ใช่ประชาชน ไม่มีคะแนนเสียงหรืออยางไร ก็เป็นปัญหาการจัดการมวลชนที่อาจเดินทางเข้ามาอีกในอนาคต
- หากมีการอุดหนุนสินค้าเกษตรหนึ่ง เช่น ข้าว และยางพารา ก็กลายเป็น “สัญญาณ” ทำให้เกษตรกรเห็นว่า นี่คือ สินค้าที่ควรผลิต การปลูกข้าวจะไม่ลดลง การปลูกยางพารา อาจจะมากขึ้น ซึ่งไปถมทับปัญหาเดิมที่คนแก้ไขปัญหาต้องเจออยู่แล้ว คือ สินค้าที่รัฐเข้ามาอุ้มมีการผลิต “มากกว่าความต้องการของตลาด” นั่นเอง
- การลดต้นทุนการผลิต เป็นสิ่งที่เกษตรกรปรารถนาเสมอ เมื่อลงพื้นที่ไปทำวิจัย หรือแม้แต่ในการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ เช่น อยากให้ลดค่าปุ๋ย ค่ายา หรือว่าค่าเช่าที่ดิน ไปจนถึงดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งทุกรัฐบาลก็รู้และได้เรียกเจ้าของกิจการต่างๆ เข้ามาหารือ แต่ยังการบังคับใช้กฎหมายด้านการเกษตรอย่างเข้มข้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทางเลือกของรัฐบาล หากมุ่งหวังจะเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยการเอาใจนักลงทุน
- การช่วยเหลือด้านที่ดินทำกิน และชลประทาน อาจไม่พออีกต่อไป เมื่อ สิ่งสำคัญยังไม่ถูกแก้ไขนั่น คือ กรรมสิทธิ์ในพันธุกรรมพืช และสัตว์ การแก้ปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์พืช หรือตัวอ่อนสัตว์ กลายเป็นเรื่องสำคัญในโลกที่มีเทคโนโลยีพันธุกรรม เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ไปแล้ว ความหวังยังมีในชุมชนที่รักษาพันธุ์และนักพัฒนาสายพันธุ์ของรัฐที่ยังมีอุดมการณ์
- หากนโยบายเกษตรกรรมมีเป้าหมายในเชิงการเมือง หวังเพิ่มความนิยมในรัฐบาล ก็ต้องตั้งคำถามว่า มีคนที่ได้รับประโยชน์ที่ปลายทางของนโยบายมากขนาดไหน โครงการที่มีเงินอัดฉีดเข้ามา อาจไปไม่ถึงมือชาวนาและเกษตรกรที่รออย่างมีความหวังก็ได้ คนที่ฝันแล้วผิดหวัง ก็มักมีความเดือดดาลอยู่ในใจ ทำให้นโยบายได้ผลมุมกลับ
- การเพิ่มความสามารถทางการธุรกิจให้เกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกร การผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่เป็นเรื่องการผลิตเพื่อขาย มิใช่เพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน(แบบสังคมชาวนาดั้งเดิม) ดังนั้นทางรอดจริงๆ แบบที่รัฐไม่ต้องเข้าไปอุ้มตลอด คือ การพัฒนาสหกรณ์หรือยกระดับเป็นการตั้ง “บริษัทอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแห่งประเทศไทย” เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ๆให้เกษตรกร และถ่วงดุลผูกขาดที่เป็นปัญหาบ่อนเซาะ “ประสิทธิภาพ” ในตลาดสินค้าเกษตรไทย มาอย่างยาวนาน
- การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาการกระจายสินค้า ตั้งแต่ ระบบราง ระบบเชื่อมท้องถิ่นเข้ากับราง ไปจนถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้กลุ่มเกษตรกรติดต่อโดยตรงกับกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น และเป็นโอกาสที่จะสร้างงานให้คนจบใหม่ด้านเทคโนโลยีได้มีงานทำ ผ่านโครงการพัฒนาระบบในชุมชนท้องถิ่นต่างๆไปด้วย
- การคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของกลุ่มเกษตรกรที่มีปัญหาการคุกคามจากผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย เพื่อให้เสียงของเกษตรกรในท้องถิ่นดังมาถึงผู้สร้างนโยบายสาธารณะในส่วนกลางให้ได้
- การทำโครงการส่งเสริมการเข้าครัวปรุงอาหารของร้านตามสั่ง หรือในครัวเรือน ให้นำสินค้าเกษตรทั้งหลายมาปรุงเพื่อทำให้เกิด รสนิยมในการใช้สินค้าไทย มิใช่เพียงแต่ทำแคมเปญให้กินของไทย แต่ไม่บอกว่าทำยังไง รายการทำอาหารต่างๆ เป็นช่องทางในการริเริ่มโครงการเอาสินค้าเกษตรไทยมาปรุง กระตุ้นยอดซื้อ
สิ่งที่นำเสนอไปอาจไม่ใหม่ แต่ถ้ารัฐบาลไหนทำได้ คงกำชัยชนะเหนือใจเกษตรกรเป็นแน่